Theppitak's blog

My personal blog.

29 พฤศจิกายน 2548

How I Joined GNOME Translation

เกือบสองปีที่แล้ว ระหว่างที่พยายามปรับใช้ FOSS กับธุรกิจ เพื่อจะได้สนับสนุนงานพัฒนาด้วยตัวเอง ก็ปรากฏว่า ได้งานพัฒนาที่ผู้ใช้ยอมใช้ลินุกซ์มาทำ ทางฝั่ง client นั้น ก็ใช้ GNOME เป็นหลัก ทำให้ได้เห็นปัญหาต่างๆ ของการนำไปใช้จริง และรู้สึกว่า ระบบ APT ของ Debian ให้ความยืดหยุ่นมาก ในการจัดชุดซอฟต์แวร์ต่างๆ ตามความต้องการ (จากเดิมที่ใช้ APT เพียงแค่ upgrade เครื่องตัวเอง ยังไม่ได้ใช้พัฒนางานภาคสนามจริง)

แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาหนึ่งที่ได้ยินจากผู้ใช้บ่อยมาก ก็คือคำแปลภาษาไทยของ GNOME (ตอนนั้นน่าจะเป็นรุ่น 2.4 ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งแปลขาดๆ โบ๋ๆ อีกทั้งมีคำแปลที่ใช้ภาษาตลกๆ หลายที่ ก็เกิดเป็นความคันขึ้นมา คือในการใช้งานจริงนั้น งานแปลที่ยังไม่สมบูรณ์ให้ความรู้สึกแย่กว่างานที่ยังไม่แปลเลยเสียอีก ผมซึ่งขณะนั้น ไม่ค่อยได้เปิดใช้คำแปลไทย แต่ในเมื่อผู้ใช้ไม่คล่องภาษาอังกฤษ ก็รู้สึกว่าต้องช่วยเขา เลยเปิดใช้แล้วก็หาช่องทางที่จะบ่น บ่นแล้วไม่พอ อยากช่วยแก้ด้วย เพื่อที่ผมจะได้มีผลิตภัณฑ์ดีๆ ไปบริการลูกค้า

ประเด็นเล็กๆ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับคนที่จะทำธุรกิจด้วย FOSS คือการตัดสินใจเลือกวิธีปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ถ้าผมทำแค่เข้าไปบ่นตามเว็บบอร์ด ว่า GNOME แม่งแปลห่วย โดยหวังนิดๆ ว่าจะกระตุ้นนักแปลให้ทำงานหนักขึ้น มันก็เป็นเรื่องสิ้นหวังพอๆ กับขอทานที่นั่งด่าคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ว่าช่างแล้งน้ำใจกันนัก โดยหวังว่าจะมีคนบริจาคทานให้

อีกด้านหนึ่ง ถ้าผมไม่บ่น แต่จัดการแก้คำแปลให้ลูกค้าของผมโดยเฉพาะ แล้วเก็บคำแปลไว้เป็นข้อได้เปรียบเชิงธุรกิจเหนือผู้ให้บริการรายอื่น พอ GNOME รุ่นใหม่ออกมา ผมก็ต้องตาลีตาเหลือก merge คำแปลใหม่ รวมทั้งต้องคอย maintain ข้อมูลคำแปลคนเดียว ไม่มีที่สิ้นสุด

ผมคิดว่าได้เลือกวิธีที่ดีที่สุด คือเข้าร่วมกับทีมแปลไปเลย ผมได้ผลที่เป็นรูปธรรม และประหยัดทรัพยากรของทุกฝ่าย

ที่เขียนมานี่ คนที่อยู่ในกระแส FOSS อยู่แล้ว อาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในภาคธุรกิจจริง เราจะเห็นพฤติกรรมสองอย่างแรกอยู่เนืองๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเอาเปรียบเจ้าของผลงานแล้ว ยังเป็นความสิ้นเปลืองทรัพยากรอีกด้วย

สำหรับงานแปล ดัชนีงานแปล GNOME 2.14 วันนี้ ภาษาไทยอยู่ที่ 67.46% (โดยยังไม่ตัดแพกเกจ gtk+-properties และ gnome-applets-locations ที่ไม่ใช้ประเมินสถานะ supported languages) ไต่อันดับขึ้นมาอีกสองอันดับ แซงภาษาฮิบรูและสโลวักมาอย่างฉิวเฉียด ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 47 แล้ว

อาทิตย์นี้คงหยุดงานแปลในส่วนของผมแค่นี้ เพราะวันนี้ปวดข้อมือจากการใช้คีย์บอร์ดต่อเนื่องหลายวัน

2 ความเห็น:

  • 30 พฤศจิกายน 2548 เวลา 13:10 , Blogger cwt แถลง…

    คุณเทพใช้ keyboard แบบไหนอยู่ครับ ตอนแรกผมก็เป็นแบบนั้น แต่พอเปลี่ยน keyboard แล้วก็หายครับ

    นอกเรื่องนิดนึงครับ thaifonts-scalable-0.4.3.1 เวลาใช้บน OO.o 2 แล้วสระบน วรรณยุกต์ มันลอยครับ มีวิธีแก้อย่างไรบ้างครับ หรือว่าต้องแก้ใน .sfd แต่ละ font ? ถ้าใช้นอก OO.o แล้วไม่มีปัญหา หรือถ้าใข้ OO.o กับ fonts ของ Windows ก็ไม่มีปัญหาเหมือนกันครับ

     
  • 3 ธันวาคม 2548 เวลา 10:52 , Blogger Thep แถลง…

    ผมใช้โน้ตบุคน่ะครับ ไปไหนหิ้วไปด้วย ที่ทำงานไม่แน่นอน (ยังจัดระเบียบชีวิตไม่ค่อยได้) แต่ก็นั่นแหละ บางที่ก็ไม่ได้เป็นที่ทำงานเฉพาะสำหรับทำงาน พอคีย์ต่อเนื่องนานๆ ก็ปวดข้อมือ

    เรื่องฟอนต์กับ OO.o เคยทดสอบร่วมกับคุณศิลา (หิน) ที่เนคเทค ได้ผลสรุป ว่าคงเป็นปัญหาเรื่องการสนับสนุน OpenType ของ OO.o เอง คือถ้าใช้ฟอนต์ที่ไม่มีตาราง OpenType วรรณยุกต์ก็จะไม่ลอย แต่พอมีปุ๊บ ก็ลอยทันที

    ก็เลยฝากทีม OO.o ให้ช่วยตรวจสอบอยู่ครับ

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem