Theppitak's blog

My personal blog.

29 สิงหาคม 2552

How Translation is in need

GNOME 2.28 string freeze แล้ว ได้เวลามาคิดเกี่ยวกับเรื่องแปลอีกแล้ว

ผมเคย blog ไว้ ว่า จะลดบทบาทงานแปลใน GNOME ลง ให้เหลือเพียงการประสานงาน (ตรวจทานและ commit และ maintain เล็ก ๆ น้อย ๆ) เท่านั้น โดยไม่ลงมือแปลเองให้มากเหมือนเมื่อก่อน เพราะต้องการเวลาไปทำงานพัฒนาส่วนที่เป็น coding ที่เคยเป็นงานหลักของผมบ้าง

จากนั้น ก็ได้เขียนถึง แง่คิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการแปลซอฟต์แวร์ เพื่อความชัดเจนว่าการวางมือของผมไม่ใช่การไม่เห็นด้วยกับการแปล และตามด้วย ทักษะที่จำเป็นสำหรับงานแปล ซึ่งผมได้พยายามอธิบายถึงการควบคุมคุณภาพงานแปล เพื่อให้ได้คำแปลที่ผู้ใช้เข้าใจง่าย ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้าม และไม่ให้ความสำคัญตามที่มันสมควรจะได้รับ

เรื่องการปล่อยมือจากงานแปล ก็ทำให้ผมมีเวลาไปให้ความสนใจกับงานพัฒนา ตามที่ได้ blog มาเป็นระยะ ๆ แล้ว และสำหรับ GNOME 2.28 (ทั้ง UI และ doc) นี้ ผมก็พยายามจะทำตามที่ตั้งใจไว้ คือไม่ลงมือแปลเอง ยกเว้นกรณีขาดเล็กขาดน้อย แต่ยินดีรับคำแปลที่นักแปลส่งมาให้

เรื่องประเด็นว่างานแปลจำเป็นแค่ไหน ผมเองยังมีความรู้สึกว่า ผู้ใช้คนไทยส่วนใหญ่ที่ผมพบ จะไม่เปิดใช้คำแปลไทยกัน และผมก็เคยพยายามอธิบายให้ฝรั่งฟังตอนที่ถกหาทางออกเรื่อง โลโก้ของ GNOME โดยมีแนวคิดให้ localize โลโก้ตามภาษาของข้อความ ว่าสำหรับเมืองไทยอาจใช้ไม่ได้ เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังชอบใช้เมนูอังกฤษอยู่ แม้ว่าทักษะภาษาอังกฤษโดยเฉลี่ยของประชากรจะยังไม่สูงนักก็ตาม และการใช้เมนูอังกฤษ ก็ไม่มีอะไรสัมพันธ์กับความชอบหรือไม่ชอบส้นตีน

ต่อมา GNOME เขาก็มี การสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้ GNOME ก็ปรากฏว่าสำหรับคนทั้งโลกแล้ว ประมาณ 70% จะใช้โปรแกรมในภาษาของตัวเอง อีก 30% ที่เหลือจึงจะใช้เมนูที่ไม่ใช่ภาษาตัวเอง (หมายความว่า ผู้ที่พูดภาษาอังกฤษเปิดโปรแกรมภาษาอังกฤษ จะนับรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้ที่พูดภาษาไทยเปิดโปรแกรมฉบับแปลไทย ดังนั้น ตัวเลข 30% จึงเป็นการนับผู้ใช้ที่พูดภาษาอื่นแต่ยังเปิดโปรแกรมเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น โดยอาจเป็นไปได้ที่จะนับรวมคนที่เปิดโปรแกรมฉบับแปลเป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ทั้งภาษาพูดของตนและภาษาอังกฤษบ้าง แต่คงมีน้อย :P)

อันนั้นผมยังคิดว่าเป็นพฤติกรรมโดยรวมของประชากรโลก ยังไม่ใช่ของคนไทย ก็เลยลองเปิด โพลล์ ที่ debianclub ดู โดยในขณะที่เขียน blog นี้ มีผู้ลงมติ 292 ราย โดย 67% จะเปิดใช้เมนูไทย

นี่เป็นการสุ่มแบบหยาบ ๆ ที่อาจจะเป็นแค่กลุ่มตัวอย่างเล็ก ๆ แต่ก็พอทำให้เห็นภาพที่ขัดกับสิ่งที่ผมเคยเชื่อเอาเองตามความรู้สึก คือมีคนที่ใช้ซอฟต์แวร์ฉบับแปลมากกว่าที่ผมคิดไว้

เป็นอันว่าผมคงเอาไปอ้างกับฝรั่งไม่ได้อีกแล้ว ว่าคนไทยส่วนใหญ่เปิดเมนูอังกฤษ เพราะผลสำรวจไม่เหมือนกับที่คิดไว้ แต่โพลล์นี้ไม่ได้มีเจตนาจะเอามาสนับสนุนความจำเป็นของงานแปล เพราะแม้จะไม่มีโพลล์นี้ ผมก็ยังคงคิดว่างานแปลสำคัญอยู่นั่นเอง ตามที่ได้ว่าไปแล้วใน blog ก่อน ๆ

ป้ายกำกับ: , ,

1 ความเห็น:

  • 29 สิงหาคม 2552 เวลา 16:48 , Blogger Beamer User แถลง…

    จากข้อมูลเรื่องกล้อง SLR หรือการทำเว็บเอง แม้คนที่อ่านภาษาอังกฤษได้แตกฉาน ก็ยังชอบที่จะศึกษาข้อมูลจากคู่มือภาษาไทยหรือเว็บภาษาไทยมากกว่า (ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะไม่อ่านคู่มือภาษาอังกฤษนะ)

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem