Pluto Demotion
เข้าถ้ำต่ออีกหลายวัน (ไว้ค่อยเล่า) จนได้ยินข่าวทางทีวีเกี่ยวกับดาวพลูโต ที่ถูกปลดจากความเป็นดาวเคราะห์แล้ว เลยแว้บออกมาตามข่าวซะหน่อย
เห็นเขาเถียงกันมานานแล้ว เรื่องคุณสมบัติความเป็นดาวเคราะห์ (planet) ของพลูโต เพราะมันมีขนาดเล็กมาก แถมยังมีวงโคจรที่อยู่ต่างระนาบกับดาวเคราะห์ดวงอื่น อีกทั้งยังซ้อนเหลื่อมกับวงโคจรของดาวเนปจูนอีกด้วย แต่มีข่าวเรื่องการถกเรื่องนี้ทีไร ก็ไม่เห็นครึกโครมเหมือนครั้งนี้ จน สพฐ. ถึงกับประกาศความพร้อมที่จะแก้ตำราเรียนเลยทีเดียว
อ่าน ข่าว /. เมื่อวานซืน ซึ่งชี้ต่อไปยัง ข่าว AP Wire, ข่าว BBC และ ข่าว MSNBC ก็พอจะสรุปความได้ว่า เนื่องจากมีการค้นพบดาวบริวารของดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดที่มีการรับรองคือ 2003 UB313 ซึ่งได้ชื่อเล่นว่า Xena และเคยถูกเรียกเป็นดาวเคราะห์ดวงที่สิบ หรือ ดวงที่สิบสอง) และยังมีรอจ่อคิวอีกราว สิบสองดวง ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) โดยที่ก้อนวัตถุเหล่านี้ มีขนาดไล่เลี่ยกับพลูโต (Xena มีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อย) การค้นพบวัตถุเหล่านี้ จึงเร่งให้ต้องตัดสินความเป็นดาวเคราะห์ของพลูโต ก่อนที่จะจัดประเภทให้กับดาวบริวารที่พบใหม่
ผลก็คือ มีการร่างข้อเสนอต่อสหภาพดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union หรือ IAU) หลายครั้ง เพื่อ ให้นิยามดาวเคราะห์ และการประชุมของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่เช็กเมื่อวานซืน ก็เป็นการพิจารณาร่างข้อเสนอนี้เป็นรอบสุดท้าย ซึ่งผลการลงมติก็คือ ร่างข้อเสนอผ่านการเห็นชอบ และพลูโตก็ถูกตัดออกจากทำเนียบดาวเคราะห์เรียบร้อย เพื่อไปเป็นหัวขบวนของบริวารชนิดใหม่ของดวงอาทิตย์ เรียกว่า ดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) โดยมีการกำหนดนิยามของดาวเคราะห์ (planet) ว่าต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้:
- โคจรรอบดาวฤกษ์ และไม่ได้เป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์อื่น
- มีมวลมากพอที่จะสร้างแรงโน้มถ่วงในตัวเองให้เกิด สมดุลไฮโดรสแตติก จนมีรูปร่างเกือบกลม
- มีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะ เก็บกวาดวัตถุอื่น ที่ผ่านเข้ามาในวงโคจร
จากนิยามนี้ (โดยเฉพาะข้อสุดท้าย) ทำให้พลูโตตกทำเนียบดาวเคราะห์ไป รวมทั้งแนวคิดเรื่องการนับดาวเคราะห์เพิ่มเป็น 12 ดวงที่เคยมีการเสนอก่อนหน้านี้ (และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 24 ดวง และอีกมากในอนาคต) ก็มีอันตกไปด้วย โดยพลูโตจะกลายเป็นวัตถุต้นแบบของบริวารกลุ่มใหม่ของดวงอาทิตย์ คือ ดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) [ไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อย (asteroid)] โดยมีคุณสมบัติเหมือนดาวเคราะห์ในสองข้อแรก ต่างที่ข้อสุดท้าย ที่จะไม่เก็บกวาดวัตถุอื่นในวงโคจร
เป็นอันว่า ขณะนี้ ระบบสุริยะถือว่ามีดาวเคราะห์แปดดวง และดาวเคราะห์แคระอีกสี่ดวง ซึ่งดาวเคราะห์แคระสี่ดวงนี้ ได้แก่ พลูโต (Pluto), แครอน (Charon), ซีรีส (Ceres) และ 2003 UB313
สำหรับ แครอน ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารของพลูโตนั้น สามารถนับเป็นดาวเคราะห์แคระ (ไม่ใช่ดวงจันทร์) ได้ เพราะมีขนาดโตพอที่จะไม่ได้โคจรรอบพลูโตจริงๆ แต่ทั้งสองดวงโคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลของทั้งคู่ เหมือนคู่เต้นรำที่จับมือกัน แล้วหมุนไปรอบๆ มือที่จับนั้น ทำให้ในรอบแรกของการกำหนดนิยามดาวเคราะห์ใหม่ แครอนถูกยกระดับเป็นดาวเคราะห์หนึ่งในสิบสองดวง แต่ก็ถูกปลดมาเป็นดาวเคราะห์แคระพร้อมกับพลูโต
ส่วน ซีรีส ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ก็มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นดาวเคราะห์แคระเช่นกัน โดยเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงเดียวที่มีรูปร่างเกือบกลม ส่วน 2 Pallas ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองนั้น มีมวลไม่มากพอที่จะมีรูปร่างกลมได้
และ 2003 UB313 ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Xena (เพื่อให้เข้ากับ "ดาวเคราะห์ X" ที่เคยมีการพูดถึงกันก่อนหน้านี้หลายปี) นั้น ขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อย วงโคจรรีมาก และทำมุมเอียงกับระนาบวงโคจรของโลกมากถึง 44 องศา
สมาคมดาราศาสตร์ไทย ก็มี รายงานพิเศษ เรื่องนี้ด้วย
0 ความเห็น:
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก