Theppitak's blog

My personal blog.

02 มีนาคม 2552

Some Thoughts on Translation

blog ที่แล้ว ผมเขียนถึงการตัดสินใจลดบทบาทงานแปลของตัวเองลง โดยเว้นที่จะลงรายละเอียดเรื่องเนื้องาน เพราะไม่อยากพูดหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ประเด็นสับสน ก็ขอมาพูดเพิ่มเติมใน blog นี้

งานแปลนั้น ที่ผ่านมาก็ได้เจอแนวคิดจากหลายคนเรื่องจะแปลหรือไม่แปลดี ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้เจอเฉพาะภาษาไทย ภาษาอื่น ๆ เขาก็เจอ จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ลองประมวลแนวคิดต่าง ๆ ก็เช่น

pros

  • ลด digital divide ยังมีผู้ใช้อยู่มากที่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ สำหรับเด็กประถมที่เพิ่งหัดอ่าน ก ข ก กา นี่ยังถือว่าก้ำกึ่ง เพราะแม้เด็กจะรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษน้อย แต่ความเป็นเด็กก็ยังพอลองผิดลองถูกในแนวทางของเด็กได้ อีกทั้งงานที่เด็กใช้ก็ยังไม่วิกฤตมาก แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือผู้อาวุโสที่ในรุ่นของท่านยังไม่ได้เน้นเรียนภาษาอังกฤษมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หรือแม้แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ตาม มีบางสาขาวิชาที่ไม่เคยต้องอ่านตำราภาษาอังกฤษเลย แต่ต้องมาทำงานรูทีนที่ต้องแข่งกับเวลา การมีภาษาไทยเป็นทางเลือก จึงเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คนกลุ่มนี้
  • กระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) ในส่วนเจาะกลุ่มท้องถิ่น พร้อม ๆ กับกระแสที่ทำให้ทั้งโลกเริ่มทำอะไรเหมือน ๆ กันหมด แต่โลกาภิวัตน์ก็มีแนวคิดเรื่องการปรับให้เข้ากับท้องถิ่นด้วย เช่น แมคโดนัลด์ก็มีสูตรกะเพราไก่ หรือจะเป็นเรื่องบังคับอย่างรถยนต์ที่ทำสำหรับประเทศที่วิ่งถนนเลนซ้าย-เลนขวา ซอฟต์แวร์ก็เช่นกัน แนวคิดโลกาภิวัตน์นี้เองที่ทำให้ซอฟต์แวร์เกิดแนวคิด internationalization (I18N) วินโดวส์เลิกทำ Thai Edition, Chinese Edition แล้วเริ่มใช้ I18N มาตั้งแต่ Windows 95 ก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจาะกลุ่มท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดนี้ ก็คือการปรับตัวในทิศทางย้อนกลับ จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับส่วนกลาง โลกาภิวัตน์ก็กลับทิศเสียใหม่ ด้วยการให้ส่วนกลางปรับตัวเข้าหาท้องถิ่นด้วย เพื่อความครอบคลุมให้กว้างที่สุด กระแสนี้ทำให้ภาษาท้องถิ่นเริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้น คนในยุคโลกาภิวัตน์จึงรู้สึกเท่าเทียมกันมากขึ้นในแง่ภาษา การแปลภาษาจึงเป็นการสะท้อนการตระหนักในความสำคัญของภาษาตนเองอย่างหนึ่ง ท่ามกลางโลกที่ทุกประเทศต่างพร้อมแสดงท่าทีนี้
  • เพิ่มความเป็นที่รู้จักของภาษาไทย การที่ภาษาไทยมีการแปลจนขึ้นทำเนียบ supported language นั้น ทำให้ระดับความใส่ใจในการรองรับภาษาไทยของนักพัฒนาส่วนกลางดีขึ้น อันที่จริงแล้ว ในช่วงเริ่มแรกนั้น เราจำเป็นต้องพยายามต่อสู้เอาเองเพื่อให้ได้มาซึ่งการรองรับในระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ใน rendering engine และ input method แล้วจึงเริ่มแปลได้ แต่เมื่อแปลแล้ว และ GNOME ได้ประกาศใน release notes ว่าภาษาไทยเป็น supported language แล้ว การร้องขอในเรื่องอื่น ๆ ที่สูงขึ้นไป เช่น การตัดคำ หรือการแก้ปัญหาทั่วไป ก็ย่อมได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น หรือแม้แต่ทาง Mozilla ก็เช่นกัน กว่าที่เขาจะรับคำแปลของเราได้ เขาก็ต้องแน่ใจว่าภาษาไทยมีการรองรับโดยพื้นฐานดีพอสมควร แต่การแปลก็ทำให้เกิดความคุ้นเคยบางอย่าง ที่ทำให้เราไม่ต้องรอ check-in แพตช์เป็นปี ๆ เหมือนเมื่อก่อน การแปลเป็นการส่งสัญญาณที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง ว่ามีความต้องการใช้ภาษาไทยเพียงใดในซอฟต์แวร์ของเขา

cons

  • ทำให้เด็กไม่กระตือรือร้นเรียนภาษาอังกฤษ แม้ภาษาท้องถิ่นจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ แต่เวลาที่ติดต่อกับชาวต่างประเทศ ภาษาอังกฤษก็ยังเป็นภาษาที่สะดวกที่สุดอยู่ดี ดังนั้น การแปลข้อความจึงมีผลด้านลบต่อการพัฒนาประเทศ ในแง่ที่ทำให้ประชากรขาดแรงจูงใจ หรือเครื่องมือช่วย ในการเรียนภาษาอังกฤษไปเรื่องหนึ่ง ประเด็นนี้มีนัยสำคัญพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่เด็กจบใหม่จำนวนมากอ่อนภาษาอังกฤษ หลังจากมีตำราแปลออกมามากมาย การตอบถามปัญหาตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ จะเริ่มยุ่งยาก เมื่อผู้ถามต่างเรียกร้องแต่คำตอบภาษาไทย แนะนำลิงก์คำอธิบายภาษาอังกฤษก็โอดครวญ
  • แปล doc ดีกว่า อันนี้เป็นบทเสริมของข้อที่แล้ว คือมีบางความเห็น เห็นว่าไม่ควรแปลโปรแกรม แต่แปลเอกสารกับ help ดีกว่า เพื่อช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยีง่ายเข้า
  • ทำให้ผู้ใช้ไทยไม่ใช้โลแคลไทย อันนี้เป็นประเด็นตรงกันข้าม คือเกิดจากผู้ใช้ที่นิยมใช้ UI ภาษาอังกฤษมากกว่าฉบับแปล ..ชอบดูหนังซาวนด์แทร็ก ว่างั้น.. ทำให้เวลาติดตั้งและเข้าระบบ ก็จะเลือกโลแคล en_US ไว้ก่อน ซึ่งผลก็คือ ทำให้ไม่ได้ใช้ส่วนรองรับภาษาไทยที่ขึ้นกับโลแคล เช่น input method และเรื่องอื่น ๆ ที่อาศัยโลแคลเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจของโปรแกรม ทำให้การพัฒนาต่าง ๆ เรื่องภาษาไทย แทบจะสูญเปล่า เรื่องนี้ผมก็เคย blog ไว้

ความเห็นของผมเป็นดังนี้:

  • ใน blog เรื่องผมเข้าร่วมทีมแปลได้ยังไง ผมได้เล่าไว้ว่า ก่อนที่จะร่วมทีมแปลนั้น ผมไม่เคยเปิดใช้ภาษาไทยเลยเหมือนกัน แต่หลังจากไปเจอกรณีลูกค้าที่ยอมใช้ลินุกซ์ แต่ต้องใช้เมนูภาษาไทย เพราะเขาไม่คล่องภาษาอังกฤษ และต้องการความรวดเร็วในการทำงาน ทำให้ผมต้องเปิดใช้คำแปลภาษาไทยเป็นครั้งแรก และได้รับคำติมามากมายเกี่ยวกับคำแปลที่ขาด ๆ โบ๋ ๆ และใช้ภาษาตลก ๆ ในหลายที่ในตอนนั้น จนนำมาสู่การรายงานปัญหากับทีมแปล และร่วมแปลในแพกเกจที่เจอปัญหา นั่นก็เป็นหลักฐานหนึ่งที่ผมปฏิเสธไม่ได้ ว่า ความต้องการโปรแกรมที่แปลไทยนั้น มีอยู่จริง
  • ก่อนที่จะพบกรณีนั้น ผมไม่เคยคิดจะแตะต้องงานแปลเลย เพราะต้องการเน้นงานพัฒนามากกว่า แต่เมื่อได้เปิดใช้เมนูไทยแล้ว ก็พบว่า โปรแกรมที่แปลไม่สมบูรณ์นั้น ให้ความรู้สึกแย่ยิ่งกว่าไม่แปลเลยเสียอีก เพราะจะรู้สึกได้ถึงความไม่เนี้ยบเป็นเนื้อเดียวของเมนูและกล่องโต้ตอบต่าง ๆ ดังนั้น แม้จะไม่พูดถึงว่าควรแปลหรือไม่ แต่ถ้าได้เริ่มแปลแล้ว ควรแปลให้สมบูรณ์
  • ประเด็นเรื่องไม่แปลโปรแกรมแต่แปลเฉพาะ help นั้น จะขัดแย้งกันเองในทางปฏิบัติ เพราะโดยทั่วไป วิธีทำงานที่ดีคือ แปลโปรแกรมให้เสร็จ แล้วจึงแปล help เพราะ help จะอ้างถึงเมนู กล่องโต้ตอบต่าง ๆ รวมทั้งภาพหน้าจอตัวอย่าง ถ้าในภายหลังมีการแปลโปรแกรม คุณก็จะต้องไล่แก้ help ทั้งหมดให้ใช้ข้อความตามโปรแกรมด้วยอยู่ดี การที่จะลดความซ้ำซ้อนของงาน จึงควรทำในลำดับกลับกันมากกว่า
  • เรื่องการไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษนั้น ผมเห็นด้วยพอสมควร แต่ผมเชื่อว่า การให้ทางเลือกน่าจะดีกว่าอยู่ดี เพราะในบางกรณีเราก็บังคับใช้แต่ภาษาอังกฤษไม่ได้จริง ๆ และเมื่อรวมกับเรื่องผู้ชอบใช้โปรแกรมฉบับไม่แปล ผมก็เห็นว่ายังมีผู้ใช้ที่พยายามจะใช้ภาษาอังกฤษอยู่ดี เพียงแต่จุดบอดของเรื่องนี้ก็คือ ยังขาด UI ที่ดี ในการเลือกภาษาโปรแกรมโดยไม่กระทบกับโลแคลหมวดอื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้ ออกจะ convince นักพัฒนายากสักหน่อย เพราะประเทศพัฒนาแล้ว เขานิยมใช้โปรแกรมฉบับแปลกันเป็นหลัก และเขาก็ถูกทำให้เชื่อในเรื่อง digital divide อย่างฝังลึก เราต้องทำให้เขาเชื่อ ว่าประเทศกำลังพัฒนายังคงต้องการใช้โปรแกรมภาษาอังกฤษอยู่ ก่อนที่จะอภิปรายถึงทางออกต่าง ๆ ต่อไป จุดนี้ ผมคิดว่าจะพยายามหาทางแก้ดู

ในฐานะที่ผมไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มการแปล GNOME ผมจึงไม่สามารถพูดแทนกลุ่มผู้ริเริ่มได้ ผมพูดได้เพียงว่า งานแปลนั้นต้อง all-or-none ถ้าได้เริ่มแล้ว ต้องทำให้จบ ไม่งั้นก็ไม่ต้องทำเลย แต่ถ้าถามว่าผมเห็นด้วยไหมที่เขาเริ่ม ผมชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียและทางออกต่าง ๆ ก็คิดว่าเห็นด้วย

สุดท้าย ก็ขอสรุปลักษณะต่าง ๆ เกี่ยวกับงานแปลในทัศนะของผม:

  • งานแปลที่ดี ถ้าได้เริ่มแล้ว ต้องทำให้สมบูรณ์
  • งานแปล เป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จ ตราบใดที่ซอฟต์แวร์ยังมีการพัฒนาอยู่ งานแปลก็ยังต้องทำควบคู่ต่อไป
  • งานแปล เป็นงานที่มีแรงจูงใจเชิงพาณิชย์ต่ำมาก ดังนั้น สมมุติฐานในทฤษฎีโอเพนซอร์สที่อ้างถึง selfish agent ในระบบทุนนิยม ที่เป็นแรงกระตุ้นให้นักพัฒนาสร้างงานออกเผยแพร่แบบโอเพนซอร์สนั้น แทบจะใช้ไม่ได้กับงานแปลเลย งานแปลสามารถขาย service ได้ไหม? ยากครับ แค่จะมีใครยอมใช้โปรแกรมฉบับแปลยังสงสัยกันอยู่ มีใครยอมควักกระเป๋าจ่ายเพื่อให้ได้ฉบับแปลก่อนคนอื่น หรือให้ได้คำแปลในแบบฉบับที่ต้องการไหม? ยากครับ อย่างมาก งานแปลก็เป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในโครงการที่ใหญ่กว่าเท่านั้น ชื่อเสียงในวัฒนธรรมแฮกเกอร์เหรอ? เมินซะเถอะ แค่แปลโปรแกรมนี่นะ? งานแปลจึงเป็นงานที่นอกจากจะหนักแบบมาราธอนแล้ว ยังต้องอาศัยใจอย่างมากด้วย

งานแปลที่เป็นทีมเล็ก ๆ แปลกันไม่กี่คน จึงเป็นทีมที่ขาดความยั่งยืนครับ มันจะตายในไม่ช้า จนกว่าจะมีผู้เสียสละเข้ามาช่วยอุ้มมันต่อ

ป้ายกำกับ: ,

22 ความเห็น:

  • 3 มีนาคม 2552 เวลา 08:31 , Blogger udomsakc แถลง…

    เจ๋งพี่ ขอบคุณครับ ;)

     
  • 3 มีนาคม 2552 เวลา 16:26 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    ทำให้เด็กไม่กระตือรือร้นเรียนภาษาอังกฤษ แม้ภาษาท้องถิ่นจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ แต่เวลาที่ติดต่อกับชาวต่างประเทศ ภาษาอังกฤษก็ยังเป็นภาษาที่สะดวกที่สุดอยู่ดี ดังนั้น การแปลข้อความจึงมีผลด้านลบต่อการพัฒนาประเทศ ในแง่ที่ทำให้ประชากรขาดแรงจูงใจ หรือเครื่องมือช่วย ในการเรียนภาษาอังกฤษไปเรื่องหนึ่ง ประเด็นนี้มีนัยสำคัญพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่เด็กจบใหม่จำนวนมากอ่อนภาษาอังกฤษ หลังจากมีตำราแปลออกมามากมาย การตอบถามปัญหาตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ จะเริ่มยุ่งยาก เมื่อผู้ถามต่างเรียกร้องแต่คำตอบภาษาไทย แนะนำลิงก์คำอธิบายภาษาอังกฤษก็โอดครวญ

    เป็นเรื่องที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก ว่าการแปลทุกอย่างเป็นไทยแล้วจะทำให้เด็กไทยไม่ขวนขวายเรียนภาษาอังกฤษ

    ในทางกลับกัน การมีตำราหรือสิ่งต่าง ๆ ที่แปลเป็นภาษาไทยเยอะ ๆ กลับกลายเป็นเรื่องที่ดี ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตำรา Z80 ที่ดีที่สุดคือตำราภาษาไทยของ อ. ยืน ตำรากราฟฟิคที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย คือหนังสือภาษาไทย ฯลฯ ผมเห็นหลายคนแล้วที่ยืนพื้นกับตำราภาษาไทยเหล่านั้นแล้ว เก่งระดับเซียน

    ในทางวิชาชีพแล้ว ถ้าพื้นฐานไม่ดี ต่อให้เก่งภาษาอังกฤษระดับเทพ ก็ไม่สามารถไปต่อได้ การไม่มีตำรา คู่มือ หรืออื่น ๆ ที่เป็นภาษาไทยระดับพื้นฐานเลย ทำให้วิชาการ ความสามารถ กระจุกอยู่กับคนกลุ่มเดียว ที่อาจจะเก่งหรือไม่เก่งก็ได้ แต่เก่งภาษาอังกฤษ
    ประเทศ เช่น เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น จีน เกาหลี หลาย ๆ ประเทศในตะวันออกกลาง ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่ดี ที่เจริญได้โดยไม่ต้องพึ่งภาษาอังกฤษ เมื่อใดก็ตามที่ต้องการใช้ภาษาอังกฤษจริง ๆ ค่อยไปเรียนเพื่อใช้งาน

    คนที่ชาตินี้ไม่จำเป็นต้องติดต่อกับชาวต่างชาติเลย จะไปให้เขาเรียนภาษาอังกฤษทำไม ในเมื่อสุดท้ายเขาอาจจะไปตายอยู่ที่ฝรั่งเศสก็ได้

     
  • 3 มีนาคม 2552 เวลา 17:35 , Blogger Thep แถลง…

    ประเด็นของคุณ Sudchai น่าสนใจมากครับ ผมขอแยกตอบเป็นสองประเด็นนะครับ

    ประเด็นแรกคือผมคัดค้านการแปลตำราหรือเปล่า? ผมไม่คัดค้านครับ เรื่องนี้ผมลืมเขียนถึง เนื่องจากเนื้อหา blog มันยาวมากแล้ว แนวคิดที่อยู่ในใจที่ไม่ได้เขียน คือการแปลนั้นมีผลต่อเด็กจริง ผมเห็นด้วย (จะอธิบายในประเด็นถัดไป) แต่ ผมคิดว่าอยู่ที่การส่งเสริมทางอื่นด้วย เราสามารถให้ทางเลือกเป็นเนื้อหาภาษาไทยและอังกฤษได้ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ได้เข้าถึงเนื้อหาในแบบที่ตนชอบได้ แต่ผู้ใช้ที่ขวนขวายจะใช้ภาษาอังกฤษก็จะเลือกได้เอง และถ้าเราอยากให้เด็กใช้ภาษาอังกฤษ ก็สอนเขาได้ แต่ไม่ใช่ถึงกับตัดทางเลือกเขาไปเลย

    ส่วนประเด็นที่สอง คือเรื่องผลกระทบต่อเด็ก.. เรื่องนี้ผมยืนยันว่ามีผลจริง จากการได้พบเด็กทั้งในเว็บบอร์ด ทั้งในชีวิตจริง เวลาที่ชี้ให้ไปดูเอกสารหรือตำราที่เป็นภาษาอังกฤษ จะได้ยินเสียงโอดครวญมาทันที ว่าภาษาไทยไม่มีเหรอ? ขอภาษาไทยด้วย บางคนถึงกับเลยเถิดไปว่า การอ่านเท็กซ์บุ๊คเป็นเรื่องของคนสมัยเก่า ที่ยังไม่มีตำราแปลออกมามากมาย

    แต่อย่าลืมว่า content ที่เป็นภาษาไทยนั้น ยังมีอย่างจำกัดมาก เทียบง่าย ๆ ว่าถ้ามีปัญหาการใช้ลินุกซ์ขึ้นมา คนที่ค้นกูเกิลแล้วอ่านภาษาอังกฤษได้ ย่อมมีโอกาสพบคำตอบสูงกว่าคนที่อ่านเฉพาะภาษาไทยมาก คนที่รู้จักค้นตำราภาษาอังกฤษ ก็มีโอกาสได้รับข้อมูลที่กว้างขวางกว่าคนที่อ่านแต่ตำราไทยมากเช่นกัน และถ้าเด็กยอมรับกับคำตอบที่อธิบายเป็นภาษาอังกฤษได้ เขาก็จะมีโอกาสแก้ปัญหาของตัวเองได้ง่ายกว่าคนที่เรียกร้องแต่ภาษาไทยมาก เรื่องนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีการติดต่อกับต่างชาติก็ได้ครับ ตอนเขียน blog ผมก็ตกหล่นประเด็นนี้ไป เพราะพยายามไม่ให้ blog ยาวเกินไปน่ะครับ

    การที่คุณยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จโดยไม่พึ่งภาษาอังกฤษนั้น ก็มาสนับสนุนเรื่องที่ผมตั้งข้อสังเกตตอนท้าย ๆ พอดี ว่าประเทศพัฒนาแล้ว เขานิยมใช้ฉบับแปลกัน แต่ประเทศกำลังพัฒนา ยังจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษอยู่ ทั้งนี้เพราะประเทศเหล่านั้นเขามี content ในภาษาของเขามากเพียงพอ ในขณะที่ประเทศเรายังต้องพึ่งพาเนื้อหาจากต่างประเทศมาก เป็นเหตุให้ยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่นิยมใช้อะไร ๆ ที่เป็นฉบับแปลไทย อันนี้ถือเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนา

    เพราะฉะนั้น ผมจึงเห็นว่าการมีทางเลือกเป็นสิ่งที่ดี ทางหนึ่ง ทำให้คนที่อยากใช้ภาษาอังกฤษก็ได้ใช้ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีทางเลือกสำหรับการส่งเสริมวัฒนธรรมการแปล หรือการสร้าง content ในภาษาท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรในประเทศที่เร็วขึ้น

    สุดท้าย ผมยังยืนยันอยู่ดี ว่าแม้เราจะพัฒนา content ภาษาท้องถิ่นจนเพียงพอแล้ว เราก็ยังต้องส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอยู่ดี เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับโลกภายนอกครับ

     
  • 4 มีนาคม 2552 เวลา 12:53 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    ``การแปลเป็นการส่งสัญญาณที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง ว่ามีความต้องการใช้ภาษาไทยเพียงใดในซอฟต์แวร์ของเขา'' <-- น่าจะปรับความเข้าใจให้เขาซะใหม่, ว่าความต้องการใช้ภาษาไทย อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับความต้องการคำแปลภาษาไทยเลย ก็ได้.

    ``ถ้าในภายหลังมีการแปลโปรแกรม คุณก็จะต้องไล่แก้ help ทั้งหมดให้ใช้ข้อความตามโปรแกรมด้วยอยู่ดี'' <-- ข้อความ ui ใน help สามารถติดเป็นตัวแปรไว้ ได้ไหม?
    จะได้ไม่ต้องไล่แก้ทีหลัง.
    อีกอย่าง ถ้าตอนหลังคำแปลเปลี่ยน ก็ไม่ต้องไล่แก้ help อีก.

    ``ประเทศ เช่น ... เป็นตัวอย่างที่ดี ที่เจริญได้โดยไม่ต้องพึ่งภาษาอังกฤษ'' <-- ประเทศเหล่านี้เขามีเทคโนโลยีของตนเอง เขาผลิตองค์ความรู้ด้วยตนเอง และ เขียนตำราด้วยตนเอง ไม่ต้องไปแปลตำราใครมา ก็เลยเจริญได้โดยไม่พึ่งภาษาอังกฤษ รึเปล่า?


    ปล. พอคุณ thep คุ้นเคยกับ thai ui มากๆ เข้าแล้ว, ประสบความลำบากในการใช้ english ui ไหมครับ?
    ความคล่องตัวในการใช้ english ui ลดลงไปไหมครับ?

    ----
    อานนท์

     
  • 4 มีนาคม 2552 เวลา 14:31 , Blogger Thep แถลง…

    มีหลายวิธีครับ ที่จะบอกเขา เราจะเลือกวิธีอื่นก็ได้ แต่การแปลข้อความ ถือเป็นการสร้างความคุ้นเคยที่เร็วที่สุดวิธีหนึ่งครับ

    help ใส่ตัวแปรไม่ได้ครับ ใช่ครับ ถ้าเปลี่ยนคำแปลในโปรแกรม ก็ต้องไล่แก้ help เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การแปล help จึงมักจะอยู่ในขั้นท้าย ๆ ของงานแปล รอให้แน่ใจว่าทุกอย่างอยู่ตัวแล้วถึงแปล ที่แน่ ๆ คือ การเริ่มแปล help ก่อนจะมีปัญหาในระยะยาวครับ

    เรื่อง UI ไทย-อังกฤษ ผมเคยใช้มาทั้งสองภาษา ก็ไม่รู้สึกว่าความคล่องตัวจะลดลงครับ

     
  • 4 มีนาคม 2552 เวลา 18:24 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    คนไทย ภาษาไทยควรจะเป็นภาษาที่ดีที่สุดในการสื่อสาร ส่วนคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษก็ควรจะเรียนภาษาอังกฤษ

    สินค้ามากมายที่แปลเป็นไทย มีเมนูภาษาไทย มีคู่มือภาษาไทย นอกจากจะส่งเสริมให้คนใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น ยังทำให้การอ้างศัพท์เทคนิคภาษาไทยทำได้ง่ายขึ้น พูดไปใครก็เข้าใจ

    สิ่งที่ต้องการจะสื่อคือ การแปลเป็นไทย ไม่มีข้อเสียหรอกครับ มีแต่ข้อดี การที่เด็กไม่อย่างเรียนภาษาอังกฤษ เอาไม้หน้าสามไปขู่เด็กพวกนี้ก็เรียนอย่างไม่ได้อะไร

    ตอนเรียนปีหนึ่งผมอ่านแต่ text book เพื่ออ่านตำราของมหาวิทยาลัย ผลเป็นไงครับ ผมอ่านไม่ทันเพื่อน อ่านไม่เข้าใจเต็มร้อย สิ่งที่ผมควรจะได้จากฟิสิกส์ ผมไม่ได้ ผมได้เทคนิคการอ่าน text book มารู้ทีหลังว่าไอ้ภาษาอังกฤษใน text book ก็ห่วย สื่อความหมายไม่ได้ครบถ้วนเหมือนกัน (แขก จีน สวีเดน เยอรมัน นอร์เวย์ อเมริกาใต้ เขียนเยอะแยะ ต่อให้คนอังกฤษ หรือเยอรมันเขียน สำนวนก็จะสื่อเฉพาะที่คนประเทศนั้น ๆ เข้าใจ)

    มาปีสอง ปีสาม โดนบังคับให้อ่าน text ปรากฏว่าเพื่อน ๆ ไปหาตำราภาษาไทยฉบับแปลมาอ่าน ทั้งของ จุฬาฯ พระนครเหนือ ฯลฯ พวกนี้ทำความเข้าใจเนื้อหาได้ดีกว่าคนอ่าน text พอมันเข้าใจแล้วมันไปอ่าน text มันก็เข้าใจเนื้อหาได้เร็วกว่าคนเริ่มจาก text มาก ๆ

    สองสามปีผ่านไป เพื่อนพวกนี้ต้องไปทำงานที่จีน อเมริกา อังกฤษ ผลคือไปติวภาษาอังกฤษหน่อยเดียว เก่งภาษาอังกฤษกว่าเราเยอะ เพราะจำเป็นต้องใช้แล้ว
    ไ่ม่ได้เรียนสองสามอย่างพร้อม ๆ กัน ผลที่ได้ต้องดีกว่า

    เยอรมันแปลทุกอย่างเป็นภาษาเยอรมันนะครับ หนังก็พากษ์ทับ มีโรงเสียงในฟิลม์น้อยมาก ๆ ผลเป็นไงครับ คนเยอรมันได้คะแนนเฉลี่ยภาษาอังกฤษสูงที่สุดในโลก (สำหรับประเทศที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ)

    แปลมาก ๆ เลิกเหยียดตำราภาษาไทย ยอมรับอาชีพแปลหนังสือ (เป็นการเพิ่มคุณภาพไปในตัว แปลไม่รู้เรื่องใครจะไปอ่าน) ถ้าบอกว่าแปลมันช้า รอไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าทำไม Harry เร็วได้

    ไม่รู้นะ ผมว่าการแปลทุกอย่างเป็นสร้างทางเลือก มันไม่มีข้อเสียหรอก เพราะเราไม่ได้ทำลายของเก่า เราสร้างของใหม่

    แต่อย่าลืมว่า content ที่เป็นภาษาไทยนั้น ยังมีอย่างจำกัดมาก เทียบง่าย ๆ ว่าถ้ามีปัญหาการใช้ลินุกซ์ขึ้นมา คนที่ค้นกูเกิลแล้วอ่านภาษาอังกฤษได้ ย่อมมีโอกาสพบคำตอบสูงกว่าคนที่อ่านเฉพาะภาษาไทยมาก คนที่รู้จักค้นตำราภาษาอังกฤษ ก็มีโอกาสได้รับข้อมูลที่กว้างขวางกว่าคนที่อ่านแต่ตำราไทยมากเช่นกัน
    ตรงนี้แหละที่เราไม่ยอมรับกัน คุณอ่านภาษาอังกฤษได้ ค้นข้อมูลภาษาอังกฤษที่กว่าได้ คุณจะแปลทำไมหล่ะ ประโยชน์จากการแปลคืออะไร นี่คือคนที่เก่งภาษาอังกฤษ (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งในเนื้อหานั้น ๆ นะ) แต่ถ้าเราอิ่มตัวจากพื้นฐาน ที่มีในเนื้อหาภาษาไทย ไม่ในโปรแกรมหรือตำรา การไปขั้นสูงต่อไปก็ต้องไปพึ่งตำราภาษาอังกฤษ หรือต่อยอดตำราภาษาไทยเอง ทำได้ทั้งสองทาง ถ้าเลือกอย่างแรกความรู้ภาษาอังกฤษที่เรียนมาใช้ได้และต่อยอดได้ทันที

    แปลไปเถอะ ไม่มีเสียหรอก


    bugmenot2 ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เนี่ยแปลหมดนะครับ โดยเฉพาะเล่มดี แปลก่อนเจริญครับ ไม่ใช่เจริญก่อนแปล

     
  • 4 มีนาคม 2552 เวลา 20:31 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    คนอเมริกา หรือ อังกฤษ พอเห็นหนังสือไหนดี เรื่องไหนดี ก็แปลแหลก

    อย่าว่าอะไรเลย แม้แต่เมนู ต่าง ๆ ยังมี
    English(UK) English(US)
    หลัง ๆ เนี่ยมีหมดเลย
    ...
    Singlish ยังมีเลย

     
  • 4 มีนาคม 2552 เวลา 20:36 , Blogger Thep แถลง…

    อืม ถึงแม้ภูมิหลังเราจะต่างกัน (ผมได้ดีมากับ text book) แต่ผมถือว่าความเห็นของคุณ Sudchai มาสนับสนุนข้อสรุปของผมว่าควรแปลนะครับ

    ประเด็นเรื่องความจำกัดของ content ภาษาไทย ผมไม่ได้ยกมาเพื่อแย้งหนังสือแปลนะครับ ผมต้องการจะบอกว่า อุดมคตินั้นคือ เรามีเอกสารภาษาไทยเพียงพอที่คนไทยจะพึ่งพาตนเองได้เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว แต่ถ้าสภาพความเป็นจริงเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น นักเรียนไทยก็ควรจะยอมอ่านเอกสารภาษาอังกฤษบ้าง หัดขวนขวายเองบ้าง ไม่ใช่รอให้ป้อนให้ตลอดน่ะครับ

    คำว่า "ทางเลือก" สองภาษา จึงหมายถึงให้โอกาสประเทศในการเปลี่ยนผ่าน จนกว่าเราจะมี content ภาษาไทยที่พร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพ คนที่พยายามสร้างก็สร้างไป คนที่ต้องการ content ก็หัดหาเพิ่มเติมจากแหล่งต่างประเทศเองบ้าง มัวมารอฉบับแปลอย่างเดียวมันไม่ทันกินครับ

    เห็นเทียบกับ Harry ผมไม่ทราบว่าเขาทำยังไง ผมทราบแต่ว่า สำหรับคนทำงานทางเทคนิคนั้น งานแปลไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตครับ ยังมีงานเทคนิคต้องทำอีก ทักษะการแปลก็คงไม่ได้พลิ้วไหวเหมือนนักแปลนวนิยายน่ะครับ เพราะที่สุดแล้ว ความถนัดหลักก็ไม่ได้อยู่ที่งานแปลอยู่ดี หรือจะลองให้นักแปลนิยายมาแปลตำราคอมพิวเตอร์ไหมล่ะ? เอาสำนวน ว. ณ เมืองลุง หรือ น.นพรัตน์ ก็ไม่เลวนะ ผมชอบ :-)

    อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่างานแปลที่ผมทำมาเกือบ 6 ปีกับ GNOME แล้วก็มีงานแปลตำราอีกหนึ่งเล่ม พร้อมบทความอีกจำนวนหนึ่ง คงบอกถึงจุดยืนของผมได้นะครับ ผมโตมากับ text book ผมอ่านเอกสารภาษาอังกฤษได้ แล้วผมจะแปลไปทำไมล่ะ ก็ผมคิดเหมือนคุณ Sudchai ไงครับ ถึงได้ลงทุนแปล เพียงแต่ตอนนี้ งานแปลกำลังไปกระทบชีวิตส่วนอื่น ผมเลยต้องจัดแจงเสียใหม่ ส่วน blog นี้ก็เป็นการชั่งน้ำหนักความเห็นฝ่ายต่าง ๆ ให้ดู

    พอดีเลยครับ ความเห็นของคุณ Sudchai ก็ช่วยยืนยันว่างานแปลยังมีประโยชน์อยู่สำหรับคนกลุ่มนี้ ใครที่ยังไม่เห็นความสำคัญก็จะได้เห็น และเข้ามาช่วยกันทำ

    แต่ไหน ๆ คุณ Sudchai ก็ได้พูดถึงประสบการณ์กับ text book ผมขอพูดถึงประสบการณ์ของผมบ้าง ซึ่งความเห็นออกจะต่างออกไปนะครับ

    ผมเริ่มอ่าน text book ตอน ม.4 ก็วิชาฟิสิกส์เหมือนกันนี่แหละ ผมกลับรู้สึกว่า text book ที่ผมอ่าน ไม่มีตำราภาษาไทยเล่มไหนเทียบได้เลยเรื่องความชัดเจนแจ่มแจ้ง หนังสือฟิสิกส์ ม.4 ที่ดีที่สุดสำหรับผม น่าจะเป็นหนังสือของ สสวท. นั่นแหละ แล้วก็มีตำราที่อาจารย์วิศวฯ ท่านหนึ่งเขียน (ซีเอ็ดจัดพิมพ์) นอกนั้นมีแต่ยกสูตรตีกรอบ แล้วก็ตัวอย่าง ตัวอย่าง ตัวอย่าง น้อยมากที่จะอธิบายแนวคิดเบื้องหลัง ในขณะที่การอ่าน text book นั้น ถึงผมจะลืมสูตรในห้องสอบ ผมก็ยังสามารถ derive เองได้ (ผมเคยทำจริง ๆ น่ะ ดูเหมือนจะตอน ม.5)

    ขณะเดียวกัน ผมก็ได้ทักษะภาษาอังกฤษด้วย เรียกว่าได้สองวิชาในเวลาเดียวกัน ทั้งฟิสิกส์ทั้งอังกฤษ

    ผมไม่เชื่อในการเรียนภาษาในเวลาสั้น ๆ ครับ ภาษาคือการเรียนรู้รูปประโยคต่าง ๆ ความหมายต่าง ๆ ของคำจากตัวอย่างประโยค ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งมีประสบการณ์มาก ฉะนั้น ผมจึงออกจะเชื่อในการเรียนภาษาแบบธรรมชาติมากกว่า และไม่สนับสนุนการเรียนแบบยัดทะนานตอนที่ต้องการใช้สักเท่าไร ยกเว้นกรณีจำเป็นรีบด่วน

     
  • 5 มีนาคม 2552 เวลา 17:12 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    นอกเรื่องนะครับ

    เมื่อก่อนผมเคยด่าคนอื่นด้วยซ้ำว่าตำราภาษาอังกฤษเยอะแยะ แกก็ไปหามาอ่านสิ เล่มไม่กี่ร้อยเอง (ห้าร้อยขึ้น)

    เรื่องจริง ๆ ที่รับรู้คือ text book ที่มีขายอยู่นั้นเป็นขยะซะครึ่ง โดยเฉพาะในระดับสูง(ตำราระดับมัธยมดี ๆ เช่นของ อ. กมล เอกไทยเจริญ หรือ ของ อ. อนันตสิน ดีมาก ๆ นะครับ)

    เรียนระดับสูง คำเฉพาะหลาย ๆ อันที่ฝรั่งตาน้ำข้าวอ่านปุ๊บรู้ปั๊บว่ามันหมายถึงอะไร พี่ไทยเรียนเป็นไทยมาต้องมานั่นกลุ้มเพราะเรียกไม่เหมือนกัน พี่เยอรมันก็เป็น ลองไปพูด trace ให้เด็กเยอรมันฟังสิ พี่แกรู้จักในอีกชื่อ นี่เห็นชัดว่าตำราภาษาไทยระดับสูงแทบไม่มีเลย
    เป็นข้อเสียอย่างยิ่ง เรื่องนี้ อ. สิทธิชัย แกพยายามมาก ๆ ที่จะให้มีตำราภาษาไทยในระดับสูง เพราะเข้าถึงคนได้มากกว่า ภาษาประจำชาติไม่ใช่ภาษาชาตินิยมแต่เป็นการทำให้คนเข้าถึงได้มากกว่า

    จำได้ว่า อ. ยืน เคยแต่งตำราอิเล็กทรอนิกส์สำหรับช่าง ไว้สามเล่ม ทุกบ้านช่างต้องมี ดีมาก ๆ เข้าถึงช่างได้ทุกคน ราคาก็ถูก

    บางทีเราก็ต้องแยกให้ออกว่าเราต้องการอะไร เนื้อหาหรือเรียนภาษา

    เรียนภาษาอังกฤษต้องยัด กรอก ให้ได้ผลในหกเดือนครับ (เอาในระดับใช้งานได้) เรียนไปเรื่อย ๆ ไม่มีทางใช้งานได้ ครูเคทบอกเรียนกับครูหกเดือนไม่ได้ผลก็ไปหาที่เรียนใหม่ได้ เพราะไม่ตั้งใจจริง

     
  • 5 มีนาคม 2552 เวลา 23:44 , Blogger Unknown แถลง…

    help น่าจะทำให้ใส่ตัวแปรได้นะครับ.
    ก็ให้ script gen แทนที่ตัวแปรอีกทีหนึ่ง.

    English(UK) English(US) <-- ไอเดียเข้าท่า
    น่าจะมี Thai(US) มั่ง.

    ----
    อานนท์

     
  • 6 มีนาคม 2552 เวลา 01:09 , Blogger Unknown แถลง…

    แม้แต่ทาง Mozilla ก็เช่นกัน กว่าที่เขาจะรับคำแปลของเราได้ เขาก็ต้องแน่ใจว่าภาษาไทยมีการรองรับโดยพื้นฐานดีพอสมควร <-- อ่านตรงนี้แล้ว งงๆ
    การรองรับพื้นฐานคืออะไร? เช่นการตัดคำ รึเปล่า? หรือพวก locale?

    แต่การแปลก็ทำให้เกิดความคุ้นเคยบางอย่าง ที่ทำให้เราไม่ต้องรอ check-in แพตช์เป็นปี ๆ <-- patch ที่รอเป็นปีๆ นี้ เป็น patch เพื่อให้มีการรองรับพื้นฐาน รึเปล่า?

    ----
    อานนท์

     
  • 6 มีนาคม 2552 เวลา 15:59 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    sudchai:
    ``การที่เด็กไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษ เอาไม้หน้าสามไปขู่เด็กพวกนี้ก็เรียนอย่างไม่ได้อะไร''
    คนพวกนี้มีอยู่จริงครับ

    แต่ก็มีพวกที่ได้ประโยชน์จากการถูกบังคับให้อ่าน text book เหมือนกันนะครับ.

    ก็มีทั้งกลุ่มที่เสียประโยชน์ และ ได้ประโยชน์
    ไม่ใช่ว่าจะเสียหายไปซะทั้งหมด.


    ``สิ่งที่ต้องการจะสื่อคือ การแปลเป็นไทย ไม่มีข้อเสียหรอกครับ มีแต่ข้อดี''
    ข้อดีก็มี, เป็นข้อดีสำหรับคนที่เอาไม้ไปขู่ยังไงก็ไม่อยากเรียนอังกฤษ
    แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเลย, อย่างที่กล่าวไปแล้ว คือ กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จาก text book ก็มี.


    ``ไม่รู้นะ ผมว่าการแปลทุกอย่างเป็นสร้างทางเลือก มันไม่มีข้อเสียหรอก''
    ข้อเสียก็มี อย่างที่บอก, แต่ก็เห็นด้วยว่าข้อดีก็มี.

    ``แปลไปเถอะ ไม่มีเสียหรอก''
    มีเสียครับ มีจริงๆ.


    ``ผมเริ่มอ่าน text book ตอน ม.4 ก็วิชาฟิสิกส์เหมือนกันนี่แหละ ผมกลับรู้สึกว่า text book ที่ผมอ่าน ไม่มีตำราภาษาไทยเล่มไหนเทียบได้เลยเรื่องความชัดเจนแจ่มแจ้ง''
    นี่เป็นข้อสนับสนุนว่าควรแปล text book เล่มนั้น, ถ้าอยากให้มีตำราไทยดีๆ เท่าเล่มนั้น.
    แต่ก็เป็นข้อสนับสนุนว่าไม่ควรแปล, ถ้าอยากให้คนบางกลุ่มได้ฝึกอ่าน text book.

    ----
    อานนท์
    (posted using bugmenot service http://www.bugmenot.com/view/myopenid.com)

     
  • 7 มีนาคม 2552 เวลา 16:05 , Blogger Beamer User แถลง…

    ข้อดีข้อเสีย จะมีก็ต่อเมื่อต้องเลืิอกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

    ในเมื่อคนแปลสร้างทางเลือก คุณไม่เลือกก็ได้ แต่คุณดันไปบอกว่าคนที่ไม่เลือกจะไม่ได้ฝึกอ่านภาษาอังกฤษ (คือไปเลือกสิ่งตัวเองคิดว่าดีให้เขาอีก) เด็กหลายคนอาจจะคิดว่า ผมอยากเป็นครูสอนภาษาไทย ผมจะไปคร่ำเคร่งเรียนภาษาอังกฤษเพื่ออะไร ในเมื่อประเทศที่อย่างไปคือเกาหลี (คนเกาหลีพูดภาษาอังกฤษด้วยเดินหนีเลยนะครับ) ถึงจะมีหนังสือแปล คนที่ชอบอ่าน text book เขาก็อ่าน text book อยู่ดี แต่ตำราไทยที่ดีก็เยอะแยะ ส่วนคนที่ไม่อ่านภาษาอังกฤษและยืนยันว่าตูเืลือกภาษาไทย การไปบังคับเขาถูกเหรอครับ เป็นนักโทษเหรอครับ ถึงต้องถูกบังคับ

    ไม่มีใครสอบตกวิชาภาษาอังกฤษเพราะไม่ยอมอ่าน text book ในวิชาฟิสิกส์หรอกมั้ง

    ตลกหรือเปล่าที่พูดว่า การมีสื่อภาษาไทยในประเทศไทย ที่มีภาษาไทยเป็นภาษาที่สื่อสารได้เข้าใจกันมากที่สุด จะทำให้คนไม่กระตือรือร้นเรียนภาษาอังกฤษ

    หมดสมัยแล้วมั้งที่จะพูดแล้วทำน้ำตาคลอเบ้าว่า แล้วเธอจะเข้าใจว่าสิ่งที่ครูเคี่ยวเข็ญมันจะทำให้เธอได้ดีในอนาคต เอานี่นาย x ผมเธอยาวเกินระเบียบไปสองมิลแล้วนะ ไปตัดซะ

    ส่วนคนที่ได้ดีเพราะถูกบังคับ ก็ไม่ว่ากัน แต่...อยากอ่านภาษาอังกฤษก็อ่านไปเดะ ถ้าเห็นที่เขาแปลแล้วไม่ถูกใจก็ไปช่วยเขาแปล หรือแปลเองใหม่เลย

    แล้วท่องไว้ในใจว่ามันเป็นทางเลือก ที่เลือกไม่เอาก็ได้ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นข้อเสียเพราะเหตุผลที่จะไปบังคับคนอื่นมันน้อยลง

     
  • 9 มีนาคม 2552 เวลา 10:38 , Blogger Thep แถลง…

    ป่วยไปสามวัน ประเด็นแตกไปเยอะแยะเลย

    Sudchai,

    ว่าจะไม่ตอบเรื่องเรียนภาษาอังกฤษแล้วนะ เพราะมันเริ่มนอกประเด็น แต่เล่นยกครูเคทมาอ้างแบบนี้.. ผมมองเรื่องหกเดือนของครูเคท รวมถึงคำพูดของครูอังกฤษอื่น ๆ เช่น ครูแอนดรูว์ บิ๊กส์ ที่ว่า "ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว" เป็นคำพูดในเชิงกระตุ้นให้คนเลิกมองภาษาอังกฤษเป็นยาขม แต่ไม่ใช่ทำให้คนประมาท เห็นว่าไม่ต้องรีบเรียน อยากใช้เมื่อไรค่อยไปเข้าคอร์สหกเดือน ถึงคุณผ่านคอร์สหกเดือนของครูเคทแล้วไม่ได้หมั่นฝึกฝนหลังจากนั้น มันก็คืนครูเหมือนกันแหละครับ

    anon.hui,

    การใส่ตัวแปรใน help คงมีปัญหาในทางปฏิบัติหลายอย่างนะครับ คำศัพท์ที่ใช้ไม่ได้ใช้แค่ในเมนู แต่เอามาใช้ในเนื้อความทั่วไปด้วย เช่น สมมุติว่าเราจะเปลี่ยนคำแปลของ folder จาก "โฟลเดอร์" เป็น "ซอง" ก็ไม่ได้แก้แค่ที่เมนู "New Folder" แต่ในเนื้อความที่ใช้คำว่า folder เป็นคำสามัญด้วย ทีนี้ การใส่ตัวแปรจะเริ่มกินขอบเขตมากขึ้น สร้างความยุ่งยากในการแปลเข้าไปอีก เหมือนแปลหนังสือที่เต็มไปด้วย C format string น่ะครับ

    อีกจุดหนึ่งที่ใช้ตัวแปรไม่ได้แน่ ๆ คือ screenshot

    เรื่องของ Mozilla เข้าใจถูกแล้วครับ

    bugmenot2,

    เรื่องตำราฟิสิกส์.. เป็นเหตุผลสนับสนุนว่าควรแปล text book พอ ๆ กับเป็นเหตุผลว่านักเรียนไทยควรหัดอ่าน text book บ้างในระหว่างที่ยังไม่มีการแปล เรื่องจะใช้เป็นเหตุผลให้ไม่แปลเลยอาจจะดูเผด็จการไปหน่อย เหมือนที่คุณ Beamer User ว่าไว้

    Beamer User,

    เห็นด้วยครับ เรื่องที่ไม่ต้องไปบังคับเด็ก แต่แนะนำเด็กว่ามีเล่มนั้นเล่มนี้ดีนะ เด็กจะเลือกเล่มไหนก็ขึ้นอยู่กับความขวนขวายของเขาแหละครับ

    แต่ขณะเดียวกัน ในกรณีที่มันไม่มีเอกสารภาษาไทยให้อ่านจริง ๆ (โดยเฉพาะในสาขาที่เนื้อหามีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากอย่างคอมพิวเตอร์) ก็ไม่ใช่เหตุผลของเด็กที่จะต่อว่าครู ว่าไม่ยอมแนะนำฉบับที่เป็นภาษาไทย แล้วก็ไม่ยอมขวนขวายเลยเหมือนกัน (ครูก็ไม่ใช่นักโทษน่ะ)

    ปล. เห็นพาดพิงเรื่องอ่าน text book ฟิสิกส์นิดหน่อย.. คิดว่าคงไม่ได้พูดกับผม แต่ก็ขอพูดอะไรหน่อย.. ว่าผมไม่ได้อ่านเพราะถูกบังคับ ผมเลือกที่จะอ่านของผมเอง แล้วก็ไม่ได้อ่านเพราะกลัวตกภาษาอังกฤษด้วย เรื่องภาษาอังกฤษเป็นผลพลอยได้แค่นั้น

    ปล. อีกนิด: โตขึ้นมาทำงานแล้ว รู้สึกได้เลยว่าตอนเป็นนักเรียนเวลามันเหลือเฟือมาก สามารถเอาไปฝึกไปหัดอะไรได้เยอะแยะ โตขึ้นมาแล้ว อะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด เพราะฉะนั้น ระหว่างเรียนหนังสือ พ่อแม่แบกภาระเรื่องการเงินให้แล้ว ก็ใช้ให้คุ้มที่สุดดีกว่า (อ๊ะ.. ไม่ได้บังคับอะไรใครนะ)

     
  • 9 มีนาคม 2552 เวลา 11:21 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    มันก็อาจจะมีคนที่แบบว่า ถ้ามีภาษาไทยให้เลือกก็จะเลือกอ่านภาษาไทยดีกว่า, แต่ถ้าไม่มี ก็พออ่านภาษาอังกฤษได้, ก็แค่บ่นๆ นิดหน่อย, ว่าทำไมไม่แปลไทยให้ว้า.
    และ เขาก็อาจจะคิดว่า เออ ดีจังที่ตอนนู้นตูถูกบังคับให้อ่าน text book, ไม่งั้นตูคงไม่ได้อ่านภาษาอังกฤษได้คล่องขนาดนี้.
    เขาอาจจะคิดว่า ถึงแม้ตอนนั้นเขาจะไม่ค่อยชอบภาษาอังกฤษนัก, แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้, เขาก็คงยืนยันอย่างเดิมที่อยากจะให้มีแต่ text book, เพื่อจะได้เป็นการบังคับตัวเขาเอง, ไม่ให้ไปอ่านแต่ภาษาไทย

    ``(คือไปเลือกสิ่งตัวเองคิดว่าดีให้เขาอีก)'' <-- ก็อาจจะดีสำหรับบางคน อย่างที่กล่าวข้างบนว่า, บางคนคิดว่า เออ ดี ถ้ามีภาษาไทยให้เลือกตูก็เลือกอ่านภาษาไทย, แต่ถ้าให้เลือกระหว่าง,
    * มีให้เลือก กับ
    * ไม่มีให้เลือกเลย
    ตูขอเลือก "ไม่มีให้เลือก" ดีกว่า, ตูจะได้ไม่ไปเลือกภาษาไทย. งงปะ?

    ถ้ามีให้เลือกระหว่าง,
    1. ภาษาไทย
    2. ภาษาอังกฤษ
    กรณีที่มันมีทั้ง 2 อย่างนี้อยู่แล้ว, เขาคนนั้นจะเลือก 1

    แต่ถ้าให้เลือกระหว่าง,
    1. มีทั้งไทยและอังกฤษ
    2. อังกฤษอย่างเดียว
    กรณีที่มันถูกบังคับอังกฤษไปเรียบร้อยแล้ว, เขาจะกลับมาบอกว่า เลือก 2 แหละ ดีแล้ว

    แต่ไม่ได้บอกว่าจะเป็นอย่างนี้กันทุกคนนะครับ.
    มันจะกลายเป็นข้อเสีย ถ้าไปใช้กับคนที่ไม่ได้เป็นอย่างนี้.
    ถึงได้บอกว่า มีทั้งข้อดี และ ข้อเสีย.

    นี่เป็นตัวอย่างว่า, การมีทางเลือก ก็มีข้อเสียเหมือนกัน.
    (แต่ไม่ได้แย้งว่าข้อดีก็มี)

    ``(คือไปเลือกสิ่งตัวเองคิดว่าดีให้เขาอีก)'' <-- แล้วกรณีที่คุณ Sudchai คิดว่าดี ก็เป็นการเลือกสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีให้เขาอีกรึเปล่า?
    คือ เลือกระหว่าง,
    1. มีทั้งไทยและอังกฤษ
    2. อังกฤษอย่างเดียว
    คุณ Sudchai เลือกข้อ 1 ให้เขา, คิดว่าข้อ 1 ดีสำหรับเขา?
    อย่างนี้ก็เป็นการเลือกสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี ให้เขางั้นสิ?

    ไม่ได้บอกว่า อะไรดีกว่ากัน.
    แต่บอกว่า ข้อดีก็มี ข้อเสียก็มี, ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเอาซะเลย (quote:``แปลไปเถอะ ไม่มีเสียหรอก'').

    ก็ยังไม่ได้เลือกว่าอะไรดีกว่ากัน, แค่บอกว่า ข้อเสีย มันก็มี.
    ย้ำอีกที, ยังไม่ได้บอกว่าเลือกอะไรให้ใครเลยนะ, แค่มาให้ข้อมูลว่า ข้อเสีย (ของการแปล) มันก็มี.

    แล้วก็ไม่ได้แย้งว่า การไม่แปล จะไม่มีข้อเสียเอาซะเลย.

    ``เด็กหลายคนอาจจะคิดว่า ผมอยากเป็นครูสอนภาษาไทย
    ...
    การไปบังคับเขาถูกเหรอครับ เป็นนักโทษเหรอครับ ถึงต้องถูกบังคับ''
    เห็นด้วยครับ ว่านี่ก็เป็นข้อเสีย อันหนึ่ง, ของการไม่แปล.


    ``ส่วนคนที่ได้ดีเพราะถูกบังคับ ก็ไม่ว่ากัน แต่...อยากอ่านภาษาอังกฤษก็อ่านไปเดะ''
    คนที่ได้ดีเพราะถูกบังคับ อาจจะไม่อยากอ่านภาษาอังกฤษ ตามตัวอย่างข้างบน.


    อ้อ, บางทีถ้าคิดแบบข้างบน ผมอาจจะเข้าใจการสื่อความของคุณ Beamer ผิดไปก็ได้.
    คุณอาจจะไม่ได้มาแย้งผม, แต่แค่มาให้ข้อมูลว่า การไม่แปล ก็มีข้อเสียเหมือนกัน.
    ถ้าผมเข้าใจผิด ว่าคุณกำลังแย้งผม, ผมก็ขออภัยไว้ล่วงหน้า ครับ.


    ``ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นข้อเสียเพราะเหตุผลที่จะไปบังคับคนอื่นมันน้อยลง''
    (ถ้าอันนี้ เป็นการแย้งคำพูดของผม), ตามตัวอย่างที่ผมยกมาข้างบนนู้นนั้น ก็เป็นข้อเสีย สำหรับคนบางคนจริงๆ


    ----
    อานนท์
    (posted using bugmenot service http://www.bugmenot.com/view/myopenid.com)

     
  • 9 มีนาคม 2552 เวลา 11:24 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    ``ส่วนคนที่ได้ดีเพราะถูกบังคับ ก็ไม่ว่ากัน แต่...อยากอ่านภาษาอังกฤษก็อ่านไปเดะ''
    คนที่ได้ดีเพราะถูกบังคับ อาจจะไม่อยากอ่านภาษาอังกฤษ,
    แต่เขาอาจจะอยากให้มีเงื่อนไขภายนอก มาบังคับให้เขาต้องอ่านภาษาอังกฤษ.

    แต่ก็มีข้อเสียที่ว่าเอ๊ะ ทำไมเขาอยากให้เกิดเงื่อนไขภายนอก แล้วต้องไปกระทบคนอื่นๆ ที่ไม่อยากให้เกิดเงื่อนไข ด้วยหละ.

    ก็เป็น ข้อดี และ ข้อเสีย นะครับ.


    ----
    อานนท์
    (posted using bugmenot service http://www.bugmenot.com/view/myopenid.com)

     
  • 9 มีนาคม 2552 เวลา 11:33 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    คนบางคนก็คิดว่า, ดีจัง ที่ทุกวิชาต้องมีการสอบเก็บคะแนน จะได้บังคับให้เขาอ่านหนังสือไปในตัว.
    เขาคงคิดว่า ถ้าไม่เพราะมีสอบหละก็, เขาคงไม่สนใจอ่านหนังสือ จนมีความรู้ถึงขนาดนี้ แน่ๆ.

    เขาคงคิดว่า ดีจังที่มีการบ้านให้ทำ, เพราะถ้าให้เขาไปฝึกฝนด้วยตัวเอง, เขาคงไม่ทำแน่ๆ.


    ----
    อานนท์
    (posted using bugmenot service http://www.bugmenot.com/view/myopenid.com)

     
  • 9 มีนาคม 2552 เวลา 11:50 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    แม้แต่ทาง Mozilla ก็เช่นกัน กว่าที่เขาจะรับคำแปลของเราได้ เขาก็ต้องแน่ใจว่าภาษาไทยมีการรองรับโดยพื้นฐานดีพอสมควร <-- อ่านตรงนี้แล้ว งงๆ
    การรองรับพื้นฐานคืออะไร? เช่นการตัดคำ รึเปล่า? หรือพวก locale?

    แต่การแปลก็ทำให้เกิดความคุ้นเคยบางอย่าง ที่ทำให้เราไม่ต้องรอ check-in แพตช์เป็นปี ๆ <-- patch ที่รอเป็นปีๆ นี้ เป็น patch เพื่อให้มีการรองรับพื้นฐาน รึเปล่า?

    thep said: เรื่องของ Mozilla เข้าใจถูกแล้วครับ

    อานนท์ said: คุณ thep จะบอกว่า,
    1. กว่าเขาจะรับคำแปล ต้องมีพวกตัดคำก่อน?
    2. การมีคำแปล ทำให้เขารับ check-in พวกตัดคำได้ง่ายขึ้น? (ต้องมีคำแปลก่อน ถึงจะรับพวกตัดคำ?)
    งงครับ, อะไรเกิดก่อนกัน, เหมือนไก่กับไข่ รึเปล่าครับ?


    ----
    อานนท์
    (posted using bugmenot service http://www.bugmenot.com/view/myopenid.com)

     
  • 9 มีนาคม 2552 เวลา 13:53 , Blogger Thep แถลง…

    อานนท์,

    patch ตัดคำ นั้น ต้องรอมา 8 ปีถึงได้ check-in ซึ่งกระบวนการที่มาเร่งการ check-in ก็มาจากการที่ roc เขาปรับโครงสร้างของ layout ใน Firefox 3 อย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งคือการกระทุ้งของ Mk ซึ่งพยายามประสานงานให้ทีม Mozilla รับคำแปลของทีมไทย ซึ่งเงื่อนไขในการรับคำแปลคือ การรองรับภาษาไทยต้องพร้อมก่อน แต่ในเมื่อคำแปลพร้อมแล้ว และ bug ต่าง ๆ ก็ file ไว้ พร้อม patch รอมาเป็นปีแล้ว จึงเกิดการประสานงานให้เคลียร์บั๊กต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษาไทย โดยเรื่องแรกที่ซีเรียสที่สุดคือเรื่องตัดคำ (เพราะเรื่อง rendering ได้อาศัยงานที่ทำที่ pango ไปเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งปรากฏว่างานแปลทำให้แพตช์ตัดคำได้ check-in เร็วขึ้น

    แต่ผลที่ผมเน้นมากกว่า ว่าไม่ต้องรอเป็นปี ๆ นั้น หมายถึงเรื่องอื่นที่รอง ๆ ลงไปครับ อย่างเช่นเรื่อง ปุ่ม Delete ลบทีละเซลล์ ซึ่งปรากฏว่าเขารับแพตช์เร็วขึ้นมาก แม้จะต้องมี follow-up อีกหลายรายการ เขาก็ตามไปช่วยอำนวยความสะดวกให้

     
  • 18 มีนาคม 2552 เวลา 20:26 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    1. ตัดคำ
    2. คำแปล
    3. ลบ cell

    คำแปล ได้รับการ check-in เพราะมีตัดคำ
    patch ลบ cell ได้รับการ check-in เพราะมีคำแปล
    ...

    คำถาม,
    1. การลบ cell ไม่ถือเป็นการรองรับพื้นฐานใช่ไหม?
    2. คนต่างชาติที่ดูแลโครงการเขารู้ได้ไงว่าการรองรับพื้นฐานของภาษาไทยต้องมีตัดคำ?
    3. ทำไม patch ตัดคำถึงรอเป็นปีๆ?, และทำไม patch ลบ cell รอ check-in ไม่นาน?
    3.1 ตามที่เข้าใจ, เป็นเพราะมีคำแปล ทำให้ patch ลบ cell รอไม่นาน. ถ้าอย่างนั้นแล้วถ้าเกิดสามารถผลักดันให้คำแปลเข้าไปได้ก่อน ก็จะทำให้ patch ตัดคำ ไม่ต้องรอนานใช่หรือไม่?

    ----
    อานนท์
    (posted using bugmenot service http://www.bugmenot.com/view/myopenid.com)

     
  • 20 มีนาคม 2552 เวลา 15:23 , Blogger Thep แถลง…

    เรื่องความจำเป็นของแต่ละเรื่อง มาจาก feedback ของผู้ใช้ครับ (จริง ๆ คือจาก contributor ซึ่งก็ประเมินจากเสียงของผู้ใช้อีกที)

    การมีคำแปล มันมีผลต่อภาพพจน์ของซอฟต์แวร์น่ะครับ Mozilla เขาเห็นว่า การมีคำแปล และมีหน้าดาวน์โหลดสำหรับภาษาหนึ่ง ๆ มันหมายถึงการรับผิดชอบต่อผู้ใช้ของภาษานั้น ๆ การแก้บั๊กที่ critical ก่อน จึงสามารถช่วยลดงาน support หลังรับคำแปลได้ และหลังจากมีคำแปลแล้ว ก็ถือว่ามี user ที่ต้องดูแล จะต้องให้ความสำคัญกับบั๊กของภาษานั้นตามสมควร

    เอ.. ผมชักตอบเกินขอบเขตที่ตัวเองทำซะละ ถ้าอยากรู้ละเอียดกว่านี้ ลองถาม Mk ดูนะครับ

     
  • 24 มีนาคม 2552 เวลา 21:18 , Blogger Unknown แถลง…

    งานแปลทำให้ patch ตัดคำได้ check-in เร็วขึ้น?

    แต่กว่าที่เขาจะรับคำแปลได้ เขาก็ต้องแน่ใจว่ามีการรองรับพื้นฐานก่อน (เช่น ตัดคำ)

    สรุปว่า ต้องมีทั้ง คำแปล และ การตัดคำ ให้พร้อมทั้งคู่ก่อน เขาถึงจะรับ check-in พร้อมกันทีเดียวทั้งคู่ ใช่ไหมครับ?
    ถ้ามีแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะ check-in ได้ยาก ใช่ไหมครับ?

    ----
    อานนท์

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem