Theppitak's blog

My personal blog.

30 ตุลาคม 2551

The GNOME Foot and Thai People

เมื่อครั้งออกนิทรรศการ:

ถาม: อุ๊ย มีส้นตีนด้วย

ตอบ: มันเป็นรูปรอยเท้าของคนแคระน่ะครับ

เมื่อนำ GNOME เข้าไปในโรงเรียน:

ถาม: ครูครับ ทำไมต้องมีส้นตีนด้วย

ตอบ: มันเป็นรูปรอยเท้าของคนแคระน่ะครับ สังเกตดูนะครับ คนแคระมีนิ้วเท้าแค่สี่นิ้ว

ล่าสุดเร็ว ๆ นี้ หลังจากเซ็ตเครื่องให้แม่ใช้:

ถาม: เป็นหยังมาโชว์ส้นตีนใส่หน้าคน ตีนตบ นปช. ซั่นบ่?

ตอบ: มันเป็นรูปรอยเท้า...

พอเห็นโลโก้ของ GNOME ปฏิกิริยาอัตโนมัติของคนไทยจะนึกถึงคำว่า "ส้นตีน" ก่อนคำอื่น แล้วก็สื่อความหมายหยาบคาย แล้วก็ต้องนั่งอธิบายให้ทุกรายฟังซ้ำ ๆ ซาก ๆ และในกรณีที่ไม่มีโอกาสได้อธิบาย ก็คงถึงกับโยนทิ้งไปเลยสำหรับบางคน

กรณีล่าสุดนี่ กลายเป็นเรื่องการเมืองไปเสียฉิบ..

อธิบายหลายครั้งเข้า ก็ชักเซ็ง เชื่อว่าหลายคนก็คงเคยเจอ เราอาจจะเลี่ยงได้ด้วยการใช้ distro ที่เปลี่ยนโลโก้ของ GNOME ที่เมนูหลัก เช่น Ubuntu, Fedora, LinuxTLE แต่เขาก็ไม่วายเจอในโอกาสต่าง ๆ อยู่ดี เช่น ใน Nautilus หรือ Epiphany

เลย โพสต์หารือ กับทีมการตลาดของ GNOME เสีย ซึ่งก็มีปฏิกิริยาหลากหลาย เช่น:

  • เห็นด้วย รวมทั้งเสนอเปลี่ยนรูปเท้าใน Epiphany เป็นอย่างอื่นด้วย (GNOME #558367)
  • ถ้าใส่รองเท้าล่ะ? โดยเสนอ ไอคอนของ Tango ที่เป็นรูปรอยรองเท้าแทน
  • ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า มีคนยกมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2001
  • เสนอไอคอน โดยแนะว่าน่าจะถือโอกาสปรับโลโก้ใน GNOME 3.0 เสียเลย โดยเขาเสนอรูป หมวก gnome แทน
  • ใช้ theme ก็ได้ ไม่ชอบรูปเท้า ก็เปลี่ยน theme สิ แต่ทางออกอีกทาง คือเสนอ mascot มาคู่กับโลโก้ ซึ่งเขาเสนอรูปเต่าทะเล
  • ไม่เห็นด้วย แค่ประเทศไทยประเทศเดียวไม่ชอบ ไม่ใช่ว่าต้องเปลี่ยน แล้วประเทศอื่น ๆ ล่ะ?
  • ไม่เห็นด้วย เพราะโลโก้เก่าใช้มาเยอะแล้ว ถ้าเปลี่ยน จะยอมให้โครงการอื่นใช้โลโก้รูปเท้าไหม? พร้อมทั้ง เสริม ว่าการเปลี่ยนโลโก้จะมีการเมืองมาเกี่ยวข้องมาก และจะมีผู้ไม่พอใจมากมาย ไม่คุ้มที่จะเปลี่ยนเพื่อประเทศไทยเพียงประเทศเดียว

แต่ก็ต้องย้ำกับเขาซ้ำอีก ว่าผมไม่ได้ต้องการเปลี่ยนโลโก้ GNOME นะ อย่างมากที่สุดที่ผมคาดหวัง ก็คือ โลโก้ที่สอง ที่ GNOME รับรองให้แทน GNOME ได้เช่นกัน ในกรณีของบางวัฒนธรรมที่รูปเท้าเป็นสิ่งไม่เหมาะสม

เรื่องการใช้ theme ก็โอเค แต่มันคงเป็นต่างคนต่างใช้ ไม่มีมาตรฐาน แล้วก็จะมีปัญหาในการโปรโมท ว่าหมายถึงสิ่งเดียวกันหรือเปล่า เช่น ในเว็บจะใช้โลโก้ไหนดี สุดท้ายก็ต้องมีการตกลงกัน

ผมเองก็ชอบรูปเท้าน่ะ โดยเฉพาะใน GNOME 2 นี่ เท้ามันสเลนเดอร์กว่าใน GNOME 1 ด้วย แต่ก็ขี้เกียจอธิบายกับคนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนกัน

สงสัยต้องหาพวก.. มีประเทศเอเชียประเทศไหนอีกบ้าง ที่รังเกียจรูปเท้าเหมือนไทย? ถ้ารวมเสียงได้พอ อาจอ้อนขอโลโก้ที่สองได้

ป้ายกำกับ:

16 ตุลาคม 2551

Mozilla Delete Key Fixed for Thai

หลังจากถูกเลื่อนออกมาจาก Firefox 3.0 / Gecko 1.9.0 ในที่สุด Mozilla #157546 (ปุ่ม <delete> ควรลบภาษาไทยทั้งเซลล์) ก็ปิดแล้วเมื่อเช้านี้ โดยจะเริ่มมีผลใน Firefox 3.1 / Gecko 1.9.1 (รอใน beta 2 เป็นอย่างเร็ว)

ใครจะไปคิด ว่าบั๊กแบบนี้จะใช้เวลาตั้ง 6 ปีในการปิด (สูสีกับ บั๊กตัดคำ ที่ใช้เวลาถึง 8 ปี) และที่ว่าถูกเลื่อนมาจาก Firefox 3.0 / Gecko 1.9.0 ก็เพราะทีแรกนั้น แพตช์ได้ check-in แล้วตั้งแต่ก่อนรุ่นนั้นจะออก แต่มีการพบว่าไปทำให้เกิด regression สองรายการ คือ การลบใน HTML editor ไม่ลบต่อเข้าไปในบล็อค และ การลบที่บริเวณรอยต่อ bi-direction text เป็นการลบทันทีโดยไม่กระโดดไปขวาสุดก่อนเหมือนเคย ซึ่งรายการหลังนี่ไปกระทบภาษาฮีบรูและอารบิกเข้า และเนื่องจาก Firefox/Gecko กำลังอยู่ในช่วง freeze จึงโดนถอนแพตช์ออก แม้จะมีการเสนอแพตช์แก้ต่อมาก็ตาม

หลังจาก Firefox 3.0 / Gecko 1.9.0 ออกแล้ว ผมเลยเริ่มรอบใหม่ โดย merge แพตช์ทั้งหมดแล้วเสนอใหม่ รอมาอีก 3 เดือนจึงมีคนมารีวิวให้ แก้เสร็จก็รออีก 3 เดือนถึงได้รับการรีวิวอีก จนได้ commit เมื่อเช้านี้ นี่ก็ยังต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง ว่าจะโดนถอนแพตช์อีกหรือเปล่า

Mozilla เป็นโค้ดที่ซับซ้อนจริง ๆ แก้แค่เรื่องปุ่ม Delete นี่ แพตช์ก็ใหญ่กว่าที่คิด ใช้เวลารอรีวิวนานด้วย.. อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นักพัฒนาหลายคนเริ่มหันไปหา WebKit แทน แม้แต่ Epiphany ของ GNOME เอง

สำหรับ Mozilla บั๊กต่อไปที่คิดว่าจะทำ คือ Mozilla #353776 (surrounding text support ใน input method) แต่ต้องรอว่างจากงานอื่นก่อน

ป้ายกำกับ: , , ,

15 ตุลาคม 2551

Pushing Lenny

Lenny ยังไม่ออก แต่ คุณช่วยได้ ไม่ใช่ด้วยการบ่นหรือเขียนวิจารณ์ใด ๆ แต่ด้วยการช่วยกันลงมือแก้ Release-critical (RC) bug ที่ยังเหลือ

ผมก็อยากให้ Lenny ออก เลยหาเวลาไปช่วยแจมบั๊กด้วย แจมไปแจมมา ก็แก้ได้แต่บั๊กที่เกือบ RC คือ Debian #495311 (iceweasel พังโดย permission ของ .mozilla ผิด) ซึ่งจะมีผลเฉพาะกับคนที่ใช้ apt-get ผ่าน sudo เท่านั้น ตอนนี้เขารับแพตช์แล้ว รอ release

แล้วก็ แทนที่จะปิด RC bug กลับไปเปิด RC bug ใหม่อีกตัว คือ Debian #502072 (apt-cacher-ng เปิดบริการไม่ได้) โดยเสนอแพตช์ด้วย ตอนนี้ก็ปิดเรียบร้อย

แล้วก็ เมื่อเช้านี้ ได้พบว่า Debian #495027 (ตาราง session ของ drupal5 โตขึ้นเรื่อย ๆ) ซึ่งได้รายงานไว้ (blog เก่า) โดยอ้างอิง blog ของกำธร ผู้พบบั๊กและวิธีแก้นั้น ตอนนี้ถูกปิดเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับ security bug ก็เลยอาจจะเข้า Lenny ในอีกไม่กี่วันนี้ด้วย

คงได้แค่นี้ก่อน.. ต่อจากนี้ก็คงให้เวลาว่างกับงานแปลเอกสารของ GNOME เพื่อเตรียมสู่ GNOME 2.24.1 ที่จะกำหนด tarballs due วันที่ 20 ตุลาคมนี้ (ใครแปล GNOME ค้างอยู่ก็อย่าลืมส่งให้ทันกำหนดนะครับ)

ต่อจากนั้น ค่อยหาเวลากลับมา (หาทาง) ช่วย Debian อีกที ระหว่างนี้ ก็ส่งพลังจิตไปให้เส้นกราฟมันตกลงเรื่อย ๆ ไปก่อน

ป้ายกำกับ: , , , ,

06 ตุลาคม 2551

Using Thai through English Locale

ผลพวงจาก LP #273856 เกี่ยวกับปัญหาการป้อนภาษาไทย ทำให้ผมได้พบความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่ได้นึกถึงมานาน และเป็นคำตอบให้กับอะไรหลาย ๆ อย่าง

นั่นคือ ยังมีผู้ใช้จำนวนมากที่ใช้ภาษาไทยบนโลแคลภาษาอังกฤษ!

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมลืมมานานแล้ว เนื่องจากได้ปรับตัวให้เข้ากับ UI ภาษาไทยของ GNOME มาไม่ต่ำกว่า 8 ปี นับตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมทีมแปลในช่วง GNOME 2.6 หลังจากรับฟังเสียงบ่นจากผู้ว่าจ้างที่ต้องการคำแปลภาษาไทยที่มีคุณภาพกว่าตอนนั้น โดยในช่วงแรก ๆ ผมเน้นปรับตัวสะกดและการใช้คำ จนต่อมาก็ทำส่วนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้แต่ UI ภาษาไทยมาตลอด เพื่อให้ตัวเองมีโอกาสพบความผิดพลาดและแก้ไขให้มากที่สุด

เรื่องภาษาของ UI นี้ เป็นเรื่องนานาจิตตัง หลายคนอาจจะชอบ UI ภาษาอังกฤษ เพราะยังติดภาพลบของคำแปลภาษาไทยในซอฟต์แวร์หลาย ๆ ตัว แต่ผลข้างเคียงที่ผมไม่เคยนึกถึง คือมันทำให้ผมไม่เข้าใจปัญหาหลาย ๆ เรื่องที่ได้พบเห็นในเว็บบอร์ดต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการป้อนภาษาไทย

ผมไม่เข้าใจ เพราะผมทดสอบยังไงก็ได้ผลต่างจากเขา ผมใช้ input method ภาษาไทยที่มีทั้งการตรวจสอบและแก้ลำดับการพิมพ์ หากจะมีอาการผิดปกติบางอย่าง ผมก็สามารถแก้ไขและทดสอบแล้วได้ผล แต่ผมเพิ่งจะมาถึงบางอ้อด้วยประโยคนี้ใน ความเห็นหนึ่ง:

but If I switch session to thai everything work fine. ???

ผมกระจ่างเลย ว่าที่ผ่านมาเราพูดถึงปัญหาคนละปัญหากัน ผมลืมไปเสียสนิทว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังพยายามใช้ภาษาไทยบนโลแคลภาษาอังกฤษ

จากนั้น ความกระจ่างก็ตามมาอีกเป็นระลอก ๆ

ผมเข้าใจแล้ว ว่าทำไมจึงยังพบเห็นการป้อนภาษาไทยผิดลำดับตามเว็บต่าง ๆ ของชุมชนผู้ใช้ลินุกซ์ โดย pango จะวาดลำดับที่ผิดเหล่านั้นให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น วรรณยุกต์มาก่อนสระบน หรือมีสระอิ สระอี อยู่ต้นบรรทัด ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่ลำดับเหล่านี้ควรถูก XIM กรองออกหมดแล้ว ผมคิดไปอีกแบบ ว่าผู้ใช้อาจจะมาจาก OS อื่นที่ยังรองรับภาษาไทยไม่เต็มที่ (วินโดวส์ไม่น่าจะใช่ ส่วน MacOSX ผมไม่แน่ใจ เพราะไม่เคยใช้) แต่ผมไม่เคยนึกถึงกรณีที่จะมาจากผู้ใช้ลินุกซ์ที่ใช้โลแคลภาษาอังกฤษเลย

และครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อได้ยินเสียงบ่นว่าการป้อนภาษาไทยมีปัญหา ผมก็นึกถึงแต่ ปัญหาในโลแคลไทยของ Xlib ซึ่งหากแก้ไขตามแพตช์แล้ว ก็ควรจะใช้การได้ แต่กลับไม่ใช่

การเข้าระบบด้วยวาระภาษาอังกฤษนั้น ไม่มีอะไรรับประกันได้เลย ว่าผู้ใช้จะสามารถป้อนภาษาไทยได้ กลไกต่าง ๆ ไม่ว่าจะของเดสก์ท็อปหรือของดิสโทรที่ได้เตรียมไว้ให้ผู้ใช้ภาษาไทย ต่างอาศัยการเข้าระบบด้วยวาระภาษาไทยทั้งสิ้น!

เริ่มตั้งแต่:

  • XIM ของ X Window จะเปิดใช้การป้อนภาษาไทยก็ต่อเมื่อ LC_CTYPE จะต้องเป็นไทย (th_TH.UTF-8 หรือ th_TH.TIS-620 แล้วแต่กรณี) ซึ่งสามารถกำหนดได้หลายวิธี เช่น:

    • LANG=th_TH.UTF-8 ซึ่งจะเป็นค่านี้เมื่อเข้าระบบด้วยวาระภาษาไทย และจะใช้ธรรมเนียมไทยทั้งหมด ทั้งรูปแบบวันเวลา การเรียงลำดับคำ ข้อความใน UI และการป้อนข้อความ
    • LANG=th_TH.UTF-8, LC_MESSAGES=en_US.UTF-8 คือใช้ธรรมเนียมไทยทั้งหมด ยกเว้นข้อความใน UI เป็นภาษาอังกฤษ เหมาะสำหรับผู้ใช้ภาษาไทยที่ต้องการใช้ UI ภาษาอังกฤษ
    • LANG=en_US.UTF-8, LC_CTYPE=th_TH.UTF-8 คือใช้ธรรมเนียมภาษาอังกฤษหมด ทั้งวันเวลา หน่วยเงินตราและอื่น ๆ การเรียงลำดับคำภาษาไทยจะไม่เรียงตามพจนานุกรมไทย ข้อความภาษาไทยใน UI ก็ไม่ขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการแค่ป้อนภาษาไทยได้เท่านั้น โดยไม่แตะต้องอย่างอื่น

    มีหลายวิธีที่จะกำหนดค่าตัวแปรเหล่านี้ เช่น สำหรับทั้งระบบก็ที่ /etc/environment (สำหรับ Debian/Ubuntu) แต่ถ้ากำหนดเฉพาะส่วนบุคคลก็โดย export ตัวแปรที่ ~/.bashrc

    แต่อย่าลืมว่า การกำหนดค่านี้ จะมีผลกับการป้อนข้อความก็ต่อเมื่อ im-switch เลือกใช้ XIM เท่านั้น ดูข้อถัดไปประกอบ

  • im-switch ของ Debian/Ubuntu ซึ่งจะใช้กำหนดวิธีป้อนข้อความปริยายเมื่อเปิดโปรแกรมต่าง ๆ ในวาระที่เข้าระบบ ก็จะอาศัยโลแคลของวาระเป็นเกณฑ์เช่นกัน ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ก็จะใช้วิธีป้อนข้อความสำหรับภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นโลแคลไทย ก็จะใช้วิธีป้อนสำหรับภาษาไทย ดังนั้น สำหรับการติดตั้งโดยใช้ภาษาอังกฤษโดยไม่มีการปรับแต่งอะไร คุณก็ยังคงไม่ได้ใช้การป้อนข้อความที่ออกแบบมาสำหรับภาษาไทยอยู่ดี ถ้าคุณเข้าระบบเป็นภาษาอังกฤษ

    ถ้าคุณต้องการเข้าระบบด้วยวาระภาษาอังกฤษ แต่ต้องการป้อนภาษาไทยแบบมีการกรอง/แก้ลำดับ คุณก็สามารถทำได้โดยกำหนด im-switch:

    • เรียกดู im-switch ที่มีทั้งหมด:

      $ im-switch -l
      Your input method setup under en_US locale as below.
      =======================================================
      No private "/home/thep/.xinput.d/en_US or /home/thep/.x
      input.d/all_ALL" is defined.
      =======================================================
      The system wide default is pointed by "/etc/alternative
      s/xinput-all_ALL" .
      xinput-all_ALL - status is auto.
       link currently points to default
      default-xim - priority 0
      none - priority 0
      default - priority 10
      scim - priority 0
      scim-immodule - priority 0
      Current `best' version is default.
      =======================================================
      The available input method configuration files are:
      /usr/bin/find: `/home/thep/.xinput.d': No such file or 
      directory
      default default-xim none scim scim-immodule th-gtk-im-l
      ibthai th-xim 
      =======================================================
      

      จะเห็นรายละเอียด บอกว่าไม่มีการกำหนด im-switch ไว้ และระบบพยายามหาค่าปริยาย ซึ่งค่าที่ดีที่สุดในกรณีนี้ซึ่งใช้โลแคล en_US คือ "default" จากนั้นก็ให้รายชื่อ config ที่มีทั้งหมดไว้ท้ายสุด

    • กำหนด im-switch config ที่ต้องการ:

      • ถ้าจะใช้ gtk-im-libthai:
        $ im-switch -s th-gtk-im-libthai
        
      • ถ้าจะใช้ XIM:
        $ im-switch -s th-xim
        
      • ถ้าจะใช้ SCIM:
        $ im-switch -s scim-immodule
        

      แต่เข้าระบบด้วยวาระภาษาไทย ค่าที่ดีที่สุดจะกลายเป็น "th-gtk-im-libthai" โดยอัตโนมัติ หรือถ้าไม่ได้ติดตั้ง gtk-im-libthai ก็จะเป็น "th-xim" แทนอยู่แล้ว ไม่ต้องกำหนดอะไรเพิ่ม

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดเพิ่ม ถ้าผู้ใช้พยายามจะหลีกเลี่ยง UI ภาษาไทย แต่ยังต้องการใช้ภาษาไทยในโปรแกรมอยู่ ซึ่งผมคิดว่าวิธีที่ง่ายที่สุดคือ เข้าระบบด้วยวาระภาษาไทย แต่กำหนด LC_MESSAGES เป็น en_US.UTF-8

คงจะไปตามบอกผู้ใช้ที่นิยมเข้าระบบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดไม่ได้ แต่ความต้องการแบบนี้ก็ยังคงมีอยู่ จึงได้เสนอแพตช์แก้ใน GTK+ ให้กลับมาป้อนภาษาไทยแบบไม่ตรวจลำดับได้อีกครั้งในบั๊กที่ว่า ส่วนทางแก้ในระยะยาว ไว้ค่อยเขียนถึงในโอกาสต่อไป เนื่องจาก blog เริ่มยาวมากแล้ว

ป้ายกำกับ: , , , ,

03 ตุลาคม 2551

A Corollary to Linus's Law

ESR เขียนถึง Linus's Law ไว้ใน บทที่ 4 ของบทความ The Cathedral and the Bazaar (มี ฉบับแปลไทย) ว่า

Given enough eyeballs, all bugs are shallow.

แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา ผมอยากจะเพิ่มว่า

Given enough mouths, most bugs catch interests.

ผมได้ file bug พร้อมเสนอแพตช์สำหรับ libx11 ไป 3 bug ที่ Freedesktop.org (สรุปไว้ใน blog เก่า) ซึ่งสองในสามบั๊กนี้ เป็นบั๊กค่อนข้างร้ายแรงสำหรับผู้ใช้ภาษาไทยที่ได้พบ คือถึงกับทำให้ป้อนภาษาไทยไม่ได้ หรือป้อนได้แต่อักขระบนเส้นบรรทัด ป้อนสระบน-ล่างและวรรณยุกต์ไม่ได้เลย แต่สำหรับนักพัฒนาที่ Freedesktop แล้ว เรื่องนี้ไม่ได้สำคัญอะไรมาก หรืออาจจะสำคัญ แต่ไม่รู้จะทดสอบยังไง

ผมห่างเหินจากการทำงานในชั้น Xlib มานาน นับตั้งแต่ X.Org fork ออกมาจาก XFree86 ผมก็ไม่ได้ไปแตะต้องอะไรกับ X อีกเลย จนกระทั่งได้พบปัญหาเหล่านี้ ถึงได้กลับไป ผมจึงเป็นหน้าใหม่โดยสิ้นเชิงสำหรับชุมชนใหม่นี้ ทั้ง ๆ ที่ถ้าเป็นสมัย XFree86 แล้ว แพตช์ต่าง ๆ เกี่ยวกับ I18N จะได้รับความสนใจมากกว่านี้มาก

กับ Debian X Strike Force ก็เช่นกัน ผม file Debian #443800 สำหรับหนึ่งในสามบั๊กนั้นไป ก็ไม่มีเสียงตอบรับใด ๆ นอกจากการ forward bug ไปที่ upstream ซึ่งการ forward bug ของ Debian นี้ เป็นความพยายามที่จะลดความแตกต่างระหว่าง Debian กับ upstream ให้มากที่สุด คืออะไรที่พบโดยผู้ใช้ Debian แต่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ที่ upstream ก็จะ forward รายงานให้ แต่ในกรณีของผมนี้ ผมได้ถอยลงมาจาก upstream เพื่อหวังว่า distro จะช่วยผลักดันแพตช์ให้ เหมือนกับที่ผมเคยได้รับจากกรณีแพตช์ตัดคำไทยใน Gecko ซึ่งในขณะนั้น นักพัฒนาของ Debian ได้ forward bug กลับไปที่ Mozilla พร้อมกับย้ายไปคุยเกี่ยวกับแพตช์ที่นั่นให้ด้วย แต่ในกรณีของ libx11 กลับไม่ใช่ คือ forward แล้วเงียบ อาจเป็นเพราะเขาไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องภาษาไทย หรือไม่เห็นมีคนไทยอื่น ๆ บ่น หรือยังมีงานอื่นที่สำคัญกว่าต้องทำก็ได้ นั่นทำให้ผมเลิกล้มที่จะ file อีกสองบั๊กที่เหลือ แล้วไปพยายามผลักดันที่ upstream ด้วยตัวเอง

แต่สำหรับ Ubuntu แล้ว เรื่องมันต่างกัน เพราะเรื่องไม่ได้เริ่มจากมุมมองของนักพัฒนา แต่มาจากมุมมองของผู้ใช้ ใน LP #273856 โดยคุณ DArKer ได้รายงานว่า "Thai language input not work correctly" พร้อมกับมีความเห็นของผู้ใช้อื่น ๆ ตามมาอีกเป็นพรวน ทุกคนช่วยกันสาธยายอาการต่าง ๆ พร้อมวิธีแก้ขัดของตัวเอง การที่มีผู้ใช้หลายคนยืนยันจึงต่างจากการบุกเดี่ยวของผมในดินแดนแปลกหน้าราวฟ้ากับดิน และส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ท่าทีที่สนใจปัญหา I18N ของ Ubuntu เองด้วย หลังจากที่นักพัฒนามารับเรื่องและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับผู้ใช้ พอผมซึ่งมาสาย เข้าไปพูดถึงแพตช์ที่เคยทำไว้ เขาซึ่งพอรู้รายละเอียดของปัญหาระดับหนึ่งมาแล้ว ก็ทดสอบและรับแพตช์ได้อย่างรวดเร็ว

นี่คือสิ่งที่ ESR ได้กล่าวถึง The Importance of Having Users เสียงของผู้ใช้ มีส่วนช่วยแก้ปัญหาพอสมควร สำหรับสาขาของปัญหาที่อยู่นอกความสนใจของกระแสหลัก โดยเฉพาะเรื่องภาษาของประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา

จริงอยู่ ว่าการมีจำนวนผู้ใช้ปลายทาง (end-user) ที่มาก มีส่วนช่วยกดดันทางอ้อม ให้นักพัฒนาต้องสนใจ แต่ผลจะชัดเจนกว่ามาก ถ้าผู้ใช้ลงมือ "ส่งเสียง" ต่อปัญหาต่าง ๆ โดยตรง ตามแนวทางที่ซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์สเปิดไว้ให้

ป้ายกำกับ: , , ,

02 ตุลาคม 2551

Khon Kaen Council (cont.)

เขียนเรื่อง ประชุมสภาเมือง ต่อให้จบ มีหัวข้อ 4 เรื่อง คราวที่แล้วเพิ่งเขียนเรื่องแรกเรื่องเดียว

ปัญหาปลาตายในบึงแก่นนคร

ช่วง 30 มิ.ย. - 2 ก.ค. ที่ผ่านมา มีปลาตายในบึงแก่นนครเยอะมาก หลังมีฝนตกหนัก ตามมาด้วยสระที่วัดวุฒาราม

ผลการตรวจสอบโดยนักวิชาการ มข. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม, ประมง):

  • BOD สูงกว่าเกณฑ์สำหรับปลาอยู่อาศัย และ OD ต่ำกว่าเกณฑ์
  • มี Algae Boom คือสาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีสารอาหาร เช่น ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส มากเกินไป กลางคืนจะแย่งออกซิเจนจากปลา
  • ปลามีการติดเชื้อปรสิต เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส

การแก้ปัญหาของเทศบาล:

  • ฉีดน้ำ EM ลดกลิ่นเน่าเหม็น
  • เติมอากาศ ทั้งที่ผิวน้ำและใต้น้ำ
  • ตรวจสอบและปิดทางระบายน้ำเสียที่ลงสู่บึง
  • ปลูกผักตบชวา เพื่อดูดซับความสกปรก
  • งดตกปลา เพื่อสกัดสารอาหารจากเหยื่อตกปลา
  • ตรวจสอบร้านค้าริมบึง ไม่ให้เทน้ำเสีย น้ำล้างจานลงบึง พร้อมจัดที่ล้างจานให้

นอกจากนี้ก็มีแผนระยะยาวในการหมุนเวียนน้ำ และขุดลอกบึง

ปัจจุบัน สภาพน้ำดีขึ้นแล้ว แต่มีผู้เข้าชื่อร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสมของผู้ตกปลาริมบึง เช่น ทิ้งปลาไม่พึงประสงค์ที่จับได้ไว้ริมฝั่ง ทิ้งให้เน่าเสีย รวมทั้งการใช้เหยื่อตกปลาในบึงปิดทำให้มีการสะสมสารอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิด algae boom ได้อีก เทศบาลจึงมาขอมติเพื่อขยายการห้ามตกปลาต่อไปอีก แต่ปรากฏว่ากว่าจะถึงกำหนดเวลาลงมติ ประชาชนก็ทยอยกลับกันมากแล้ว จึงไม่สามารถลงมติได้

ทั้งนี้ ประธานชมรมตกปลาได้มากล่าวแก้ ว่าปลาตายในช่วงฝนตกหนักเป็นเรื่องปกติ ไม่เกี่ยวกับการตกปลา และชมรมฯ จะยื่นข้อเสนอต่อเทศบาล ขอจัดระเบียบการตกปลาเอง

กฎหมายผังเมืองรวม

ผังเมืองรวมเมืองขอนแก่น จัดทำโดยส่วนกลาง คือสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และบังคับใช้โดยส่วนราชการส่วนท้องถิ่น คือเทศบาลและ อบต. ที่อยู่ในเขต

ผังเมืองมีระยะเวลาบังคับคราวละ 5 ปี ต่ออายุได้คราวละ 2 ปี ผังเมืองรวมเมืองขอนแก่นฉบับปี 2542 ได้หมดอายุไปแล้วเมื่อปี 2549 และกำลังอยู่ระหว่างกำหนดผังเมืองใหม่

ผังเมืองใหม่ มีการแบ่งโซนการใช้ประโยชน์เป็น 11 แบบ (แทนด้วยสี 11 สี) สำนักโยธาฯ ได้แสดงแผนที่บนสไลด์ แต่สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักโยธาฯ แต่ที่เป็นประเด็นในครั้งนี้ คือเทศบาลได้ทักท้วงเขตสำคัญ ๆ คือ:

  • พื้นที่สีม่วงอ่อน (อุตสาหกรรมเฉพาะกิจ) บริเวณแนวสองฝั่งถนนมิตรภาพตั้งแต่ประตูเมืองไปทางใต้ ได้เพิ่มข้อห้าม "ห้ามประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารสูง" ซึ่งขัดกับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในเขตนั้น
  • พื้นที่สีเขียวอ่อน (ที่โล่งเพื่อนันทนาการ) บริเวณริมคลองร่องเหมืองเดิมตลอดแนว ปัจจุบันเทศบาลได้พัฒนาเป็นถนน และมีอาคารร้านค้าอยู่เต็มสองฝั่ง จึงไม่น่าจะบังคับใช้ผังเมืองส่วนนี้ได้ และเสนอให้ยกเลิก
  • ข้อกำหนดในพื้นที่สีแดง/ส้ม/เหลือง (ที่พักอาศัยและพาณิชยกรรม) มีข้อกำหนด "ห้ามซื้อขาย หรือเก็บ เศษวัสดุ" ต้องมีการตีความ ว่าคำว่า หรือเก็บ ที่เพิ่มเข้ามานั้น รวมไปถึงคลังสินค้า หรือที่เก็บเศษวัสดุเหลือของผู้ประกอบการด้วยหรือเปล่า
  • ข้อกำหนดถนนโครงการ ซึ่งบังคับใช้ทันทีในถนนหลายสายที่กำหนด เช่น ศรีจันทร์ อาจต้องเปลี่ยนแปลง (ในผังเมืองเดิมมีการแบ่งเป็นถนนโครงการ [บังคับทันที] กับถนนเสนอแนะ [ให้ปลูกอาคารได้ แต่เวนคืนได้ทันทีที่ต้องการ] แต่ผังเมืองใหม่มีแต่ถนนโครงการอย่างเดียว)
  • ขอปรับการใช้ที่ของการรถไฟ:
    • ที่ริมทางรถไฟฝั่งที่ติดถนน ปัจจุบันได้สร้างอาคารห้องแถวอยู่ชิดริมถนนซึ่งคับแคบอยู่แล้ว โดยมีทางเท้าเหลือเพียงแคบ ๆ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะขยายมายังส่วนที่เหลือ ที่ปัจจุบันเป็นทิวสน จึงควรกำหนดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่เหลือไว้
    • พื้นที่ฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟ ปัจจุบันส่วนหนึ่งกลายเป็นตลาดรถไฟ ซึ่งสภาพค่อนข้างแย่ และน่าเป็นห่วงว่าจะขยายมายังส่วนที่เหลือ และทำให้เสียภูมิทัศน์ที่จะปรากฏต่อผู้เดินทางทางรถไฟที่จะเข้าเมืองขอนแก่น จึงควรกำหนดไว้ด้วย

เรื่องผังเมืองมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่เวลาอภิปรายถูกประเด็นน้ำท่วมกินไปเสียเยอะ จึงไม่ได้ข้อสรุปอะไร นายกเทศมนตรีรับว่าต้องยกไปครั้งหน้า อย่างไรก็ดี มีข้อเสนอจากกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประชุมกัน และรวบรวมยื่นต่อเทศบาล

ผลการศึกษาการสร้างระบบขนส่งมวลชน

จากที่ได้ประกาศเริ่มศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองขอนแก่นไปเมื่อปีที่แล้ว (blog เก่า) ตอนนี้ คณะทำงานของ มข. ได้สรุปเป็นแผนแม่บทมาเสนอคือ

  • สรุปว่า BRT (Bus Rapid Transit) แบบระดับพื้นดิน เหมาะสมที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายไม่มาก ใช้เวลาน้อย แต่รับส่งคนได้มีประสิทธิภาพไม่แพ้แบบอื่น (รถไฟรางเบา, รถไฟรางหนัก)
  • ใช้ NGV
  • มีรถสองขนาด 12 ม. (จุ 60-80 คน) ใช้วิ่งในเมือง และ 18 ม. (จุ 120-160 คน) ใช้วิ่งนอกเมือง
  • เสนอเส้นทาง 5 สาย
    • สายสีเหลือง (สินไซ) วิ่งแนวตะวันตก-ตะวันออก จากหมู่บ้านเดชา แวะท่าอากาศยานขอนแก่น วิ่งตามถนนมะลิวัลย์มาแยกสามเหลี่ยม เลี้ยวมาแยกประตูเมือง แล้ววิ่งตามถนนศรีจันทร์มาจนถึงหนองใหญ่ วัดป่าแสงอรุณ
    • สายสีแดง (สีโห) วิ่งแนวเหนือ-ใต้ จากหนองกุง วิ่งตามถนนมิตรภาพ แวะเข้า มข. ผ่านคอมเพล็กซ์และสนามกีฬา แล้วกลับมาถนนมิตรภาพ วิ่งตรงมาจนถึงห้างโลตัส
    • สายสีชมพู (สังข์) วิ่งเป็นวงกลมในเมือง จากแยกสามเหลี่ยม มาแยกประตูเมือง ศาลหลักเมือง สถานีรถไฟ ถนนรื่นรมย์ แฟรี่พลาซ่า ร.ร. สวนสนุก กัลยาณวัตร สถานีปรับอากาศ ร.ร. อนุบาลขอนแก่น บขส. สามเหลี่ยม
    • สายสีน้ำเงิน (วรุณนาค) วิ่งแนวตะวันตก-ตะวันออก จากสี่แยก ร.8 ตรงเข้าบ้านหัวทุ่ง คำไฮ แยกประตูเมือง เลี้ยวไปแยกสามเหลี่ยม เข้า บขส. ร.ร. อนุบาลขอนแก่น แล้วตรงตามถนนประชาสโมสรต่อไปจนบรรจบกับถนนศรีจันทร์ที่บ้านหนองใหญ่
    • สายสีเขียว (พระอินทร์) วิ่งจากบ้านศิลา ผ่านค่ายศรีพัชรินทร์ ตรงมาเลี้ยวเข้าถนนหลังศูนย์ราชการ ถนนกลางเมือง ผ่านศาลากลาง ร.ร. อนุบาลขอนแก่น สถานีปรับอากาศ กัลยาณวัตร ร.ร. สวนสนุก เลี้ยวขวาเข้าถนนนิกรสำราญ เลี้ยวซ้ายถนนหน้าเมือง เลี้ยวขวาเข้าถนนเหล่านาดีไป ร.ร. แก่นนคร ข้ามแยกเจริญศรี ตรงไปจนถึงน้ำต้อน
  • สถานีจอดแล้วจรที่สี่มุมเมือง
  • สถานีผู้โดยสารแต่ละแห่ง ออกแบบโดยแฝงสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมท้องถิ่น

มีประเด็นขัดแย้งจากบริษัทสองแถวเดิมซึ่งได้รับผลกระทบ ตัวแทนตั้งคำถามว่าการทำเส้นทางวิ่งทับเส้นทางที่ได้รับสัมปทานอยู่ก่อนแล้ว ผิดกฎหมายหรือไม่ และหากจะทำระบบใหม่จริง ทางบริษัทฯ ไม่ขัดขวาง แต่จะขอให้เทศบาลช่วยซื้อกิจการเดิมไปบริหารต่อด้วย เพราะผู้ประกอบการเดิมจะเลิกทำ (เอ.. มันเอารถระบบเก่ามา feed คนเข้าระบบใหม่ไม่ได้เหรอ ตามตรอกซอกซอยหรือนอกเมืองที่ระบบใหม่เข้าไม่ถึงน่ะ)

จบละ ประเด็นหลัง ๆ นี่ ข้อเสนอแนะไม่ค่อยมาก เพราะเวลาเหลือน้อย

ป้ายกำกับ:

01 ตุลาคม 2551

Khon Kaen Council

เมื่อวานแว้บไปสังเกตการณ์การประชุมสภาเมืองขอนแก่นในฐานะประชาชนทั่วไป โชคดีที่นี่ไม่ใช่ barcamp ผมเลยนั่งสังเกตการณ์รูปแบบการประชุมเงียบ ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพูดในการเข้าครั้งแรก

เพิ่งรู้ว่านี่เพิ่งเป็นการประชุมสภาเมืองครั้งที่ 2 เท่านั้น เพราะผมได้ยินทางเทศบาลนครขอนแก่นอ้างถึงสภาเมืองบ่อยมาก จนนึกว่ามีการประชุมมาแล้วหลายครั้ง แต่เอาเถอะ เข้าเรื่องเลยดีกว่า

ประเด็นการประชุมครั้งนี้มี 4 เรื่อง คือเรื่องปัญหาน้ำท่วม ปัญหาปลาตายที่บึงแก่นนคร พรบ. ผังเมืองรวม และผลการศึกษาเรื่องการสร้างระบบขนส่งมวลชนในขอนแก่น

ปัญหาน้ำท่วม

เทศบาลได้อธิบายอย่างละเอียดถึงทางเดินของน้ำในระบบระบายน้ำของขอนแก่น และสิ่งที่เทศบาลได้ทำไปเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำที่หลากมาในช่วงนี้

สภาพภูมิศาสตร์ของตัวเมืองขอนแก่น เป็นที่สูงทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ (บริเวณ มข.) และลาดลงต่ำทางฝั่งตะวันออก โดยมีทางน้ำเชื่อมต่อไปสู่แม่น้ำธรรมชาติอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ คือจากบึงทุ่งสร้างผ่านห้วยพระคือไปลงลำน้ำพอง นอกจากนี้ก็มีแหล่งน้ำธรรมชาติ 3 แห่ง คือบึงหนองโคตรทางตะวันตกเฉียงใต้ บึงแก่นนครทางตะวันออกเฉียงใต้ และบึงทุ่งสร้างทางตะวันออกเฉียงเหนือ


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

ด้วยสภาพอย่างนี้ น้ำทั้งหมดในเมืองจึงระบายออกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือทางเดียว โดยอาศัยบึงทุ่งสร้างเป็นแหล่งพัก โดยในส่วนอื่นของเมือง ก็จะมีระบบทางระบายน้ำที่นำน้ำมารวม โดยอาศัยบึงแก่นนครช่วยเป็นแก้มลิงเล็กน้อย ซึ่งเท่าที่จับใจความได้คือ

  • ทางตะวันตกเฉียงเหนือ (มข.) น้ำจะมารวมกันที่อาคารชลศาสตร์ แล้วไหลลอดใต้ถนนมิตรภาพไปทางตะวันออก ไปรวมกับน้ำของโซนตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านท่อใต้ถนนหลังศูนย์ราชการ ถนนจอมพล ไปสู่บึงทุ่งสร้าง
  • อีกทางหนึ่ง น้ำจากใน มข. ทางฝั่งใต้ จะมารวมกันที่บึงหนองเอียด แล้วลอดใต้ถนนมะลิวัลย์ไปรวมกับน้ำในโซนตะวันตกเฉียงใต้
  • น้ำในโซนตะวันตกเฉียงใต้ ไม่ได้อาศัยบึงหนองโคตรซึ่งอยู่ทางตะวันตกช่วยได้นัก แต่น้ำจะไหลผ่านคลองระบายมารวมกันบริเวณหลัง รพ. ขอนแก่นราม แล้วลอดใต้ถนนมิตรภาพ แต่ฝั่งตรงข้ามเป็นที่เอกชน (สถานที่สร้างเซ็นทรัล) จึงต้องหักหลบมาลอดใต้ถนนศรีจันทร์ตรงแยกประตูเมือง ซึ่งเทศบาลได้ขุดถนนวางท่อสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับไว้แล้วตั้งแต่หน้าแล้ง น้ำในส่วนนี้จะไปลงคลองร่องเหมือง ซึ่งเป็นทางน้ำหลักของตัวเมืองในโซนตะวันออกเฉียงใต้
  • ตัวเมืองเก่าในเขตบึงแก่นนครซึ่งอยู่ไกลออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ จะมีทางระบายน้ำลงสู่บึง โดยปัจจุบันมีระบบแยกน้ำดีน้ำเสีย (เข้าใจว่าน้ำดีหมายถึงน้ำฝนจากถนน น้ำเสียคือน้ำจากบ้านเรือน) และระบายเฉพาะน้ำดีลงบึง ส่วนน้ำเสีย เข้าใจว่าใช้ระบบเดียวกับในตัวเมือง คือไปลงคลองร่องเหมือง
  • ส่วนอื่น ๆ ของเมืองในโซนตะวันออกเฉียงใต้ จะระบายน้ำลงทางคลองร่องเหมือง เพื่อนำน้ำไปสู่บึงทุ่งสร้าง โดยคลองร่องเหมือง มีทางน้ำเชื่อมสู่บึงแก่นนครด้วย ซึ่งจะสามารถใช้เป็นทางทดน้ำไปพักที่บึงแก่นนครบางส่วนในกรณีที่น้ำมาก (ซึ่งน้ำฝนช่วยเจือจางน้ำเสีย ทำให้น้ำที่ลงบึงไม่สกปรกมาก) และใช้ถ่ายน้ำออกจากบึงรอไว้ก่อนฝนมา เพื่อให้มีที่ว่างรองรับน้ำ รวมทั้งหลังฝนหยุดเพื่อปรับระดับน้ำสู่ระดับปกติ

คลองร่องเหมืองนี้ เป็นทางน้ำโบราณ รวมทั้งทางน้ำที่เชื่อมกับบึงแก่นนครก็เช่นกัน ปัจจุบันเทศบาลได้ปรับคลองนี้ตลอดสาย โดยขุดวางท่อน้ำแล้วสร้างถนนคอนกรีตทับ โดยได้ใช้ท่อสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อการใช้พื้นที่หน้าตัดอย่างเต็มที่

น้ำจากในเมืองที่ไปรวมที่บึงทุ่งสร้าง จะมีสถานีบำบัดน้ำเสียก่อนระบายออกนอกตัวเมืองต่อไป

ปัญหาน้ำท่วมพบว่ามีหลายสาเหตุ สาเหตุหลักคือน้ำฝนมากผิดปกติ แต่ก็มีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการระบายน้ำ:

  • ทางน้ำตื้นเขิน ซึ่งเทศบาลได้เตรียมรับมืออยู่ตลอด ด้วยการขุดลอกบ่อย ๆ อยู่แล้ว
  • ขยะอุดตันท่อ แก้ไขด้วยการเปิดฝาตะแกรงเก็บขยะ และสร้างวินัยการทิ้งขยะของคนเมือง แต่อีกสาเหตุหนึ่งคือ น้ำแรงทำให้ถังขยะลอยและล้ม
  • การถมที่ของเอกชน ทำให้ทางน้ำเปลี่ยน จุดที่ไม่เคยท่วมก็เริ่มท่วม และเทศบาลก็ต้องจัดการทางน้ำใหม่ตามทางน้ำที่เปลี่ยนไป เรื่องนี้ยังควบคุมด้วยเทศบัญญัติไม่ได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจตามกฎหมาย
  • ทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมีคอคอดในบางจุด โชคดีที่จุดนั้นฝั่งหนึ่งเป็นที่ราชการ สามารถประสานงานขอขุดขยายคลองได้
  • ชุมชนทางท้ายน้ำไม่ยอมให้เปิดประตูระบายน้ำ เพราะไม่ต้องการให้ท่วมชุมชนตัวเอง อาจต้องจัดการทางน้ำให้ระบายลงแม่น้ำได้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบชุมชนท้ายน้ำ
  • บางจุดต้องการความร่วมมือจากเทศบาลข้างเคียง เช่น บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งยังมีที่ว่างรองรับน้ำได้อยู่ไกลออกไปทางตะวันตก หรือแม้แต่ใช้บึงหนองโคตร แต่อยู่นอกเขตรับผิดชอบของเทศบาลนครขอนแก่น ต้องเจรจากับเทศบาลตำบลบ้านเป็ด หรือจะเป็นการทะลวงทางระบายน้ำทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องประสานงานกับเทศบาลตำบลพระลับ

ความเห็นบางส่วนที่มีผู้เสนอแนะ:

  • เกี่ยวกับการเพิ่มทางระบายน้ำ:
    • ดักน้ำตามวงแหวนรอบนอกไม่ให้เข้าตัวเมือง โดยยกเทศบาลนครอุดรธานีเป็นตัวอย่าง เทศบาลตอบว่า ปัญหาคือวงแหวนที่ว่านี้ สำหรับขอนแก่นแล้วเป็นวงที่ใหญ่มาก เพราะอยู่ไกลออกไปนอกเมือง ซึ่งอาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
    • เพิ่มช่องทางระบายน้ำไปลงแม่น้ำชีที่กุดกว้าง โดยขอใช้ที่ของการรถไฟ ข้อนี้ผมไม่แน่ใจว่าเทศบาลตอบอย่างไร เนื่องจากเริ่มค่ำแล้ว ต้องตอบแบบรวบรัด
    • เพิ่ม flood way ระบายน้ำออกทางท้ายฝายมหาสารคาม
    • ใช้บึงหนองโคตรให้เป็นประโยชน์ โดยอาจเพิ่มทางระบายน้ำไปลงแม่น้ำที่แก่งน้ำต้อน
  • เกี่ยวกับแก้มลิง:
    • ขุดลอกบึงทุ่งสร้างเอาเนินต่าง ๆ ออก เพื่อเพิ่มความจุ โดยถ้างบไม่พอ ก็อาจประหยัดด้วยการให้เอกชนขุดดินไปขายได้
    • มข. สละเนื้อที่ทำแก้มลิง เช่น ที่หลังวัดป่าอดุลย์ เพื่อสกัดน้ำบางส่วนที่จะเข้าสู่ตัวเมือง
    • ทำแก้มลิงโดยเฉพาะที่บริเวณที่ว่างข้างหมู่บ้านมิตรสัมพันธ์
  • อื่น ๆ :
    • จ้าง มข. วิจัยระบบควบคุมน้ำ เหมือนที่วิจัยระบบจราจร
    • ทุบถนนเหนือคลองร่องเหมือง ทำเป็นคลองเปิดเหมือนเดิม (เสียงจากคนข้างคลองที่เดือดร้อน)

ยาวแล้ว นี่เพิ่งเรื่องเดียวเองเหรอเนี่ย.. เป็นการประชุมที่มาราธอนจริง ๆ

ป้ายกำกับ:

hacker emblem