Theppitak's blog

My personal blog.

30 ตุลาคม 2550

Chonburi

อาทิตย์ที่แล้ว ไปเที่ยวชลบุรีกับครอบครัวมา ไปครั้งนี้ดูจะเน้นเที่ยววัดเป็นหลัก รูปชุดที่อัปโหลดนี้เป็นภาพจากวัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร และบริเวณใกล้เคียง คืออเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน) และพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา ที่สลักบนหน้าผาเขาชีจรรย์ จบด้วยจิตรกรรมพุทธประวัติที่ดูแปลกตาที่วัดหลวงพ่อดำ

ทริปชลบุรี

ความจริง ได้ไปดูการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนเพื่อการอนุรักษ์ที่ เพอร์คูล่าฟาร์ม มาด้วย แต่เขาห้ามถ่ายรูป เลยไม่มีรูปมาฝาก

และยังมีภาพชาวประมงจับปลาที่บังเอิญได้ไปเห็นตอนเขาทำงานพอดี แต่ขอประหยัดโควต้าของ flickr หน่อยน่ะ

ทริปนี้ เป็นอีกทริปหนึ่งที่รู้สึกไม่จุใจ เพราะมีเวลาน้อยเกินไป โดยเฉพาะที่วิหารเซียนนั้น ศิลปะไทย-จีนชั้นสูงที่นำมาแสดง ดูละลานตาไม่สมกับขนาดพื้นที่ที่เห็นจากภายนอกเลย หวังว่าโอกาสหน้า ถ้าได้ไปกับคอศิลปะวัฒนธรรมจีน คงจะได้เก็บรายละเอียดมากกว่านี้

ทริปนี้เป็นรีเควสต์ของแม่ แต่ทั้งที่ตั้งใจวางแผนจำกัดเรื่องปริมาณแล้ว แต่กลายเป็นว่าเราประเมินสถานที่ต่ำไปจริง ๆ เนื่องจากรีบค้นข้อมูล ไม่มีเวลาสำรวจรายละเอียดมาก (จะค้นแต่ละทีผมต้องผละจากงานไปทำ อีกทั้งมีข้อจำกัดเรื่องเวลาเตรียมการ) ไว้คราวหน้าถ้าจะเที่ยวอีก ต้องวางแผนระยะยาวกว่านี้

ป้ายกำกับ:

19 ตุลาคม 2550

New Font: Waree

ใน ความเห็นหนึ่ง ของประกาศออกรุ่น thaifonts-scalable 0.4.6 นั้น คุณ wd ได้เสนอฟอนต์ วีรชาติ ซึ่งทำเพิ่มจาก Bitstream Vera ทำให้สามารถใช้ภาษาไทยร่วมกับฟอนต์ DejaVu ที่เป็นฟอนต์ปริยายสำหรับหลายดิสโทรได้ ผมจึงสนใจ ขอฟอนต์นี้จากคุณ wd มารวมก่อน

แต่เนื่องจากชื่อ Verachart นั้น ออกจะหมิ่นเหม่ว่าจะละเมิดสัญญาอนุญาตของ Bitstream Vera ที่ห้ามฟอนต์ที่ดัดแปลงใช้คำว่า Bitstream หรือ Vera ในชื่อ จึงต้องเปลี่ยนชื่อหลบเล็กน้อย กลายเป็นฟอนต์ชื่อ วารี (Waree)

อิมพอร์ตมาหลายอาทิตย์แล้ว นำมาทยอยปรับแก้ทีละเรื่อง จนตอนนี้คิดว่าน่าจะลงตัวพอสมควรแล้ว:

Waree Book

Waree Oblique

Waree Bold

Waree Bold Oblique

สำหรับแผนการของ thaifonts-scalable รุ่นหน้านั้น หลังจากที่ได้ ฟอนต์ Sawasdee จากคุณพลมาแล้ว ผมก็พยายามจะออกรุ่นใหม่ให้ทันจังหวะของ Ubuntu gutsy แต่ก็เผอิญป่วยเสียก่อน พอหายป่วยก็มีประเด็น libthai (itemization, คำประสม) ต้องทำก่อน ประกอบกับประเด็นเรื่องฟอนต์กินรีที่ติดต่อกับเนคเทคไว้ ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงต้องเลื่อนออกไป

ในรุ่นหน้า นอกจากฟอนต์ใหม่ 2 ฟอนต์ คือสวัสดีและวารีแล้ว ก็ยังหวังว่าจะได้ฟอนต์กินรีกลับมาอีก หลังจากที่เนคเทคช่วยเคลียร์ประเด็นทางกฎหมายเรียบร้อย

และอีกประเด็นหนึ่ง ที่มีผู้รายงานเข้ามาหลายราย คือเรื่องวรรณยุกต์ลอยเมื่อใช้กับโปรแกรมของ Mac และ Adobe ทั้งนี้เพราะตาราง OpenType ในฟอนต์ที่ทำ อาศัย spec ของไมโครซอฟท์ แต่ยังไม่มี spec เหล่านี้ออกมาจาก Mac หรือ Adobe ซึ่งวิธีแก้ของนักสร้างฟอนต์หลายคน คือใช้ฟีเจอร์ 'liga' (ligature) ซึ่งเป็นฟีเจอร์พื้นฐานที่ต้องทำในทุกภาษา แทน 'ccmp' (character composition/decomposition) ตามที่ไมโครซอฟท์กำหนด ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าจะว่าไป วิธีแก้ที่ถูกต้องจริง ๆ น่าจะต้องผลักดันให้ Adobe และ Mac สนับสนุนภาษาไทยอย่างชัดเจน รวมทั้งเพิ่มฟีเจอร์บางอย่างใน spec ของไมโครซอฟท์ด้วย เพราะ 'ccmp' นั้น จะว่าไป ก็เพียงใช้แยกส่วนสระอำเท่านั้น แต่เราก็ไปใช้เลือก alternate glyph ด้วย ซึ่งที่ถูกควรใช้ 'calt' มากกว่า แต่คงไม่มีใครเรียกตารางนี้กับภาษาไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าระบบใด ๆ

ระหว่างนี้ คงต้องใช้วิธีแก้ขัดโดยใช้ 'liga' hack ไปพลางก่อน และคงจะทำก่อนออกรุ่นใหม่นี้

ป้ายกำกับ: ,

18 ตุลาคม 2550

To an Invaluable Teacher

ขอไว้อาลัยแด่ท่านอาจารย์ปัญญานันทภิกขุ ที่ได้ละสังขารจากโลกนี้

แนวคำสอนของท่านปัญญาฯ ร่วมสายกับท่านพุทธทาสภิกขุ คือการลอกกระพี้พุทธธรรม แล้วนำแก่นมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน ท่านเป็นผู้ที่สอนว่า "งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข" เพื่อแก้ลำค่านิยม "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" ของสังคม การมีความสุขกับงาน สอดคล้องกับสิ่งที่ท่าน ป. ปยุตโต เรียกว่า "เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ" คือให้หาประโยชน์จากการทำงานโดยตรง แทนที่จะมุ่งทำงานแลกเป็นเงิน แล้วจึงเอาเงินไปแลกความสุข ก็เพราะค่านิยมทำงานแลกเงินนี้มิใช่หรือ ที่ทำให้คนไทยจำนวนมากมองงานว่าเป็นการทนทุกข์ ทำงานแล้วเครียด ต้องหาทาง "พักผ่อน" หรือ "ผ่อนคลาย" กับวงสุรา กับการเที่ยวกลางคืน ซึ่งมีผลกระทบไปถึงวัฒนธรรมการออมที่ย่ำแย่ของคนไทยด้วย ประกอบกับขณะทำงานก็หาทางเลี่ยงงานอยู่เรื่อย ๆ ขาดความจริงจัง

ในขณะที่คำสอนของท่าน สอนให้ใช้การทำงานเป็นการฝึกตน รู้จักใช้อิทธิบาทสี่ทำงานให้มีความสุข สร้างความรู้สึกในคุณค่าของตัวเอง เป็นความสุขที่ยั่งยืนกว่าความสุขที่เลิกตีสอง (แล้วก็มาเริ่มวันใหม่ด้วยความเครียดต่อไป)

นั่นเป็นเพียงบางส่วนของคำสอนของท่านที่ผมได้สัมผัส แม้ผมจะไม่ได้เรียนรู้จากท่านมากนัก เมื่อเทียบกับที่เรียนรู้จากท่านพุทธทาส แต่ก็ถือว่าท่านก็ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน จึงขอร่วมไว้อาลัยแด่การจากไปของท่านด้วย

เราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ แต่เราจริงจังกับพุทธธรรมแค่ไหน? แบบอย่างที่เป็นรูปธรรมนั้น ผมถือว่าเป็นทรัพย์ชั้นยอด

ป้ายกำกับ:

17 ตุลาคม 2550

Thanks

ขอ ขอบคุณ คุณภิญโญ แท้ประสาทสิทธิ์ ที่ได้หย่อนสตางค์ลงหมวก พร้อมทั้งข้อความให้กำลังใจ ถือเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนสำหรับการทำงานซอฟต์แวร์เสรีของผมต่อไป ขอให้เจตนารมณ์ในการสนับสนุนครั้งนี้ กลายเป็นพลังแห่งความมุ่งมั่นในการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ สำหรับคุณนะครับ

ป้ายกำกับ:

14 ตุลาคม 2550

Time to Learn Distributed SCM

เรารู้จัก distributed SCM อย่าง GNU arch, Bazaar, Git, Mercurial และชื่อแปลก ๆ อื่น ๆ กันมาพักใหญ่แล้ว บางโครงการอย่าง xorg ก็ได้เปลี่ยนมาใช้ git นานแล้ว แต่ส่วนมากก็ใช้กันในหมู่ hard-core hacker เท่านั้น ส่วนนักพัฒนาทั่วไป ส่วนใหญ่อย่างมากก็ย้ายจาก CVS มา Subversion เท่านั้น แม้แต่โครงการอย่าง KDE หรือ GNOME ก็ยังย้ายมาถึงแค่ SVN นี้เช่นกัน

แต่ชักจะไม่ใช่แค่นั้นแล้ว ใน mailing list ของ GNOME มีการพูดถึงการใช้ distributed SCM กันมาพักใหญ่แล้ว (สรุปใน หน้า GNOME Live พร้อมการเปรียบเทียบตัวเลือกต่าง ๆ)

Ubuntu นั้น ใช้ bazaar มานานแล้ว ในฐานะผู้ดูแล bazaar เองด้วย จนกระทั่งมีการเสนอรูปแบบ deb source ที่ไม่ใช้ pristine tarball แต่ใช้ bazaar working copy ในการแจกจ่าย source รุ่นต่าง ๆ ในตัว

Debian เอง ก็มีการเสนอรูปแบบ deb source ที่ใช้ Git เช่นกัน โดย Joey Hess ได้ เสนอ ว่าถ้าใช้ .dsc + .git.tar.gz แทนที่จะเป็น .dsc + .orig.tar.gz + .diff.gz ในการเก็บ source ก็จะได้ประโยชน์หลายสถาน ตามที่เคยคิดกันไว้นานแล้วในเดเบียน

ก่อนหน้านั้น Joey Hess ได้ สร้างเครื่องมือ ชื่อ pristine-tar สำหรับสร้าง delta ระหว่าง pristine tarball เพื่อให้ git archive สามารถ checkout pristine tar รุ่นต่าง ๆ ออกมาได้ ทำให้ไม่ต้องเก็บ .orig.tar.gz หลายรุ่นใน mirror โดย delta ที่ได้ มีขนาดเท่าที่จำเป็นจริง ๆ (Martin F. Krafft (madduck) พูดถึงอีกวิธีการหนึ่ง สำหรับการ merge กับ upstream branch ผมเองไม่ค่อยเข้าใจที่เขาคุยกันละเอียดนัก แต่พอจับใจความได้ว่า วิธีของ Joey นั้น มุ่งจะใช้ให้เป็นรูปแบบ deb source รุ่นใหม่เลย ไม่ใช่แค่เป็น trick ส่วนตัวของ maintainer)

ถึงเวลาแล้วสินะ ที่จะลงมือหัด distributed SCM อย่างจริงจัง ดู ๆ แล้ว หัด git จะได้ใช้กับ freedesktop.org หลายโครงการ และอาจจะได้ใช้กับ debian ด้วย แต่ถ้าจะทำงานกับ ubuntu หัด bazaar จะได้ประโยชน์มาก ส่วน GNOME นั้น ความเห็นดูยังคละกันอยู่ และมีแนวโน้มที่เป็นไปได้เหมือนกัน ว่าอาจจะใช้ทั้งคู่ รวมทั้ง Mercurial ด้วย ตามแต่นักพัฒนาจะชอบ -_-!

แต่อย่างไรก็ดี.. ตอนนี้ GNOME ยังคงใช้ Subversion อยู่ครับ อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป

ป้ายกำกับ: , ,

05 ตุลาคม 2550

Thai Script Origin

เพิ่งได้หยิบหนังสือ "อักษรไทยมาจากไหน?" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ซื้อไว้นานแล้วขึ้นมาอ่านระหว่างเดินทาง กลายเป็นข้อมูลใหม่ (สำหรับผม แต่คงไม่ใหม่สำหรับวงการ) เกี่ยวกับกำเนิดอักษรไทย

ข้อมูลทั่วไปที่ทราบต่อ ๆ กันมาคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยใน พ.ศ. ๑๘๒๖ โดยดัดแปลงมาจากอักษรขอมและมอญ จากนั้นจึงวิวัฒน์ต่อมาในสมัยอยุธยา โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาเขมรมาเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นอักขรวิธีในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลนี้ มีความจริงอยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น ถ้าว่าตามหลักฐานที่มีผู้ศึกษาใหม่

คงไม่ต้องพูดถึงความเข้าใจผิดของนักเรียนไทยบางส่วน ว่า "อาณาจักรสุโขทัย" เป็นอาณาจักรแห่งแรกของไทย พอหมดสุโขทัยจึงย้ายมาตั้งเมืองหลวงที่อยุธยาทำนองเดียวกับการย้ายกรุงครั้งหลัง ๆ เรื่องนี้หลายคนคงทราบอยู่ว่า สมัยนั้นยังไม่มีการตั้งอาณาจักร แต่มีรัฐอิสระคือสุโขทัยกับอยุธยาอยู่ร่วมสมัยกัน จนกระทั่งสุโขทัยถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา จึงกลายเป็นอาณาจักรแรกของไทย ที่รวมรัฐต่าง ๆ เข้าด้วยกัน คืออาณาจักรอยุธยา มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา

แต่เรื่องมันซับซ้อนกว่านั้น เริ่มจากคำว่า "ขอม" ตามความเห็นของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้หมายถึงชนชาติหรือเชื้อชาติ แต่หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน (ต่างกับชนชาติไทย-ลาวที่นับถือผีก่อนเปลี่ยนมารับพุทธเถรวาทจากชมพูทวีป) ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงชนชาติเขมรและรัฐเครือญาติทั้งหมด รวมทั้งละโว้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นอโยธยาศรีรามเทพนครด้วย คำว่า "ขอม" ถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่า "แขก" เรียกคนอิสลาม/ซิกข์/ฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลาง

ส่วนกลุ่มคนที่เรียกว่า "ไท" หรือ "ไทย" รวมทั้ง "ลาว" นั้น เดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีการอพยพโยกย้ายเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง จนเข้าครอบครองละโว้ในที่สุด พร้อมกับมีรัฐอื่น ๆ ของคนไทยเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน คือสุพรรณภูมิ สุโขทัย และนครศรีธรรมราช (จะเห็นว่า เมื่อรวมกันเป็นอาณาจักรแล้ว จึงมีการผลัดเปลี่ยนขั้วอำนาจไปมาระหว่างราชวงศ์เหล่านี้ รวมทั้งราชวงศ์อู่ทองของละโว้เองด้วย) ต่อมา ละโว้เกิดกาฬโรคระบาด พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายจากลพบุรีมาตั้งกรุงศรีอยุธยาที่บริเวณเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ตรงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนทางฝั่งตะวันตกนั้น ยังเป็นเขตของรัฐสุพรรณภูมิ ดังนั้น ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น จึงไม่ใช่จุดเริ่มต้นของคนไทยในรัฐละโว้ แต่มีหลักแหล่งในละโว้อยู่ก่อนหน้านั้นนานแล้ว

ช่วงก่อนจะตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น คนไทยในละโว้ได้รับเอาอักษรขอมมาเขียนภาษาไทย แล้วต่อมาก็มีการดัดแปลงเพิ่มเติม เพื่อให้เขียนภาษาไทยได้ครบเสียงยิ่งขึ้น จนกลายเป็นอักษรไทยในที่สุด โดยพบหลักฐานเป็นจารึกสมุดข่อยที่ระบุเวลาที่เขียนก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาร่วมร้อยกว่าปี และก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงจะจารึกลายสือไทยในศิลาจารึกด้วย คือกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) คำนวณปีที่จารึกได้เป็น พ.ศ. ๑๗๗๘ ซึ่งก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาถึงร้อยกว่าปี และก่อนศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ ถึงห้าสิบปี และมีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือโองการแช่งน้ำ ซึ่งไม่ทราบปีที่แต่งแน่นอน ทราบแต่ว่ามีใช้แล้วในขณะตั้งกรุงศรีอยุธยา ผ่านการคัดลอกต่อ ๆ กันมาหลายทอด และธรรมเนียมแช่งน้ำนี้ สันนิษฐานว่าได้รับแบบอย่างมาจากเขมรที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่พระนคร (นครธม)

ที่ต้องอึ้งก็คือ ภาพสมุดข่อยที่หนังสือเอามาลงเป็นภาพประกอบนั้น แสดงลักษณะการเขียนเหมือนกับอักขรวิธีภาษาไทยในสมัยนี้แทบไม่มีผิดเพี้ยน จะมีแตกต่างก็แค่รายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ส่วนลักษณะของภาษาที่ใช้นั้น เป็นภาษาแบบเดียวกับไทย-ลาวลุ่มน้ำโขงแล้ว แทนที่จะใช้ภาษาบาลี-สันสกฤต-เขมรเป็นหลักตามธรรมเนียมในคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้

ถ้ากะประมาณว่า สมุดข่อยนั้นอยู่ไม่ทนเหมือนศิลาจารึก จึงหลงเหลือมาเป็นหลักฐานน้อย และอักขรวิธีที่อยู่ตัวแล้วในตอนนั้น แสดงว่าอักษรต้องผ่านการวิวัฒน์ก่อนหน้านั้นอีกเป็นเวลานานมาแล้ว!

แล้วลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงล่ะ? ก็น่าจะยังนับเป็นประดิษฐกรรมใหม่อยู่ครับ โดยมีบันทึกว่า พระร่วงเจ้าแห่งสุโขทัยได้มาเรียนวิชาจากครูที่ละโว้ แล้วคงได้ทรงศึกษาอักษรไทยไปจากละโว้ด้วย จึงทรงนำกลับไปปรับปรุงวิธีเขียนเสียใหม่ กลายเป็นลายสือไทย โดยได้แบบอย่างมาจาก "ขอม" (ซึ่งเป็นคนไทย) ที่ละโว้ และผสมลักษณะบางอย่างของอักษรมอญเข้าไปด้วย แล้วเพิ่มแนวคิดใหม่ของการเขียนทุกอย่างในบรรทัดเดียวยกเว้นวรรณยุกต์ กลายเป็นอักษรแรกของรัฐที่เรียกว่า "ไทย" อย่างเต็มตัว จากนั้น ลายสือไทยก็ได้แพร่หลายเข้าไปในล้านนา ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนกลายเป็นอักษรฝักขาม และแพร่เข้าไปที่ล้านช้าง กลายเป็นอักษรไทน้อย

เพียงแต่ว่า ในอาณาจักรอยุธยานั้น ลายสือไทยของพ่อขุนรามคงไม่ฮิต ก็เลยถูกเลิกใช้ไป แล้วก็ใช้อักษรไทยอยุธยากันต่อไป (นึกถึงความพยายามหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้าง "อักขรวิธีแบบใหม่" ขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่ฮิตเหมือนกัน)

ถ้าว่าตามหลักฐานเหล่านี้ อักษรไทยก็มีอายุมากกว่า ๗๗๐ ปีขึ้นไป (ไม่ใช่ ๗๒๔ ปีตามหลักฐานเดิม) แต่ยังไม่มีหลักฐานที่เก่าพอจะสืบต่อไปได้ ว่าเริ่มมีเมื่อไร

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่เอาไว้ท่องจำนะเออ ซิบอกให้

ป้ายกำกับ:

hacker emblem