ThaiFonts-Scalable 0.4.9
ออกละครับ thaifonts-scalable 0.4.9 แม้จะออกห่างจาก 0.4.8 แค่เดือนเศษ แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยได้รับความช่วยเหลือจากหลาย ๆ ฝ่าย ตั้งแต่คุณพล เจ้าของฟอนต์ Sawasdee ที่ช่วยรายงานปัญหาเพื่อปรับกฎ GSUB/GPOS ในฟอนต์, คุณ Martin Hosken ที่ช่วยทดสอบกับโปรแกรมของ Adobe ให้ (แต่ยังแก้ปัญหาไม่หมดดี), คุณ Apirak Panatkool และคุณ Pathompol Suebpradist ที่ช่วยทดสอบบน Leopard ให้ (ยังแก้ปัญหาไม่หมดเช่นกัน), เจ้าหน้าที่เนคเทคที่ช่วยดำเนินการเกี่ยวกับ license ของฟอนต์แห่งชาติ, คุณ wd ที่ได้เตรียมฟอนต์ Umpush ไว้ให้ และช่วยปรับ scaling factor สำหรับการสังเคราะห์ฟอนต์ให้ในช่วงท้าย
ทั้งหมดนี้เป็นวัตถุดิบสำหรับปรับแก้ฟอนต์ทั้งชุด เมื่อรวมกับการปรับแก้อื่น ๆ ที่ผมคิดทำเองด้วย ก็ทำให้มีรายการ commit แทบทุกวันตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา สรุปความเปลี่ยนแปลงเด่น ๆ คือ:
- ฟอนต์กินรีกลับมาแล้ว ทำให้มีฟอนต์ราชการเทียบเท่า Angsana ที่รอคอยมานานเสียที
- เพิ่มฟอนต์ Umpush ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Cordia และ ดีบีฟองน้ำ
- การปรับปรุง GSUB/GPOS ในฟอนต์ เพื่อรองรับโปรแกรมมากขึ้น โดยมีการทดสอบกับโปรแกรม Adobe CS3 และ MacOS Leopard ผลที่ได้ดีขึ้นมาก แม้จะยังเหลือปัญหาบางประเด็นที่เป็นปัญหาของโปรแกรม ไม่ใช่ของฟอนต์
- เพิ่ม anchor สำหรับปรับตำแหน่งสระบนและวรรณยุกต์สำหรับ ฉ ฉิ่ง, ณ เณร, น หนู และ ษ ฤๅษี
- แยก glyph สำหรับไม้ไต่คู้ที่อยู่เหนือสระบนออกมาต่างหาก (ใช้เขียนภาษาชนกลุ่มน้อย ซึ่ง วทท 2.0 รองรับ เช่น "เกื็อก") ให้มีขนาดเล็กลงเทียบเท่าวรรณยุกต์
- ปรับ OS/2 metrics ในฟอนต์ กินรี, ครุฑ, นรสีห์ เพื่อให้ความสูงของบรรทัดเท่ากันหมดทุกน้ำหนักของฟอนต์เดียวกัน
- ใช้ glyph reference มากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะสระหลบหางทั้งหลาย และตัว accent ของ Latin เพื่อให้ไฟล์ TTF มีขนาดเล็กลง และดูแลง่าย
- ปรับ hint แบบ manual สำหรับอักษรต่าง ๆ เท่าที่สังเกตพบ (ใครพบอักษรรูปร่างเพี้ยนที่บางขนาด ก็ช่วยรายงานด้วยนะครับ จะได้หาทางปรับแก้ต่อไป หลายคนช่วยสอดส่องย่อมดีกว่าให้ผมดูคนเดียว)
- ใช้ stem snaps เพื่อให้ได้ฟอนต์ตัวหนาที่ดูดีขึ้น
build deb แล้วด้วยครับ กำลังรอ debian developer ช่วย upload เข้า debian ให้
ป้ายกำกับ: thaifonts-scalable, typography
12 ความเห็น:
ณ 21 มกราคม 2551 เวลา 14:34 , Taniya แถลง…
cvs อย่างด่วนครับ :{)
ณ 21 มกราคม 2551 เวลา 18:04 , Thep แถลง…
หมายเหตุ: เข้า debian ไปแล้วไม่นานหลังจาก blog เสร็จครับ :)
ณ 22 มกราคม 2551 เวลา 00:30 , Beamer User แถลง…
ใช้กับ XeTeX บน Windows แล้วไม่สวยและสระยังลอย
อยู่เลยครับ ไว้จะโพสรูปให้ดูนะครับ
ณ 27 มกราคม 2551 เวลา 22:23 , cwt แถลง…
ใช้บน Mac 10.5 สระ วรรณยุกต์ ลอยครับ ลองบน firefox 3 และ Neo Office
ณ 27 มกราคม 2551 เวลา 22:53 , Thep แถลง…
fat dog father, รอดูผลอยู่นะครับ ไม่รู้ XeTeX สนับสนุน OpenType ภาษาไทยขนาดไหน
cwt, ผมไม่รู้เลขรุ่นของ Mac นะครับ ทราบแต่ว่า Leopard มีการปรับปรุงเรื่อง OpenType ขึ้นมาก เกือบ render ภาษาไทยได้ 100% ถ้าไม่ติดบั๊กเรื่องลำดับการวาง combining mark ที่ทำให้สระบนเลื่อนตำแหน่งไป ส่วน Mac ก่อน Leopard ไม่สนับสนุน OpenType ภาษาไทยเอาเสียเลย
ณ 31 มกราคม 2551 เวลา 05:36 , Beamer User แถลง…
รูปตามลิงค์นะครับ ใช้ google ไม่ค่อยเป็น โทษ
http://groups.google.com/group/thai-linux-foss-devel/web/fonttest.jpg
ณ 31 มกราคม 2551 เวลา 10:00 , Thep แถลง…
fat dog father, ขอบคุณครับ TrueType hint ไม่สวยเลย.. :-( หรือว่าควรใส่ BlueScales ด้วยหว่า.. (fontforge มัน gen TrueType instruction โดยอาศัย Postscript hint) เดี๋ยวต้องลองดูครับ
ส่วนเรื่องสระลอย อาการเหมือน Mac (< Leopard) เลย คือมันไม่รองรับ OpenType ภาษาไทย ต้องใช้ ligature hack เหมือน THNiramit ตรงนี้คงต้องแก้ที่ XeTeX เอง
ณ 31 มกราคม 2551 เวลา 12:43 , Thep แถลง…
ข้องใจเลยขอลองมั่ง จาก texlive-xetex 2007.dfsg.1-2 บน debian unstable โดยใช้ฟอนต์ Garuda
ได้เป็น PDF ซึ่งดูจาก evince แล้ว เป็นดังรูป ครับ เรื่องวรรณยุกต์ลอยนี่ยังเป็นปัญหาอยู่ ตามที่เอกสารของ XeTeX บอกว่าการสนับสนุน OpenType เขายังแค่ขั้นต้น อาศัย ICU เป็นหลัก แต่เรื่องคุณภาพของ glyph นี่ ก็ดูโอเคนะครับ
ณ 15 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 11:32 , b0ny แถลง…
ถ้าคุณเทพเข้ามาอ่านรบกวนช่วยตอบหน่อยนะครับ
ผมลองใช้ font ใน InDesign CS3 (WinXP) ยังมีปัญหาสระลอยอยู่ครับ ไม่ทราบว่าต้องปรับแต่งยังไงให้ใช้ได้
ณ 15 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 11:52 , Thep แถลง…
อ้าว ยังลอยอยู่เหรอครับ ทำไมผลที่คุณ Martin ส่งมาให้ดูมันไม่ลอยแล้วล่ะครับ? งงละ..
แต่ผมคิดว่า ได้ทำดีที่สุดแล้วสำหรับ OpenType feature ในฟอนต์ ที่เหลือก็อยู่ที่แต่ละโปรแกรมแล้วละ ว่าจะรองรับ OpenType กันได้ดีแค่ไหน (ตอนนี้ GNOME render ได้ดีที่สุด ส่วน KDE 4 รอเขารับแพตช์จากทีม suriyan ก่อน แต่สำหรับแพล็ตฟอร์มอื่น ๆ นั้น ผมไม่มีให้ทดสอบครับ)
แต่ถ้าจะให้กลับไปใช้ ligature hack อย่างที่หลายฟอนต์ทำ คงไม่สามารถทำได้
ณ 16 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 10:21 , b0ny แถลง…
ไม่เป็นไรครับคุณเทพ
จากที่คุณเทพตอบมา ผมเข้าใจจุดยืนของคุณเทพแล้ว
ถ้าคุณเทพสร้างฟอนต์ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสิ่งผลักดันให้ผู้ผลิต software หันมาปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น มากกว่าที่จะให้ users ณ ขณะนี้นำฟอนต์ไปใช้งานได้จริง ผมจะได้ลองหาวิธีอื่น หรือฟอนต์อื่นใช้ไปก่อนครับ
ณ 16 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 11:27 , Thep แถลง…
ก่อนอื่นต้องเคลียร์ก่อนนะครับ ว่าที่ผมเขียนใน blog ใหม่ ไม่ได้มาจาก comment ของคุณ bOny แต่มาจากแหล่งอื่น ๆ ที่มีความกดดันมากกว่านะครับ
เกี่ยวกับเรื่องจุดมุ่งหมายของการสร้างฟอนต์ ผมมุ่งให้ผู้ใช้ใช้งานจริงครับ ซึ่งก็ใช้ได้จริงบน Linux desktop คือ GNOME และ KDE 4 ที่กำลังแพตช์ ตามที่ผมกล่าวไว้ และนั่นก็กลายเป็นแพลตฟอร์มหลักของฟอนต์ เนื่องจากเรามีอิสระที่จะแก้ข้อผิดพลาดต่าง ๆ ได้ดีกว่า ส่วนการจะใช้ในแพลตฟอร์มอื่นนั้น ผมถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้วตาม spec ทางเทคนิค การที่ซอฟต์แวร์เหล่านั้น render ไม่ได้ ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ที่ตัวซอฟต์แวร์เอง
แต่ถ้าจะให้ถึงกับแก้ที่ตัวฟอนต์เพื่อให้ render ได้ 100% ภายใต้ข้อจำกัดของซอฟต์แวร์ คงไม่สามารถทำได้ เพราะเทคนิคที่ใช้เป็นคนละอย่างกันเลย และเราก็ได้พัฒนามาไกลเกินกว่าจะโละทิ้งทำใหม่ (ด้วยวิธีนอก spec) ได้
แต่ไม่ใช่ว่าผมไม่เปิดรับการทดสอบนะครับ ผมไม่มีซอฟต์แวร์เหล่านั้นไว้ทดสอบเอง ก็ต้องอาศัยคนที่มีล่ะครับ ช่วยหาประเด็นข้อผิดพลาด เผื่อจะได้ไปกระทุ้งให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์เขาช่วยแก้ไขต่อไป
ผลที่คุณ Martin ส่งมาให้จาก Adobe InDesign CS3 นั้น ก็ render ได้ค่อนข้างดีนะครับ วรรณยุกต์ไม่ลอย ทำให้ผมเข้าใจว่าใช้การได้พอสมควรแล้ว แม้จะยังติดปัญหาบางกรณีอยู่ การที่ได้ข้อมูลใหม่ที่ขัดแย้งว่ายังลอยอยู่ ก็ทำให้ผมสับสนเหมือนกัน ว่าความจริงเป็นยังไงกันแน่
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก