Theppitak's blog

My personal blog.

25 ธันวาคม 2547

ลินุกซ์ในโรงเรียน

ช่วงนี้งานค่อนข้างยุ่งเหยิง ทั้งงานหลวงงานราษฎร์ หลังฉลองบัณฑิตใหม่ ก็มีงานเตรียมงานวิชาการที่โรงเรียน ระหว่างนี้ก็มีข่าวญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเสียชีวิต ก็แวะไปเคารพศพท่านด้วย กับอีกงานคือญาติทำบุญขึ้นบ้านใหม่ แม่ให้ไปช่วยเตรียมของขวัญ นี่วันนี้ที่โรงเรียนก็มีงานวิชาการ ก็ต้องมา stand by แต่ระหว่างที่รอประธานเปิดงาน ก็มานั่งเขียน blog ไปพลางๆ

พักนี้การคลุกคลีกับงานโรงเรียน ก็ทำให้คิดถึงเรื่องการใช้ลินุกซ์ในโรงเรียน

ในระหว่างที่เราพูดคุยเรื่องการโปรโมทลินุกซ์ จะมีการพูดขึ้นบ่อยๆ ว่า "ต้องปลูกฝังเด็กตั้งแต่ประถม" ก็บังเอิญจับพลัดจับผลูได้มาสอนลินุกซ์ในโรงเรียนจริงๆ ก็พบว่ายังต้องเข็นกันอีกไกล ลองไล่อุปสรรคเป็นข้อๆ

  • ครูยังใช้ลินุกซ์กันไม่เป็น ตรงนี้เราก็เลยต้องเหนื่อยหน่อย ที่มีเราคนเดียวที่สอนได้ ก็เหมาสอนทั้งมัธยมและประถมเลย แต่เรื่องนี้ มีแนวโน้มที่ดีบ้าง เมื่อครูฝ่ายคอมพิวเตอร์แสดงความสนใจที่จะเรียนรู้ แม้จะยังหาโอกาสคุยกันลำบาก เพราะงานประจำของแต่ละคนก็หนักหนาอยู่แล้ว
  • เด็กคุ้นกับวินโดวส์แล้ว เรื่องนี้อาจเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามไป เท่าที่ทราบมา หลักสูตรสมัยนี้ ให้เด็กเรียนคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อนุบาลทีเดียว และก็ใช้วินโดวส์เป็นหลัก ด้วยเหตุผลทั้งปวง เช่น ครูใช้ลินุกซ์ไม่เป็น (หรือแม้แต่ไม่เคยได้ยินคำว่าลินุกซ์) ขาดแคลนบทเรียน CAI ที่เป็นภาษาไทยบนลินุกซ์ ฯลฯ สำหรับเด็กประถมก็เหมือนกัน เด็กจึงคุ้นกับวินโดวส์ไปแล้ว แต่เด็กยังพอมีหวังมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กจะมีความตื่นเต้นที่เห็นอะไรใหม่ๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่อาจจะมีมาตรฐานอะไรบางอย่างที่ต้องรักษา ก็เลยไม่กล้าลองอะไรเท่าเด็กๆ
  • ระบบเดิมของโรงเรียน เดี๋ยวนี้ คอมพิวเตอร์เข้าไปในโรงเรียนมากขึ้น ทำให้เกิด solution ต่างๆ ที่อาศัยวินโดวส์เป็นหลักค่อนข้างเพียบพร้อมอยู่แล้ว เช่น อุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ ระบบบริหารงานโรงเรียน ระบบ e-learning พอมีลินุกซ์เข้ามา แม้จะใช้แค่ในการเรียนการสอน ก็พบว่ากลายเป็นการเบียดบังทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอยู่แล้ว จึงเกิดการแสดงความไม่พอใจต่อคำว่า "ลินุกซ์" เป็นบางโอกาส
  • ตัวผมเอง ขาดทักษะและโฟกัสในการสอน ตรงนี้เรื่องใหญ่ ด้วยความที่ไม่เคยคิดจะเป็นครูแต่แรก (เพราะหลายครั้งที่อธิบายอะไรแล้วคนอื่นฟังเพี้ยนกันบ่อยๆ ก็ทำให้ขาดความมั่นใจเหมือนกัน) เป็นแต่ถูกเสนอให้สอน เพิ่มเติมจากการดูแลเซิร์ฟเวอร์ ก็เลยใช้วิธีแบ่งเวลาไปมากับงานพัฒนา, ดูแลเซิร์ฟเวอร์ และกิจกรรมครอบครัว ซึ่งต่อไป อาจจะต้องให้เวลากับงานสอนมากขึ้น และอาจต้องลดงานพัฒนาลงเป็นงานอดิเรกยามว่างจริงๆ

แต่ก็ต้องค่อยๆ แก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องค่อยๆ ให้ข้อมูลกับครูไปเรื่อยๆ ต้องคิดหาหลักสูตรที่เหมาะกับเด็ก ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยให้เวลากับงานสอนมากขึ้น (ที่สำคัญคือต้องรักเด็กกว่านี้ :-P) ต้องเริ่มสำรวจโปรแกรมการศึกษาอย่างจริงจัง และต้องค่อยๆ เปลี่ยนเป็นขั้นๆ ตามความจำเป็น ไม่หักดิบ (อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็เริ่มใช้ firefox บนวินโดวส์กันละ)

แต่ที่เห็นว่าน่าจะจำเป็นมากๆ คือ content ที่เป็นภาษาไทย เช่น CAI สำหรับเด็ก, courseware, โปรแกรมใช้งานต่างๆ ที่แม้จะมี มากมาย แต่ยังมีน้อยที่เป็นภาษาไทย

3 ความเห็น:

  • 26 ธันวาคม 2547 เวลา 12:48 , Blogger NOI แถลง…

    แหม อ่านแล้วรู้สึกเห็นใจ อยากไปช่วยจัง .. เอานี่ไปก่อนแล้วกันครับ เผื่อว่าจะช่วยทุ่นแรงได้บ้าง

    http://xvidcap.sourceforge.net/

    ผมก็ใช้ไม่เป็นหรอกนะ ได้ url จากคนอื่นมาอีกทีน่ะ

     
  • 26 ธันวาคม 2547 เวลา 13:20 , Blogger veer แถลง…

    /me อยากไปช่วย แต่เอาตัวเองยังไม่รอด
    เป้าหมายต่อไปคือบ้านที่ระยอง มี ADSL Router ละ
    Dial internet ง่าย ต้องโดนเอา TLE 7.0 ลงแน่นอน :-P

    แต่ Duron 900 มันจะไหวมั้ยเนี่ย

     
  • 28 ธันวาคม 2547 เวลา 12:07 , Blogger NOI แถลง…

    vee: ผมว่า Duron 900 กับ TLE 7.0 ทำงานได้สบายๆ นะครับ อัดแรมมากหน่อยละกัน (สัก 512Mb ไปเลย)

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem