เพิ่งได้หยิบหนังสือ "อักษรไทยมาจากไหน?" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ซื้อไว้นานแล้วขึ้นมาอ่านระหว่างเดินทาง กลายเป็นข้อมูลใหม่ (สำหรับผม แต่คงไม่ใหม่สำหรับวงการ) เกี่ยวกับกำเนิดอักษรไทย
ข้อมูลทั่วไปที่ทราบต่อ ๆ กันมาคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยใน พ.ศ. ๑๘๒๖ โดยดัดแปลงมาจากอักษรขอมและมอญ จากนั้นจึงวิวัฒน์ต่อมาในสมัยอยุธยา โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาเขมรมาเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นอักขรวิธีในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลนี้ มีความจริงอยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น ถ้าว่าตามหลักฐานที่มีผู้ศึกษาใหม่
คงไม่ต้องพูดถึงความเข้าใจผิดของนักเรียนไทยบางส่วน ว่า "อาณาจักรสุโขทัย" เป็นอาณาจักรแห่งแรกของไทย พอหมดสุโขทัยจึงย้ายมาตั้งเมืองหลวงที่อยุธยาทำนองเดียวกับการย้ายกรุงครั้งหลัง ๆ เรื่องนี้หลายคนคงทราบอยู่ว่า สมัยนั้นยังไม่มีการตั้งอาณาจักร แต่มีรัฐอิสระคือสุโขทัยกับอยุธยาอยู่ร่วมสมัยกัน จนกระทั่งสุโขทัยถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา จึงกลายเป็นอาณาจักรแรกของไทย ที่รวมรัฐต่าง ๆ เข้าด้วยกัน คืออาณาจักรอยุธยา มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
แต่เรื่องมันซับซ้อนกว่านั้น เริ่มจากคำว่า "ขอม" ตามความเห็นของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้หมายถึงชนชาติหรือเชื้อชาติ แต่หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน (ต่างกับชนชาติไทย-ลาวที่นับถือผีก่อนเปลี่ยนมารับพุทธเถรวาทจากชมพูทวีป) ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงชนชาติเขมรและรัฐเครือญาติทั้งหมด รวมทั้งละโว้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นอโยธยาศรีรามเทพนครด้วย คำว่า "ขอม" ถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่า "แขก" เรียกคนอิสลาม/ซิกข์/ฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลาง
ส่วนกลุ่มคนที่เรียกว่า "ไท" หรือ "ไทย" รวมทั้ง "ลาว" นั้น เดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีการอพยพโยกย้ายเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง จนเข้าครอบครองละโว้ในที่สุด พร้อมกับมีรัฐอื่น ๆ ของคนไทยเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน คือสุพรรณภูมิ สุโขทัย และนครศรีธรรมราช (จะเห็นว่า เมื่อรวมกันเป็นอาณาจักรแล้ว จึงมีการผลัดเปลี่ยนขั้วอำนาจไปมาระหว่างราชวงศ์เหล่านี้ รวมทั้งราชวงศ์อู่ทองของละโว้เองด้วย) ต่อมา ละโว้เกิดกาฬโรคระบาด พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายจากลพบุรีมาตั้งกรุงศรีอยุธยาที่บริเวณเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ตรงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนทางฝั่งตะวันตกนั้น ยังเป็นเขตของรัฐสุพรรณภูมิ ดังนั้น ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น จึงไม่ใช่จุดเริ่มต้นของคนไทยในรัฐละโว้ แต่มีหลักแหล่งในละโว้อยู่ก่อนหน้านั้นนานแล้ว
ช่วงก่อนจะตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น คนไทยในละโว้ได้รับเอาอักษรขอมมาเขียนภาษาไทย แล้วต่อมาก็มีการดัดแปลงเพิ่มเติม เพื่อให้เขียนภาษาไทยได้ครบเสียงยิ่งขึ้น จนกลายเป็นอักษรไทยในที่สุด โดยพบหลักฐานเป็นจารึกสมุดข่อยที่ระบุเวลาที่เขียนก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาร่วมร้อยกว่าปี และก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงจะจารึกลายสือไทยในศิลาจารึกด้วย คือกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) คำนวณปีที่จารึกได้เป็น พ.ศ. ๑๗๗๘ ซึ่งก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาถึงร้อยกว่าปี และก่อนศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ ถึงห้าสิบปี และมีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือโองการแช่งน้ำ ซึ่งไม่ทราบปีที่แต่งแน่นอน ทราบแต่ว่ามีใช้แล้วในขณะตั้งกรุงศรีอยุธยา ผ่านการคัดลอกต่อ ๆ กันมาหลายทอด และธรรมเนียมแช่งน้ำนี้ สันนิษฐานว่าได้รับแบบอย่างมาจากเขมรที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่พระนคร (นครธม)
ที่ต้องอึ้งก็คือ ภาพสมุดข่อยที่หนังสือเอามาลงเป็นภาพประกอบนั้น แสดงลักษณะการเขียนเหมือนกับอักขรวิธีภาษาไทยในสมัยนี้แทบไม่มีผิดเพี้ยน จะมีแตกต่างก็แค่รายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ส่วนลักษณะของภาษาที่ใช้นั้น เป็นภาษาแบบเดียวกับไทย-ลาวลุ่มน้ำโขงแล้ว แทนที่จะใช้ภาษาบาลี-สันสกฤต-เขมรเป็นหลักตามธรรมเนียมในคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้
ถ้ากะประมาณว่า สมุดข่อยนั้นอยู่ไม่ทนเหมือนศิลาจารึก จึงหลงเหลือมาเป็นหลักฐานน้อย และอักขรวิธีที่อยู่ตัวแล้วในตอนนั้น แสดงว่าอักษรต้องผ่านการวิวัฒน์ก่อนหน้านั้นอีกเป็นเวลานานมาแล้ว!
แล้วลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงล่ะ? ก็น่าจะยังนับเป็นประดิษฐกรรมใหม่อยู่ครับ โดยมีบันทึกว่า พระร่วงเจ้าแห่งสุโขทัยได้มาเรียนวิชาจากครูที่ละโว้ แล้วคงได้ทรงศึกษาอักษรไทยไปจากละโว้ด้วย จึงทรงนำกลับไปปรับปรุงวิธีเขียนเสียใหม่ กลายเป็นลายสือไทย โดยได้แบบอย่างมาจาก "ขอม" (ซึ่งเป็นคนไทย) ที่ละโว้ และผสมลักษณะบางอย่างของอักษรมอญเข้าไปด้วย แล้วเพิ่มแนวคิดใหม่ของการเขียนทุกอย่างในบรรทัดเดียวยกเว้นวรรณยุกต์ กลายเป็นอักษรแรกของรัฐที่เรียกว่า "ไทย" อย่างเต็มตัว จากนั้น ลายสือไทยก็ได้แพร่หลายเข้าไปในล้านนา ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนกลายเป็นอักษรฝักขาม และแพร่เข้าไปที่ล้านช้าง กลายเป็นอักษรไทน้อย
เพียงแต่ว่า ในอาณาจักรอยุธยานั้น ลายสือไทยของพ่อขุนรามคงไม่ฮิต ก็เลยถูกเลิกใช้ไป แล้วก็ใช้อักษรไทยอยุธยากันต่อไป (นึกถึงความพยายามหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้าง "อักขรวิธีแบบใหม่" ขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่ฮิตเหมือนกัน)
ถ้าว่าตามหลักฐานเหล่านี้ อักษรไทยก็มีอายุมากกว่า ๗๗๐ ปีขึ้นไป (ไม่ใช่ ๗๒๔ ปีตามหลักฐานเดิม) แต่ยังไม่มีหลักฐานที่เก่าพอจะสืบต่อไปได้ ว่าเริ่มมีเมื่อไร
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่เอาไว้ท่องจำนะเออ ซิบอกให้
ป้ายกำกับ: book