Theppitak's blog

My personal blog.

31 ตุลาคม 2555

My 10 Years of Freelance Life

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 ผมลาออกจากที่ทำงานเก่าเพื่อออกมาทำในสิ่งที่อยากทำในรูปแบบเปิดหมวก จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ครบ 10 ปีเต็มพอดี น่าจะถือเป็นโอกาสพิเศษที่จะเขียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ทำใน 10 ปีที่ผ่านมา

จุดมุ่งหมาย

ผมลาออกจากงานประจำเพราะต้องการอิสระทางความคิด ไม่ต้องการถูกบีบคั้นจากทั้งภายนอกและภายในจนภาระหน้าที่เริ่มนำไปสู่ทางที่ประสิทธิภาพต่ำลง ผมต้องการมุ่งสู่ต้นน้ำเต็มอัตรา ไม่ต้องการถูกถ่วงด้วยงานดูแลดิสโทรและตอบปัญหาเทคนิค รวมถึงการเมืองระหว่างองค์กร ดังนั้น เมื่อมีทีมงานมารับไม้ต่อจากผมแล้ว ผมจึงปลีกตัวออกมาทำในสิ่งที่มุ่งหวัง คือการพัฒนาระบบภาษาไทยบน GNU/Linux กับโครงการต้นน้ำโดยตรง เพื่อให้มีผลในวงกว้างกับผู้ใช้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดิสโทรไหนก็ตาม

ผมสามารถทำตามที่ตั้งใจได้จริง ๆ ตามลายแทงที่ปัจจุบันเก่าและล้าสมัยไปแล้ว แต่สิ่งที่ทำนั้นก็ยังคงตกทอดต่อมาจนปัจจุบัน แม้ดีไซน์ต่าง ๆ ของระบบจะเปลี่ยนไป โดยยังมีงานพัฒนาต่อเติมต่าง ๆ ที่ยังทำเพิ่มได้เรื่อย ๆ ยังมีโครงการต่าง ๆ ที่ LTN ที่ผมยังคงดูแลอยู่จนทุกวันนี้ รวมถึง งานดูแลแพกเกจที่ Debian และ การประสานงานแปล GNOME ที่ไม่มีวันจบสิ้น

สิ่งเหล่านี้ คงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะทำได้ในอัตราขนาดนี้ ถ้ายังคงทำงานเดิมอยู่ แม้จะเป็นงานที่เกี่ยวกับ GNU/Linux โดยตรงก็ตามที

ปัญหา

แต่ก็ไม่ใช่ว่าพอได้อิสระแล้วทุกอย่างจะราบรื่น ปัญหาใหม่ของผมคือการอธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจในสิ่งที่ผมกำลังทำ คนปกติเขาลาออกจากงานก็เพื่อหางานใหม่ทำ แต่ผมลาออกเพราะต้องการเป็นอิสระจากพันธะของงานเหล่านั้น ผมไม่ได้ว่างงาน ผมกำลังทำโครงการ แม้จะเป็นโครงการที่ไม่สร้างรายได้เลี้ยงชีวิต แต่มันก็สร้างคุณค่าหล่อเลี้ยงชีวิตผม ทำให้ผมมีความสุขที่ได้ทำ แต่ผมจะบอกญาติพี่น้องของผมที่เกือบทั้งหมดเป็นวาณิชจีนว่าอย่างไร ในเมื่อสำหรับพวกเขา งานที่มีคุณค่าคืองานที่มีรายได้เท่านั้น?

แม้กับเพื่อนฝูงบางส่วนที่หวังดี ช่วยเสนองานให้ทำ ผมก็รู้สึกซาบซึ้งน้ำใจ เพียงแต่ในบางกรณีไม่ได้เป็นผลดีกับผม เพราะคนปกติที่เขาชวนกันไปทำงานนั้น ก็มักจะมีความคาดหวังในทางธุรกิจ อยากให้เราทุ่มเทให้กับงาน คาดหวังปริมาณงานจากเราเหมือนคนทั่วไป อย่างน้อยก็ไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ทำงาน แต่ปัญหาคือ ผมมีโครงการหลักที่กำลังทำอยู่แล้ว งานที่เสนอมานั้น หากไม่เกี่ยวข้องอะไรกับโครงการผม มันก็คือภาระที่ผมจะต้องแบ่งเวลาไปให้นั่นเอง แล้วงานนั้นก็ค่อย ๆ ครอบงำเวลาของผม จนไม่สามารถทำโครงการที่ตั้งใจไว้ ทำให้ในที่สุดก็ต้องปลีกตัวออกมา เรื่องนี้หากเพื่อนไม่เข้าใจ ก็จะเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์เหมือนกัน

แต่ก็มีบ้างเหมือนกัน ที่ผมเป็นฝ่ายเกรงใจเสียเอง คือเขาเข้าใจผมดี ยอมให้ผมทำงานแบบผ่อนแรงได้ แต่ผมก็จะเกรงใจเพื่อนร่วมงาน และเกรงใจผู้ว่าจ้างที่ทำงานไม่คุ้มค่าจ้าง ก็เป็นกรณีที่ต่างออกไป

ดังนั้น งานที่ผมดูจะสบายใจที่จะรับมากที่สุด คืองานแบบเป็นจ๊อบ มีกำหนดแล้วเสร็จแล้วก็จบ เพราะผมจะสามารถทุ่มเวลาให้ได้ในระยะสั้น เมื่องานจบแล้ว ผมก็สามารถกลับมาทำโครงการของผมต่อ หรืองานอีกลักษณะหนึ่งคือการว่าจ้างให้ทำในสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่เสียเลย ซึ่งก็มีมาจากหน่วยงานรัฐบ้างเหมือนกัน การ donate ก็ถือว่าเข้าข่ายนี้เหมือนกัน

ปัญหาอีกแนวหนึ่ง คือเรื่องจังหวะเวลา ซึ่งทำให้ผมนึกถึง Murphy's Law บ่อย ๆ คือจังหวะที่งานชุกก็ชุกเอามาก ๆ จนไม่สามารถแบ่งเวลาได้ จนต้องปฏิเสธงานบางงานไป (ไม่ได้หยิ่งนะคร้าบ) แต่จังหวะที่ว่างก็ว่างจนไม่มีอะไรให้ทำ ซึ่งจังหวะนี้ไม่เป็นปัญหาเท่าไร เพราะสามารถหยิบเอาโครงการของผมขึ้นมาทำต่อได้ เพียงแต่ต้องบริหารการใช้จ่ายให้ดีหน่อย

จุดเปลี่ยนในการทำงาน

ในช่วงแรกที่ทำงานนั้น แม้จะมีความสุขที่งานเดินหน้าเร็วขึ้นมาก แต่ด้วยแรงกดดันจากทางบ้าน ทำให้ต้องมาเครียดเรื่องการหารายได้เหมือนกัน เพราะไม่มีใครยอมรับงานที่ไม่มีรายได้ ตรงนี้ทำให้มีปัญหาทั้งการถกเถียงกับทางบ้าน ทั้งการเข้าสมาคมกับญาติ ๆ อารมณ์ผมจึงสลับไปมาระหว่างโลกสองใบ คือโลกแห่งความจริง กับโลกแห่งความฝัน ที่ดูไม่มีวันมาบรรจบกันได้

จุดพลิกผันของสภาวะนี้ ก็คือการได้เป็น Debian Developer ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการได้ไปร่วมงาน Ubuntu Localisation Sprint ที่ลอนดอนเมื่อปี 2549 ได้เจอ Debian Developer ระดับบิ๊กถึง 3-4 คน ซึ่งได้ถามว่าผมสนใจจะเป็น DD หรือเปล่า เขายินดีสนับสนุน ผมตอบ yes แล้วก็เลยสมัครตอนนั้นเลย จากนั้นก็ใช้เวลาผ่านกระบวนการอีก 3 ปีจนสำเร็จเป็น DD ซึ่งพอได้เป็นแล้ว ผมก็ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยเอา แผนที่ DD ไปให้คนที่บ้านดู บอกว่าจุดเดียวโด่เด่ตรงขอนแก่นนั่นน่ะ คือผมเอง (ที่จริง แผนที่ GNOME contributor ก็น่าจะพอได้ ถ้าไม่ติดว่าแม่ผมไม่ชอบส้นตีน GNOME) บางครั้งการรู้จักโม้ก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน ทำให้ทางบ้านยอมรับงานที่ผมทำมากขึ้น ยอมให้ผมทำโดยไม่ขัดขวางแล้ว โลกสองใบมาบรรจบกันได้ก็ตอนนี้เอง

แต่ก็ยังไม่ใช่ happy ending นะครับ เพราะหลังจากนั้น กลับมีเหตุให้ภาระในครอบครัวมีเพิ่มขึ้น หลังจากที่พ่อผมป่วยฉุกเฉินต้องเข้าโรงพยาบาลหลายครั้ง สลับกับแม่หกล้มข้อมือเคล็ดอีก (กล่าวคือ ผมต้องทำงานบ้านแทนแม่ทั้งหมด) พอแม่เริ่มหายดี ก็เจอวิกฤติน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลานชายต้องย้ายโรงเรียนมาเรียนขอนแก่น ผมก็กลายเป็นผู้ปกครองจำเป็นมาได้ปีเศษ ๆ แล้ว เวลาทำงานก็ถูกจำกัดด้วยความจำเป็น แต่ก็ไม่เครียดมากเท่าตอนที่ยังมีความขัดแย้งทางความคิด

ปัจจุบัน แต่ละวันในหนึ่งอาทิตย์ ผมต้องแบ่งให้งานและหน้าที่ต่าง ๆ จึงทำให้มีเวลาทำงานน้อยลง งานแต่ละชิ้นคืบหน้าไปอย่างละนิดละหน่อย ถึงจะช้าแต่ก็ยังไม่ถึงกับหยุด เพียงแต่ไม่สามารถรับมือกับงานที่มีภาวะวิกฤติใด ๆ ได้

สรุป

งานพัฒนาซอฟต์แวร์เสรีอาจมีช่องทางทำรายได้มากมาย แต่งานที่จะทำแบบเสรีจริง ๆ อย่างที่ผมทำยังต้องฟันฝ่าอะไรพอสมควร งานคู่ขนานที่สร้างรายได้นั้น ต้องการความเข้าใจของผู้ว่าจ้างในเรื่องการใช้เวลา รูปแบบที่เหมาะที่สุดคือจ้างเป็นจ๊อบ วัฒนธรรมการ donate ก็ช่วยได้มาก เพราะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของนักพัฒนา ทำให้มีเวลาทำงานพัฒนาได้เต็มที่ยิ่งขึ้น เรื่องครอบครัวนั้นก็จำเป็นต้องมี milestone บางอย่างที่จะทำให้เขายอมรับ เพราะคนไทยจำนวนมากที่ผมพบยังคงเชื่อว่า ขึ้นชื่อว่าทำงานกับลินุกซ์แล้วคือไม่ได้เงิน สำหรับกรณีผมซึ่งพื้นฐานครอบครัวเป็นนักการค้า ถ้าปิดทองหลังพระมากเกินไปก็จะมีปัญหาเรื่องครอบครัวไม่ยอมรับได้

เป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันผมค่อนข้างอยู่ตัวแล้วกับรูปแบบการดำเนินชีวิต แม้จะมีภาระในครอบครัวคอยเหนี่ยวรั้งบ้าง แต่ก็ยังคืบหน้าต่อไปได้ภายใต้ข้อจำกัด

ป้ายกำกับ:

8 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem