Theppitak's blog

My personal blog.

29 พฤษภาคม 2553

Meet OpenStreetMapper

หลังจากได้ blog เรื่อง OpenStreetMap ไปแล้ว ก็มีโอกาสได้นัดพบกับ Willi2006 ผู้ทำแผนที่ขอนแก่นใน OSM คนเดียว ก่อนที่ผมจะเข้าไปร่วม ก็ได้รับถ่ายทอดความรู้มาพอสมควร เลยมาเขียนบันทึกไว้ (เท่าที่สมองจะจำได้)

การทำ OSM นั้น แต่ละประเทศอาจใช้หลักการต่างกันไปในบางเรื่อง เช่น การใส่แท็กลำดับชั้นของเขตการปกครอง สำหรับประเทศไทย ก็มี หน้าวิกิ สำหรับรวบรวมข้อตกลงต่าง ๆ และมี forum สำหรับพูดคุยและถาม-ตอบด้วย

การเริ่มต้นทำ OSM นั้น ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ทำเป็นหลัก บางคนอาจจะวาดถนนก่อน บางคนอาจเพิ่ม point of interest (POI) ก่อน ที่สำคัญคือ อย่าให้ตัวเองรู้สึกยุ่งยากเกินไป ไม่งั้นจะเบื่อเร็ว ขอให้ทำด้วยความสนุก

การเพิ่มข้อมูลนั้น ควรทำในส่วนพิกัด GPS ให้ถูกต้องตั้งแต่แรก อย่าคาดหวังว่าจะมีคนอื่นมาแก้ให้ (ยกเว้นเรื่องชื่อหรือการใส่แท็กต่าง ๆ ซึ่งคนอื่นที่ไม่ได้ลงพื้นที่สามารถช่วยแก้ได้)

ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ GPS ก็สามารถร่วมได้ เช่น ถ้ารู้ชื่อถนน ชื่อสถานที่ต่าง ๆ ก็สามารถเข้าไปแก้ไขชื่อที่อาจจะผิด หรือเพิ่มชื่อที่ขาดอยู่ได้ หรืออาจจะใช้ ภาพถ่ายดาวเทียมของ Yahoo! จาก Yahoo! maps ที่เปิดให้ OSM ใช้ได้ แต่ห้ามใช้ข้อมูลแผนที่ถนนโดยตรง ให้ใช้ได้เฉพาะภาพถ่ายดาวเทียมเท่านั้น ส่วน Google map นั้น ใช้ไม่ได้เลย เพราะข้อมูลมีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ แต่โชคไม่ดีที่ภาพถ่ายดาวเทียมที่สามารถใช้ได้นี้ ส่วนของประเทศไทยมีแต่ภาพความละเอียดต่ำเท่านั้น ไม่เพียงพอสำหรับทำแผนที่ถนน ผู้ไม่มีอุปกรณ์ GPS จึงมักแก้ไขได้เฉพาะเรื่องแท็กต่าง ๆ เท่านั้นในทางปฏิบัติ

ประเภทของถนน มีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ถ้าเป็นถนนย่อยที่มีบ้านเรือนอยู่สองข้างทาง ควรใช้แท็ก highway=residential ถ้าเป็นถนนที่รถต้องหลีกทางให้คน ก็ใช้ highway=living_street นอกนั้นส่วนใหญ่จะเป็น highway=unclassified ถ้าเป็นทางเล็ก ๆ ที่รถเก๋งเข้าไม่ได้ ก็แยกว่า ถ้ามีการทำผิวถนน เช่น ราดยาง หรือปูคอนกรีต ก็ใช้ highway=footway แต่ถ้าเป็นทางดินจึงใช้ highway=path

การทำสะพานข้ามแยก ถ้าไม่มีพิกัด GPS ของจุดตีนสะพานจริง ๆ ก็ไม่ควรทำ ปล่อยให้เป็นจุดตัดถนนธรรมดาจะดีกว่า แต่ถ้ามี ก็ให้ตัดแบ่งถนนตรงตีนสะพานทั้งสอง แล้วเชื่อมด้วยถนนที่มีแท็ก bridge=yes สำหรับสะพานที่ซ้อนกันหลายชั้น ก็ต้องใช้แท็ก layer=... กำกับแต่ละชั้นด้วย ดูตัวอย่างได้จากทางเส้นก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ทางเชื่อมระหว่างถนนสองเส้น เช่น เพื่อเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาจากมอเตอร์เวย์ออกถนนเส้นอื่น ก็ทำทางเชื่อมเป็นถนนไม่มีชื่อ แต่ใช้แท็ก highway=motorway_link หรือ highway=primary_link ฯลฯ โดยอ้างอิงถนนเส้นที่ใหญ่กว่า

การทำแผนที่ปั๊มน้ำมัน อาจจะทำทางเข้า-ทางออกโดยใช้ highway=service และวาดเส้นล้อมรอบบริเวณปั๊มโดยใช้ highway=service เหมือนกัน แต่กำหนด area=yes ไว้ด้วย จากนั้นก็ใส่ POI พวกร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ อู่ซ่อมรถ ตามแต่จะมี แล้วสุดท้ายอย่าลืมใส่ POI ของปั๊มน้ำมันไว้ตรงกลางพื้นที่ด้วย (ดูตัวอย่าง)

การทำแผนที่สวนสาธารณะที่มีบึงหรือสระตรงกลาง ก็ทำพื้นที่รอบสวนกับพื้นที่ที่เป็นสระ แล้วกำหนด Relation:multipolygon แล้วกำหนด role ให้พื้นที่รอบสวนเป็น outer และตัวสระเป็น inner เพื่อแยกพื้นที่น้ำกับบกออกจากกัน

เทคนิคการทำแผนที่ส่วนที่เป็นแม่น้ำลำคลอง มีเทคนิคหลากหลายแล้วแต่แต่ละบุคคล ถ้าเป็นคลองที่มีถนนขนาบข้าง ก็ track ถนนก่อน แล้ววัดระยะระหว่างถนนหาจุดกึ่งกลาง แล้วใช้ potlatch (โปรแกรมแก้ไขที่เป็น flash อยู่บนเว็บ OSM) สั่งสร้างคลองน้ำขนานกับถนนในระยะที่กำหนดเอา ส่วนถ้าเป็นบึงหรือสระ ก็พยายามเดินเลาะให้ใกล้ฝั่งน้ำให้มากที่สุด จุดไหนที่เดินเข้าใกล้น้ำไม่ได้ ก็ใส่ POI กำหนดจุดที่เริ่มออกห่างจากฝั่งน้ำ กับจุดที่กลับเข้าหาฝั่งน้ำเอาไว้ แล้วใช้วิธีลากเส้นกะประมาณระหว่างสองจุดเอา วิธีนี้จะได้ฝั่งโดยประมาณในช่วงที่ขาด แต่ก็ถือว่าแม่นยำกว่าใช้ภาพถ่ายดาวเทียม

แม่น้ำนั้น การลงไปนั่งเรือ track ออกจะเป็นเรื่องลำบาก ถ้าเป็นแม่น้ำที่เห็นชัดในภาพถ่ายดาวเทียม ก็ลากเส้นตามภาพถ่ายดาวเทียมจะดีกว่า โดยใช้ WMS plugin ใน JOSM เพื่อซ้อนภาพได้ แต่ถ้าไม่มีภาพถ่ายดาวเทียม ก็อาจใช้วิธี track สองฝั่งน้ำแล้วลากเส้นกึ่งกลางเอา

วิธีเก็บข้อมูลถนนอย่างเร็วในกรณีที่มีเวลาน้อย: ไปตามถนนแล้วถ่ายป้ายชื่อถนนหรือป้ายสถานที่ไปตามทาง จากนั้นเมื่อกลับเข้า JOSM ก็โหลด GPS track พร้อมโหลดรูปเข้ามา ซึ่ง JOSM จะ sync เวลาที่ถ่ายรูปกับเวลาที่เก็บ track แต่ละจุดให้ ทำให้คลิกดูรูปที่ถ่ายตามจุดต่าง ๆ ใน track ได้

เท่าที่ระลึกได้ก็มีแค่นี้ครับ Willi เขาบอกว่ายินดีมากที่มีคนในท้องถิ่นเข้ามาทำ เพราะคนในพื้นที่จะมีความรู้เรื่องตรอกซอกซอยต่าง ๆ ดีกว่าคนต่างประเทศอย่างเขา โดยเฉพาะเรื่องชื่อภาษาไทย และยินดีให้คำแนะนำกับคนอื่น ๆ ที่สนใจ ถ้ามีคนไทยสนใจร่วมกันทำ OSM เรานัดมาเจอกันแล้วมาให้เขาติวให้ฟังเขาก็ยินดีครับ โดยเฉพาะถ้าอยู่แถวขอนแก่น เพราะเขาก็ตั้งใจจะปักหลักอาศัยที่ขอนแก่นไปให้นานที่สุดครับ และตอนนี้ หลังจากทำแผนที่ขอนแก่นไปเยอะแล้ว เขาก็เริ่มทำแผนที่อุดรฯ ต่ออยู่ครับ แต่ก็ทำได้ทีละนิดเพราะไม่ได้อยู่ประจำที่นั่น

ป้ายกำกับ: , ,

24 พฤษภาคม 2553

OpenStreetMap

กิจกรรมหนึ่งที่ DD ชวนกันทำระหว่างงาน Mini-DebCamp 2010 ก็คือ การช่วยกัน edit OpenStreetMap เวลาที่ออกไปข้างนอกกัน แหม.. มีกิจกรรมให้ contribute กันไม่เว้นแม้แต่เวลาเที่ยวเลยนะครับ

OpenStreetMap เป็นโครงการร่วมกันสร้างแผนที่ถนนในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก แล้วเผยแพร่ภายใต้ license Creative Commons Attribution-ShareAlike 2.0 (CC-BY-SA 2.0) โดยมีแนวคิดคล้ายกับ Wikipedia เพียงแต่เครื่องมือที่ใช้จะต่างไปจากการเขียนข้อความเท่านั้น

ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่ดี แผนที่ต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้น ไม่ว่าจะเปิดแค่ไหน ก็ไม่อันไหนเปิดเท่าโครงการนี้ คือให้ความสะดวกในการแก้ไขตรวจสอบกันเอง และข้อมูลที่ได้ ก็ยังเปิดกว้างให้นำไปต่อยอดได้อย่างอิสระอีกด้วย แต่แน่นอนว่าความครบถ้วนของข้อมูลย่อมขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ร่วมทำ

ผมเอง หลังจากที่ใช้โทรศัพท์มือถือจอขาวดำที่ได้รับบริจาคมาเป็นเวลาถึง 5 ปี จนแบตเสื่อม เสาอากาศหลุด สมุดโทรศัพท์พังกลายเป็นข้อมูลขยะไปแล้ว ก็ตัดสินใจก้าวกระโดดมาซื้อโทรศัพท์แอนดรอยด์ (hTC Tattoo) ในราคา 9,900 (โดยไม่ต้องเป็นนักศึกษา) ซึ่งยังถือว่าแพงสำหรับผม แต่มันก็ลดราคามามากแล้ว จาก 14,000 เลยหยวน ๆ โดยซื้อไปเมื่อก่อนงาน Mini-DebCamp จะเริ่มเล็กน้อย เครื่องนี้มี GPS แต่ก็ยังไม่พร้อมจะเริ่มทำ OpenStreetMap กับเขา เพราะเพิ่งจะหัดใช้ smart phone ได้ไม่กี่วัน แค่รับสาย-โทรออกเป็นก็บุญโขแล้ว

หลังจากหาข้อมูลสักพัก ลองเล่น Google Map ที่มากับ Android มันก็ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต พอออกไปนอกเมืองที่ไม่มีสัญญาณ EDGE/GPRS มันก็ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง จนมาเจอ MapDroyd จาก Android Market ที่สามารถดาวน์โหลดข้อมูล OpenStreetMap มาไว้ใช้แบบออฟไลน์ได้ ดูแล้วตัวนี้น่าจะมีประโยชน์กว่า ติดแต่ว่า ข้อมูลของ OpenStreetMap มันไม่ค่อยครบถ้วน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะเราสามารถช่วยกันเพิ่มได้ ผมสบายใจกับอิสระเสรีในการใช้ข้อมูลมากกว่า

แล้วจะแก้ไขข้อมูลอย่างไร? หน้าแรกที่จะเริ่มศึกษาข้อมูลก็คือ OpenStreetMap Wiki โดยเริ่มที่ Beginners' Guide โดยขั้นตอนหลัก ๆ คือ: เก็บ GPS track เป็น GPX, อัปโหลด GPX, แก้ไขแผนที่, เติมข้อมูล, สั่งวาดแผนที่

ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนนั้น มีรวบรวมรายชื่อไว้ในหน้า Software โดยสำหรับอุปกรณ์ติดตามตัวก็มีให้ทั้ง Windows Mobile, iPhone และ Android แล้วก็มีเครื่องมือแก้ไขบนเดสก์ท็อปที่น่าสนใจสองตัว คือ JOSM และ Merkaartor (มีบน Debian ทั้งสองตัว)

ในที่นี้ขอเล่าเฉพาะตัวที่ผมได้ลองใช้มา

การเก็บข้อมูลด้วยโทรศัพท์ Android มีตัวเลือกหลายตัว แต่ที่ผมใช้เป็นประจำคือ OSM Tracker for Android เพราะสามารถเก็บ track พร้อมทั้งเพิ่ม POI (point of interest) ได้อย่างสะดวก ส่วนตัวอื่น ๆ เช่น GPS Logger for Android นั้น เก็บแต่ track อย่างเดียว เพิ่ม POI ไม่ได้

การแก้ไขแผนที่ เริ่มแรกผมใช้ Merkaartor ก่อน เป็นโปรแกรมที่ใช้ Qt เป็นฐาน หน้าจอสวยงามน่าใช้ แต่ต่อมาก็ได้รับคำแนะนำจาก Paul Wise ว่า ผู้เริ่มต้นควรเริ่มจาก JOSM จะดีกว่า ตัวนี้เป็นโปรแกรม Java อาจจะกินทรัพยากรมากกว่าก็จริง แต่มีฟีเจอร์ที่เป็น killer คือ preset ที่กำหนดเป็น template ไว้สำหรับเพิ่มข้อมูลประเภทต่าง ๆ พร้อมลิงก์ไปยังเอกสารประกอบบนเว็บอย่างครบครัน ในขณะที่ Merkaartor นั้น ผู้ใช้ต้องรู้จัก tag ต่าง ๆ พอสมควร เพราะมันให้เพิ่มเองหมด ได้ฟังอย่างนี้ก็เลยลอง แรก ๆ ก็สลับไปมาระหว่างสองตัว เพราะรู้สึกว่า Merkaartor มันให้ความรู้สึกเหมือนแก้แผนที่โดยตรงมากกว่า แต่พอใช้ JOSM ไปไม่นานก็คุ้นเคย แล้วก็เลยใช้แต่ JOSM อย่างเดียวมาตลอด

ช่วงกว่าอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเลยกำหนดเป็นกิจวัตรประจำวัน ที่จะออกไปสำรวจและเก็บ GPS track ทุกเย็นในละแวกบ้าน ถือเป็นการบังคับให้ตัวเองออกกำลังกายไปในตัว หรือบางทีออกไปธุระที่ไหนก็จะเก็บ GPS track ไปพร้อมกันด้วย แล้วก็กลับมา edit บนเครื่องที่บ้าน (ความจริงพอมีเครื่องมือแก้ไขแบบออนไลน์บนมือถืออยู่เหมือนกัน แต่ผมมันมนุษย์ออฟไลน์ครับ ไว้ให้มีคนออกค่า EDGE ให้ก่อนค่อยทำออนไลน์ เหอ ๆ)

แผนที่ในขอนแก่น พบว่าถนนหลัก ๆ นั้นครบถ้วนพอสมควร แต่ยังขาดถนนเล็กและซอยต่าง ๆ รวมทั้งชื่อถนน ชื่อสถานที่ ก็ยังสะกดผิดเยอะ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าน่าจะเป็นชาวต่างประเทศมาเตรียมไว้ให้ ที่ผ่านมาผมจึงทำควบคู่กัน ระหว่างการเพิ่มถนน เพิ่ม POI และแก้ไขตัวสะกดของชื่อต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน ผมก็เคยช่วยรายงานข้อผิดพลาดใน Longdo map มาบ้าง ระหว่างนี้ไปเก็บข้อมูลที่ไหนก็เลยพลอยได้รายงานปัญหาของ Longdo ควบคู่กันไปด้วย (แต่กว่าเขาจะแก้ให้ ก็คงใช้เวลาสักหน่อย)

มาช่วยกันทำ OpenStreetMap กันเถอะ นี่เป็น open content อีกรูปแบบหนึ่งที่เราจะช่วยกันเตรียมได้ ผมเตรียมข้อมูลละแวกบ้านผม ถ้าคุณมาเที่ยวแถวบ้านผมก็ใช้ข้อมูลได้ ผมไปเที่ยวบ้านคุณก็ได้ใช้ข้อมูลของคุณ แลกเปลี่ยนกันนะครับ :-)

ป้ายกำกับ: , , ,

11 พฤษภาคม 2553

The Edge of the Empire (คนไททิ้งแผ่นดิน)

ไม่ได้ blog เรื่องหนังสือไปเสียนาน อันที่จริงก็มีเรื่องสะสมไว้พอควร แต่หาเวลานั่งลงเรียบเรียงความคิดยากจริง

คนไททิ้งแผ่นดิน ภาพยนตร์ที่สร้างจากมหากาพย์ชื่อเดียวกันที่ได้รับรางวัลเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน หรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Edge of the Empire เป็นเรื่องของการต่อสู้ของชนชาติไทตั้งแต่สมัยอยู่ในแผ่นดินจีนตอนใต้ เพื่อปลดแอกจากอำนาจของจิ๋น ซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงแรก ก่อนที่จะโดนจิ๋นตลบหลัง หลังจากคนไทยแตกคอรบกันเองจนอ่อนกำลังลง จนพ่ายแพ้อย่างหมดรูป และต้องทิ้งแผ่นดินมุ่งลงใต้เพื่อหาแผ่นดินใหม่สำหรับตั้งหลักแหล่ง

เรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เอาไว้ทีหลัง เพราะเรื่องนี้ชัดเจนว่าเป็นนิยายปลอมพงศาวดารในทำนองเดียวกับผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ คืออาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นเค้าโครงเท่านั้น ที่เหลือเป็นตัวละครสมมุติทั้งสิ้น แต่คุณค่าของเรื่องนี้อยู่ที่การสอดแทรกแง่คิดเกี่ยวกับการปกครอง การรวมตัวกันเพื่อประโยชน์ในการต้านทานการรุกรานจากภายนอก และเกร็ดคุณธรรมอื่น ๆ

นิยายเรื่องนี้แบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกคือ คนไททิ้งแผ่นดิน เป็นเรื่องราวการถูกกดขี่จากจีน และความพยายามทำสงครามปลดแอก จนกระทั่งแตกพ่าย ส่วนภาคสองคือ สู่แผ่นดินใหม่ เป็นเรื่องของการอพยพลงใต้เพื่อหาแผ่นดินใหม่ โดยในระหว่างทางมีคนไทแยกสายกันไปหาหลักแหล่งในที่ต่าง ๆ

เค้าโครงของเรื่อง อาศัยทฤษฎีหนึ่งในหลาย ๆ ทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของคนไท ซึ่งปัจจุบันมีอย่างน้อย 4 ทฤษฎี คือ:

  1. คนไทมาจากภูเขาอัลไต แล้วอพยพลงมาที่ลุ่มน้ำฮวงโห ก่อนจะถูกจีนที่อพยพมาจากทางทะเลสาบแคสเปียนรุกล้ำให้ลงมาที่ลุ่มน้ำแยงซีเกียง จากนั้นก็ถูกจีนรุกรานเรื่อยมาจนกระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่จีนตอนใต้จรดแหลมมลายู ทฤษฎีนี้เสนอโดย William Clifton Dodd (หมอดอดด์) และเผยแพร่ให้กว้างขวางขึ้นโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ปัจจุบันทฤษฎีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความเป็นไปได้
  2. คนไทมาจากจีนตอนใต้ โดยแบ่งเป็นสองทฤษฎีย่อย คือมีถิ่นกำเนิดที่เสฉวน กับอีกแนวคิดหนึ่งคืออยู่กระจายกันตั้งแต่กวางตุ้งเรื่อยไปถึงกวางสี ยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน แล้วจึงอพยพลงใต้ ทฤษฎีนี้เริ่มเสนอโดย Terrien de Lacouperie และกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอ้างอิงต่อมา
  3. คนไทอยู่ที่บริเวณประเทศไทยมาแต่แรก ไม่ได้อพยพมาจากที่ไหน โดยอาศัยหลักฐานโบราณคดีที่พบในท้องที่ พบความเชื่อมโยงกับคนไทยปัจจุบัน นพ. สุด แสงวิเชียร เสนอว่า ลักษณะเม็ดเลือดที่ผิดปกติของคนไทยทำให้ลักษณะของกระดูกกรามผิดรูป ซึ่งตรงกับโครงกระดูกที่ขุดพบในประเทศ และอีกผู้หนึ่งที่เสนอทฤษฎีนี้คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ โดยวิเคราะห์ความหมายของคำว่า ไท เสียใหม่ในฐานะคำสามัญไม่ใช่ชื่อเฉพาะ และแยกประเด็นเรื่องภาษาพูดกับชาติพันธุ์ออกจากกัน เพื่ออธิบายว่าคนที่พูดภาษาไทที่พบในจีนนั้นไม่ใช่คนเผ่าพันธุ์เดียวกับไทในสยาม
  4. คนไทมาจากทางใต้ คือมาจากทางเกาะชวา แถบเส้นศูนย์สูตร แล้วอพยพขึ้นเหนือ โดย นพ. สมศักดิ์ สุวรรณสมบูรณ์ ให้ข้อสังเกตว่ากลุ่มเลือดของคนไทยคล้ายกับคนอินโดนีเซียมากกว่าคนจีน และนักมานุษยวิทยา Ruth Benedict ได้พบความคล้ายคลึงกันของภาษาของคนถิ่นต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทฤษฎีนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันเรื่องความหละหลวมของสมมุติฐาน

นิยาย คนไททิ้งแผ่นดิน นี้ อ้างอิงทฤษฎีที่ 2 ว่าคนไทมีถิ่นกำเนิดแถบจีนตอนใต้ โดยมาย้ำในภาคสอง ที่เฟเสียนเล่าถึงนางบัวคำที่หลังจากตายแล้ววิญญาณได้มาบอกให้ไปสำรวจที่ต้นแม่น้ำโขงอันเป็นถิ่นกำเนิดของชนชาติไท

และจากเค้าของประวัติศาสตร์ประกอบทฤษฎีที่ 2 ที่ว่าคนไทอยู่ในบรรดากลุ่มชนชาติที่จีนเรียกว่าพวกอวดร้อยเผ่า หรือ ไป่เยว่ ซึ่งมีลักษณะการปกครองแบบแยกเป็นชนเผ่าเล็ก ๆ ไม่ได้รวมตัวกัน ผู้ประพันธ์จึงได้วาดภาพการปกครองของไทเผ่าต่าง ๆ ในเวลานั้นคล้ายกับกรีกโบราณหรืออินเดียโบราณ ที่แต่ละแคว้นปกครองเป็นอิสระจากกัน มีระบอบการปกครองที่ต่างกัน โดยแคว้นเชียงแสซึ่งเป็นแคว้นสำคัญแคว้นหนึ่งของเรื่อง มีการปกครองแบบประชาธิปไตย และได้เป็นแบบอย่างให้แคว้นลือหลังจากรวมกันแล้วด้วย ส่วนแคว้นอื่น ๆ ปกครองแบบราชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกปรัชญาการปกครองแบบเต๋าและขงจื๊อไว้ตลอดเรื่อง ผ่านตัวละครฝ่ายธรรมะของทั้งฝ่ายไทและฝ่ายจิ๋น โดยมีตัวละครฝ่ายอธรรมที่ตัดกันไว้เปรียบเทียบ เช่น ฝ่ายจิ๋นมีลกซุนและเตียวเหลียงเป็นตัวแทนปรัชญาเต๋าและขงจื๊อที่เฟื่องฟูในยุคชุนชิว-จั้นกว๋อ และมีลิตงเจียกับลิบุ๋นและคนส่วนใหญ่ในราชสำนักเป็นตัวแทนฝ่ายจักรวรรดินิยมที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ ฝ่ายไทเองก็มีบุญปันกับกุมภวาเป็นตัวแทนการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย และประสบความสำเร็จตามครรลองของเต๋า (เป็นเจ้าเมืองที่มีเวลาว่างมากกว่าเพื่อน) มีขุนสินเป็นตัวแทนราชาธิปไตยแบบอิงคุณธรรมขงจื๊อ (ธรรมราชา) แล้วก็มีขุนจาด คำอ้าย และขุนสาย เป็นตัวแทนของฝ่ายอำนาจนิยม ซึ่งผมคิดว่าการสอดแทรกแนวคิดของการปกครองแบบต่าง ๆ นี่แหละ ที่เป็นคุณค่าที่สำคัญอย่างหนึ่งของนิยายเรื่องนี้

นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์ก็ได้กระแนะกระแหนคนไทอยู่ตลอดในเรื่องนิสัยชอบตีกันเอง คือจะรวมตัวกันได้ก็ต่อเมื่อมีภัยจากภายนอกมาคุกคามเท่านั้น แต่ในยามสงบ นิสัยรักอิสระก็จะทำให้คนไทไม่ยอมรวมตัวกัน และยังวิวาทกันเองอยู่ตลอด จนกระทั่งเสียทีให้กับจิ๋นในที่สุด แม้จะเคยรวมกำลังกันปลดแอกจิ๋นได้สำเร็จแล้วก็ตาม

สิ่งที่มหากาพย์เรื่องนี้รับใช้ ก็คือการปลุกเร้าความสามัคคีและความหวงแหนแผ่นดินของคนไทย เพราะ “จากแผ่นดินใหม่นี้ คนไทจะถอยไปไม่ได้อีกแล้ว” และยังปลุกความเป็นพี่น้องกันระหว่างไทเผ่าต่าง ๆ ที่ได้แยกย้ายกันไปอีกด้วย ซึ่งก็เป็นธรรมดา เพราะนี่คือมหากาพย์แห่งชนชาติไทนี่นา

ป้ายกำกับ: , , ,

08 พฤษภาคม 2553

Thanks

ขอขอบคุณย้อนหลังครับ สำหรับท่านผู้ให้การสนับสนุนงานพัฒนาของผมในช่วงที่ผ่านมา Many thanks to my supporters in the recent months:

  • Mr. Yakiharu Yabuki (in mini-DebCamp)
  • Mr. Daiki Ueno (in mini-DebCamp)
  • คุณวิทยา ไตรสารวัฒนะ (Mr. Widhaya Trisarnwadhana)

Wish you happy life in free software world. May the source be with you.

ป้ายกำกับ:

hacker emblem