Theppitak's blog

My personal blog.

30 มิถุนายน 2551

GPeriodic New Look

เมื่อวาน เขียนถึง การแก้ GPeriodic ไปในตอนท้าย คร่าว ๆ ที่ทำคือ:

  • Debian #488461 update ชื่อและข้อมูลน้ำหนักอะตอมของธาตุที่ 110 (Uun) เป็น Darmstadtium และธาตุที่ 111 (Uuu) เป็น Roentgenium
  • Debian #488469 แก้ไอคอนในเมนูให้สอดคล้องกับ GTK+ app ทั่วไป

เมื่อคืนมีอีกรายการที่ทำเพิ่ม คือ follow up Debian #214493 ซึ่งเป็น wishlist bug เสนอปรับรูปแบบของตารางให้ใกล้เคียงกับตารางธาตุจริง ที่มีรายละเอียดพวกเลขอะตอม น้ำหนักอะตอม ฯลฯ เลยเสนอ patch ไป ซึ่ง patch นี้จะเปลี่ยนหน้าตาของ gperiodic จากแบบนี้:

GPeriodic, before

เป็นแบบนี้:

GPeriodic, after

เช้านี้ แถมอีกด้วย Debian #488612 ที่ปรับการเรียก API ที่ deprecate แล้ว ให้มาใช้แบบใหม่

ติดต่อไปที่ upstream แล้วด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้คำตอบ.. เงียบหมดทั้ง upstream ทั้ง Debian.. ก็เอาน่ะ รอซะหน่อย เพิ่งสองวันเอง :P

ป้ายกำกับ: ,

29 มิถุนายน 2551

A Bug a Day

ช่วงที่ผ่านมา ได้ทำตัวเป็นผู้ใช้ซอฟต์แวร์เสรีที่ดี คือได้ file bug เกือบทุกวัน..

17 มิ.ย.
Debian #486614 update คำแปลไทยสำหรับ debconf ของ samba4
ที่มาของบั๊ก: ได้รับแจ้งจาก maintainer
19 มิ.ย.
รายงานบั๊กที่พบใน fontforge เกี่ยวกับเรื่องค่าขยะใน strikeout และ sub/superscript (thread ใน thai-linux-foss-devel list) โดยแจ้งไปที่ fontforge-devel mailing list (แต่ไม่โดน archive) วันถัดมาเขาก็แก้ให้ใน CVS เรียบร้อย
ที่มาของบั๊ก: จาก ข่าวเรื่อง Plutoid ทักท้วงไปหลายที่ โดยที่ blognone แก้ด้วยการขีดฆ่าข้อความเดิมทิ้ง ซึ่งบังเอิญมันเละในเครื่องผม ซึ่ง gen ฟอนต์จากรุ่นพัฒนา
21 มิ.ย.
ไม่ได้รายงานบั๊ก แต่ follow up Debian #473508 เกี่ยวกับเรื่อง AbiWord 2.6
ที่มาของบั๊ก: บั๊กเก่า รอนานแล้ว
23 มิ.ย.
Freedesktop #16475 ว่าด้วยเรื่อง SCIM ไม่ทำงานบนโลแคลไทย เพราะปัญหาใน Xlib
ที่มาของบั๊ก: จาก รายงานเดิม จากนักพัฒนา Xandros
Debian #487664 คำผิดใน Debian Developer's Reference ใน 6.7.9 ว่าด้วยเรื่องของ debug package
ที่มาของบั๊ก: ระหว่างหาที่ผิดใน xlib โดยติดตั้ง libx11-6-dbg ซึ่งเป็น debug package ของ libx11-6 แล้วหาวิธีตั้งค่าก่อนดีบั๊ก ซึ่งสุดท้ายก็พบว่าไม่ต้องตั้งอะไรเลย แค่ติดตั้งก็ใช้ได้แล้ว รายละเอียดอ่านจาก reference ก็เข้าใจ เพียงแต่เจอที่ผิดในเนื้อหา โดยที่ยังไม่มีใครรายงาน เลยรายงานซะ
24 มิ.ย.
ไม่ได้ file bug อะไร แต่เป็นกิจกรรมการ upload deb คือแพกเกจที่ติดต่อ sponsor ไว้นานแล้ว (gtk-im-libthai, libdatrie, libthai) พอดี sponsor ว่างมา upload ให้แล้ว ก็เลยจัดการ update CVS ตามนั้นด้วย
ที่มาของบั๊ก: lintian
25 มิ.ย.
Debian #487912 ขอกำจัด conflict กับ xiterm+thai ใน xiterm (openi18n) deb
ที่มาของบั๊ก: xiterm+thai 1.07 เปลี่ยนชื่อ binary program หลบ xiterm ของ openi18n แล้ว และ xiterm+thai 1.07-1 ใน debian (โดย นิวตรอน) ก็ได้ตัด conflict ออกแล้ว เหลือแต่ที่ xiterm เท่านั้น
26 มิ.ย.
Debian #488090 update คำแปลของ dpkg พร้อมกันนั้นก็ update คำแปลของ debian-installer ด้วย
ที่มาของบั๊ก: ติดค้างงานแปลไว้นานแล้ว
28 มิ.ย.
รายงานบั๊ก GPeriodic ซึ่งไม่ได้ update ชื่อธาตุที่ 110, 111 ซึ่งได้ชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว (Darmstadtium และ Roentgenium ตามลำดับ) พร้อมทั้ง mark ข้อความสำหรับแปลเพิ่มอีกหนึ่งข้อความด้วย (ส่งบั๊กทางเมลส่วนตัว ไม่มี archive)
ที่มาของบั๊ก: กระทู้หนึ่งใน KKL แนะนำโปรแกรมตารางธาตุของเด็กไทยเขียน เลยเกิดแรงบันดาลใจมาสำรวจ GPeriodic (เคย blog ถึง เมื่อสามปีก่อน) พร้อมทั้งแปลข้อความเป็นไทย (ยังไม่เสร็จ) เพราะเห็นว่า ถึงกับมีคนเขียน แสดงว่ามีคนต้องการใช้
29 มิ.ย.
Debian #488461 เกี่ยวกับบั๊ก GPeriodic นั่นแล แต่รายงานที่ Debian ด้วย

มีแต่บั๊กตอดเล็กตอดน้อย.. แต่ก็ด้วยการรายงานบั๊กไม่ใช่หรือ ซอฟต์แวร์เสรี/โอเพนซอร์สถึงมีการพัฒนา :-)

ป้ายกำกับ: , , , ,

23 มิถุนายน 2551

More Xlib Bug Fix for SCIM

หลังจาก แก้บั๊กของ Xlib เรื่อง การโหลด SCIM และ XIM server อื่นในโลแคลไทย ไปแล้ว นักพัฒนา Xandros คนเดิมรายงานมาว่า SCIM โหลดแล้ว แต่คีย์ภาษาไทยไม่ติด

แว้บไปทำเรื่องอื่นซะนาน เกือบสองเดือนแน่ะ เมื่อวานกับวันนี้เลยหยิบขึ้นมาไล่ดู ก็พบว่า ปัญหาก็คือ SCIM เวลาจะ commit string นั้น จะแปลงจาก wchar ให้อยู่ในรูป compound text ของ X ก่อน commit ซึ่งโลแคลไทยประกาศ character set ที่จะส่งใน compound text ไว้เป็น TIS620-0:GR ดังนี้ (แฟ้ม /usr/share/X11/locale/th_TH.UTF-8/XLC_LOCALE):

cs1 {
    side    GR:Default
    length  1

    wc_encoding \x30000000
    ct_encoding TIS620-0:GR
}

แต่ตอนที่ส่ง patch เกี่ยวกับ ISO8859-11 เมื่อตอนที่ประกาศเป็นมาตรฐานนั้น ไม่ได้แก้ตรงนี้ด้วย เพราะคิดว่ามันเทียบเท่ากัน แต่เผอิญว่าในตาราง compound text ปริยายของ Xlib ได้ตัด TIS620-0:GR ออกไปแล้ว เนื่องจากมี escape sequence ซ้ำกับ ISO8859-11:GR ทีนี้ พอ SCIM พยายามแปลง compound text มันก็เลยหา TIS620-0:GR ตามที่ระบุไม่เจอ

วิธีแก้ ก็เปลี่ยนเป็น ISO8859-11:GR แทนเสีย:

cs1 {
    side    GR:Default
    length  1

    wc_encoding \x30000000
    ct_encoding ISO8859-11:GR
}

เสร็จแล้วก็รายงาน Freedesktop Bug #16475 เสีย.. ได้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า จะทำ UTF-8 เลยไหม.. เดี๋ยวทำเพิ่มเลย :-)

ป้ายกำกับ: ,

21 มิถุนายน 2551

Debian and AbiWord 2.6

AbiWord 2.6 ออกมาได้เกือบ 3 เดือนแล้ว (ข่าวที่ GNOME ไทย) และรุ่นล่าสุดที่ออกมาก็เป็น 2.6.3 แล้ว แต่ Debian maintainer ยังไม่ตื่น แฟน ๆ request ไป รอจนเหงือกแห้งก็ยังไม่โผล่มา วันนี้อดรนทนไม่ไหว เลยไปดาวน์โหลดมาตรวจสอบดูซะหน่อย

AbiWord ในรุ่น 2.4 จะออกมาเป็น tarball เดี่ยว ๆ แต่ตั้งแต่รุ่น 2.5 (รุ่นพัฒนา) เป็นต้นมา จะเริ่มออกมาเป็นหลาย tarball โดยแยกเป็น abiword, abiword-plugins, abiword-doc, abiword-extras รวม 4 ก้อน ถ้าจะทำแพกเกจเอง ก็ต้องตัดสินใจ ว่าจะแยกซอร์สตามต้นน้ำ หรือจะทำเป็นแพกเกจเดียวเหมือนเดิม ปรากฏว่าที่หน้า ดาวน์โหลด ของ AbiWord ให้ ข้อมูลสำหรับ Ubuntu ว่าให้ไปเอาจาก PPA ของ Ryan Pavlik แต่ที่ official Ubuntu (2.6.3-0ubuntu2) ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจาก PPA อีกนิดหน่อย

สิ่งที่ Ubuntu package เปลี่ยนแปลงจาก Debian เดิม พอสรุปได้ดังนี้

  • ไม่แยกเป็น abiword (gtk) กับ abiword-gnome อีกต่อไป เหลือแต่ abiword ที่ไม่ enable GNOME support
  • abiword-plugins-gnome ก็พลอยหายไปด้วย
  • รวมซอร์สทั้ง 4 tarball เข้าเป็นก้อนเดียว

อ่านจาก LP: #202174 ซึ่งเป็นบั๊กที่ร้องขอ AbiWord 2.6 ใน Ubuntu ความเห็นของ Ryan ที่อธิบายไว้สั้น ๆ ก็พอเข้าใจได้ คือ AbiWord 2.6 ไม่ได้มีความสามารถสำหรับ GNOME โดยเฉพาะมากนัก หลังจากที่โค้ดหลายอย่างได้เข้าไปรวมใน GTK+ แล้ว และการรวม tarball ก็ด้วยเหตุที่ tarball ทั้งสี่จะออกมาเป็นชุดเดียวกันพร้อม ๆ กันอยู่แล้ว อีกทั้งการ build รวมกันก็ยังมีผลดีอีกอย่าง คือสามารถรวมปลั๊กอินสำคัญ ๆ เข้ามาใน abiword ทันทีโดยไม่ต้องลงปลั๊กอินเพิ่ม เช่น ตัวกรอง ODF เหลือแต่ปลั๊กอินที่ไม่ค่อยได้ใช้แยกมาอยู่ในแพกเกจต่างหาก

เห็นบั๊กของ Debian มันเงียบ ๆ เลยดาวน์โหลดมาตรวจสอบดู เพื่อเขียนความเห็นเพิ่มเป็นการกระทุ้งเข้าไป.. ก็พบว่าความแตกต่างระหว่างที่ enable กับไม่ enable GNOME ก็มีดังนี้

gnomeui:
  • เปิด URL ด้วยเบราว์เซอร์ที่กำหนดไว้ของ GNOME ถ้าไม่ใช้ gnomeui ก็จะไล่ตรวจสอบตามลำดับ โดยหา epiphany ก่อน จากนั้นจึงเป็น firefox และตัวอื่น ๆ
  • toolbar ใช้อ็อบเจกต์ของ GNOME ซึ่งเข้าใจว่าก่อนหน้านั้นคงใช้ GnomeToolbar จาก libgnomeui แต่ในคลาสก็ได้ implement ด้วย GtkToolbar เรียบร้อย สรุปว่าไม่มีความแตกต่างมากนัก ยังไงก็ได้ GtkToolbar อยู่ดี
gnomevfs:
  • ใช้ gnomevfs ค้นหาชนิด MIME ของ URI ถ้าไม่ใช้ gnomevfs ก็จะมีโค้ดตรวจสอบเอง
gucharmap:
  • ในกล่องโต้ตอบ "Insert Symbols" จะใช้วิดเจ็ตของ gucharmap ในการแสดงตารางอักขระให้เลือก มิฉะนั้น ก็จะแสดงอักขระที่มีในฟอนต์แทน
goffice:
  • ดูเหมือนจะมีความสามารถหลายอย่างที่เชื่อมรวมกับ GNOME Office อื่น รวมถึงการร่วมกันแก้เอกสารหลายคนด้วย ผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก

ไล่เรียงเป็นรายตัวแล้ว ก็พอจะยอมตัดออกได้อยู่ แต่สองตัวหลัง คือ gucharmap กับ goffice มีปัญหาทางเทคนิคอยู่คือ สำหรับ gucharmap นั้น จะทำให้แครชถ้าปิดกล่องโต้ตอบทันทีโดยไม่เลือกอักขระ ซึ่งดู ๆ น่าจะเป็นบั๊กของตัววิดเจ็ตเอง ส่วน goffice นั้น AbiWord ใช้ goffice 0.4 ซึ่งตกรุ่นไปแล้ว หลังจากที่ goffice 0.6 เข้าทั้ง Debian และ Ubuntu ไปนานแล้ว

สรุปว่าผมคิดว่าโอเคน่ะ ถ้าจะทำแพกเกจแบบที่ Ubuntu ทำไว้ ไว้ต่อไป AbiWord จัดกลุ่มโค้ดแยกขาดจากกันชัดเจนแล้วค่อยแยกแพกเกจก็ยังได้ จะดูความสามารถรึ สองตัวหลังก็มีปัญหาอยู่ ส่วน gnomevfs ก็จะเลิกใช้อยู่รอมร่ออยู่แล้ว มีที่น่าสนใจคือ gnomeui เรื่องการเปิด URL เรื่องเดียวที่ดูมีเหตุผลอยู่ แต่เหลือแค่เรื่องเล็ก ๆ แค่นี้ ตัดออกเสียก็คงไม่เสียหายมาก

หมดวัน.. บันทึกไว้กันลืม

แล้วก็รอ ว่าสองเขือพี่ (Debian maintainer ทั้งสอง) จะหลับใหลไปอีกนานเท่าไร

ป้ายกำกับ: , ,

16 มิถุนายน 2551

Plutoid in Thai News

หลังจากที่ ดาวพลูโตถูกลดชั้นจากทำเนียบดาวเคราะห์ เมื่อสองปีก่อน เร็ว ๆ นี้ (11 มิ.ย.) ก็มีข่าวเล็ก ๆ ออกมาจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) เกี่ยวกับ การบัญญัติคำว่า plutoid สำหรับเรียกเทหวัตถุในระบบสุริยะที่คล้ายพลูโต ซึ่งครั้งนี้ข่าวไม่ได้ครึกโครมเหมือนเมื่อครั้งลดชั้น แต่การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวต่าง ๆ ในไทยนี่สิ ที่ทำให้น่าเป็นห่วง ว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันใหญ่หลวง

เท้าความเรื่องการลดชั้นพลูโตคร่าว ๆ (เคยบันทึกไว้ใน blog เก่า) คือจากความพิลึกกึกกือของพลูโตที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมานาน ว่าจะยังคงจัดให้พลูโตเป็นดาวเคราะห์อยู่หรือเปล่า จนกระทั่งมีการพบ trans-Neptunian object เพิ่มขึ้น เป็นการเร่งรัดให้จัดหมู่พลูโตโดยด่วน เพื่อความชัดเจนว่าจะนับดาวเคราะห์เพิ่มเป็น 10, 11, ... ดวง หรือจะเป็นอย่างอื่น ในที่สุดก็ตกลงกันให้ปลดพลูโตลงจากทำเนียบดาวเคราะห์ เพื่อมาเป็นหัวขบวนให้กับเทหวัตถุชนิดใหม่ที่เรียกว่า "ดาวเคราะห์แคระ" (dwarf planet) โดยเพิ่มนิยามดาวเคราะห์ (planet) ว่าต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • โคจรรอบดาวฤกษ์ และไม่ได้เป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์อื่น
  • มีมวลมากพอที่จะสร้างแรงโน้มถ่วงในตัวเอง เอาชนะแรงยึดเหนี่ยวของของแข็ง จนจัดรูปร่างตัวเองในลักษณะเดียวกับ สมดุลไฮโดรสแตติก คือมีรูปร่างเกือบกลม
  • มีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะ เก็บกวาดวัตถุอื่น ที่ผ่านเข้ามาในวงโคจร จนกลายเป็นผู้ครอบครองวงโคจรแต่ผู้เดียว

เทหวัตถุที่ขาดคุณสมบัติข้อสุดท้ายเพียงข้อเดียว โดยมีมวลมากพอจะจัดรูปร่างตัวเองให้เกือบกลม แต่ไม่มากพอจะเก็บกวาดวัตถุอื่นในวงโคจร ก็ให้เรียกว่า "ดาวเคราะห์แคระ" (dwarf planet) ส่วนเทหวัตถุที่ไม่สามารถแม้แต่จะจัดรูปร่างตัวเองให้เกือบกลม ก็ให้เรียกว่า "ดาวเคราะห์น้อย" (asteroid) ต่อไป

ดาวพลูโตซึ่งกลมแต่ไม่สามารถครอบครองวงโคจรแต่ผู้เดียว โดยใช้วงโคจรร่วมกับ แครอน ดวงจันทร์บริวารในลักษณะคู่เต้นรำที่จับมือกันเหวี่ยงตัวไปรอบจุดศูนย์ถ่วงระหว่างกัน จึงถูกจัดกลุ่มใหม่ให้เป็นดาวเคราะห์แคระมาตั้งแต่บัดนั้น

พร้อมกันนั้น ก็มีการเลื่อนชั้น ซีรีส ดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุดและมีรูปร่างเกือบกลม ให้ขึ้นมาเป็นดาวเคราะห์แคระไปด้วย พร้อมกับจัดกลุ่มให้ 2003 UB313 ซึ่งเป็น trans-Neptunian object ที่ในขณะนั้นมีชื่อเล่นว่า Xena และปัจจุบันได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Eris เป็นดาวเคราะห์แคระไปด้วย รวมทั้งแครอน ดวงจันทร์บริวารของพลูโต ก็พลอยได้เป็นดาวเคราะห์แคระไปด้วย

สรุปว่าในครั้งนั้น ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์เหลือ 8 ดวง และมีดาวเคราะห์แคระ 4 ดวง (ซีรีส, พลูโต, แครอน, Xena/Eris)

แล้วข่าวจาก IAU ครั้งนี้ ก็เป็นการบัญญัติคำสำหรับเรียกดาวเคราะห์แคระที่มีแกนหลักของวงโคจรโตกว่าของเนปจูน โดยใช้คำว่า "พลูตอยด์" (plutoid) ซึ่งในขณะนี้ มีพลูตอยด์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ 2 ดวง คือพลูโต และอีริส ส่วนแครอนนั้น ไม่นับเป็นดาวเคราะห์แคระแล้ว เพราะถือเป็นดวงจันทร์บริวารของพลูโต จึงไม่ใช่พลูตอยด์เช่นกัน

นั่นคือสาระของข่าวจาก IAU ทีนี้มาดู ว่าแหล่งข่าวในบ้านเรารายงานว่ายังไงกันบ้าง

ดูเหมือนข่าวในไทยเกือบทั้งหมด จะคัดต่อ ๆ กันมาจากแหล่งเดียว จึงรายงานไปในทางเดียวกัน ว่า ดาราศาสตร์โลกเปลี่ยนชื่อดาวพลูโตเป็นพลูตอยด์ ตัวอย่างเช่น:

อย่างไรก็ดี มีแหล่งข่าวบางแหล่งที่รายงานต่างออกไป เช่น:

  • ไทยโพสต์ เนื้อหาดูจะผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดี ไม่มีการเปลี่ยนชื่อดาว แต่ก็ปรากฏว่ามีจุดบอดอยู่บ้าง คือไม่ได้อ้างถึงซีรีสเลย โดยระบุว่า "ต่อไปนี้ วัตถุที่เป็น 'ดาวเคราะห์แคระ' จะถูกจัดเป็นพวก 'plutoids'" เป็นการเหมารวมดาวเคราะห์แคระทั้งหมดเป็นพลูตอยด์ และระบุชื่อเพียงสองดวง คือพลูโตและอีริส จึงเป็นการตัดซีรีสออกจากสารบบดาวเคราะห์แคระแบบกลาย ๆ
  • blognone ไม่มีการเปลี่ยนชื่อดาว แต่รายงานในทำนองเดียวกับไทยโพสต์ ว่า plutoid เป็นคำใหม่สำหรับเรียกดาวเคราะห์แคระ โดยไม่ได้แยกแยะ ทำให้กรณีของซีรีสตกจากความเป็นดาวเคราะห์แคระแบบกลาย ๆ ไปด้วย แถมยังให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนด้วย ว่าพลูโตถูกปลดจากทำเนียบดาวเคราะห์เพราะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากเกินไป
  • foosci เดิมรายงานว่าพลูโตถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพลูตอยด์ แต่หลังจากทักท้วงไปแล้ว ก็ได้ปรับเนื้อหาใหม่ รวมทั้งแก้รายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับนิยามของดาวเคราะห์แคระด้วย แต่ก็ยังเหลือจุดบอดอยู่ ที่บอกว่า ได้มีการตั้งชื่อให้ใหม่ เพื่อให้เหมือนกับดาวเคราะห์แคระดวงอื่น ซึ่งก็ยังคงย้ำอยู่ดีว่ามีการเปลี่ยนชื่อ แถมระบุเงื่อนไขของชื่อดาวเคราะห์แคระที่คลาดเคลื่อนด้วย (ดาวเคราะห์แคระไม่ได้ชื่อลงท้ายด้วย -oid แต่เท่าที่จับแนวทางของชื่อ น่าจะเป็นเทพเจ้าของกรีกเหมือนดาวเคราะห์น้อย [ในขณะที่ดาวเคราะห์จะได้ชื่อเทพเจ้าโรมัน] ชื่อซีรีส (เทพเจ้ากรีก) และพลูโต (เทพเจ้าโรมัน) เป็นชื่อเดิม คงไม่มีการเปลี่ยน แต่เมื่อดูจากชื่อ อีริส (Eris) ซึ่งเป็นเทพเจ้ากรีกแล้ว ก็ทำให้คาดเดาได้ว่าพลูตอยด์ดวงใหม่ ๆ คงจะได้ชื่อของเทพเจ้ากรีกตามอย่างดาวเคราะห์น้อย)

ถ้าพิจารณาให้ดี ข้อเท็จจริงที่แหล่งข่าวน่าจะรายงาน จึงควรจะเป็นว่า:

  • ไม่มีการเปลี่ยนชื่อดาวพลูโต
  • มีคำใหม่คือ "พลูตอยด์" สำหรับเรียกดาวเคราะห์แคระ ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าเนปจูนออกไป (ไม่ใช่เรียกดาวเคราะห์แคระทั้งหมดว่าเป็นพลูตอยด์)
  • ซีรีสยังเป็นดาวเคราะห์แคระอยู่ แต่ไม่ใช่พลูตอยด์เพราะอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ไม่มีการตั้งชื่อให้กับกลุ่มดาวเคราะห์แคระที่อยู่บริเวณนี้ เพราะมีเพียงซีรีสเพียงดวงเดียว
  • ปัจจุบัน ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์แคระอย่างเป็นทางการ 3 ดวง คือ ซีรีส, พลูโต, อีริส โดยเป็นพลูตอยด์เสีย 2 ดวง คือ พลูโต และอีริส
  • สาเหตุของการลดชั้นพลูโตจากความเป็นดาวเคราะห์ อยู่ที่ขนาดของพลูโต ที่ไม่ใหญ่พอจะเก็บกวาดมวลสารจนเป็นผู้ครอบครองวงโคจรแต่ผู้เดียวได้ ไม่เกี่ยวกับสาเหตุอื่น ๆ

ช่วยกันแก้ข่าวด้วยนะครับ ก่อนที่ครูจะเริ่มสอนนักเรียนด้วยข้อมูลผิด ๆ ตามข่าว

Update (13:38): เพิ่มลิงก์ช่อง 7 และ Shincamp

ป้ายกำกับ:

13 มิถุนายน 2551

Twitter and Me

ว่างเว้นการ blog ไปนาน พบว่าสาเหตุหนึ่งมาจาก twitter...

ผมพยายามทำความเข้าใจกับ twitter อยู่ สำหรับผม ผมคิดว่ามันคือ microblog + feed reader คือเราเขียน blog แบบสั้น ๆ แล้วก็ follow คนอื่นเหมือนอ่าน feed ของเขา แต่พอ traffic มันมากเข้า ก็กลายเป็น IM + chat กลาย ๆ คล้ายการโต้ตอบใน planet ต่าง ๆ

แต่ผมก็ยังคงใช้ twitter ในฐานะ microblog + feed reader อยู่ดี แต่ด้วยความที่พยายามใช้สมาธิกับงาน ก็เลยไม่ follow ให้มากเกินไป เพราะเท่าที่ follow อยู่นี่ ก็หล่นเร็วมากจนอ่านไม่ทันอยู่แล้ว (ขี้เกียจอ่านด้วยแหละ ถ้าเป็นข้อความประเภท "รอรถเมล์", "เดินเข้าเซเว่น", "ถึงอนุสาวรีย์", "กำลังฟังเพลง abc" ฯลฯ) อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่จอแจแถวบ้าน ก็ทำให้เสียสมาธิได้มากพออยู่แล้ว ถ้าวอกแวกไปอ่าน twitter บ่อย ๆ ก็คงไม่เป็นอันทำงานพอดี

แต่ผลข้างเคียงของ microblog คือ มันทำให้ผมขี้เกียจ blog กว่าเดิม คือตอนที่มีความคืบหน้าของงาน จากเดิมที่ปกติจะมาเขียน blog ที่นี่ ก็เปลี่ยนเป็นเล่าสั้น ๆ ใน twitter แล้วก็จบไป ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องสลักสำคัญให้ต้องเขียน blog อีก

แต่ผมก็ใช่จะพูดมากใน twitter ความถี่ในการ tweet ก็ไม่ได้สูงกว่าความถี่ในการ blog ในช่วงปกติสักเท่าไร มันกลายเป็นการย้าย blog เข้าไปอยู่ใน twitter แล้ว blog เรื่องเล็กน้อยให้ถี่ขึ้นนิดหน่อยเท่านั้นเอง

แล้วผมยังควรจะใช้ twitter ต่อไปอีกหรือ? นั่นสิ.. สับสนกับตัวเองเหมือนกัน

ในบางครั้ง ก็คิดว่าเป็นเพราะยังไม่คุ้นมากกว่า แต่พอเห็นพฤติกรรมการ blog ที่เปลี่ยนไปของตัวเอง โดยที่ไม่ได้เกิดผลบวกใน twitter สักเท่าไร ก็อยากงดใช้ twitter เหมือนกัน

ถ้าต้องเลือกสักทาง (ก็ผมมันไม่ใช่คนช่างพูดนิ จะได้มีเรื่องเขียนมากมาย) ผมก็เห็นว่า blog นี่แหละ ที่จะได้สาระเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า ต่อไปคงพยายามกลับมา blog ให้มากขึ้นเหมือนเดิม ส่วน twitter นั้น.. รอดูสักพักก่อน ว่าจะใช้ยังไงให้เป็นประโยชน์กว่านี้

ป้ายกำกับ: ,

11 มิถุนายน 2551

Thanks

ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับ บ. 101 Global ที่ได้หย่อนสตางค์ลงหมวกอีกเดือนหนึ่ง คือบริษัทได้ปวารณาตัว ว่าจะ donate ให้ผมทุกเดือนเป็นเวลา 6 เดือน เป็นอีกเจตนาที่น่านับถือสำหรับบริษัทเอกชนที่สนับสนุนซอฟต์แวร์เสรีครับ

ป้ายกำกับ:

hacker emblem