Theppitak's blog

My personal blog.

16 กุมภาพันธ์ 2548

นิทานปลาโลมา

จากการตอบ bact's blog ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงช่วงที่ทำงานกับ Linux-TLE และด้วยความที่รู้ตัวว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ในมุมที่อาจจะไม่มีใครมาเห็นด้วยอยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้ประวัติของลินุกซ์ทะเลอาจไม่สมบูรณ์ เพราะจากหน้าของ LTN และของ Open-TLE จะมีข้อมูลบางช่วงขาดหายไป วันนี้อ๊อทมาเตือนให้เขียน จึงรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่ควรต้องเขียน โดยจะเริ่มจากช่วงที่หน้า LTN อ้างต่อไปที่ OpenTLE จนกระทั่งเกิดเว็บ OpenTLE (ขอทดลง blog ไว้ก่อน แล้วค่อยหาจุดที่จะแทรกในเว็บสักแห่งอีกทีนะครับอ๊อท)

ก่อนอื่น ขอเรียงลำดับเหตุการณ์ก่อน เรื่องราวในหน้าของ OpenTLE นั้น เป็นช่วงแรกของการเกิด MaTEL ในมุมมองของ ดร. วิรัช ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักในระดับบริหาร ทั้งที่ญี่ปุ่นและที่เมืองไทย จนโครงการ Linux distribution สำหรับเดสก์ทอปเกิดขึ้นได้ โดยเกิด MaTEL ที่รวบรวมโดยคุณภัทระ เกียรติเสวี (อ๊อท) นำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมโอเพนซอร์ส/ลินุกซ์ครั้งที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนของเนคเทค, ETL และ CICC

ในระดับการดำเนินการ ก็เป็นไปตามที่เล่าในหน้าของ LTN คือคุณอ๊อทเป็นผู้รวบรวม โดยได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลใน TLWG โดยเฉพาะ Thai Extension ที่รวบรวมโดยคุณพูลลาภ วีระธนาบุตร และฟอนต์จากคุณไพศาล เตชะจารุวงศ์ จากโครงการ ZzzThai ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดต่อจาก Thai Project ของคุณวุฒิชัย อัมพรอร่ามเวทย์ อีกทีหนึ่ง (และถ้าจะเท้าความไปตั้งแต่เริ่ม ก็คงต้องไปจนถึงงานของ อ. มานพ วงศ์สายสุวรรณ เจ้าของ ttex และฟอนต์มานพโน่นเลย) กล่าวคือ MaTEL เป็นการรวบรวมงานของคนไทยจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากงานของกลุ่มนักเรียนไทยในญี่ปุ่น จากโครงการของเนคเทค จากการทำงานของนักวิจัยที่เกิดขึ้นที่ ETL ประเทศญี่ปุ่น (ตามที่เล่าในหน้า OpenTLE) และจากงานของนักพัฒนาในประเทศบางส่วนที่มารวมตัวกันในโครงการ linux-sis (เช่น ]d, อ.พฤษภ์, คุณสัมพันธ์)

และเรื่องราวของ Linux-TLE รุ่น 6.01 และ 6.1 ก็เป็นไปตามที่เล่าในหน้าของ LTN และที่ผมจะเล่าเพิ่ม ก็เป็นตอนต่อจากนี้ ซึ่งผมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย:

ภายใต้การดูแลของเนคเทค Linux-TLE ได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ลินุกซ์ทะเล" และใช้สัญลักษณ์รูปปลาโลมาตั้งแต่เวอร์ชัน 3.0 เป็นต้นมา โดยมาจากแนวคิดของ ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช นอกจากนี้ ยังได้กำหนดชื่อรหัสประจำรุ่นเป็นชื่อทะเลของไทยอีกด้วย

ลินุกซ์ทะเล 3.0 ชื่อรหัส "ตะรุเตา" ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในงานนิทรรศการของเนคเทค เมื่อ 14 มิถุนายน 2543 (2000) ใช้ RedHat 6.2 เป็นฐาน ซึ่งรุ่นนี้ เริ่มมีการแพตช์ไฟล์บางไฟล์ของ XFree86 จึงเป็นรุ่นแรกที่งานของ Linux-TLE ไม่ได้มีแต่การเพิ่มแพกเกจภาษาไทยเท่านั้น

ในระหว่างนี้ ในหมู่ TLWG ได้มีการพบโค้ด XIM (ระบบการป้อนอักขระ) ภาษาไทยในซอร์สของ XFree86 (พบโดย อ. พฤษภ์ บุญมา) ซึ่งยังทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เริ่มเห็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเพิ่มใน XFree86 แต่ใน Linux-TLE 3.0 ได้ใช้วิธีขัดตาทัพ เลี่ยงปัญหาไปก่อน

ลินุกซ์ทะเล 4.0 ชื่อรหัส "สิมิลัน" เปิดตัวเมื่อ 13 ตุลาคม 2544 (2001) ดูแลโดยทีมงานของคุณโดม เจริญยศ ตามที่เนคเทคว่าจ้าง โดยคุณโดมได้เปลี่ยนไปใช้ Redmond Linux (ปัจจุบันคือ Lycoris) รุ่น beta เป็นฐาน และได้เผยแพร่ไปกับหนังสือ "ลินุกซ์ทะเล" ซึ่งเขียนโดยคุณกริช นาสิงห์ขันธุ์ จัดพิมพ์โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชัน จำกัด นับเป็นลินุกซ์ทะเลรุ่นแรก ที่แพร่กระจายไปสู่ผู้ใช้ทั่วประเทศอย่างทั่วถึง และในรุ่นนี้ ได้รวบรวมงานที่นักพัฒนาใน TLWG ได้ทำงานร่วมกับโครงการต้นน้ำอย่าง XFree86 ไว้ด้วย คือการแก้ไขปัญหาการป้อนอักขระภาษาไทยด้วย XIM โดยใช้ key symbol ของไทยแท้ๆ จากเดิมที่ใช้การ hack ผ่าน symbol ของภาษาละติน รวมทั้งการแก้ไขชื่อรหัสภาษาไทยใน X จาก TACTIS เป็น TIS-620 ด้วย

สำหรับการแก้ไข XIM นี้ ความจริงมองเห็นกันมานานแล้ว แต่ถูกเร่งโดยปัญหาที่เกิดจากการแก้ผังแป้นพิมพ์ไทยของนักพัฒนา Mandrake ทำให้เราใช้ Latin hack ต่อไปไม่ได้ แต่ผลดีที่ได้ ก็คือการป้อนข้อมูลภาษาไทยที่มีการตรวจลำดับตามข้อกำหนด วทท (รายละเอียดทางเทคนิคเพิ่มเติม) นับเป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดของการทำงานเรื่องภาษาไทยบนระบบเดสก์ทอปขนานใหญ่ในเวลาต่อมา

ลินุกซ์ทะเล 4.1 ชื่อรหัส "พีพี" เปิดตัวเมื่อ 14 มีนาคม 2545 (2002) ในงานประชุม TLUG ที่ Software Park ลินุกซ์ทะเล 4.1 ออกตามรุ่น 4.0 มาติดๆ ด้วยปัญหาเรื่องการตอบคำถามผู้ใช้ เนื่องจากทีมงานไม่คุ้นเคยกับ Redmond Linux และการทำลินุกซ์แผ่นเดียวทำให้ขาดแคลนเครื่องมือหลายอย่าง ลินุกซ์ทะเล 4.1 ได้ย้อนกลับมาใช้ RedHat เป็นฐานอีกครั้ง โดยทำเพิ่มจาก RedHat 7.2 ในรุ่นนี้ เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความช่วยเหลือมากมายจากบุคคลในชุมชน TLWG ทั้งผ่านเมลส่วนบุคคล และผ่าน mailing list เช่น gswitchit applet, การปรับปรุง ThaiLaTeX ฯลฯ ดังรายนามที่ปรากฏในปกซีดี ทำให้ระบบภาษาไทยสมบูรณ์ขึ้นมาก และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่าง คือการใช้ระบบ apt เป็นครั้งแรก

ลินุกซ์ทะเล 4.1 เป็นรุ่นแรกที่มีกระแสตอบรับผ่านสื่อต่างๆ มากมาย เพราะเป็นช่วงที่มีการตื่นตัวเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศ อันเนื่องมาจากการตรวจจับของ BSA ซึ่งเสียงตอบรับก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะความไม่คุ้นเคยของผู้ใช้ และความไม่พร้อมต่อความคาดหวังของมหาชนในการใช้งานเดสก์ทอปของลินุกซ์นั่นเอง

ในกระแสลินุกซ์และโอเพนซอร์สในประเทศที่ทะลักเข้ามา ชุมชน TLWG ไม่สามารถรองรับผู้ใช้ได้เพียงพอ จึงได้เกิดเว็บ OpenTLE ขึ้นมารองรับโครงการโอเพนซอร์สของเนคเทคโดยเฉพาะ โดยเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่ลินุกซ์ทะเล 5.0 เป็นต้นมา

...และเรื่องเล่าในส่วนของผมเกี่ยวกับลินุกซ์ทะเลก็จบลงเพียงเท่านี้ ที่เหลือก็ขอแตะมือกับ OpenTLE ละครับ :-) ใครมีข้อเสนอแนะตรงไหนก็ขอเชิญได้

3 ความเห็น:

  • 16 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 20:45 , Blogger Unknown แถลง…

    เห็นหัวข้อแล้วนึกว่านิทานไทยเดิม :)
    เดี๋ยวผมเล่านิทานบ้าง, จะไปชวนพี่ฮุ้ยมาเล่าด้วย.

     
  • 16 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 21:06 , Blogger bact' แถลง…

    ดีครับ เอาเลยๆ :D

    แล้วเดี๋ยวเอามาต่อกัน ลำดับให้ไม่งง .. ทำเป็นหนังสือได้นะเนี่ย

    เรียนรู้ปัญหาจากอดีต เพื่อการพัฒนาในอนาคต .. พูดซะเท่ :P

     
  • 16 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 23:05 , Blogger MrChoke แถลง…

    โอ้.... นิทานเรื่องนี้ยังไม่จบ ใครจะเล่าต่อดีละ..

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem