Theppitak's blog

My personal blog.

28 มีนาคม 2549

เลือกตั้งสี่เก้า

อีกห้าวันจะถึงวันกำหนดเลือกตั้ง และวันนี้คงเป็นโอกาสสุดท้ายของผมที่จะได้เขียน blog เรื่องนี้ ก่อนวันเลือกตั้ง ขอเขียนอะไรหน่อยน่ะ

เลือกตั้งครั้งนี้ มีนัยที่ไม่เหมือนเลือกตั้งปกติ รักษาการนายกฯ มองว่า เป็นการคืนอำนาจตัดสินให้ประชาชน ในขณะที่ฝ่ายค้าน มองว่าเป็นการฟอกตัวของรักษาการนายกฯ เพื่อกลับมาอย่างไร้มลทิน

ผมกลับรู้สึกว่า มันคนละเรื่องกันเลย ประชาชนมีอำนาจอะไรในการตัดสินคดีความต่างๆ ของรักษาการนายกฯ แทนที่จะใช้อำนาจศาลหรือการซักฟอกในรัฐสภา รักษาการนายกฯ จะให้ประชาชนตัดสินงั้นหรือ? ประชาชนมีหน้าที่เลือกผู้แทนไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ ตรวจสอบรัฐบาล ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินคดีความ ดังนั้น ที่บอกว่าให้ยอมรับผลการเลือกตั้ง ก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกันยังไง เราคงยอมรับการเลือกตั้งได้ ถ้าไม่เอาไปเกี่ยวโยงกับข้อกล่าวหาต่างๆ มิฉะนั้น ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร นอกจากการใช้ "กฎหมู่ประชาธิปไตย" ในการตัดสินปัญหา

เลือกตั้งครั้งนี้ เลือกกันไปเถอะ แต่อย่าเอามาเป็นคำพิพากษารัฐบาลเก่าเลย แม้ผลเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร กระบวนการตรวจสอบก็ต้องเป็นไปอย่างเดิม ทั้งเรื่องที่จะขึ้นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่ ปปช. จะดำเนินการ การรวบรวมรายชื่อประชาชนของ มธ. ก็ต้องไม่สูญเปล่า

และเห็นว่า ควรแยกการคัดค้านหรือสนับสนุนรัฐบาลกับการเลือกตั้งออกจากกัน คนคัดค้านรัฐบาล ก็ออกเสียงไม่สนับสนุนผู้สมัครได้ ให้เห็นเป็นประวัติการณ์ไปเลย ว่าเลือกตั้งครั้งนี้ มีคนไม่พอใจรัฐบาลแค่ไหน ถึงรัฐบาลเก่าจะกลับมาได้อีก และดิ้นรนจนเปิดสภาพรรคเดียวได้ แต่นั่นก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกระบวนการตรวจสอบเลย คุณจะอ้างผลการเลือกตั้งเหมือนอ้าง 19 ล้านเสียง ว่าทำให้คุณพ้นผิด เท่ากับคุณใช้กฎหมู่แล้วละ หรือถ้าอีกฝ่ายจะอ้างเสียงไม่สนับสนุนที่มีท่วมท้น แปลว่ารัฐบาลเก่าผิด ก็ไม่ต่างอะไรกัน

การตรวจสอบต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไรก็ตาม!

และไม่เห็นด้วย กับการเร่งรัดของกลุ่มพันธมิตรฯ จนถึงขั้นถวายฎีกา ประชาธิปไตยควรมีทางออกของมันเอง ถ้าประเทศชาติจะเสียหายเพราะนโยบายรัฐบาล ก็ปล่อยให้เรื่องมันแดงขึ้นมาเลย สังคมไทยต้องป่วย จึงจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรค "19 ล้านเสียง" อย่างถาวร มิฉะนั้น ก็จะมีข้ออ้าง ว่ามันพังเพราะ "พวกป่วนเมือง" อยู่นั่นแหละ

27 มีนาคม 2549

Debian Orphaned Packages

การสนับสนุนภาษาไทยใน Debian เคยเป็นเบอร์หนึ่งในบรรดา distro สากลทั่วไป คือสามารถใช้ภาษาไทยได้จากแหล่ง โดยไม่ต้องใช้แพกเกจจากแหล่งอื่นเพิ่ม หรือใช้ local distro เนื่องจากมีนักพัฒนาไทยเข้าร่วมด้วย คือคุณทิม แต่ระยะหลังได้ข่าวว่าแกยุ่งกับวิทยานิพนธ์อยู่ แพกเกจต่างๆ สำหรับภาษาไทยเลยขาดการปรับรุ่นมานาน จนกระทั่งพบใน Debian Weekly News ว่าคุณทิมได้ orphan แพกเกจภาษาไทยเสียแล้ว (ดูตรงหัวข้อ Orphaned Packages)

รายชื่อแพกเกจที่ orphan ทั้งหมด ยังคงอยู่ที่หน้า Packages in need of a new maintainer อยู่ ซึ่งหากไม่มีใครรับอุปการะ (adopt) ต่อ ก็จะถูกตัดออกจาก Debian

จากที่เคยคิดว่าจะติดตามผลักดัน libthai จากที่เคยทำกับ Ubuntu ให้เข้า Debian ก็กลายเป็นว่า มีแพกเกจภาษาไทยอื่นๆ ที่ต้องติดตามด้วย

แพกเกจภาษาไทยทั้งหมดที่ต้องการผู้ดูแลก็คือ

ในบรรดานี้ ที่ไล่ adopt ไปในอาทิตย์นี้ก็คือ xfonts-thai-ttf, thailatex, swath ยังเหลืออีกเพียบ!

ส่วนแพกเกจใหม่ที่เสนอ ITP (Intend To Package) ไป ก็คือ

แต่ทั้งหมด ได้แต่เตรียมแพกเกจไว้ ยังต้องหาคนช่วย sponsor upload ให้อยู่ โดยในระหว่างนี้ บางแพกเกจต้องออกรุ่นใหม่ เพื่อปรับปรุงระบบ build เช่น thailatex 0.3.7

ดูปริมาณงานแล้ว จะมีเวลาว่างพอทำเหรอเนี่ย -_-! มาตรฐาน Debian ก็รู้ๆ กันอยู่ ว่าหินขนาดไหน

21 มีนาคม 2549

Ubuntu Localisation Sprint

ถึงบ้านซะที ไปซะนานเลยคราวนี้ ต่อจาก AOSS ที่กัวลาลัมเปอร์ ก็ไปต่อที่ Ubuntu Localisation Sprint ที่ลอนดอน ซึ่งเป็นผลมาจากการ เยือนเมืองไทย ของ Mark Shuttleworth โดยได้คุยกับคุณ James Clark แห่ง SIPA ไว้ ว่าจะให้นักพัฒนาไทยไปร่วมทำ Dapper ให้สนับสนุนภาษาไทยตั้งแต่แกะกล่อง และผมก็คือคนไทยคนนั้น

ในงานนี้ นอกจาก Mark Shuttleworth เอง ที่มานั่งร่วมทำงานด้วยหนึ่งวัน ก็มี Matt Zimmerman, Michael Vogt (mvo), Jordi Mallach (jordi), Dafydd Harries (daf) จาก Ubuntu และ Abel Cheung จากฮ่องกง นั่งทำงานกันในห้อง โดยติดต่อกับคนอื่นๆ ใน Ubuntu ผ่าน IRC

หัวข้อหลักของ CJK เขาก็คือเรื่อง fontconfig เนื่องจากแต่ละภาษาต้องการใช้ฟอนต์ของตน แม้ว่าจะใช้อักขระ Unicode ร่วมกันก็ตาม ส่วนหัวข้อหลักของไทยเรา ก็คือการผลักดัน libthai เข้าใน Ubuntu และ Debian รวมทั้ง หัวข้ออื่นๆ ที่ทยอยทำในวันต่อๆ มา ซึ่งส่งผลให้มีการออกซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่ LTN อยู่ 4 รายการ คือ libthai 0.1.5, pango-libthai 0.1.5, gtk-im-libthai 0.1.3 และ thaifonts-scalable 0.4.4 แล้วก็ patch package ต่างๆ ใน Dapper อีกจำนวนหนึ่ง เช่น firefox (ตัดคำไทยด้วย libthai), localechooser (เพิ่มโลแคลไทย) และเสนอ patch ใน console-tools, console-data (เพิ่มฟอนต์/ผังแป้นพิมพ์ไทย), openoffice.org (ปิด autohint) อยู่ระหว่างการพิจารณา รายละเอียดอ่านได้ใน หน้าสรุป

นอกจากนี้ ยังได้เสนอการสนับสนุนภาษาลาวในวันสุดท้ายด้วย ซึ่งก็ปรากฏว่าได้ฟอนต์ลาวเข้าใน Debian และ Ubuntu ภายในวันนั้นเลย จากการทำงานของโครงการ Laonux

นับเป็นงาน FOSS ที่รู้สึกคุ้มที่สุดเท่าที่เคยร่วมมา นอกจากปริมาณงานที่ได้แล้ว ยังได้พบ Debian Developer ทั้งตัวเป็นๆ และใน IRC ได้ประสานงานกับ package maintainer จำนวนมากทีเดียว เมื่อเทียบกับเวลาแค่ห้าวันที่ใช้ ทำให้งานเดินได้เร็วกว่าการเจียดเวลาว่างมาทำงานอย่างกระท่อนกระแท่น อาทิตย์ละนิดละหน่อย ผ่าน bugzilla และอีเมลมาก ต้องขอขอบคุณ Ubuntu และ SIPA ที่ให้โอกาสนี้กับผม

ถ้าจะเสียดาย ก็คงเป็นเรื่องความง่วงเหงาหาวนอนจาก jet lag ที่ปรับตัวไม่ค่อยได้ ทำให้ตกเย็นเป็นต้องตาปรือ จนถึงกับฟุบไปใน 2-3 วันแรก (ก็มันเลยเที่ยงคืนแล้วตามเวลาบ้านเรานิ) แต่ช่วงท้ายชักปรับตัวได้ละ

เลยถือโอกาสหารือกับเขาเรื่องการ patch Debian ไว้ด้วย นอกเหนือจาก Ubuntu ก็เป็นงานที่ต้องติดตามต่อไป

11 มีนาคม 2549

GNOME 2.14 Release Notes

นั่งแปลวันละนิดละหน่อย ที่ห้องพักในโรงแรมมั่ง ในห้องประชุมช่วงเบรคมั่ง ที่สนามบินมั่ง ฯลฯ เสร็จจนได้แฮะ นับเป็น release notes ฉบับพเนจรอย่างแท้จริง commit เข้าไปแล้ว ซึ่งตรวจดูฉบับร่างนี้ได้ที่ เว็บของ GNOME ฝากตรวจคำแปลกันด้วยนะครับ

ในหน้าแรก จะมีคำแปลแปลกๆ หน่อย ตรง "ตอนนี้เรียกว่า..." ตรงนี้เป็น known bug นะครับ คงมี stylesheet ตรงไหนฝรั่งทำให้ กำลัง report bug อยู่ (กล่าวคือ อย่าเพิ่งโวยเด้อ) ส่วนเนื้อหา ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขายังมีการปรับแก้อยู่เรื่อยๆ ก็คงตามแปลไปจนกว่า GNOME 2.14 จะออก (15 มีนา) ในระหว่างนี้ งานที่เหลือก็คือจับ screenshot ภาษาไทยมาแปะ ซึ่งหมายถึงต้องไล่คอมไพล์โปรแกรมที่เคย build ไม่ผ่านให้ผ่านทั้งหมด จะได้จับรูปหล่อๆ สวยๆ มาลง พร้อมกันนี้ ก็แต่งองค์ทรงเครื่อง ด้วยการแก้คำแปลผิดๆ ที่พบ ก่อนจะถ่ายรูปลงข่าว เหอะๆ

/me เตรียมเดินทางอีกครั้ง งานนี้ screenshot ก็พเนจร

10 มีนาคม 2549

AOSSS 7

เพิ่งกลับจาก Asia Open Source Software Symposium ครั้งที่ 7 (AOSSS7) ที่กัวลาลัมเปอร์มา อันที่จริง ก็เป็นผลพวงจากการเข้าร่วม Localisation Workshop ที่พนมเปญเมื่อราว 4 เดือนก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งใน AOSSS เลยมาร่วมรายงานผลในการประชุมใหญ่ครั้งนี้

ถึงเขาจะมีมาหลายครั้งแล้วก็ตาม นี่เพิ่งเป็นครั้งแรกของผม เลยกลายเป็นหน้าใหม่สำหรับเขาไปเลย เหอะๆ บรรยากาศทั่วไปรู้สึกว่าคนเยอะจนพูดอะไรไม่ถนัด บวกกับเป็นครั้งแรกด้วย เลยเน้นสังเกตการณ์มากกว่า

งานนี้ มีคนเด่นคนดังมาหลายคน เช่น Yukihiro Matsumoto (Matz) ผู้พัฒนาภาษา Ruby, นายกเทศมนตรี Extremadura จากสเปน ที่ใช้ GNOME ในหน่วยงานราชการ, รวมทั้ง Debian hacker จากญี่ปุ่นและเกาหลี ที่มานำ CodeFest (ผมไม่ได้เข้า เพราะติดประชุมที่เนคเทคอยู่)

ส่วนธีมของการประชุมครั้งนี้ ก็คือการสร้าง "OSS ecosystem" ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ที่เพิ่งเคยได้ยิน และคงจะได้ยินบ่อยขึ้นต่อจากนี้ ecosystem เป็นพัฒนาการขั้นต่อมาจาก community ซึ่งจะมีความจริงจังมากขึ้น

  • community มีแต่อาสาสมัครมารวมตัวกัน; ecosystem มีผู้เข้าร่วมหลายฝ่าย ทั้งจากอาสาสมัคร ธุรกิจ ภาครัฐ ภาคการศึกษา (ซึ่งจะเชื่อมโยงกันผ่านห่วงโซ่ของการบริโภค)
  • community อาจจะเน้นการสร้างและใช้ (create & use) ซอฟต์แวร์ แต่ ecosystem จะเน้น deployment คือการใช้งานจริงในไซต์งาน

สิ่งที่สังเกตในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของประเทศเจ้าภาพ คือมาเลเซีย ซึ่งปรากฏว่าก้าวหน้าไปมาก ในเรื่องการผลักดัน FOSS ในประเทศ

  • ผู้นำด้าน ICT ในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
  • มีการเขียน OSS Master Plan เป็นนโยบายระดับชาติ ตั้งแต่ปี 2004
  • มีการตั้ง OSCC (Open Source Competency Center) เพื่อเป็น call center, ฝึกอบรม ผลักดันการใช้ FOSS ในหน่วยงานต่างๆ และทำงาน R&D ที่จำเป็น
  • มีชุมชนผู้ใช้ คล้ายๆ TLWG/TLUG ที่คึกคัก มีการพบปะกันเดือนละครั้ง
  • ใช้ Debian กันคึกคักมาก เพราะจะเน้นความเป็นกลางให้มากที่สุด

ในส่วนของกลุ่ม localization ปรากฏว่าประชุมกันรีบด่วนมาก เพราะเวลาจำกัด ก็พอมีประเด็นคร่าวๆ ว่า

  • ประเทศต่างๆ ล้วนพัฒนา FOSS ภาษาของตนมาได้ถึงขั้นหนึ่งแล้ว เราได้ก้าวข้ามการสร้างความตระหนักมาเรียบร้อยแล้ว
  • ประเด็นทางเทคนิคที่ควรถกกันในภูมิภาคนี้ คือเรื่องการตัดคำ/ตัดบรรทัด ซึ่งจะจำเป็นสำหรับภาษา ไทย ลาว เขมร พม่า ทิเบต เนปาล
  • เรื่องการพิมพ์ พบความแตกต่างระหว่างวิธีที่ใช้ทั่วไปในญี่ปุ่นกับในประเทศอื่น คือในญี่ปุ่น เครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่ embed font ไว้ ไฟล์ PDF หรือ Postscript ทั้งหลายโดยปกติจึงไม่ embed font ในเอกสาร ซึ่งต่างกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมในกลุ่ม (แต่ไม่มีข้อมูลของจีน เกาหลี)
  • การบ้าน:
    • ทำอย่างไรจะมีส่วนร่วมกับ upstream และองค์กรกำหนดมาตรฐานมากขึ้น
    • จะทำอย่างไรกับโปรโมทการใช้ และการกระจายงาน L10N ที่ทำสู่ผู้ใช้
    • โมเดลธุรกิจสำหรับสนับสนุนการทำงาน L10N ควรเป็นอย่างไร (เพราะ L10N เป็นงานที่ไม่มีรายได้ แต่ต้องใช้แรงงานมากอย่างถาวร โดยเฉพาะงานแปล)

มีประเด็นเล็กๆ ที่ตะขิดตะขวงอยู่อย่างเดียว คือเมื่อมีการรายงานของกลุ่มย่อย L10N ในที่ประชุมใหญ่ ว่า FOSS ในภูมิภาคนี้ได้ก้าวข้ามมาสู่ยุคใหม่แล้ว ที่ประชุมใหญ่ก็ทึกทักเอาว่าเป็นผลมาจาก AOSSS ทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา แต่เอ.. มีแฮกเกอร์ไทยสักกี่คนที่รู้หรือได้อานิสงส์จาก AOSSS ทั้ง 6 ครั้งนั้นบ้าง? อย่างน้อยๆ สำหรับตัวผม นี่เพิ่งเป็นครั้งแรกที่เข้าประชุมแฮะ หรือว่ามีงานของคนไทยอื่นๆ เกิดจาก AOSSS โดยที่ผมอาจจะไม่รู้?

ยอมรับว่าเกิดขัดแย้งในใจนิดหน่อย ว่าการประชุมแบบนี้ มันจำเป็นแค่ไหน กับการ make progress เทียบกับการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต หุๆ เอาน่ะ.. อย่างน้อยก็ได้ติดตามความเป็นไปของชาติอื่น แล้วก็ได้รู้จักแฮ็กเกอร์ชาติอื่นเพิ่มขึ้น

ระหว่างประชุม ตอนกลางคืนหรือระหว่างพักรอ ก็แปล GNOME 2.14 release notes ไปด้วย ไม่ได้เที่ยวหรือช็อปอะไรกับเขาหรอก เหอๆ

อาทิตย์หน้ามีอีกงานหนึ่งต้องไป เตรียมเดินทางต่อ :-P

04 มีนาคม 2549

Democratic Dictator?

ระหว่างพักรอเดินทาง ขอคิดอะไรที่ไม่ใช่เรื่องคอมพิวเตอร์มั่งน่ะ ซึ่งคงเป็นเรื่องอื่นไม่ได้ในช่วงนี้ นอกจากเรื่องการเมืองในประเทศ

ชอบทักษิณ? เกลียดทักษิณ? นายกทรราชย์? เผด็จการรัฐสภา? นายกโดนรังแก?

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากความเสียสมดุลทางการเมืองต่างหาก เลือกตั้งครั้งที่แล้ว คนไทยทั้งประเทศช่วยกันสร้างปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ขึ้นมา ด้วยการสร้างรัฐบาลที่ super stable ถึงขนาดไม่สามารถตรวจสอบด้วยวิถีทางของรัฐสภาได้ แล้วรัฐบาลก็คิดเองทำเองทุกอย่างได้ตามใจชอบ แต่ระบบก็มีทางออกของมัน ในอันที่จะรักษาสมดุลไว้ ความเคลื่อนไหวนอกสภาจึงเกิดขึ้น เป็นทางออกสำหรับการตรวจสอบ

เรียกได้ว่า ครั้งที่แล้ว เป็นการจู่โจมของเผด็จการทุนนิยม ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน จนปล่อยให้เกิดเงื่อนไขที่นำมาสู่การปะทะในวันนี้

เลือกตั้ง 2 เมษา ที่จะถึงนี้ ไม่รู้จะเป็นอย่างไร หรือจะมีหรือไม่ เพราะเท่าที่ผ่านมา การหักมุมแบบปุบปับ เกิดขึ้นได้ตลอดในรัฐบาลชุดนี้ พรุ่งนี้นายกอาจประกาศลาออกก็ได้ ใครจะไปรู้ อีกทั้งการไร้คู่แข่ง ก็คงนำไปสู่ปัญหาที่เกิดจากความวิปริตผิดเพี้ยนต่างๆ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้รองรับการมี "สภาพรรคเดียว" (คราวนี้ไม่ใช่แค่ "รัฐบาลพรรคเดียว") ผมได้แต่คิดถึงการเลือกตั้งครั้งถัดไป ว่าคนไทยคงได้รับบทเรียน ที่จะถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง สกัดกั้นเผด็จการรัฐสภา ไม่เทคะแนนแบบถล่มทลายจนเสียสมดุลเหมือนครั้งที่แล้วอีก และได้แต่หวังว่า คนที่ซื้อสิทธิ์-ขายเสียงบางส่วน คงจะตาสว่างขึ้นบ้าง ว่าการกาแบบไม่ยั้งคิดนั้น มันส่งผลเสียต่อประเทศชาติอย่างไร

และตระหนักว่า ประชาชนอย่างเรานี่แหละ ที่ร่วมกันสร้างเผด็จการ และเงื่อนไขต่อต้านเผด็จการขึ้นมากับมือ!

นี่คงเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ที่อาจเกิดจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ นอกเหนือไปจากการปฏิรูปทางการเมืองครั้งที่สอง การอุดรูรั่วของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เกิดขั้วอำนาจที่ขาดสมดุลแบบนี้ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนที่มากขึ้น

ปล. ใครยังจำได้อยู่มั่ง ว่ามีการเลือกตั้ง สว. ในช่วงเดียวกันอีกด้วย?

hacker emblem