Theppitak's blog

My personal blog.

30 เมษายน 2547

เหตุการณ์บ้านเมือง

  • The Importance of Software Standards พูดถึงเรื่องเดิมๆ เกี่ยวกับการเป็น de facto ของ MS แต่ไม่ใช่มาตรฐานที่แท้จริง ถึงจะเห็นเขียนมาหลายคนแล้ว แต่ก็อยาก bookmark ไว้ไม่ให้เรื่องนี้หายไป และเขายังมีตอนต่อที่จะเริ่มสำรวจมาตรฐานอีกด้วย
  • Gentoo in Transition? ฤๅคำตอบของ อั้งชิกกง แห่ง Gentoo คือลาออก? บทความเล่าถึงความล่าช้าของการก่อตั้ง Gentoo Foundation เพราะ drobbin ไม่อยากสูญเสียการควบคุมผ่าน Gentoo Technology Inc. และบทความยังชี้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของ Gentoo ต่อจากนี้ที่จะรุกไปทาง enterprise เป็นคู่แข่งที่สาม ถัดจาก Red Hat และ SUSE
  • Making the distribution, Part 1 : Birth of the Gentoo Linux distribution บทความโดย drobbin
  • เว็บเพจชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการแปรรูป การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พอดีไปเจอเข้า อยากฟังข้อมูลอีกด้านในลักษณะที่ดูมีหลักมีการกว่าสปอตโฆษณาทีวีที่น่ารำคาญพอๆ กับ "นี่ก็ลูกชิ้นแป้ง"

FOSS กระยาจก

อั้งชิกกง หัวหน้าพรรคกระยาจก ต้องใส่เสื้อใหม่สลับเสื้อเก่าเดือนเว้นเดือน ก็เพราะลูกพรรคกระยาจกแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายเสื้อสะอาดกับฝ่ายเสื้อโสโครก อันธรรมดานั้น เป็นขอทานก็ต้องมอมแมม แต่พอขอทานรวมตัวกันเพื่อทำประโยชน์ต่อสังคม พรรคกระยาจกก็กลายสภาพเป็นองค์กรสังคมสงเคราะห์ มีโครงสร้างองค์กรเป็นชั้นๆ มีสมาชิกที่ไม่ใช่ยาจกแท้ๆ มาเข้าร่วมมากมาย พวกที่มาใหม่ก็พยายามมาปฏิวัติองค์กร ไม่ยอมแต่งมอมแมมเยื่ยงขอทาน เปลี่ยนรูปแบบองค์กร ตามสภาพเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป

ฟังแล้วคุ้นบ้างไหม? แรกๆ นั้น วัฒนธรรม FOSS (Free/Open Source Software) เกิดจากสังคมแฮกเกอร์ ชอบเจาะโปรแกรมเพื่อทำให้มันใช้งานได้ดี แล้วก็แบ่งปันกันในหมู่แฮกเกอร์ ทำให้โปรแกรมมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ

มาวันนี้ FOSS ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธต่อต้านมองโกล เอ้อ.. ซอฟต์แวร์ผูกขาด ใช้ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้มีเทคโนโลยีทางเลือกที่เปิดกว้างกว่า มาวันนี้ สังคม FOSS จึงประกอบด้วยสมาชิกใหม่ที่ไม่ใช่สังคมแฮกเกอร์เหมือนเดิมแล้ว ซอฟต์แวร์ถูกคาดหมายให้ user-friendly ให้รองรับความต้องการของ end-user ฯลฯ ผู้ผลิตเชิงพาณิชย์เข้ามาร่วมมากขึ้น ในประเทศกำลังพัฒนานั้น รัฐก็ต้องเข้ามาจัดการแบบ "บนลงล่าง"

ท่ามกลาง เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป นี้ สังคม FOSS จึงเกิดการแตกกลุ่มซับซ้อน มีทั้งฝ่ายที่อยากใช้ง่ายอย่างเดียว ไม่สนใจซอร์สโค้ดหรือเสรีภาพ และฝ่ายที่ยังอยากให้ความสำคัญของปรัชญา FOSS มีทั้งฝ่ายเร่งรัดงานตามกำหนดเวลาค่าจ้าง และฝ่ายที่ "just for fun" มีทั้งฝ่ายที่กระเหี้ยนกระหือรือจะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกับ proprietary โดยทำให้ลินุกซ์เหมือนกับซอฟต์แวร์ยอดนิยมให้มากที่สุด และฝ่ายที่พยายามใช้ลินุกซ์ในฐานะที่มันเป็นลินุกซ์ ฯลฯ

สมมุติกันเล่นๆ ถ้าคุณเป็น อั้งชิกกง ในเวลานี้ คุณจะทำอย่างไร? หรือถ้าคุณอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ระหว่างเสื้อสะอาดกับเสื้อโสโครก คุณจะมีแนวทางอย่างไร?

TGIF (Thank God It's Friday)

ตื่นเช้าขึ้นมา แม่เรียกให้ไปช่วยย้ายกระถางโป๊ยเซียน เลยอยากเขียนถึงสวนของแม่

ที่ว่างหลังบ้าน แต่ก่อนเป็นโรงไอติม ต่อมาพอก๋งเลิกทำไอติม มันก็เปลี่ยนสภาพเป็นโกดังเก็บของ เป็นอยู่อย่างนั้นสิบกว่าปี จนวันหนึ่งพายุพัดหลังคาเปิด พ่อเลยจ้างช่างมารื้อทิ้ง กลายเป็นลานกว้าง แม่ก็เลยมีที่ปลูกต้นไม้ ส่วนใหญ่เป็นโป๊ยเซียน มีกระบองเพชรแซมบ้าง มีเข็ม มีกุหลาบ สาวน้อยประแป้ง ว่านสี่ทิศ ว่านหางจระเข้ หญ้าหวาน หลายปีก่อนแม่ได้พันธุ์มะขามมาจากสวนที่สกลนคร เลยเอาเม็ดมาปลูก ผมเองนานๆ กลับบ้านที กลับมาเห็นสวนที่แม่เนรมิตขึ้นมาก็น่าชื่นชมไม่น้อย มีระยะนึง แม่ทำปุ๋ยชีวภาพเอง โดยเอาเศษผักผลไม้ที่กินเหลือมาหมักกับกากน้ำตาล แล้วเอาน้ำมารด ปรากฏว่า มะขามของแม่ แล้วก็ทับทิมด้วย ออกผลมาให้กิน หวานอร่อยดี แต่มาพักนึง กระรอกลงมาชิงกินผลไม้ไปหมด หนูก็ชุกขึ้นเพราะมีอาหาร แถมปุ๋ยก็มีกลิ่นรบกวนชาวบ้าน (เป็นกลิ่นคล้ายๆ เหล้าหรือไวน์) แม่เลยเลิกทำปุ๋ย ตอนนี้ ถังหมักปุ๋ยของแม่ เลยกลายสภาพมาเป็นถังพักน้ำหรือไม่ก็อ่างปลาเสียหมด อิอิ

งานวันนี้ไม่ค่อยมีอะไรมาก เพราะออกไปตระเวนหาปั๊มลมบ่อเกรอะมาเปลี่ยนอันเดิมที่เสีย (ไม่ใช่บ่อปลา ผมเลี้ยงปลาไม่ได้ติดปั๊มลม) แต่หาหลายร้านแล้วไม่มีร้านไหนขาย ไว้วันหลังตรงไปที่ Global เลยดีกว่า วันนี้แดดแรงมาก ประมาณว่าแสงอาทิตย์ตั้งฉาก กลับถึงบ้านผิวแดงไปหมด

  • เจอวิธีกำหนด script/language ใน GPOS table โดยบังเอิญ โดยไปสั่ง Find Problems แล้วมันก็มีคำเตือนเรื่อง 'DFLT' script แล้วถามว่าจะกำหนด script/language ในฟอนต์หรือเปล่า ก็ตอบ Yes แล้วก็เซ็ตโลด --> แก้ pango-ot ให้ค้นหา 'thai' script ใน GPOS table ได้
  • สงสัยว่า ตาม Uniscribe spec นั้น Thai shaper จะอ่าน GSUB table แค่ตารางเดียว คือ 'ccmp' ดังนั้น ฟอนต์ที่ใช้ 'calt' อาจทำงานไม่สมบูรณ์บน Windows

29 เมษายน 2547

ข่าวสารบ้านเมือง

Pango OT ได้แล้ว แต่ยังไม่แล้ว

ฝนมา แมงเม่ามา ปลากินแมงเม่า เช้านี้ อ่างปลาเต็มไปด้วยปีกแมงเม่า อ่างลูกปลาจะเหลือตัวแมงเม่าที่ปีกหลุดแล้วลอยอยู่ แต่อ่างปลาตัวใหญ่จะเหลือแต่ปีก ลองจับซากแมงเม่าย้ายมาแล้วรอดูสักพัก เห็นปลาค่อยๆ มาตอด จนสุดท้าย ปลาตัวใหญ่มาฮุบไปเคี้ยวกร้วมๆ โหะๆ นานๆ จะได้อาหารสดเสียทีนะแก

ตอนคิดเลี้ยงปลาหางนกยูง ก็คิดว่าจะเลี้ยงไว้ควบคุมประชากรยุงในบ้าน ประกอบกับความเพลิดเพลิน แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับหาลูกน้ำให้มันกินได้ยากมาก เทศบาลและอนามัยทำงานได้ดีเหลือเชื่อ แหล่งที่เคยไปตักลูกน้ำเลี้ยงปลากัดสมัยก่อน เดี๋ยวนี้โดนปิดทับด้วยคอนกรีตอย่างดี ลองสังเกตตรงส่วนที่เปิด ก็ไม่มีลูกน้ำเหลือสักตัว ถามซื้อลูกน้ำจากร้านขายปลาก็ไม่มีขายอีกต่อไป น่าทึ่งมากๆ ตกลงปลาก็เลยได้กินแต่อาหารเม็ดเป็นหลัก จะมีบางวันได้กินผัก เศษขนมปัง หรือลูกน้ำที่ฟลุกเจอในโอ่งน้ำ ไรดงไรแดงอะไรนั่นยังขี้เกียจเพาะ เหอะๆ

วันนี้แก้ bug ที่เจอเมื่อวานได้แบบงงๆ ยังไม่รู้สึกว่าได้ solution ที่ดี:

  • optimize thai-ot อีกนิด จัด scope ตัวแปรให้ดูสวยงามขึ้น
  • กรณี "ป่ำ" และ "อิ + อํ" และ "อื + อ็" มีสาเหตุเดียวกัน คือ fontforge generate GPOS สำหรับ glyph อย่างนิคหิตและไม้ไต่คู้ที่สามารถเป็น mark ก็ได้ base mark ก็ได้ได้ไม่ครบ ขาดกรณีที่เป็น base mark --> ทดลองแก้โดยแยก glyph เป็นสองชุดทำคนละหน้าที่ --> ผ่าน แต่ความจริงแล้วน่าจะเป็นความผิดของ fontforge? เพราะเวลาสั่ง view anchored pairs มันก็แสดงผลถูกต้อง แต่พอตรวจสอบด้วย view ATT แล้ว ข้อมูลกลับไม่ครบ
  • กรณี "ฎุ" นี่แปลกมาก คือถึงแม้ตัดความสามารถเรื่องการประพินทุใต้สระ อุ อู แล้ว ก็ยังเหมือนเดิม แต่เริ่มงงตอนที่ทดลองเลื่อนตำแหน่ง anchor ใน ฎ ขึ้นลง พบว่า ยิ่งติดลบมาก pango ยิ่งแสดงสระล่างขึ้นสูง ต้องใช้ค่าบวกถ้าจะเลื่อนลง ซึ่งตรงนี้ขัดแย้งกับการแสดงผลเมื่อสั่ง view anchored pairs ใน fontforge ยังไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดของใคร ระหว่าง fontforge กับ pango/freetype

pango thai + OTF screenshot #2

28 เมษายน 2547

Pango ห่าฝน กระสุนปืน

เมื่อคืนตกใจตื่นขึ้นมากลางดึกกับฝนฟ้าคะนอง แสงฟ้าแลบลอดผ่านหน้าต่างเข้ามาไม่ขาดสาย ฝนเทกระหน่ำแรงมาก ตื่นเช้าขึ้นมา ไฟตก ก็เลยต้องนั่งทำงานมืดๆ ด้วยแบตเตอรีโน้ตบุ๊ก จนสายหน่อยไฟค่อยมาเป็นปกติ ลงมาดูข่าวทีวี ไอ๊หยา ภาคใต้ยิงต่อสู้ผู้ก่อการร้ายตายไป 70 ศพ วันนี้ช่างเริ่มต้นได้ยุ่งเหยิงดีแท้

งานวันนี้ยังคงเป็นเรื่อง OpenType โดยเริ่มทำ pango เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น

  • แกะ pango arab เพื่อดู opentype support เปรียบเทียบกับ indic อืมม์.. คราวนี้ดูรู้เรื่องขึ้น
  • หลังจากนั่งคิดอยู่หลายตลบ ว่าจะเพิ่ม opentype ใน thai module ยังไงดี ให้สนับสนุน legacy font ด้วย ก็มีประเด็นดังนี้:
    • clustering: ควรคงการจัดเซลล์ตามแบบ วทท ไว้ เพื่อจะได้จัดการลำดับอักขระที่ผิดได้ (เช่น ท + อี + อ่ ต้องแสดงผลต่างจาก ท + อ่ + อี) เมื่อพิจารณา วทท อีกครั้ง พบว่าเพียงพอต่อภาษาบาลีอยู่แล้ว แต่สำหรับภาษากุยนั้น ต้องเพิ่มให้ยอมรับลำดับพิเศษ คือ การประพินทุใต้สระหน้าและสระล่าง
    • alternate glyphs: ถ้าในฟอนต์มีชุด glyph สำหรับสระ/วรรณยุกต์ ที่หลบหาง ป ฝ ฟ (ฬ) ก็ควรใช้ตามเดิม แต่ถ้ามีตาราง GSUB/GPOS ช่วย ก็ใช้ร่วมด้วย
    • สรุป: ใช้ shaping algorithm เดิมก่อน ซึ่งจะแบ่ง cluster ให้ + เลือก alternate glyphs ให้ถ้ามี จากนั้นจึงใช้ GSUB ตามด้วย GPOS
  • ลงมือโค้ด (ยังไม่แตะต้องส่วนของ วทท แค่ให้ใช้ opentype table ได้ก่อน)
  • ปัญหาที่พบ:
    • หาตาราง GPOS สำหรับสคริปต์ "thai" ไม่เจอ เนื่องจาก fontforge ไม่ยอมให้กำหนด script ใน achor --> แก้ pango ให้หาจาก "DFLT" ไปพลางก่อน
    • "ปู่" ยังใช้วรรณยุกต์ตัวสูงอยู่ --> เพิ่ม chain contextual subs rule ในฟอนต์ก็ผ่าน
    • "ป่ำ" ยังไม่วางวรรณยุกต์หลบซ้าย --> ปัญหาใน mkmk table?
    • "ฎุ" ยังวางสระล่างทับหาง ฎ และ "มิ + อํ" จะวางนิคหิตไว้ใต้สระอิ รวมทั้งไม้ไต่คู้ทับสระบนก็วางผิด --> ยังหาสาเหตุไม่พบ

pango thai + OTF screenshot

27 เมษายน 2547

GNOME กับ Mozilla : ใกล้เข้าไปอีกนิด

พอดีไปเห็นข่าว การประชุม GNOME Foundation & Mozilla Foundation เพื่อการร่วมมือกันทำงานที่ใกล้ชิดขึ้น เมื่ออ่าน บันทึกการประชุม ก็ดูเหมือนจะมุ่งไปที่การแข่งกับ Longhorn ที่จะออกมาพร้อมกับความสามารถใหม่ๆ ที่อาจกดดันให้ต้องมีการ port มายังลินุกซ์อีก การจับเข่าคุยกันครั้งนี้ก็เพื่อรวมตัวกันสร้างเทคโนโลยีที่จะทำให้คนหันมาใช้ลินุกซ์ก่อน มีการพูดถึงการขยายมาตรฐานเว็บให้ก้าวทัน MS, อนาคตการ integrate GNOME กับ Mozilla, ความเป็นไปได้ในการรวม Firefox กับ Epiphany ฯลฯ

น่าตื่นเต้นถ้าทั้งสองโครงการสามารถรวมตัวกันได้มากกว่าที่เป็นอยู่ :-)

OTF Continues

เช้านี้ ปลาหางนกยูงที่บ้านตายไปสามตัว ตัวเมียหนึ่ง ตัวผู้สอง เป็นรุ่นแก่ๆ เหมือนเดิม หางสวยเสียด้วย เสียดายจัง แต่ก็คิดว่าคงถึงอายุขัยมันแล้วแหละ

งานวันนี้ หลักๆ คือ rebuild gnome cvs จาก head แล้วก็แก้ OpenType font ต่อ.. วันนี้ TOT-online เกเร เข้าเว็บต่างประเทศไม่ค่อยได้ ทดลอง telnet ที่พอร์ต 80 ดู ก็พบว่า connection closed ทันทีที่ establish เลยต้องใช้ loxinfo package ที่ได้รับบริจาคมา

  • update & compile gnome cvs head
  • checkout fontforge cvs (เอามาดูโค้ดเฉยๆ ยังไม่ได้ build)
  • OTF: เพิ่มกฎสำหรับตัดเชิง ญ ฐ แบบไม่มีเงื่อนไขในภาษาบาลี อืมม์.. GUI ของ fontforge นี่ก็ซับซ้อนดีแฮะ กว่าจะหาวิธีกำหนด language ใน table เจอ ต้องอ่านเอาจาก manual..
  • นี่ถ้า OpenType สามารถช่วยให้ตัดเชิง ญ ฐ ในภาษาบาลีได้แบบนี้ ก็เท่ากับว่า ไม่ต้องคิดหาวิธี encode ด้วยเครื่องมือของ Unicode แล้ว (จากที่เคยคิดว่าจะใช้ ZWJ + ZWNJ เพื่อตัดเชิงโดยไม่มีสระล่าง อาจไม่จำเป็น) เสียแต่ว่า fontforge ไม่ยอมให้กำหนด script/language ใน GPOS table เลย ก็เลยต้องยอมให้ sequence สระอิ + นิคหิต ของภาษาบาลี ใช้ได้ในภาษาไทยปกติด้วย (รวมทั้งไม้ไต่คู้บนสระของภาษากุยด้วย)
  • OTF: เพิ่มกฎสำหรับจัดลำดับ glyph ของสระอำเมื่อมีวรรณยุกต์ โดยใช้ chain contextual substitution ต้องใช้วิชามารเล็กน้อยในการแปลงด้วย alternate glyph ของ glyph แต่ละตัว แทนที่จะระบุให้สลับลำดับได้โดยตรง
  • สรุปขั้นตอน + data type ต่างๆ ของ pango OT

26 เมษายน 2547

วันร้อนๆ อีกวันหนึ่ง

เข้าสู่วงจรวันทำงาน อาจจะเป็นรายการแรกที่บันทึกในแบบไดอารี่

  • chat IRC ใน #TLWG ที่ irc.freenode.net กับคุณวีร์สองคน เกือบๆ จะได้ขอแต่งงาน :-P
  • อ่าน manual OpenType, fontforge ต่อ..
  • ลองเอา Tahoma มาแกะ ไม่เห็นมีตารางพวก GPOS, GSUB เหมือนใน spec ของ MS เลย จะมีก็แต่อารบิก --> โยน Tahoma ทิ้ง
  • ลองทำ nested rule จาก 'calt' table ด้วย fontforge แล้ว view ATT ดู.. บ๊ะ เข้าเค้า เป็นอันว่าตัดเชิง ฐ ญ ได้ เปลี่ยนชุดวรรณยุกต์ได้ ส่วนการจัดตำแหน่งสระบน/ล่างและวรรณยุกต์นั่นได้อยู่แล้วจากการใส่ anchor --> เหลือเรื่องสระอำอย่างเดียว
  • เพื่อจะทดสอบฟอนต์ ต้องแก้ pango --> นั่งไล่โค้ดของ indic ว่าเขาทำยังไง โอย ยุ่งเป็นบ้า นั่งตัดโน่นตัดนี่สักพัก เริ่มมึน.. pango manual ก็ดันไม่ update.. วันนี้พอก่อน
  • edit และ post wishlist update 2004-04-26
  • close GNOME Bug #101814 หลังจากที่ commit imxim patch เข้า CVS ไปเมื่อวันก่อน

blog คนรู้จัก

ขอทำ bookmark ไปยัง blog ของคนอื่นๆ ดูลีลาการเขียนของแต่ละคนก็ต่างกันไป นักเขียนข่าวอย่าง mark เขามีบทความเป็นตัวเป็นตนในสื่อแล้ว (อ่านได้ใน homepage ของเขา) blog ของเขาจึงเป็นไดอารี่จริงๆ ส่วนของ bact' ก็มาสไตล์ casual ตามฟอร์ม ส่วนของ อ. กิตติ์ ดูสมเป็น blog ของอาจารย์มากๆ

อันตัวข้าพเจ้านั้น คงเขียนเอาตามแต่จะนึกได้แหละนะ วันไหนเบื่อเขียนโปรแกรมก็มานั่งอ่านหนังสือ แล้วก็ค้นเว็บเอาลิงก์มารวมๆ เก็บไว้ วันไหนมีเรื่องน่าบันทึกก็บันทึก

เอ้าวันจันทร์ซ้ำแล้ว ไม่แคล้วต้องตื่นสาย.. อ้าว ไม่ต้องไปออฟฟิศแล้วนี่หว่า ^_^!

25 เมษายน 2547

ไซอิ๋ว: รามายณะตำรับจีน?

เป็นที่รู้จักกันดี สำหรับเรื่องราวการเดินทางสู่ชมพูทวีปของพระถังซำจั๋งกับสานุศิษย์ โดยเฉพาะเห้งเจียตัวเอกจอมบู๊ของเรื่อง น่าจะเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่เป็นต้นแบบให้กับการ์ตูนต่างๆ มากที่สุด เช่น คอบร้า ดรากอนบอล หรือบางเรื่องก็ดัดแปลงศิษย์เอกทั้งสามแทนผู้ชำนาญทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ เป็นสามเหล่าทัพพอดี

ไซอิ๋วกี่ หรือ ซีโหยวจี้ แปลตามตัวว่า บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก แต่งชึ้นโดยอาศัยเค้าโครงของการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากอินเดียมายังแผ่นดินถังของภิกษุ เหี้ยนจัง แม้การผจญปิศาจของคณะเดินทางจะเป็นเรื่องสนุกสนานปนอิทธิฤทธิ์เทพยดา แต่กลับแฝงไว้ด้วยคติธรรมทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แทรกด้วยเต๋าพอประมาณ

หาก รามายณะ เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม โดยมีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเป็นที่ตั้ง ไซอิ๋ว ตามการวิเคราะห์ของท่าน เขมานันทะ ในหนังสือ เดินทางไกลกับไซอิ๋ว หรือที่ต่อมาตีพิมพ์ใหม่ในชื่อ ลิงจอมโจก ก็เป็นเรื่องของการต่อสู้ ภายใน ของตัวผู้ปฏิบัติธรรมเอง โดยมีพระนิพพานเป็นเป้าหมายสุดท้าย

พระถังซำจั๋ง เป็นตัวแทนของขันติ ม้าขาว คือวิริยะ ส่วนศิษย์อีกสามคนก็คือ ไตรสิกขา โดย เห้งเจีย คือปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไว แต่ซุกซน ต้องคอยบังคับให้ไม่ฟุ้งซ่าน ตือโป๊ยก่าย คือศีล แทนด้วยหมูผู้ตะกละมักมากในกาม ซึ่งต้องบังคับให้อยู่ในทำนองคลองธรรม และ ซัวเจ๋ง คือสมาธิ คอยประคองหาบสัมภาระและระวังหลังให้กับขบวน ปิศาจต่างๆ ที่พบระหว่างทาง คือกิเลส ตัณหา อวิชชาแต่ละชนิดที่คอยมาผจญในระหว่างการปฏิบัติ ต้องเอาชนะให้ได้ เพื่อที่จะไปให้ถึงชมพูทวีป คือพระนิพพาน

มีบางจุดของ ไซอิ๋ว และ รามายณะ ที่คล้ายกัน นอกเหนือจากการมีตัวเอกเป็นลิงเหมือนกัน เช่น การที่เห้งเจียมีอิทธิฤทธิ์ตีลังกาไปถึงไซทีได้ในพริบตา แต่ก็ต้องมาเดินเท้าแรมปีกับพระถัง กับการที่หนุมานสามารถลอบเข้าไปถึงลงกาสืบข่าวนางสีดา และทูลเชิญนางสีดาเสด็จกลับไปพร้อมกันได้ แต่นางสีดาก็ปฏิเสธที่จะมาด้วย โดยให้เหตุผลว่า จะกลายเป็น ยักษ์ลักมาลิงพาไป ซึ่งควรให้พระรามทำสงครามปราบทศกัณฐ์ให้เป็นที่ประจักษ์ในพระเกียรติจะประเสริฐกว่า ส่วนใน ไซอิ๋ว นั้น เหตุผลก็คือ การไปไซทีของเห้งเจีย เป็นเพียงการไปถึงเพียงชั่วแล่นของปัญญาที่สามารถไปถึงได้เป็นครั้งคราว แต่การปฏิบัติเพื่อเอาชนะกิเลสจะให้ผลที่ดับทุกข์ได้ถาวรกว่า

จากแนวคิดเหล่านี้ จึงน่าจะเดาได้ว่า คงไม่มีตำราบริหารองค์กรฉบับไหนยึดเอา ไซอิ๋ว เป็นวัตถุดิบ แต่ถ้าเป็นเรื่องการบริหารตัวเองล่ะก็ ไซอิ๋ว เป็นแหล่งขุมทรัพย์แหล่งหนึ่ง ที่สามารถศึกษาได้อย่างเพลิดเพลิน

เว็บที่น่าสนใจ:

24 เมษายน 2547

อ่านรามเกียรติ์กัน

นานๆ จะมีตำราบริหารที่อ้างอิงจากวรรณคดีไทยมาให้อ่านเสียที ส่วนมากเท่าที่เห็นก็มักจะเป็นเรื่อง สามก๊ก เป็นหลัก ถ้าพูดถึง รามเกียรติ์ อันเป็นวรรณคดีมหากาพย์ รามายณะ ฉบับไทยแล้ว ก็มักจะเขียนออกมาในรูปของการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม โดยเน้นให้ผู้ศึกษาได้ยึดแบบอย่างของความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เห็นแก่เรื่องส่วนตัวเป็นใหญ่ ดังตัวอย่างของพิเภกที่หันไปเข้าร่วมกับฝ่ายพระรามเพื่อความถูกต้อง แม้ฝ่ายที่ทำผิดจะเป็นญาติพี่น้องของตนก็ตาม

แต่ในมุมมองของ รามเกียรติ์: ตำราบริหารฉบับไทย ของ หนอนสุรา แล้ว พิเภกคือจอมทรยศที่ครบเครื่องทั้งศาสตร์หน้าด้าน-ใจดำ โดยมีสุครีพเป็นจอมทรยศอันดับสองของเรื่อง ที่ชักศึกเข้าบ้าน เพื่อปราบพาลีจอมทรราชย์ ถึงกับอัญเชิญพระรามเข้ามาทำรัฐประหาร แล้วยกกองทัพทั้งเมืองเป็นข้าทาสแก่พระราม ทั้งนี้ ทั้งสองมีข้ออ้างเพื่อความชอบธรรมของตนอย่างเดียวกัน คือทศกัณฐ์และพาลีแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์.. เอ้ยไม่ใช่.. คือพระรามเป็นนารายณ์อวตาร ในขณะเดียวกัน หนุมานซึ่งเคยทำราชการกับพาลี ก็คงมีความคับแค้นใจในความพาลของพาลีเช่นกัน จึงได้ลาออกจากราชการไปถือศีลในป่า จนได้พบพระราม แต่วิธีการของหนุมานนั้น แตกต่างจากพิเภกและสุครีพ โดยหนุมานนั้น ไม่ได้หักหลังเจ้านายเก่า แต่จากมาอย่างสงบ การถวายตัวต่อพระรามก็เป็นเหมือนการได้ "งานใหม่" จึงเป็นทางออกที่ไร้ที่ติ

การอ่านเชิงวิเคราะห์เช่นนี้ ทำให้เพิ่มรสชาติการอ่านรามเกียรติ์ขึ้นอีกมาก บทวิเคราะห์อื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้ ช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดมุมกลับมากมาย ได้มุมมองทั้งศิลปะการเป็นเจ้านายและลูกน้อง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้คนไทยหันมาอ่าน รามเกียรติ์ กันมากขึ้น เหมือนที่ตำราบริหารต่างๆ ได้ทำกับ สามก๊ก มาแล้ว

อนึ่ง สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับรามเกียรติ์คือ ความแตกต่างจากรามายณะของอินเดียที่กวีไทยได้สอดแทรกความเป็นไทยเข้าไปอย่างกลมกลืน เช่น หนุมานอินเดียจะประพฤติพรหมจรรย์ แต่ของไทยมีเมียถึง 5-6 คน ซึ่งเป็นการแทรกอารมณ์รักๆ ใคร่ๆ ตามแบบวรรณคดีไทยได้อย่างเหมาะสม โดยพระรามก็ยังมีชายาองค์เดียวเหมือนต้นฉบับ หรือจะเป็นการแต่งเพิ่มตรงนั้นตรงนี้เพื่อไม่ให้เนื้อเรื่องขัดกับค่านิยมของไทย ดังที่ท่าน ศ. ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์ ได้ วิเคราะห์ เอาไว้

หากมีเวลาไม่พอ แต่อยากอ่านเนื้อเรื่องย่อของรามเกียรติ์ (เหมือนผม) ก็มีให้อ่านในเน็ต พอสมควร ครับ

22 เมษายน 2547

BloGTK is Nice

Test posting with BloGTK. ทดสอบการบันทึกโดยใช้ BloGTK

Welcome to Theppitak's blog

This is my first post to my first blog. You may be interested in my home page. สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับสู่เว็บล็อกแรกของผม

hacker emblem