AOSSS 7
เพิ่งกลับจาก Asia Open Source Software Symposium ครั้งที่ 7 (AOSSS7) ที่กัวลาลัมเปอร์มา อันที่จริง ก็เป็นผลพวงจากการเข้าร่วม Localisation Workshop ที่พนมเปญเมื่อราว 4 เดือนก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งใน AOSSS เลยมาร่วมรายงานผลในการประชุมใหญ่ครั้งนี้
ถึงเขาจะมีมาหลายครั้งแล้วก็ตาม นี่เพิ่งเป็นครั้งแรกของผม เลยกลายเป็นหน้าใหม่สำหรับเขาไปเลย เหอะๆ บรรยากาศทั่วไปรู้สึกว่าคนเยอะจนพูดอะไรไม่ถนัด บวกกับเป็นครั้งแรกด้วย เลยเน้นสังเกตการณ์มากกว่า
งานนี้ มีคนเด่นคนดังมาหลายคน เช่น Yukihiro Matsumoto (Matz) ผู้พัฒนาภาษา Ruby, นายกเทศมนตรี Extremadura จากสเปน ที่ใช้ GNOME ในหน่วยงานราชการ, รวมทั้ง Debian hacker จากญี่ปุ่นและเกาหลี ที่มานำ CodeFest (ผมไม่ได้เข้า เพราะติดประชุมที่เนคเทคอยู่)
ส่วนธีมของการประชุมครั้งนี้ ก็คือการสร้าง "OSS ecosystem" ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ที่เพิ่งเคยได้ยิน และคงจะได้ยินบ่อยขึ้นต่อจากนี้ ecosystem เป็นพัฒนาการขั้นต่อมาจาก community ซึ่งจะมีความจริงจังมากขึ้น
- community มีแต่อาสาสมัครมารวมตัวกัน; ecosystem มีผู้เข้าร่วมหลายฝ่าย ทั้งจากอาสาสมัคร ธุรกิจ ภาครัฐ ภาคการศึกษา (ซึ่งจะเชื่อมโยงกันผ่านห่วงโซ่ของการบริโภค)
- community อาจจะเน้นการสร้างและใช้ (create & use) ซอฟต์แวร์ แต่ ecosystem จะเน้น deployment คือการใช้งานจริงในไซต์งาน
สิ่งที่สังเกตในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของประเทศเจ้าภาพ คือมาเลเซีย ซึ่งปรากฏว่าก้าวหน้าไปมาก ในเรื่องการผลักดัน FOSS ในประเทศ
- ผู้นำด้าน ICT ในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
- มีการเขียน OSS Master Plan เป็นนโยบายระดับชาติ ตั้งแต่ปี 2004
- มีการตั้ง OSCC (Open Source Competency Center) เพื่อเป็น call center, ฝึกอบรม ผลักดันการใช้ FOSS ในหน่วยงานต่างๆ และทำงาน R&D ที่จำเป็น
- มีชุมชนผู้ใช้ คล้ายๆ TLWG/TLUG ที่คึกคัก มีการพบปะกันเดือนละครั้ง
- ใช้ Debian กันคึกคักมาก เพราะจะเน้นความเป็นกลางให้มากที่สุด
ในส่วนของกลุ่ม localization ปรากฏว่าประชุมกันรีบด่วนมาก เพราะเวลาจำกัด ก็พอมีประเด็นคร่าวๆ ว่า
- ประเทศต่างๆ ล้วนพัฒนา FOSS ภาษาของตนมาได้ถึงขั้นหนึ่งแล้ว เราได้ก้าวข้ามการสร้างความตระหนักมาเรียบร้อยแล้ว
- ประเด็นทางเทคนิคที่ควรถกกันในภูมิภาคนี้ คือเรื่องการตัดคำ/ตัดบรรทัด ซึ่งจะจำเป็นสำหรับภาษา ไทย ลาว เขมร พม่า ทิเบต เนปาล
- เรื่องการพิมพ์ พบความแตกต่างระหว่างวิธีที่ใช้ทั่วไปในญี่ปุ่นกับในประเทศอื่น คือในญี่ปุ่น เครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่ embed font ไว้ ไฟล์ PDF หรือ Postscript ทั้งหลายโดยปกติจึงไม่ embed font ในเอกสาร ซึ่งต่างกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมในกลุ่ม (แต่ไม่มีข้อมูลของจีน เกาหลี)
- การบ้าน:
- ทำอย่างไรจะมีส่วนร่วมกับ upstream และองค์กรกำหนดมาตรฐานมากขึ้น
- จะทำอย่างไรกับโปรโมทการใช้ และการกระจายงาน L10N ที่ทำสู่ผู้ใช้
- โมเดลธุรกิจสำหรับสนับสนุนการทำงาน L10N ควรเป็นอย่างไร (เพราะ L10N เป็นงานที่ไม่มีรายได้ แต่ต้องใช้แรงงานมากอย่างถาวร โดยเฉพาะงานแปล)
มีประเด็นเล็กๆ ที่ตะขิดตะขวงอยู่อย่างเดียว คือเมื่อมีการรายงานของกลุ่มย่อย L10N ในที่ประชุมใหญ่ ว่า FOSS ในภูมิภาคนี้ได้ก้าวข้ามมาสู่ยุคใหม่แล้ว ที่ประชุมใหญ่ก็ทึกทักเอาว่าเป็นผลมาจาก AOSSS ทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา แต่เอ.. มีแฮกเกอร์ไทยสักกี่คนที่รู้หรือได้อานิสงส์จาก AOSSS ทั้ง 6 ครั้งนั้นบ้าง? อย่างน้อยๆ สำหรับตัวผม นี่เพิ่งเป็นครั้งแรกที่เข้าประชุมแฮะ หรือว่ามีงานของคนไทยอื่นๆ เกิดจาก AOSSS โดยที่ผมอาจจะไม่รู้?
ยอมรับว่าเกิดขัดแย้งในใจนิดหน่อย ว่าการประชุมแบบนี้ มันจำเป็นแค่ไหน กับการ make progress เทียบกับการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต หุๆ เอาน่ะ.. อย่างน้อยก็ได้ติดตามความเป็นไปของชาติอื่น แล้วก็ได้รู้จักแฮ็กเกอร์ชาติอื่นเพิ่มขึ้น
ระหว่างประชุม ตอนกลางคืนหรือระหว่างพักรอ ก็แปล GNOME 2.14 release notes ไปด้วย ไม่ได้เที่ยวหรือช็อปอะไรกับเขาหรอก เหอๆ
อาทิตย์หน้ามีอีกงานหนึ่งต้องไป เตรียมเดินทางต่อ :-P
3 ความเห็น:
ณ 10 มีนาคม 2549 เวลา 11:10 , Isriya แถลง…
คิดว่าในเมืองไทย ถ้าเกี่ยวกับ AOSSS ทั้งหมดน่าจะเป็นฝั่งเนคเทค เพราะตอนผมไปศรีลังกานั่นก็ผ่านเนคเทค
ส่วนเรื่อง GNOME ส่งมาให้ช่วยแปลได้ :D
ณ 10 มีนาคม 2549 เวลา 14:41 , bact' แถลง…
ถ้าเป็นสายญี่ปุ่น ก็คงจะมาทางนั้นล่ะครับ
แหม น่าจะเอาสายสะพานไปคล้องพี่เทพด้วย .. ตัวแทนประเทศไทย :P
ณ 11 มีนาคม 2549 เวลา 09:38 , Thep แถลง…
mk, ขอบคุณครับ ที่เสนอช่วย ตอนนี้ผม commit งานแปลเข้าไปแล้ว ดูได้ที่ เว็บของ GNOME นะครับ ฝากตรวจคำแปลด้วย (ตรง "ตอนนี้เรียกว่า.." อะไรนั่น เป็น bug ใน stylesheet อย่าเพิ่งโวยนะครับ กำลัง report bug อยู่) ตอนนี้ งานที่เหลือสำหรับผม จะหนักไปทางจับ screenshot มากกว่า :-P
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก