Theppitak's blog

My personal blog.

04 มกราคม 2552

New Year Dhamma

ปีใหม่ ไปนครนายกกับครอบครัวมา (ภาพ) เช้าวันขึ้นปีใหม่ก็ได้ไปทำบุญตักบาตรที่วัดหนองเตย พร้อมรับศีลรับพรจากพระสงฆ์เพื่อเป็นศิริมงคล

ธรรมที่ท่านเจ้าอาวาสบรรยายบนธรรมาสน์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยาที่เหมาะควรแก่วัยต่าง ๆ เมื่อนำมาประกอบกับหนังสือธรรมะที่แจก ก็มีแนวคิดบางอย่างเสริมกันได้ดี ผมรู้สึกว่าการได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มบางเพียง ๒๙ หน้านี้ เป็นการชาร์จแบตให้กับตัวเองสำหรับการเริ่มต้นปีใหม่อย่างแท้จริง

ชื่อหนังสือคือ "ความรุนแรงเกิดจากความอ่อนแอ" ปาฐกถาธรรมของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ปี ๒๕๔๙ ที่วัดญาณเวศกวัน อ. สามพราน จ. นครปฐม ชื่อหนังสือที่ยังคงสะกิดใจในยุคสมัยนี้ ทำให้ผมเปิดอ่านทันทีที่ได้รับ ความจริงก็เคยได้ยินเกี่ยวกับหนังสือนี้นานแล้ว รวมทั้งที่เคยเห็นที่ร้านหนังสือ แต่ได้แต่นึกเห็นด้วยโดยไม่ได้เปิดอ่าน

เนื้อหาส่วนแรก ๆ นั้น เกี่ยวกับเรื่อง "ทางสายกลาง" หรือ "มัชฌิมาปฏิปทา" ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนต้นของธัมมจักกัปวัตตนสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงเป็นปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ เพื่อชี้ให้เห็นทางที่สุดโต่งสองอย่าง คืออัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตน) กับกามสุขัลลิกานุโยค (ความเพลิดเพลินในกามสุข) ว่าไม่ใช่ทางแห่งการดับทุกข์ แต่ทางที่ดับทุกข์ได้นั้น คือทางสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อน แล้วจึงแสดงอริยสัจ ๔ โดยชี้ให้เห็นเป็นลำดับตั้งแต่ ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และทางไปสู่การดับทุกข์นั้น

"ทางสายกลาง" นี้ เมื่อนำมาใช้ในบริบทต่าง ๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ๆ อย่างที่หลายคนคิด ความไม่ตึงไม่หย่อน ไม่ใช่หมายความว่าให้อยู่ตรงกลางระหว่างความสุดโต่ง เพราะการอยู่ตรงกลางนั้น คนที่อยู่ตรงกลางจะไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ต้องขยับไปมาตามฝ่ายที่สุดโต่ง โดยเป็นนักคำนวณหาจุดกึ่งกลางไปเรื่อย ๆ หากแต่ "ทางสายกลาง" นั้น หมายถึง "ทางที่ถูกต้อง" หรือ "สัมมาปฏิปทา" ซึ่งเป็นทางที่อยู่ในธรรม ดังที่ทรงแสดงต่อไปโดยพิสดารในเรื่องของ "มรรค" ในอริยสัจ ๔ นั่นเอง การที่จะเข้าใจถึง "ทางสายกลาง" จึงต้องเข้าใจธัมมจักกัปวัตตนสูตรโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ

ดังนั้น "ความเป็นกลาง" หรือ "ทางสายกลาง" จึงไม่ใช่การเพิกเฉย ไม่ใช่การอยู่ตรงกลางระหว่างความสุดโต่ง แต่เป็นการ "อยู่กับความถูกต้อง" ใช้ความถูกต้องเป็นจุดอ้างอิง ฝ่ายที่สุดโต่งนั่นเอง ที่ควรจะปรับเข้าหา "ทางสายกลาง" ไม่ใช่ให้ "ทางสายกลาง" คอยเฉลี่ยไปมา

แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่า "ทางสายกลาง" นั้นอยู่ตรงไหน ตรงนี้เองที่จะต้องอาศัยปัญญาในการค้นหา ทำความเข้าใจ และต้องอาศัยกำลังในการเข้าถึงและประคับประคองให้อยู่ในทางสายกลาง กำลังที่ว่านั้นก็คือ พละ ๕ อันประกอบด้วย ปัญญา สมาธิ สติ วิริยะ ศรัทธา ซึ่งท่าน ป. อ. ปยุตฺโต ได้แสดงโดยพิสดารต่อไปในแต่ละอย่าง โดยแยก ปัญญา สมาธิ สติ วิริยะ ให้เป็นกำลังภายใน และ ศรัทธา เป็นกำลังภายนอก

ปัญญา เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้วินิจฉัยถูกผิด นำไปสู่ทางที่ถูกต้อง สมาธิ คือความมั่นคง ไม่หวั่นไหว สติ คือความตื่นตัว รู้ทันสถานการณ์ เปรียบเหมือนนายประตูที่คอยดู คอยจับสิ่งต่าง ๆ ส่งให้ปัญญาพิจารณา วิริยะ คือความเพียร ความเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย กำลังต่าง ๆ จะมาแสดงออกที่วิริยะนี่เอง

ทั้งสี่ประการนั้นเป็นกำลังภายใน หากกำลังภายในยังไม่เข้มแข็ง ก็อาจอาศัยกำลังภายนอกมาช่วยเสริม คือ ศรัทธา โดยยึดแบบอย่างจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สถาบัน คำสอน คติต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่เสาหลักที่ใหญ่ที่สุดของชาติ คือพระมหากษัตริย์ (ซึ่งอันที่จริงผมนึกขยายไปว่า อาจหมายถึงทั้ง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็ได้) แต่การพึ่งพาแต่เสาหลักนั้นย่อมไม่แน่นหนาเพียงพอ จำเป็นต้องมีเสาหลักรอง ๆ ลงไปช่วยค้ำยันด้วย ได้แก่ คุณบิดา-มารดา หรือสถาบันครอบครัว พ่อแม่เป็นแบบอย่างแก่ลูก เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจของลูก คุณครู-อาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจแก่ศิษย์ คุณวัด ได้แก่สถาบันสงฆ์และศาสนา เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาแก่ศาสนิก และ วัฒนธรรม ได้แก่วัฒนธรรมอันดีของชาติ (ผมมานึกทีหลังว่า ที่ท่าน ป. อ. ปยุตฺโต ยกเรื่องของในหลวงขึ้นก่อนนั้น ความจริงก็อาจแฝงอยู่ในเรื่องวัฒนธรรมนี้อยู่แล้ว และอาจครอบคลุมไปถึงคุณบิดา-มารดาด้วย โดยมองชาติทั้งชาติเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ เรื่องของวัฒนธรรมนี้ก็รวมถึงสถาบันชาติด้วย ส่วนสถาบันศาสนา ก็อยู่ในหัวข้อ "คุณวัด" ข้างต้น เพียงแต่ท่านยกเรื่องของในหลวงขึ้นก่อน ก็เพื่อโน้มนำญาติโยมเข้าสู่เนื้อหา โดยอาศัยการที่ญาติโยมสวมเสื้อเหลืองมาฟังธรรมกันมาก)

ตัวเล่มหนังสือ หาได้ตามร้านหนังสือครับ และเท่าที่ค้นเว็บดู ก็พบฉบับออนไลน์ที่ลงในหนังสือพิมพ์ข่าวสดเป็นตอน ๆ คือ:

และมี คลิปเสียงปาฐกถาธรรม ด้วย

เกี่ยวกับทางสายกลางนี้ มีหลายครั้งที่ผมคิดว่าเกิดความสับสนจนเกิดความขัดแย้งทางความคิดอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่พิจารณาธรรมให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะในการสนทนาธรรมในโอกาสต่าง ๆ การกระทำบางอย่างอย่างสุดกำลัง อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "วิริยะ" คือพยายามสู้อย่างไม่ท้อถอย ในขณะที่บางคนอาจจะมองว่าเป็นความ "สุดโต่ง" หรือ "ยึดมั่นถือมั่น" ควรจะทำให้พอดี ๆ โดยลดลงมาอยู่ใน "ทางสายกลาง" มากกว่า การที่จะวินิจฉัยว่าควรมองแบบไหน ก็จำเป็นต้องใช้ปัญญาแยกแยะ ถ้าการกระทำนั้น ยังคงอยู่ในทางที่ถูกที่ควร ก็น่าจะถือเป็นการดำเนินทางสายกลางด้วยวิริยะ แต่ถ้าเป็นการออกนอกลู่นอกทางไปไกล จึงจะเรียกว่าเป็นความสุดโต่ง และ "วิริยะ" นั้น ก็อาจจะเปลี่ยนเป็น "มานะ" (ความถือตัว) แทน

แต่อย่างไรก็ดี ในหลาย ๆ โอกาส การวินิจฉัยนั้นก็ไม่ได้ทำได้ง่ายนัก จำเป็นต้องอาศัยเหตุและผลต่าง ๆ โดยดูที่เป้าหมายและวิธีการที่จะไปให้ถึงเป็นหลัก ว่ายังคงอยู่ในหนทางแห่งการดับทุกข์หรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งคือ พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ทำอะไรครึ่ง ๆ กลาง ๆ ในนามของ "ทางสายกลาง" อย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่ให้ดำเนินทางสายกลางให้ถึงที่สุด เพื่อประโยชน์ในการดับทุกข์ในระดับนิพพาน

อย่างไรก็ดี ปาฐกถาธรรมนี้ ก็ได้ให้แง่คิดอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของ พละ ๕ อันเป็นกำลังสำหรับการปฏิบัติต่าง ๆ ผมพบว่าผมไม่ได้สนใจที่หัวเรื่องของปาฐกถาธรรมมากนัก แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญ คือผู้ที่อ่อนแอในพละ ๕ จะมีแนวโน้มที่จะทำอะไรตามใจตัว เพราะกำลังใจอ่อนแอ จึงควบคุมกำลังกายไม่อยู่ และแปรออกมาในรูปของความรุนแรง กลายเป็นปัญหาของสังคม แต่ที่ผมได้จากปาฐกถาธรรมนี้ไม่แพ้กัน คือความชัดเจนในความหมายของ "ทางสายกลาง" มากขึ้น พร้อมทั้งได้แนวทางสำหรับสร้างพละ ๕ สำหรับเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างในปีใหม่นี้

ก็ขอให้ทุกท่านจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ โดยเฉพาะพละ ๕ นี้เทอญ

ป้ายกำกับ: , ,

2 ความเห็น:

  • 5 มกราคม 2552 เวลา 08:14 , Blogger udomsakc แถลง…

    :-) , อนุโมทนาครับ แต่ก็จริงๆ แหละ ทางสายกลาง ฟังเหมือนง่ายแต่ถ้าให้ทำจริงๆ ก็ใช่ว่าจะง่ายซะีทีเดียว

     
  • 5 มกราคม 2552 เวลา 09:08 , Blogger wd แถลง…

    อนุโมทนาครับ _/|\_

    สำหรับทางสายกลาง ถ้าชอบดูจิต เขาจะฟ้องออกมาเองที่จิตในปัจจุบันขณะครับ ว่าเป็นกลางหรือยัง แต่ถ้าไม่ถนัดดูจิตก็ต้องหัดสังเกตุเวลากระทบอารมณ์ ว่าวางเฉยได้มากขึ้นไหม

    สำหรับพละ ๕ ให้มุ่งเน้นไปที่สติครับ (โดยการเจริญสติปัฏฐาน ๔) เพราะเป็นองค์ธรรมกลางที่จะช่วยปรับอินทรีย์ที่เหลือให้เข้ามาอยู่ในทางสายกลางมากขึ้นเอง โดยที่ถ้าปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จนพ้นทุกข์ได้บางส่วนแล้ว ศรัทธาที่เป็นพลังภายนอกจะเปลี่ยนกลับมาเป็นศรัทธาภายในที่หนักแน่นและนุ่มนวลมากขึ้นเองครับ

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem