FOSS Commitment
พักนี้เขียน blog มีแต่เรื่องงาน ขอพักเขียน opinion สักหน่อยน่ะ
จริงๆ ก็มาจาก opinion ของคนอื่นน่ะแหละ คือตอนที่ไปบรรยายเรื่อง GNU/Linux localization ที่งานสัมมนาแห่งหนึ่งของนักพัฒนาแถบเอเชีย พอบรรยายจบ ในช่วงซักถาม ก็มีผู้ฟังท่านหนึ่งยกมือขึ้นถามว่า ทั้งหมดที่คุณเล่ามาสำหรับภาษาไทยเนี่ย ใช้เวลาเท่าไร ใช้คนประมาณกี่คน เจอคำถามนี้ก็อ้ำอึ้งเหมือนกัน ได้แต่ตอบไปว่า ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี ใช้คนทำหลายคนแบบไม่เต็มเวลา เพราะหลายคนทำเป็นงานอดิเรก แต่ดูผู้ถามจะคาดหวังคำตอบสำหรับ project manager ที่กำลังจะเริ่มโครงการเลย เพราะเขารุกต่อว่า ถ้าทำแบบเต็มเวลาล่ะ พอจะประมาณกำลังคนได้ไหม? ก็พอดีมีวิทยากรที่นั่งอยู่แถวหน้าช่วยตอบให้ เป็นคำตอบที่ยังประทับใจอยู่ทุกวันนี้
"งานโอเพนซอร์สเป็น long-term commitment มันไม่ใช่งานที่อยู่ๆ จะทุ่มเงินจ้างคนมานั่งทำ โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในกี่เดือน แต่คุณจะต้องดูแลมันไปเรื่อยๆ ค่อยๆ แก้ไขเพิ่มเติมทีละส่วน ร่วมกับเจ้าของโครงการ โดยเฉพาะเมื่อมีรุ่นใหม่ออกมา ก็จะมีงานชิ้นใหม่ให้ทำอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จบ"
ฟังแล้วเห็นด้วยเลย เพราะแม้ระบบภาษาไทยของเราจะทำกันมานาน แต่ก็ยังมีประเด็นให้ทำเพิ่มอยู่เรื่อยๆ และการจะทุ่มเงินมาเป็นก้อน ก็ใช่ว่าจะจบใน job นั้น หากยังมีขั้นตอนการผลักดัน patch เข้าต้นน้ำ และเมื่อเข้าต้นน้ำไปแล้ว พอรุ่นใหม่ออกมา ก็ยังต้องคอย update โค้ดให้เข้ากับ API ใหม่อยู่เสมอด้วย ดังนั้น ทางที่จะสนับสนุนโอเพนซอร์สแบบตรงจุดที่สุด จึงน่าจะหมายถึงการสนับสนุนชุมชนผู้ใช้-ผู้พัฒนาโดยรวม ให้ดำเนินไปได้ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมต่างๆ อยู่เรื่อยๆ การตั้งงบจ้างเป็น job นั้น เป็นแผนที่ใช้ได้ในระยะสั้นสำหรับงานบางชิ้นที่อาศัยต้นทุนสูง ซึ่งก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องการการขับดันในระยะยาวด้วย จึงจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง
อย่างที่รู้กัน ว่างานพัฒนาโอเพนซอร์สเป็นกิจกรรมของวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ ซึ่งต่างคนต่างแฮ็กสิ่งละอันพันละน้อย จนมารวมกันที่ส่วนกลาง จึงเป็นงานที่ควบคุม schedule ลำบาก ว่าอะไรจะทำเมื่อไร ทุกอย่างต้องอาศัยความสุกงอมของเงื่อนไขต่างๆ ของชุมชน ทำให้การเขียนหรือพิจารณา proposal ต่างๆ ต้องคิดในเงื่อนไขแตกต่าง เช่น การ evaluate ชิ้นงาน ก็อาจแบ่งเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ได้ patch ไปจนกระทั่ง check-in ซึ่งพอคิดในกรอบวิธีจ้างแบบเดิม ก็ทำให้ต้องพลิกแพลงสัญญาจ้าง และเมื่อรวมกับการพลิกแพลงเงื่อนไขกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วยแล้ว ทำให้การจ้างดูซับซ้อน จนการทำเป็นงานอดิเรกฟรีๆ จะสบายกว่า โดยอาจจะทำงานอย่างอื่นเพื่อเอารายได้มาสนับสนุนตัวเองอีกที
ดังนั้น จึงคิดว่า วิธีการสนับสนุนของแหล่งทุน น่าจะปรับออกมาอยู่นอกรูปแบบการว่าจ้าง มาอยู่ในรูปของการสนับสนุนกิจกรรมทั่วไป เช่น การบริจาคช่วยโครงการต่างๆ การช่วยแบ่งเบางาน หรือกระทั่งจ้างคนมานั่งดูแลโครงการ ก็แล้วแต่จะประยุกต์
1 ความเห็น:
ณ 25 มกราคม 2548 เวลา 12:25 , Isriya แถลง…
อืมเห็นด้วยเลยครับ
ปัญหาก็คือคนระดับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ยังมองการพัฒนาเป็นแบบ Project Schedule อยู่แบบพี่เทพว่านั่นล่ะนะ
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก