Theppitak's blog

My personal blog.

08 กุมภาพันธ์ 2552

Red Cliff 2

ไปดูมาแล้วครับ Red Cliff 2 หลังจาก blog ถึงตอนแรก ไปเยอะแล้ว ตอน 2 เลยเป็นเรื่องเก็บเล็กผสมน้อย

  • โรคระบาด เป็นตัวแปรสำคัญของศึกเซ็กเพ็ก หนังแอบใส่ความว่าเป็นอาวุธชีวภาพของโจโฉ ดูเหมือนคนเขียนมังกรอหังการ์ หมาป่าคะนองศึก ก็คิดคล้ายกัน ว่าเป็นฝีมือมนุษย์ (ชงต๊ะ) แต่คนทัพโจโฉก็ติดโรคด้วย ปล่อยอาวุธยังไงหว่า โดยความเห็นส่วนตัว คิดว่าเป็นไปได้ยากที่จะปล่อยเชื้อโรคในแม่น้ำแยงซีเกียงที่กว้างใหญ่และเชี่ยวกรากอย่างนั้น และข้อเท็จจริงตามที่เล่าชวนหัวบอกคือ โรคพยาธิปากขอเป็นโรคประจำถิ่นของบริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง แม้ทุกวันนี้
  • แทรกบทผู้หญิงเยอะมาก ทั้งน้องสาวซุนกวนที่แฝงตัวไปเป็นสายลับ ทั้งเสี่ยวเกี้ยวที่เข้าไปเกลี้ยกล่อมและถ่วงเวลาโจโฉ โดยบทบาทของเสี่ยวเกี้ยวช่วยเน้นบุคลิกส่วนที่อ่อนไหวของโจโฉออกมา
  • ใช้บทกวีของโจโฉมาเดินเรื่อง โดยเลือกเอา "เพลงแกล้มสุรา" ซึ่งบ่งบอกปณิธานของโจโฉได้เป็นอย่างดี ขอคัดสำนวนแปลของ โชติช่วง นาดอน จากหนังสือ "เงาพระจันทร์ในคมกระบี่":
    เอาเพลงแกล้มสุราชีวายาวฤๅสั้น
    ก็เพียงน้ำค้างเช้า
    อดีตมากเศร้าร้องร่ำลำนำ
    ตรอมตรำตรึงตรา
    สิ่งผ่อนโศกามีแต่สุราตู้คัง
    อาวรณ์อาลัยสหายเอยข้าห่วงพะว้าพะวัง
    หลั่งรินเพลงในวันนี้
    "อาภรณ์ชุดเขียวตรึงตราฤทัย"
    "สำเนียงกวางฟานไล่หญ้าพงพี
    สหายประเสริฐข้ามีผิวขลุ่ยแลพลิ้วพิณ"
    ความตรมพล่านพลุ่งมิขาด
    ยามใดจักได้
    จันทร์อันใส กระจ่าง
    ข้ารอผู้ข้ามเขาข้ามทุ่งมา
    จักน้อมเสวนา
    สรวลเสพสังสรรค์
    ร่วมรำลึกความหลัง
    เดือนแจ่ม ดาวจาง
    วิหคผกผิน เวียนบินหาคาคบ
    ยังไร้กิ่งใดพำนัก
    ภูเขาฤๅหน่ายสูงทะเลฤๅหน่ายลึก
    เจ้าโจวคายข้าวโลกจึงบังคม
    สำนวน "เจ้าโจวคายข้าว" นี้ หมายถึงโจวกงต้าน หรือ "จิวกง" ในราชวงศ์โจว (จิว) ซึ่งมีความอ่อนน้อมถ่อมตนในการคบหากับผู้มีสติปัญญาความสามารถ ถึงขนาดกำลังกินข้าวอยู่ก็รีบหยุดทันทีเพื่อมารับแขกที่มาขอพบ แม้ตนจะมียศศักดิ์สูงเพียงใดก็ตาม ตรงนี้เองที่โจโฉนำมาเป็นแบบอย่างในอุดมการณ์ของตนที่จะกอบกู้บ้านเมือง
  • ดูเหมือน จอห์น วู จะดักคอคนประเภทผมไว้ด้วย ที่ได้ปรามาสเล่าปี่ที่คอยแต่จะชุบมือเปิบในศึกเซ็กเพ็กนี้ ด้วยการเขียนบทให้เป็นอุบายของจิวยี่ เพื่อจะมาตลบหลังโจโฉในภายหลัง เอาเป็นว่าไม่พูดละเอียดละกัน เผื่อใครยังไม่ได้ดูแต่เผลออ่านมาถึงตรงนี้จะได้ไม่เสียอรรถรสเกินไปนัก :-)
  • เรื่องเรือฟางรับเกาทัณฑ์ยังคงใส่เข้ามา แต่เอามาผูกรวมกับกรณีหลอกฆ่าชัวมอ เตียวอุ๋น ด้วย ก็เป็นการรักษาบรรยากาศการประชันปัญญาระหว่างจิวยี่กับขงเบ้ง แต่ทำได้แนบเนียนขึ้น กลายเป็นว่าจิวยี่ก็ทำทัณฑ์บนไว้ด้วย แล้วก็บังเอิญกรณีหลอกเอาเกาทัณฑ์ก็ไปช่วยเสริมให้โจโฉฆ่าชัวมอ-เตียวอุ๋นด้วย
  • ไม่ผิดหวังที่ไม่มีบทขงเบ้งตั้งปะรำทำพิธีเต๋าเรียกลม แต่เผยข้อมูลกันตรง ๆ เลย ทำให้เรื่องดูสมเหตุสมผล ไม่น้ำเน่าเหมือนฉบับงิ้ว ..นี่คงกลายเป็นโจทย์สำหรับผู้สร้างสามก๊กยุคใหม่ไปแล้ว ที่จะบำบัดความเน่าของสามก๊กฉบับงิ้ว และปรับให้ทุกอย่างสมเหตุสมผลขึ้นด้วยทัศนะของผู้สร้างเอง
  • เทศกาลอะไรสักอย่าง ผมจำชื่อไม่ได้ ที่เป็นการรวมญาติพี่น้อง และมีการกินขนมบัวลอยแบบมีไส้.. แต่ไปค้นข้อมูลแล้ว ใกล้เคียงกับเทศกาลหยวนเซียว (แต้จิ๋ว: ง่วนเซียว) มากที่สุด ซึ่งเป็นเทศกาลประดับโคม วันที่ 15 หลังตรุษจีน ขนมบัวลอยมีไส้นั้น เรียกว่า ถวนหยวน แปลว่า คืนสู่เหย้า อันนี้ไม่แน่ใจว่า จอห์น วู ต้องการแทรกเรื่องประเพณีจีน (ซึ่งบังเอิญอยู่ในช่วงที่หนังออกฉาย คือตรงกับ 9 ก.พ. หรือวันมาฆบูชานี้) หรือมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ว่าศึกเซ็กเพ็กแตกหักในช่วงเทศกาลนี้
  • กำเหล็งพลีชีพ! มายังไงเนี่ย กะจะให้สามก๊กจบมันตรงนี้เลยหรือ
  • ตอนท้าย จิวยี่และทัพพันธมิตรปล่อยโจโฉไป ในฉบับงิ้วนั้น กวนอูเป็นคนปล่อย จากการดักตีหัวตามทางตามแผนขงเบ้ง แต่ตามประวัติศาสตร์นั้น โจโฉเผาทัพเรือตัวเองเพื่อกำจัดโรคระบาดก่อนถอนทัพกลับเอง.. จะเป็นยังไงก็ตาม แต่จุดประสงค์ของหนังคือ ต้องการให้จิวยี่ทิ้งคำพูดเด็ด "รบแล้วมีใครได้อะไรบ้าง" เมื่อรวมกับที่เสี่ยวเกี้ยวตั้งชื่อลูกในครรภ์ว่า "ผิงอัน" ที่แปลว่า "สงบสุข" และฉากสงครามบ้าระห่ำยืดเยื้อจนเอียน ก็สื่อความมาตลอดเรื่องว่า "หยุดสงครามเถอะ" คือเป็นหนังสงครามเพื่อสันติภาพ

ปิดท้ายด้วย โคลงนำเรื่องสามก๊ก ซึ่งในหนังมอบให้เสี่ยวเกี้ยวเป็นผู้ร่าย..

๏ น้ำแยงซีรี่ไหลสู่บูรพา
คลื่นพัดกวาดพาวีรชนหล่นลับหาย
ถูกผิดแพ้ชนะวัฏจักรเวียนว่างดาย
สิขรยังคงตะวันยังฉายนานเท่านาน

๏ เกาะกลางชลคนตัดฟืนผมขาวเฒ่าหาปลา
สารทวสันต์เห็นมาเหลือหลายที่กรายผ่าน
สังสรรค์สุราป้านใหญ่ให้ตำนาน
เก่าเก่าใหม่ใหม่สรวลสราญเล่ากันมาฯ

๚ะ๛

ป้ายกำกับ: , , , ,

3 ความเห็น:

  • 9 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 07:27 , Blogger Isriya แถลง…

    เรื่องกำเหล็ง-กำเหน็ง นั้นตอนแรกผมก็สงสัย กลับมาบ้านดูใน wiki พบว่าเป็นตัวละครเลียนแบบ (ซะอย่างนั้น)

     
  • 9 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 12:50 , Blogger Thep แถลง…

    อ้าว เป็นกำเฮ็ง (กันซิง) ซะงั้น ฮา.. แต่พากย์ไทยเขาแปลเป็นกำเหล็งเลย อืม..

    มาเพิ่มอีกเรื่อง คือเรื่องลูกของโจโฉที่เขาพร่ำถึงเมื่อไปเยี่ยมทหารป่วย เป็นวิธีสอดแทรกข้อมูลประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง คือในปีที่เสร็จศึกเซ็กเพ็ก โจโฉก็เสียลูกชายอัจฉริยะคนหนึ่ง ชื่อ เฉาชง ด้วยอายุเพียง 13 ปี เฉาชงเป็นเด็กอัจฉริยะ สามารถคิดวิธีชั่งน้ำหนักช้างได้ด้วยหลักของแรงลอยตัวตั้งแต่อายุเพียง 5 ปี แล้วยังเคยช่วยทหารผู้ดูแลม้าของโจโฉให้รอดจากการถูกลงโทษเมื่ออานม้าถูกหนูแทะด้วย ความฉลาดและมีน้ำใจของเฉาชง ทำให้โจโฉโปรดปรานมาก และวางตัวไว้ให้เป็นทายาท แต่มาตายเสียก่อน ตำแหน่งทายาทถึงได้ตกถึงโจผีแทน

    ในสามก๊กฉบับงิ้ว ตอนที่เตียนอุยตาย โจโฉร้องไห้อาลัยเตียนอุยมาก บอกว่าเสียลูกหัวปียังไม่เสียใจเท่าเสียเตียนอุย ลูกหัวปีคนนั้นคงหมายถึงเฉาชงนี่เอง

     
  • 9 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 20:32 , Blogger rchatsiri แถลง…

    สงครามนี้ไม่มีใครชนะ!

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem