Theppitak's blog

My personal blog.

22 กุมภาพันธ์ 2551

Better is Worse (2)

หลังจากที่ blog เรื่อง Better is Worse ไปแล้ว ก็ปรากฏว่ามีความคิดเห็น รวมถึงพบว่ามีลิงก์จาก duocore และ ubuntuclub กลับมา เกินความคาดหมายเหมือนกันที่ได้เป็นประเด็นใน duocore

แต่เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ชุมชนลินุกซ์หรือคนไอทีน่าจะสนใจอยู่แล้ว บังเอิญว่า blog ผมได้เข้าไปเป็นความเห็นประกอบเท่านั้น แต่ความตั้งใจเดิมนั้น ผม blog เพราะคำพูดของไลนัสที่ผมยกมามันโดนใจผมพอดี ในแง่ที่รู้สึกกดดันกับความเฉื่อยของตลาด เมื่อสิ่งที่บกพร่องกลับมามีอำนาจเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกต้องให้บกพร่องตามไปด้วย โดยที่ผมไม่ได้มุ่งที่ประเด็นความไม่ติดตลาดของลินุกซ์สักเท่าไร อย่างที่ตอบใน ความเห็น ใน blog นั้น ว่าผมไม่แคร์

แต่จะเห็นว่า ในตลาดนั้น คุณจะเห็นข้อบกพร่องของเดสก์ท็อปลินุกซ์ได้ง่ายกว่าข้อดีของมันมาก เพราะถึงจะดีกว่า แต่ก็ "better is worse"

แต่ไหน ๆ duocore ก็ได้จุดประเด็นนี้ขึ้นมาแล้ว ผมเห็นด้วยกับอาทในเรื่องความขาดเอกภาพของเดสก์ท็อปลินุกซ์ แต่ผมก็เห็นแนวโน้มที่ปัญหานี้จะค่อย ๆ ลดลง หลังเกิดการจัดระเบียบตัวเองของชุมชน ตอนนี้ GNOME Human Interface Guidelines (HIG) ก็เริ่มมีผลมากขึ้นในชุมชน GNOME, โครงการต่าง ๆ ใน freedesktop ก็เริ่มลดความแตกต่างระหว่าง GNOME และ KDE ให้น้อยลง, Mozilla และ OpenOffice.org เองก็เริ่มมีการเชื่อมรวมกับ GNOME มากขึ้น, ทีมแปลต่าง ๆ ของไทยเอง ก็มีการ รวมตัวกัน เพื่อกำหนดคำแปลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น แนวโน้มต่าง ๆ เหล่านี้ กำลังจะสร้างเอกภาพของเดสก์ท็อปลินุกซ์มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ใช้

เรื่องไดรเวอร์ที่ทุกคนบ่นว่าเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งผมก็ไม่เถียง ท่าทีของผมต่อปัญหานี้คือ ผมไม่สนับสนุนสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับซอฟต์แวร์เสรี เรื่องนี้กลายเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งเวลาจะซื้อฮาร์ดแวร์ของผม คือต้องสำรวจไดรเวอร์ก่อนซื้อของ แทนที่จะซื้อของแล้วค่อยมาหาไดรเวอร์ ประเด็นนี้ทำให้ผมตัดฮาร์ดแวร์ที่ผู้ผลิตไม่สนับสนุนโอเพนซอร์สทิ้ง (เช่น ATI, nVidia) ซึ่งก็ทำให้ตัวเลือก CPU อย่าง AMD ที่มักมาพร้อมกับชิปเซ็ตเหล่านี้ ไม่ใช่ชิปเซ็ตของ Intel ที่มีนโยบายสนับสนุนโอเพนซอร์สชัดเจน ต้องถูกตัดไปด้วย เป็นต้น (แต่หลังจาก ATI เปิดสเปค เรื่องนี้คงมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป) ผมไม่สนใจว่าผู้ผลิตมีไดรเวอร์ให้โหลด ถ้ามัน non-free ผมก็ไม่ใช้เลย เป็นการ "vote no" ต่อสินค้าในฐานะผู้ใช้ลินุกซ์ นอกเหนือจากปัญหาทางเทคนิคที่ต้องคอยอัปเกรดไดรเวอร์ด้วยระบบต่างหากจากของ distro (บางคนอาจบอกว่า debian/ubuntu ก็มี non-free installer ให้ แต่ผมเห็นว่ามันเป็นส่วน unsupported ของ distro เวลาอัปเกรดก็จะติดขัดไม่ราบรื่นอยู่ดี)

ในขณะที่ผมเคารพสิทธิ์ของผู้คนที่จะจำยอมใช้วิธี non-free เพื่อใช้ฮาร์ดแวร์เหล่านั้น หรือเข้าใจในข้อจำกัดในหลายกรณีของระบบการทำงานในองค์กร แต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะจำยอมหากเลือกได้ (เช่น ในการซื้อเครื่องส่วนตัว) เพราะการที่ผู้ใช้ลินุกซ์ยังซื้อของของเขาอยู่ ก็ทำให้เขาอ้างได้ว่า ไม่เห็นมีใครว่าอะไร แล้วก็เพิกเฉยที่จะดำเนินการ

ผมจริงจังเกินไปไหม? ผมได้พูดก่อนหน้านี้แล้วไม่ใช่หรือ? ว่าผมใช้ลินุกซ์ในฐานะที่มันเป็นลินุกซ์จริง ๆ ผมจึงใช้ลินุกซ์เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ให้ปัจจัยแวดล้อมมากดดันการใช้งานของผม

ตรงนี้ก็เลยรวมไปถึงประเด็นเรื่องการเรียนรู้ หรือความบกพร่องในบางเรื่องของลินุกซ์ แน่นอนว่าถ้าคุณตกลงปลงใจที่จะอยู่กับมันแล้ว คุณย่อมพร้อมจะเรียนรู้แง่มุมต่าง ๆ เรียนรู้ปรัชญา รวมทั้งแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่คุณพบ ในเมื่อคุณได้รับเสรีภาพอย่างเต็มที่แล้วในโลกใบนี้ และคุณก็ไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยวด้วย แรงงานที่คุณใส่เข้าไป เป็นเพียงหนึ่งในกองทัพมดที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทุกคนล้วนแต่รับมากกว่าให้ทั้งนั้น

5 ความเห็น:

  • 24 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 11:52 , Blogger Unknown แถลง…

    geek อย่างเรามักเอา technology เป็นศูนย์กลางแล้วพยายามประยุกต์ใช้ technology นั้นในการสร้างสรรค์งานที่เราต้องทำ แต่ผู้ใช้งานทั่วไปเขาเอางานของเขาเป็นศูนย์กลางแล้วค่อยเลือกเทคโนโลยีที่ตอบสนองงานของเขาได้... ใครถูกใครผิด?

     
  • 24 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 12:29 , Blogger Thep แถลง…

    อย่าได้พูดถึงเรื่องถูกผิดดีกว่ามังครับ ผมรู้ตัวว่าผมไม่ใช่ผู้ชักชวนผู้ใช้ใหม่ที่ดี แต่ที่เขียนนี้ผมเขียนจากมุมมองของ geek ให้ geek อ่าน เพื่อที่ geek หรือผู้กำลังจะ geek จะได้ช่วยกันปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ตามศักยภาพที่มี

    ขอเวทีให้พูดแบบ geek มั่งเถอะครับ ถ้าต้องพูดแต่ภาษา end-user ไปตลอด เมื่อไรสังคมโอเพนซอร์สไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้?

    สิ่งที่ผมถือเป็นศูนย์กลางไม่ใช่เทคโนโลยีโดยตรงนะครับ แต่เป็นวัฒนธรรมแฮกเกอร์ และแนวคิดซอฟต์แวร์เสรี เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องทางสังคมไม่น้อยไปกว่าเรื่องเทคโนโลยีเหมือนกัน

    ผมเชื่อว่าการ "ใช้" ซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้มีส่วนร่วม จะตอบสนองผู้ใช้ได้ดีกว่า ซึ่งการมีส่วนร่วมก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการโค้ดอย่างเดียว แต่การรายงานบั๊ก แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ หรือช่วยทดสอบ ฯลฯ ตามศักยภาพของตัวเอง ก็ถือว่ามีส่วนร่วมแล้ว ที่ผ่านมาในประเทศเรา ที่มันตอบสนองผู้ใช้ได้ไม่ดีอย่างใจหวังเสียที น่าจะเป็นเพราะขาดการมีส่วนร่วมของผู้ใช้นั่นเอง

     
  • 24 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 15:01 , Blogger bact' แถลง…

    เช่น เอาแต่ฝากความหวังไว้ว่า นายคนนั้น นายคนนี้ จะดูแลประเทศให้เราได้ - แต่ไม่เคยมีส่วนร่วมในการดูแลเองเลย แม้จะมีโอกาสก็ตาม

     
  • 25 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 01:56 , Blogger veer แถลง…

    เรื่อง driver เป็นเหตุหลักให้ผมซื้อ Centrino เลย ถึงมันจะแพงกว่านิดๆก็เถอะ.

    A geeky end-user :-).


    ป.ล. ป๋าไม่รับ openid บ้างหรือครับ?

     
  • 5 มีนาคม 2551 เวลา 15:22 , Blogger Unknown แถลง…

    เพิ่งสังเกตเห็นว่า คุณ thep ก็ใช้เครื่องหมายปรัศนีย์.
    ไม่ใช่ full stop ด้วยหละครับ?

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem