Theppitak's blog

My personal blog.

31 มกราคม 2550

Lockdown Kiosk

เรื่องถัดมาของการเซ็ตลินุกซ์ที่โรงเรียน คือการเซ็ตเครื่อง touchscreen ให้เป็น kiosk นำเสนอข้อมูลโรงเรียน หลังจากคิดถึง solution หลายๆ แบบ ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องเวลาที่มี ก็เลยตกลงว่าจะใช้ S5 ที่เคยใช้ present ที่ BTD2 นี่แหละ นำเสนอเนื้อหาผ่านเว็บเบราว์เซอร์แบบ fullscreen โดยเซ็ตอัพ epiphany แบบ lockdown ซึ่งก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่กำหนด gconf key สองแห่ง คือ

  • /apps/epiphany/lockdown/fullscreen = true
  • /apps/epiphany/general/show_toolbars = false

คีย์แรก เป็นการบังคับให้ epiphany แสดงเป็น fullscreen เสมอ ซึ่งโดยปกติ จะคงเหลือ toolbar แสดงไว้ด้านบนอยู่ ก็จัดการซ่อนเสียด้วยคีย์ที่สอง

จากนั้น ก็เซ็ต gdm ให้ auto login และ timeout login เข้ามายังผู้ใช้ที่ใช้นำเสนอนี้ โดยกำหนดให้โปรแกรมในวาระของผู้ใช้ที่ว่า ไปเรียก personal session ของ epiphany เสีย (/usr/bin/epiphany -p) ซึ่งการเรียก personal session แทน session ปกติ จะทำให้ epiphany ไม่พยายาม recover session เดิมถ้าครั้งที่แล้วถูกปิดแบบผิดปกติ ซึ่งการ recover ดังกล่าว จะมีกล่องโต้ตอบมาถามก่อน ซึ่งไม่เนียนสำหรับ kiosk

ก็เป็นอันว่า เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมา ก็จะ login อัตโนมัติ และเปิด epiphany แบบเต็มจอ ที่เหลือก็แค่เซ็ตหน้า home page ให้ชี้ไปหา slide ของเรา ก็จบ

นอกจากนี้ อาจจะเซ็ต lockdown อื่นๆ ไว้ เผื่อกรณีที่ epiphany พัง แล้วเผยให้เห็นเดสก์ท็อปข้างหลัง ก็ต้องไม่ให้ผู้ชมที่ซุกซนไปเรียกโปรแกรมอื่นมาเล่นได้ ซึ่งเครื่องมืออย่าง pessulus หรือ sabayon จะช่วยอำนวยความสะดวกได้มากทีเดียว

ส่วนเนื้อหา ก็จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการนำเสนอนิดหน่อย:

  • สิ่งที่เราไม่ต้องการ คือเมื่อคลิกเมาส์ (หรือแตะหน้าจอ touchscreen) เราไม่ต้องการให้เปิด slide หน้าถัดไปโดยอัตโนมัติ แต่ต้องการให้ผู้ชมแตะที่ปุ่มที่กำหนดเท่านั้น ก็เข้าไป hack javascript ของ S5 นิดหน่อย ให้ข้าม event นั้นไปเสีย รวมทั้งปิด navigator ด้วย
  • แก้ไข stylesheet เพื่อให้วาด hyperlink ด้วยปุ่มกด และใช้เป็นช่องทางหลักในการเปลี่ยนหน้า

ตัวเลือกอื่นๆ ที่นึกถึง คือใช้ Impress (หรือกระทั่ง PowerPoint) แต่ปัญหาคือ ไม่รู้วิธีบังคับให้แสดง fullscreen แบบ lockdown (ooimpress -show presentation นั้นได้อยู่ แต่ไม่รู้วิธีให้ไม่เข้า edit mode —แอบเห็นแว้บๆ ว่า evince ใน GNOME 2.18 จะอ่าน Impress ได้ อาจเป็นคำตอบในอนาคต) รวมทั้งการปรับไม่ให้แสดงหน้าถัดไปเมื่อคลิกเมาส์ อีกทางเลือกหนึ่งคือโปรแกรมประเภท Authorware แต่ดูจะกินเวลาเตรียมการมากเกินไป เรื่องการเขียนโปรแกรมแบบ visual ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ด้วยเวลาอันจำกัด บวกกับการคำนึงถึงความสะดวกในการเพิ่มข้อมูล ใช้แบบที่ว่ามาข้างบนนี่ ดูจะกินเวลาน้อยที่สุดแล้วละ และแน่นอนว่า Iceweasel ก็คง lockdown ได้ในลักษณะเดียวกัน

ป้ายกำกับ: , ,

29 มกราคม 2550

Touchscreen for Linux

ผิดแผนแทบทุกอย่างสำหรับเดือนนี้ นี่ถ้าได้เขียน New Year Resolution ไป คงแห้วตั้งแต่ต้นปี

แต่ก็ใช่จะเลวร้ายอะไรมาก งานของโรงเรียนที่รับมา ก็ทำให้ได้ประสบการณ์การเซ็ตลินุกซ์ในอีกแบบหนึ่ง แต่ในช่วงระหว่างนั้น ก็แว้บเข้ากรุงเทพฯ ไปพบ debian developer มา พร้อมกับไปเซ็ตเครื่อง LTN ใหม่พร้อมกับอ๊อทและเด่นสินด้วย

ทยอยบันทึกทีละเรื่องดีกว่า.. เรื่องแรกคือการเซ็ต touchscreen บนลินุกซ์ จอภาพที่ใช้ คือ Acer AL1716 ซึ่งจะมี USB port สำหรับสัญญาณ touchscreen พอเสียบปุ๊บ kernel จะรายงานชนิดอุปกรณ์ว่า

input: eGalax Inc. USB TouchController as /class/input/input0
usbcore: registered new driver usbtouchscreen

แล้วพอ start X server ก็จะมี input จาก touch screen เข้ามาทาง /dev/input/mice ทันที แต่ปัญหาก็คือ พิกัดตำแหน่งจะเพี้ยน ซึ่งเราคงอาศัย event ดิบๆ แบบนี้ไม่ได้ ต้องลงไดรเวอร์เพิ่ม

จากการค้นเว็บ พบไดรเวอร์สำหรับ eGalax touchscreen อยู่สองชุด คือ touchkit และ evtouch ซึ่งพออ่าน mini-howto เขาบอกว่า touchkit ค่อนข้างจะไม่เวิร์ก เลยลอง evtouch ตามเขาก่อน ซึ่งก็ปรากฏว่าใช้การได้ ตกลงเลยไม่ได้ลอง touchkit

ลองหาใน debian ก่อน.. มีไดรเวอร์สำหรับ touchscreen หลายตัวใน debian (เช่น xserver-xorg-input-{elo2300,elographics,magictouch,microtouch,mutouch,palmax}) แต่ evtouch นั้น มีคน ITP ไว้ แต่ดูเหมือนจะยัง ขาด sponsor เลยตกลงดาวน์โหลดซอร์สมาคอมไพล์เอา

ระบบ build เป็น GNU autotools อยู่แล้ว เลยง่าย build เสร็จ ก็ติดตั้ง evtouch_drv.so ลงที่ /usr/lib/xorg/modules/input/ แล้วไปแก้ /etc/X11/xorg.conf โดยเพิ่ม Section "InputDevice" ประมาณนี้:

Section "InputDevice"
    Identifier    "Touchscreen"
    Driver        "evtouch"
    Option        "Device"    "/dev/input/event0"
    Option        "MinX"    "124"
    Option        "MinY"    "81"
    Option        "MaxX"    "1909"
    Option        "MaxY"    "1965"
EndSection

พร้อมกับเพิ่มบรรทัดนี้ใน Section "ServerLayout" ด้วย:

    InputDevice    "Touchscreen" "CorePointer"

ในส่วน Section "InputDevice" นั้น ตรงชื่ออุปกรณ์ "/dev/input/event0" สามารถดูรายละเอียดอุปกรณ์ต่างๆ ได้ที่ /proc/bus/input/devices ส่วนค่า MinX, MinY, MaxX, MaxY นั้น ต้อง calibrate เอา ซึ่งใน README ในซอร์สบอกว่าโปรแกรม calibrate ไม่ได้ทดสอบ และใน Makefile.am ก็ comment ไว้ แต่ด้วยความดันทุรัง ก็ uncomment แล้ว automake ซะ จากนั้นก็ configure และคอมไพล์ใหม่อีกครั้ง จะได้โปรแกรม ev_calibrate ออกมา

อ่านวิธี calibrate ได้จาก README.calibrate ในซอร์ส ขั้นตอนคร่าวๆ ก็คือ

  1. ใส่ Option "Calibrate" "1" ใน /etc/X11/xorg.conf ตรง section ของ evtouch ข้างบน (อาจจะ comment MinX, MinY, MaxX, MaxY ออกก่อน)
  2. stop X server ทั้งหมด ถ้าเปิดอยู่
  3. เรียก ./calibrate.sh
  4. ใช้ stylus ไล่ลากตามขอบจอ เพื่อหาค่า MinX, MinY, MaxX, MaxY เมื่อคิดว่าได้ค่าแล้ว กด Enter
  5. รูปกากบาทที่ตำแหน่งต่างๆ บนจอ จะมีรูปหนึ่งเปลี่ยนเป็นสีแดง ให้แตะที่กากบาทนั้นตามลำดับจนครบ
  6. โปรแกรมจะปิดและเขียนค่าต่างๆ ลงในแฟ้ม out.txt ซึ่งสามารถเอาไปใช้ใน /etc/X11/xorg.conf ได้เลย
  7. ลบ Option "Calibrate" "1" ออกจาก /etc/X11/xorg.conf แล้ว restart X

ปัญหาที่พบและวิธีแก้:

  • พิกัด X สลับกับ Y เหมือนกับจอมันหมุนไป -> ใช้ Option "Rotate" "CW" (สำหรับหมุนจอตามเข็มนาฬิกา หรือ "CCW" สำหรับการหมุนทวนเข็มนาฬิกา)
  • แตะแล้ว event มันเบิ้ล ทำให้ได้ double click แทนตลอด -> ตัด mouse InputDevice ออกจาก Section "ServerLayout" เพราทำให้ะเกิด event สองทาง ทั้งจาก /dev/input/eventX และ /dev/input/mice
  • reboot แล้ว ใช้ touchscreen ไม่ได้ เนื่องจาก /dev/input/eventX เปลี่ยนไปเป็นค่าอื่น ขึ้นอยู่กับลำดับการทำงานขณะบูต -> ใช้ /dev/input/by-path/* แทน ซึ่ง device ตรงนั้น จะแทนอุปกรณ์โดยตรง โดยเป็น symlink ไปยัง /dev/input/eventX ที่ตรงกัน
  • อื่นๆ -> ดู Advanced Configuration ได้จาก เว็บของ evtouch แล้วปรับละเอียดเอา

/me ลุ้นให้ evtouch ได้ debian sponsor เร็วๆ ^_^

ป้ายกำกับ: , ,

14 มกราคม 2550

xulrunner-libthai deb updates

ช่วงนี้มือพอง.. สิ้นเดือนจะมีผู้มาตรวจโรงเรียน ผอ. เลยโยนงานเตรียมงานเร่งด่วนมาให้ เป็นงานที่ ผอ. เคยพยายามติดต่อบริษัทที่กรุงเทพฯ ที่เคย forward งานมาให้ผม แต่ไม่มีการตอบสนองใดๆ จากทางนั้น สุดท้ายผมเลยตกที่นั่งรับเผือกร้อนไป ก็พยายามเร่งทำ สลับกับงาน FOSS ของตัวเอง แต่เมื่อวานเซิร์ฟเวอร์โรงเรียนดันปิดไปเที่ยววันเด็กซะ เลยงุ่นง่านพักนึง ก่อนตัดสินใจ build xulrunner-libthai deb ตัวใหม่ตาม xulrunner ที่มีการอัปเดตรุ่นใหม่เป็น 1.8.0.9 มาตั้งแต่ปีใหม่ แต่ต้องผัดผ่อนมาเรื่อยๆ เพราะติดงานราษฎร์งานหลวงต่างๆ

build amd64 deb เสร็จ ก็พอดีเจอ Neutron เลยขอให้เขา build i386 deb ให้ (อ่าน blog เขาแล้ว เหมือนเสียเวลาโหลดซะเยอะ แต่ build ไม่นาน ดีจังแฮะ นี่ถ้าเป็นผม build เองในเครื่อง P3 เก่าของผม ต้องรอหลายชั่วโมงเลย ถ้ามีที่ผิดต้องแก้ก็เป็นวัน เจ๋งมากเลยนิวตรอน) ระหว่างนั้น ผมก็หันมาจัดการ libthai deb ตัวใหม่ที่ เคย build ไว้ แต่ตัดสินใจว่า ในเมื่อยังเข้า etch ตอนนี้ไม่ได้ ก็ย้ายเข้า LTN APT ก่อนดีกว่า แล้วก็ทำ release ใหม่เพื่อเพิ่ม transitional package เพื่อการเปลี่ยนชื่อแพกเกจแบบราบรื่น

ตอนนี้ ทั้งหมด (xulrunner-libthai และ libthai ใหม่) อยู่ใน LTN APT เรียบร้อยแล้ว ทั้ง i386 และ amd64

ปล. ก่อนจะมีคนลองแล้วไม่ผ่าน.. นี่ deb for debian ไม่ใช่ for ubuntu นะครับ ส่วน iceweasel-libthai สำหรับ 2.0.0.1 นั้น ตัวก่อนทีม TLE เป็นคนทำ และก็ได้ยินแว่วๆ ว่ากำลัง build ตัวใหม่อยู่.. จะ build for debian ด้วยอีกมั้ยนี่

12 มกราคม 2550

Toward GNOME 2.18

พอ migrate มา SVN เสร็จ GNOME เหมือนขึ้นบ้านใหม่เลย ระบบ translation status นั้น เดิมเคย update เป็นช่วงๆ กะว่าน่าจะวันละ 4 ครั้ง แต่พอใช้ SVN hook ได้ เขาก็ update กันแบบ real-time เลย แถมยังมีการตรวจสอบปัญหาเพิ่มด้วย เช่น ไม่ให้ commit PO ถ้ามี error ในไฟล์, เช็กข้อความที่ยังไม่ถูก mark ให้แปล ฯลฯ และเร็วๆ นี้ก็มีแพลม mail notification เมื่อมี string ใหม่ด้วย (คล้ายกับที่ debian ใช้อยู่) เจ๋งสุดๆ

ส่วนตัว GNOME 2.18 เอง ก็ดูเหมือนจะมีอะไรน่าตื่นเต้นพอสมควร เอาเฉพาะที่ผู้ใช้เห็นได้ง่ายก่อน:

  • theme ใหม่: Glossy เข้าใจว่าเอามาจาก Human ของ Ubuntu
  • Control Center กลับมาแล้ว จากที่ต้องเรียกจากเมนู "Desktop" หรือ "System" ตอนนี้ ในที่สุดก็กลับมาให้เรียกจากหน้าต่างได้อีกครั้ง โดยยุบเมนู System/Administration และ System/Preferences มาเป็น GNOME Control Center อย่างเดียว:

    GNOME Control Center in 2.18

    กลับมาคราวนี้ ไม่ได้เป็นหน้าต่างเปล่าๆ แต่มี filter และ shortcut ให้เรียกรายการต่างๆ ได้เร็วขึ้นด้วย:

    GNOME Control Center with filter

  • แอพเพล็ตใหม่: Brightness ไว้ปรับความสว่างของจอภาพ (สำหรับฮาร์ดแวร์ที่สนับสนุน), Inhibit ไว้สั่งระงับระบบประหยัดพลังงาน มีประโยชน์ตอนที่กำลังดูหนังหรือกำลัง present งาน แล้วไม่ต้องการให้จอดับหรือไม่ให้เครื่อง suspend เป็นต้น:

    New GNOME Applets

  • Game Zone: ดูเหมือน gnome-games รุ่นนี้จะแอกทีฟเป็นพิเศษ นอกจากจะมีเกมใหม่เพิ่มมาสองเกม คือหมากรุกกับ Sudoku แล้ว ยังมีการเพิ่ม GGZ Gaming Zone ไว้เล่นเกมต่างๆ กันแบบออนไลน์ได้อีกด้วย เท่าที่ดู ดูเหมือนที่เล่นได้จะเป็นพวกหมากกระดานอย่าง Iagno (Reversi), Four-in-a-Row, Gnibble, แล้วก็หมากรุก จากที่อ่านในเว็บ ก็ดูเหมือนจะ host เกมของ KDE ด้วย เข้าห้องเกมแล้วก็คุยกันได้แบบ IRC ตั้งโต๊ะเกมดวลกันผ่านเครือข่ายได้:

    GGZ Gaming Zone

นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เสนอเพิ่มเติม แต่ยังไม่ตัดสินอย่างเป็นทางการ ได้แก่:

  • เพิ่ม suite ใหม่อีกชุดหนึ่ง คือ Developer Tools โดยมีการเสนอ 3 มอดูล:
    • glade-3 -- UI designer (ยังออกเสียงกันน้อย)
    • anjuta -- IDE (ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่คิดว่าตัวโครงการเองยังไม่พร้อม โอกาสที่จะรวมใน 2.18 จึงต่ำ)
    • devhelp -- แสดง help document สำหรับโปรแกรมเมอร์ (ส่วนใหญ่สนับสนุน โอกาสได้รวมสูง)
  • เพิ่มมอดูลในชุด Desktop อีก 5 มอดูล:
    • GnomeScan -- โปรแกรมสำหรับสแกนภาพจากสแกนเนอร์ (เจ้าของโครงการขอเลื่อนไปก่อน จึงตกลงแล้วว่าไม่รวมใน 2.18)
    • NetworkManager -- แอพเพล็ตจัดการการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบอัตโนมัติสำหรับแล็ปท็อป (เสียงสนับสนุนเยอะมาก โอกาสได้รวมสูง)
    • Seahorse -- โปรแกรมช่วยจัดการ encryption ต่างๆ ทั้ง SSH และ PGP โดยเชื่อมรวมกับ gedit และ nautilus (เสียงสนับสนุนเยอะมาก โอกาสได้รวมสูง)
    • tracker -- ตัวทำ index แฟ้มต่างๆ สำหรับสืบค้น (เข้าใจว่าคล้ายกับ beagle แต่เขียนด้วย C และออกแบบให้เบามากๆ) (ยังถกเถียงกันไม่จบ เพราะค่อนข้างมีประเด็นเยอะ)
    • gnome-main-menu -- เสนอเปลี่ยน main menu เป็นแบบ slab menu (โต้เถียงกันยืดยาวมาก มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ)

ทั้งหมดนี้ ทำให้มีข้อความใหม่รอแปลมากมาย อัตราการแปลของภาษาไทยหล่นฮวบมาอยู่ที่ 73% ก่อนจะช่วยกันดันขึ้นไปที่ 76% โดยพี่ปลาและผม รวมทั้งคำแปล NetworkManager ที่ Mk แปลไว้ก่อนหน้านี้ก็ช่วยพยุงไว้ นอกจากนี้ ยังได้รับคำแปลเกม atomix สมทบมาจาก Neutron ด้วย แต่เป็นส่วนของ Extra Gnome Apps ไม่ใช่ official 2.18

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น งานข้างหน้าก็ยังเหลืออีกเยอะ ทีมแปลมีเวลา 2 เดือนตามแปลข้อความใหม่ให้เราได้กลับสู่สถานะ "supported language" อีกครั้ง

07 มกราคม 2550

My Desktop

เห็นที่ Blognone มี Desktop Showcase กัน อันที่จริงก็เคย โชว์ ไปเมื่อปีก่อนนู้น ตอนนี้ก็ไม่ต่างกันเท่าไร แนวคิดยังคล้ายๆ เดิม

scaled desktop screenshot

การปรับแต่งหลักๆ:

  • ตัดพาเนลด้านล่างทิ้งไป เพราะกินเนื้อที่โดยใช่เหตุ ปุ่ม Show Desktop นั้น ผมไม่เคยใช้อยู่แล้ว เพราะมี virtual desktop ตั้งสี่จอ ที่ทางเหลือแหล่ ส่วน task bar ที่ใช้แสดงโปรแกรมต่างๆ นั้น ก็มี Window List อยู่มุมบนขวาให้ใช้อยู่แล้ว (ไม่ชอบการจัดวางของอูบุนตูที่เอาปุ่มปิดเครื่องไปวางตรงนั้นเลย การเสียตำแหน่งมุมจอให้กับปุ่มปิดเครื่องที่ถูกใช้เพียงครั้งเดียวตลอด session เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยมาก)
  • ใช้พาเนลโปร่งใส ช่วยให้ขอบจอไม่ดูทึบเกินไป ซึ่งจะต้องเลือก GTK+ theme ให้ดีด้วย บาง theme ไม่สนับสนุนวิดเจ็ตโปร่งใส จะทำให้ทึบบ้างโปร่งบ้างเป็นหย่อมๆ รวมทั้งภาพพื้นหลังก็ควรเป็นสีอ่อน เพื่อให้ตัวหนังสือชัดเจน (หรือมิฉะนั้น ก็ใช้ theme ที่ปรับสีตัวอักษร ซึ่งผมไม่นิยม ถ้าต้องใช้พื้นหลังสีแก่ ผมก็จะใช้พาเนลทึบไปเลย)
  • ใช้นาฬิกาแบบสั้น ประหยัดเนื้อที่
  • ย้ายแอพเพล็ตสลับ desktop มาไว้พาเนลด้านบน จัดเรียงแบบ 2x2 ประหยัดเนื้อที่ แถมทำให้สลับด้วยแป้นพิมพ์ได้เร็วขึ้นด้วย โดยย้ายได้ทั้งแนวตั้งแนวนอน
  • ใส่ monitor applet ตามสมควร (รายการพวกนี้ขาดไม่ได้เชียวแหละ)
  • deskbar ยังไม่ค่อยได้ใช้ แต่ใส่ไว้ก่อน เพราะคิดว่าจะลองใช้ดู
  • ใส่ launcher สำหรับโปรแกรมที่เรียกบ่อย พร้อมตั้งปุ่มลัดไว้ด้วย ไว้เรียกจากแป้นพิมพ์เร็วๆ โดยไม่ต้องย้ายมือไปที่เมาส์หรือ touchpad
  • ปรับแต่ง toolbar ให้แสดงแบบ "ไอคอนเท่านั้น"
  • ปรับ toolbar ของ epiphany ให้เหลือแถบเดียว ตัดปุ่มที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือเนื้อที่สำหรับ location bar มากที่สุด
  • เลือก theme เรียบๆ เบาๆ เพื่อความสบายตา ให้นั่งทำงานได้ทน และไม่โหลดเครื่องมาก ที่ผ่านมาก็ใช้ ClearLooks เป็นหลัก
  • พื้นหลัง ยังคงใช้ nautilus วาดอยู่ แต่ความจริงแทบไม่ได้ใช้เลย เวลาจะเปิดโฟลเดอร์มักไปเริ่มที่เมนู Places (ที่หลักๆ) มากกว่า โฟลเดอร์ไหนเข้าบ่อยก็ทำ bookmark ไว้เสีย จะเห็นว่า แค่พาเนลเดียวก็เพียงพอแล้ว สำหรับการใช้เดสก์ท็อป GNOME

ส่วนในหน้าต่าง Xnest ที่เห็นนั้น เป็น GNOME desktop ที่ build จาก SVN เอาไว้ติดตามงานพัฒนาของ GNOME และทดสอบคำแปล toolbar ยังแสดงทั้งไอคอนทั้งข้อความอยู่ จะได้เห็นคำแปล และไม่ได้ปรับแต่งหน้าตามาก เพราะต้องการหน้าตาแบบมาตรฐานไว้อ้างอิง โดยเฉพาะตอนจับ screenshot ทำ release notes

06 มกราคม 2550

Five Things

โดน tag มา เข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกับที่กำลังเล่นกันที่ Planet Debian และคงมีอีกหลายที่ โดน tag แล้วก็ขอเล่นด้วย

ห้าสิ่งที่คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับตัวผม:

  • จับคอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอน ม.4 เป็นเครื่อง Apple ][ โดยคอร์สแรกที่เรียนคือ การเขียนโปรแกรมด้วย Applesoft BASIC พอเจาะเปลือกไข่ออกสู่โลกคอมพิวเตอร์ด้วยการเขียนโปรแกรม ก็เลยมีความรู้สึกฝังใจมาตลอด ว่าประโยชน์หลักๆ ของคอมพิวเตอร์คือ เอาไว้เขียนโปรแกรม ส่วนเรื่องการใช้ word processor หรือซอฟต์แวร์อย่างอื่นนั้น ค่อยมาเรียนทีหลัง ซึ่งก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรน่าสนใจอะไรอีกแล้ว ถ้าเทียบกับการได้ "เล่น" ภาษาโปรแกรม ฉะนั้น ผมจึงมีทักษะเรื่องการ "ใช้" ซอฟต์แวร์ค่อนข้างน้อย
  • อาหารโปรด คือก๋วยเตี๋ยวราดหน้า เคยเป็นหนักถึงขนาดว่า ไปที่ไหนถ้ามีโอกาสต้องตามชิมราดหน้าของถิ่นต่างๆ ว่าที่ไหนรสชาติเป็นไงบ้าง แต่หลังๆ เริ่มเพลาลงแล้ว
  • ไม่เคยสนใจฝึกเล่นดนตรีเลยตั้งแต่เด็ก ที่บ้านก็ไม่มีใครเล่น จนกระทั่งวันหนึ่งขณะเรียนที่กรุงเทพฯ อยู่บ้านคนเดียวเซ็งๆ เจอขลุ่ยเพียงออเลาหนึ่งในบ้าน เห็นว่าเล่นง่ายดีเลยหยิบมาเป่าเล่น แล้วก็เลยบ้าไปหาหนังสือมาฝึก หาเพลงขลุ่ยมาฟัง (ชอบเสียงขลุ่ย อ.ธนิสร์ สีกลิ่นดี แล้วก็ในเพลงลูกทุ่ง เพลงฝรั่งบางเพลง) จนตอนนี้กลายเป็นงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่ง พูดถึงฝีมือยังคงต้องฝึกไปเรื่อยๆ อีกเยอะ แต่ก็ช่วยแก้เบื่อให้กับตัวเองได้
  • เคยมีงานอดิเรกช่วงหนึ่ง แต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน รวมทั้งไฮกุ ศิลปินโปรดคือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และจิระนันท์ พิตรปรีชา ส่วนไฮกุนั้น ยังอ่านไม่มากพอที่จะแยกสไตล์ของบาโช, อิซซา หรือใครต่อใครได้ แต่เป็นรูปแบบที่ชอบ ถ้าจะบรรยายความรู้สึกขณะหนึ่งให้ประทับในความทรงจำนานๆ
  • สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เคยปฏิญาณตนกับเพื่อนไว้ว่า "ชาตินี้กูจะไม่ทำงานเรื่องภาษาไทยในคอมพิวเตอร์เด็ดขาด!"

อะ จบละนะ ต่อไปก็ขอ tag เพิ่ม กรุณารับด้วย: Ott, Donga (ถ้ายังมีชีวิตอยู่), Kamthorn, MrChoke, Neutron

New Year, New GNOME

ปีใหม่ หลังจากถูกใช้แรงงานแล้ว ก็ถูกลากไปเที่ยวต่อ เป็นสไตล์การเที่ยวที่ไม่เคยชอบเลยตั้งแต่เล็กจนโต คือเที่ยวแบบเน้นปริมาณ ไปเที่ยวเดียวแล้วเที่ยวให้ได้หลายๆ ที่ แวะอย่างละนิดละหน่อย แล้วก็ใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่บนรถจนเมากันไปข้าง (ไม่เมาเหล้าแล้วเรายังเมารถ) ทริปนี้ไปเที่ยวเหนือครับ เชียงใหม่-เชียงราย-น่าน ภายใน 4 วัน รวมเดินทางไป-กลับ ระหว่างทางช่วงที่มีสัญญาณ ก็มีโทรศัพท์เรื่องงานเป็นระยะๆ (ทีตอนอยู่บ้านล่ะไม่มีเชียว คงเป็นเพราะช่วงนั้นยังเจอตัวได้ในเน็ตนั่นเอง)

แต่ก็สนุกพอประมาณ พยายามเก็บเกี่ยวช่วงเวลาตามโอกาสจะอำนวย หลังจากเที่ยวงานราชพฤกษ์แบบย่นย่อสุดๆ ก็ได้ซึมซับรังสีความอหังการของ อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่วัดร่องขุ่น เชียงราย แวะน่าน ไปสัมผัสอากาศหนาวบนภู กลับถึงบ้าน ถึงจะยังเมาๆ รถอยู่ แต่ก็รู้สึกว่าได้เติมพลังบ้าง (โดยทำหูทวนลมกับเสียงเอ็ดเรื่องชอบเถลไถลซะ เหอๆ)

กลับถึงบ้านสี่ทุ่มครึ่ง เก็บของแล้วก็มาเปิดเครื่อง อัปเดต apt และลงมือทำงานที่คุยค้างทางโทรศัพท์ไว้พอหอมปากหอมคอ แล้วก็อาบน้ำ เข้านอน

ตื่นขึ้นมา สะสางงานเสร็จแล้วก็ลงมือทำสิ่งแรกของปีนี้ คือ check out GNOME จาก SVN โดยเริ่มจาก check out jhbuild จาก SVN แล้วตั้งค่า ~/.jhbuildrc ใหม่ แล้วก็นั่งรอ update พอบวกกับ apt ที่ค้างไว้นาน ก็ทิ้งเครื่องไปทำอย่างอื่นได้เลย

นอกจากจะย้ายมา SVN แล้ว หน้า Translation Status ก็กำลังจะถูกแทนที่ด้วย Damned Lies about Gnome ด้วย เป็นหน้า progress ที่รวมสถานะการแปลทั้งข้อความในโปรแกรมและเอกสารด้วย นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของ GNOME เลยเชียว หลังจากเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว

ปีใหม่ กับระบบการทำงานใหม่ของ GNOME แล้วก็ GNOME 2.17.5 ที่จะ tarballs due วันจันทร์นี้ อ้อ! GTK+ 2.10.7 ออกแล้ว พร้อม Thai-Lao input method ที่ใช้การได้ (แทน imthai-broken) รวมถึงรายการแก้ bug อื่นๆ ยาวเฟื้อยที่สุดเท่าที่เคยเห็นการออกรุ่น GTK+ มา

hacker emblem