Theppitak's blog

My personal blog.

02 ธันวาคม 2551

The Smiling Moon

ไม่ได้ blog เรื่องวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์เสียนาน จนกระทั่งเกินพระจันทร์ยิ้มเมื่อคืนนี้ ก็โชคดี เก็บรูป ได้นิดหน่อย

โอกาสเก็บรูปปรากฏการณ์จริง ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่หวนกลับมาอีก เป็นประสบการณ์ที่ยากจะพบอีกครั้ง เพราะดาวเคียงเดือนแต่ละครั้ง ไม่บ่อยนักที่จะมีดาวมาเคียงถึงสองดวง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาจัดเรียงหันข้างจนเป็นรูปหน้ายิ้มได้อย่างนี้

เพื่อดูว่าช่วงเวลาที่พระจันทร์ยิ้มนั้น สั้นแค่ไหน ก็ลองจำลองด้วย stellarium ดู โดยอาศัยพิกัดจังหวัดขอนแก่น (ประมาณ 16.11 องศาเหนือ 102.84 องศาตะวันออก) เป็นจุดสังเกตการณ์:

วันที่ 30 พ.ย. เวลา 19.10 น.

เป็นคืนขึ้น 3 ค่ำ ดวงจันทร์หันด้านสว่างไปทางตะวันตก และกำลังโคจรออกจากแนวสุริยุปราคา หรือมองจากโลกก็คือผละออกจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออก ในรูปนี้แสดงท้องฟ้าทางทิศตะวันตกในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์กำลังจะตกจากขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป แต่ถ้าตัดการหมุนรอบตัวเองของโลกออกไปแล้ว ดวงจันทร์กำลังโคจรขึ้นไปหาดาวศุกร์และดาวพฤหัสที่อยู่ด้านบน (ทางทิศตะวันออก) โดยหันเสี้ยวด้านสว่างลงด้านล่าง (ทางทิศตะวันตก)

Stellarium shot for 2008-11-30 19:10 +0700

วันที่ 1 ธ.ค. เวลา 05.12 น.

เราตามดวงจันทร์ที่ตอนนี้ไปโผล่ที่อีกซีกโลกหนึ่ง และเตรียมจะขึ้นทางทิศตะวันออกในตอนสายต่อไป รูปนี้มองจากขอนแก่นเหมือนเดิม โดยตัดพื้นโลกแล้วมองทะลุโลกลงไป ตอนนี้ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าใกล้ดาวทั้งสองมากขึ้น ถ้าคนที่อเมริกาดูดวงจันทร์ยามเย็นทางทิศตะวันตกในตอนนี้ ก็คงพอจะเห็นเค้าหน้ายิ้มที่เรียวยาวมาก ๆ ได้

Stellarium shot for 2008-12-01 05:12 +0700

วันที่ 1 ธ.ค. เวลา 12.00 น.

ทิ้งช่วงมาอีกราว 7 ชั่วโมง หลังจากดวงจันทร์ขึ้นไปแล้วในตอนสาย ตอนนี้ไต่ท้องฟ้าขึ้นมาทางตะวันออกเฉียงใต้ มุมเงยประมาณ 30 องศา ระยะห่างจากดาวทั้งสองลดลงเรื่อย ๆ เป็นการแอบเตรียมการแสดงคืนนี้ โดยอาศัยแสงอาทิตย์เวลากลางวันบังไว้

Stellarium shot for 2008-12-01 12:00 +0700

วันที่ 1 ธ.ค. เวลา 18.15 น.

Show Time! เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป ดาวทั้งสามที่กำลังจะตกตามไปด้วยทางทิศตะวันตกก็เริ่มปรากฏโฉม เผยรอยยิ้มกริ่มให้ชาวเอเชียได้ชมเป็นบุญตา ที่มุมเงยประมาณ 25 องศา

Stellarium shot for 2008-12-01 18:15 +0700

วันที่ 1 ธ.ค. เวลา 20.23 น.

Bye Bye Thailand ภาพสุดท้ายที่พระจันทร์ยิ้มปรากฏให้ชาวไทยได้ยลโฉม ก่อนที่จะลับขอบฟ้าไป ตอนนี้หน้ายิ้มเริ่มกลมป้อมขึ้น เพราะดวงจันทร์เคลื่อนเข้าใกล้ดาวทั้งสองมากขึ้น 2-3 ชั่วโมงเศษที่ผ่านมา คือเวลาที่เรามีสำหรับเก็บภาพประวัติศาสตร์นี้!

Stellarium shot for 2008-12-01 20:23 +0700

วันที่ 1 ธ.ค. เวลา 23.51 น.

The End ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าแทรกกลางระหว่างดาวทั้งสอง สิ้นสุดการยิ้มครั้งนี้ ถือว่าชาวโลกที่อยู่ในเขตเวลาประมาณ GMT+01 คือแถว ๆ เยอรมนี อิตาลี เป็นเขตสุดท้ายที่จะทันเห็นช่วงสุดท้ายของการยิ้ม

Stellarium shot for 2008-12-01 23:51 +0700

วันที่ 2 ธ.ค. เวลา 05.21 น.

หลังจากที่ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าไปตรงกลางระหว่างดาวสองดวงแล้ว ก็จะเคลื่อนต่อไปเหมือนเดิม กลายเป็นหน้าบึ้งกลับหัว รูปนี้เป็นการจัดเรียงของดาวทั้งสามที่เวลาใกล้รุ่ง ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น เป็นการมองทะลุพื้นโลกลงไปยังท้องฟ้าของอเมริกา น่าเสียดายที่คนซีกโลกนั้นต้องได้เห็นพระจันทร์หน้าบึ้ง (กลับหัว) หรือพระจันทร์ขมวดคิ้วแทน (มองโลกในแง่ดี ว่านี่คือหน้าท่านเปาบุ้นจิ้นที่มีวงเดือนเสี้ยวที่หน้าผากก็ได้)

Stellarium shot for 2008-12-02 05:21 +0700

วันที่ 2 ธ.ค. เวลา 12.09 น.

ระหว่างกลางวันที่แอบซ่อนในแสงแดด ดวงจันทร์ก็เคลื่อนห่างจากดาวทั้งสองออกไปเรื่อย ๆ

Stellarium shot for 2008-12-02 12:09 +0700

วันที่ 2 ธ.ค. เวลา 18.23 น.

แล้วคืนนี้เราจะเห็นอะไร? พระจันทร์ตีลังกาหน้าบึ้งเหรอ? คิดว่าไม่ เพราะดวงจันทร์ได้เคลื่อนห่างจากดาวทั้งสองไปมาก จนมองเป็นรูปหน้าได้ยากแล้ว หรือถ้าจะพยายามมอง ก็คงต้องมองกว้างหน่อย

Stellarium shot for 2008-12-02 18:23 +0700

ฟู่.. กว่าจะเขียนจบ เล่นเอาหลายชั่วโมง ไม่ใช่ว่าเขียนยากหรือ simulate ยากหรอก แต่ตั้งแต่เริ่มเขียนจนเขียนเสร็จ ต้องลุกไปทำโน่นทำนี่หลายเรื่อง เลยเขียนได้ไม่ต่อเนื่อง..

ป้ายกำกับ: ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem