GNOME Culture
อ่าน GNOME Journal ฉบับที่เพิ่งออก มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่อง Experimental Culture วิพากษ์ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม GNOME ได้น่าสนใจ
เริ่มจากยกคำเปรียบเปรยในสมัยหนึ่ง ระหว่างวัฒนธรรมชุมชน KDE กับ GNOME ว่า KDE พัฒนาในห้องกระจกสีสวยงาม มีไวต์บอร์ดหน้าห้อง เขียนแผนงานไว้สวยงาม นักพัฒนาต่างนั่งทำงานในมุมของตน สวมหูฟังฟังเพลงคลาสสิกคลอไป เวลาประชุมก็จะคุยกันเบาๆ ในที่ที่จัดไว้
ส่วน GNOME นั้น ไม่มีไวต์บอร์ด มีแต่สปอตไลต์ฉายไปยังนักพัฒนาบางคน ที่ลุกขึ้นมากรีดร้อง ว่า "กูอยากได้แบบนี้ (โว้ย)" พร้อมกับชูแลปทอปให้ดูในอาการมึนเมา ก่อนจะสำรากของเก่าออกมานองพื้น และล้มลงพังพาบคาพื้นเวที แล้วแผนภูมิต่างๆ ก็เริ่มถูกวาดลงบนพื้น โดยอาศัยเบียร์ที่หกนอง ฉี่ที่เรี่ยราด และอาเจียนที่เกลื่อนพื้นนั่นแล
(อ่านแล้วอาจจะว่าผมแปลเวอร์ แต่ขอแนะนำให้อ่านต้นฉบับ อ่านแล้วได้อารมณ์กว่าเป็นร้อยเท่า ผมว่าผมเคยเปรียบเทียบกับแนวบอลบราซิล-เยอรมันก็ว่าเห็นภาพแล้วนะ)
แต่เดี๋ยวนี้ มันกลับกันแล้ว GNOME เริ่มพัฒนาเหมือนองค์กร มีความเป็นมืออาชีพ ในขณะที่ KDE เริ่มเป็นแนวเริงร่า มั่วสุม บ้าบอ (จริงหรือเปล่าผมไม่รู้ ไม่เคยสัมผัส) แล้วผู้เขียนก็เลยตั้งข้อสังเกตว่า "มันเกิดอะไรขึ้น?"
ที่เหลือก็อย่างที่หลายคนอาจจะเห็นแล้ว ว่าเมื่อก่อนชุมชน GNOME บ้าคลั่งกันขนาดไหน ถึงขนาดเปลี่ยน default window manager กันเป็นว่าเล่น จาก enlightenment เป็น sawfish แล้วก็มา metacity มีบริษัทเอกชนโดดมาร่วมวงมากมาย มีทั้ง Sun, Ximian, Eazel (ไม่นับ Red Hat ที่ยืนพื้นอยู่แล้ว --เอ่อ จริงๆ แล้ว Ximian ก็ spin-off ออกมานะ เหอะๆ) ทุกคนทำงานกันเป็น perfectionist จนภาพรวมของ GNOME กลายเป็นทีม "รวมดาว" ที่เล่นไม่ค่อยเข้าขากัน ผิดกับ KDE ที่ดูมี teamwork สมบูรณ์แบบกว่ามาก
จนกระทั่งเกิดแนวทางใหม่ (เริ่มตอนที่มี GNOME Foundation?) มีระบบระเบียบ มีการวาง HIG (human interface guideline) และพยายาม share ทรัพยากร ตัดส่วนเกินออก มีกำหนดการปล่อยทุกๆ 6 เดือน ทั้งหมดนี้ ทำให้ GNOME 2.0 ที่ปล่อยออกมาหลังจากกักไว้นาน จนบางคนนึกว่า GNOME ตายไปแล้ว กลายเป็น GNOME รุ่นที่เริ่มถูกใจผู้ใช้ แล้ว GNOME ก็โตวันโตคืนจากนั้นมา
แต่เรื่องของเรื่องคือ ผู้เขียนเขาเห็นว่า แนวทางเก่าก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะมันทำให้ GNOME มีวิญญาณแฝงอยู่ในนั้น เกิดการทดลอง การสร้างสรรค์ขึ้นมากมาย กลับกัน ถ้าแนวทางใหม่จะดำเนินต่อไปแบบสุดโต่งเกินไป ก็จะทำให้ GNOME ดูตายซากลงเรื่อยๆ คนที่มีไอเดียก็ไม่กล้าเสนอ (นอกเสียจากจะออกไปทำต่างหากแบบ Mono) เพราะกลัวโดนอัศวินทั้งหลายลงดาบ จึงเสนอให้หาทางสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อน ให้รู้จักประนีประนอมกับแนวคิดใหม่ๆ อย่ารีบลงดาบ แต่ควรเฟ้นเอาส่วนดีออกมา อันไหนไม่เข้าทีก็ปรับก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะอ่อนไหวกับความคิดเห็นทุกเรื่อง ไม่งั้นก็ไม่เป็นอันทำงานกัน
อ่านแล้วเห็นด้วยมากๆ เมื่อก่อนเนี่ย ทำงานกับ GNOME สนุกสนานมาก ส่ง patch ไปก็ review patch อย่างดีและรับ patch อย่างรวดเร็ว แม้จะเป็น patch เพื่อภาษาเล็กๆ อย่างภาษาไทย แต่หลังๆ ชักอืด บาง patch ถึงกับข้ามปีกันเลย แต่ก็ไม่ได้ถึงกับรู้สึกแย่อะไร ยังเห็นความคึกคักของชุมชน GNOME อยู่สม่ำเสมอ ไม่อยากให้มันหายไปเหมือนกัน
ว่าแต่ว่า ถ้าจะสรุปชุมชน TLWG จะเป็นยังไงกันเนี่ย? เหอๆ
0 ความเห็น:
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก