Theppitak's blog

My personal blog.

22 กุมภาพันธ์ 2552

Pegu

เมื่อปีกลาย ผมได้ blog ไว้เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์พม่าที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องผู้ชนะสิบทิศ โดยค้างเติ่งไว้แต่ตอนแรก สรุปถึงเรื่องราวเพียงคร่าว ๆ ของศูนย์อำนาจต่าง ๆ ของดินแดนพม่า และการเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น ส่วนตอนที่สองนั้น เขียนค้างไว้ยังไม่เสร็จ แต่แล้วก็สูญหายไปกับฮาร์ดดิสก์ที่พังไป ทีแรกว่าจะเลิกเขียนไปเลย แต่ก็ไปเจอ blog ของคุณ angeduriz เกี่ยวกับ ตะเลง มอญ รามัญ แล้วก็ รายงานของเธอ เกี่ยวกับเรื่องประวัติของมอญในยุคเริ่มต้น (เป็นภาษาฝรั่งเศส ถ้าคนไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสอย่างผมจะพยายามอ่าน ก็คงอ่านจาก google translator) ทำให้เกิดสนใจอยากหยิบมาเขียนใหม่ รายละเอียดคงไม่มากเท่าฉบับร่างเดิมที่เขียนตอนที่ยังสดใหม่อยู่ แต่ก็อาศัยโน้ตย่อที่จดไว้ในกระดาษมาเป็นโครงได้

รายงานของคุณ angeduriz นั้น เกี่ยวกับเรื่องของมอญในยุคเริ่มแรก และตอนที่สองที่ผมร่างไว้ ก็เริ่มจากเรื่องของหงสาวดีของมอญก่อนพอดี แต่จะเป็นยุคปลายคริสตศตวรรษที่ 13 ซึ่งก็คงไม่ซ้ำซ้อนอะไรกัน แต่เพื่อความต่อเนื่อง ก็ขอเท้าความสักนิด เกี่ยวกับมอญในยุคแรก ๆ

มอญถือเป็นชนชาติแรก ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานในดินแดนสุวรรณภูมิ ในชื่อของอาณาจักรสุธรรมวดี หรือ สะเทิม (Thaton) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่หงสาวดี (Hanthawaddy) หรือพะโค (Pegu หรือ Bago) มอญเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาทในดินแดนสุวรรณภูมิมาตั้งแต่แรก โดยไม่มีการผ่านวัฒนธรรมฮินดูและพุทธมหายานเหมือนชนชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคเลย จวบจนปัจจุบัน ต่อมา เมื่อชนชาติพม่าเริ่มเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้ และตั้งอาณาจักรพุกาม (Pagan) แทนที่อาณาจักรศรีเกษตรหรือพยู (Pyu) ในแถบพม่าตอนเหนือ พระเจ้าอนิรุทธ์ หรือ อโนรธา (Anawrahta) แห่งพุกามได้ยกลงมาตีสะเทิมแตก และมอญก็ตกอยู่ใต้อำนาจของพุกาม จนกระทั่งพุกามถูกมองโกลรุกรานบ้าง ทำให้อำนาจของพุกามเรื่อมเสื่อมสลาย มอญจึงเริ่มแยกตัวเป็นอิสระได้ โดยเป็นจุดตั้งต้นของราชวงศ์มะกะโท อันเป็นยุคที่เกิดเรื่องราวของเรื่องราชาธิราช จนกระทั่งถูกชนชาติพม่าปราบลงอีกครั้งในเรื่องผู้ชนะสิบทิศนี่เอง

อ่านเพิ่มเติมเรื่องของหงสาวดียุคต้นได้จากบทความ มอญ: ชนชาติบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ ที่เว็บ MonStudies.com ซึ่งคัดลอกมาจากเว็บบ้านจอมยุทธอีกที (ต้นฉบับไม่อยู่แล้ว)

ฉะนั้น ข้อมูลประกอบของฝ่ายมอญสำหรับวรรณกรรมทั้งสอง จึงเริ่มจากเรื่องของพระเจ้าฟ้ารั่ว (Wareru) หรือมะกะโทนี่เอง และไปสิ้นสุดที่สมัยของพระเจ้าสการะวุตพี (Takayutpi) ซึ่งถูกพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (Tabinshweti) ปราบในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ

ในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ตอนประชิดกำแพงหงสาวดี ซึ่งบุเรงนองพารานองอุปราชแปรไปตรวจดูกำแพงเมืองหงสาวดี เพื่อวางแผนทำลายกำแพงนั้น บุเรงนองถามรานองถึงความเก่าแก่ของกำแพงเมืองหงสาวดี และส่วนหนึ่งของคำตอบของรานองก็คือ:

...แลหงสาวดีนั้นมีกษัตริย์ทรงตบะสืบเนื่องต่อกันไม่ขาดสาย นับแต่มะกะโทมีอำนาจเป็นพระเจ้าอยู่หัวตั้งวงศ์ ณ เมืองเมาะตะมะ ลำดับลงมาหกชั่วถึงพินยาอูเล่า ก็ยกแต่เมาะตะมะมาตั้งหงสาวดีเป็นเมืองหลวง ครั้นพินยาอูสิ้นแล้วมังสุระมณีจักรราชบุตรมีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าบรรดากษัตริย์อื่น ยินครูผู้รู้เล่าว่าหงสาวดีนี้ก็สถาปนากำแพงหอรบสรรพ สมลักษณะหัวเมืองเอกมาครั้งนั้น นับแต่มังสุระมณีจักรลงมาถึงสการะวุตพีอันดับนี้ก็เก้าชั่วกษัตริย์...

ตรงนี้เป็นการอ้างประวัติศาสตร์โดยย่อของเมืองหงสาวดีตลอดราชวงศ์มะกะโทภายในย่อหน้าเดียว โดยอ้างถึงเรื่องของพระเจ้าราชาธิราชมังสุระมณีจักรนิดหน่อย ซึ่งสามารถขยายความได้ดังนี้

พระเจ้าฟ้ารั่ว (Wareru) หรือ มะกะโท ในเรื่องราชาธิราชระบุว่า เดิมเป็นพ่อค้าชาวเมาะตะมะ (Martaban) ได้ไปทำการค้าถึงสุโขทัยและได้ทำราชการกับพระร่วงเจ้าเป็นนายกองเลี้ยงช้าง ต่อมาได้พาพระธิดาพระร่วงหนีกลับมาเมาะตะมะ และวางแผนกำจัด "อลิมามาง" (Aleimma) พม่าผู้ครองเมืองเมาะตะมะในขณะนั้น แล้วตั้งตนเป็นอิสระจากพม่า ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์มอญที่เมาะตะมะ โดยได้รับพระราชทานพระนามจากพระร่วงว่า "พระเจ้าฟ้ารั่ว" (Wareru)

พระเจ้าฟ้ารั่ว ได้ทำการต่อต้านพม่าร่วมกับ Tarabya แห่งเมืองพะโค โดยต่างได้อภิเษกกับธิดาของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย แต่หลังจากขับไล่พม่าออกไปได้แล้ว Tarabya กลับวางแผนลอบสังหารพระเจ้าฟ้ารั่ว แต่ไม่สำเร็จ หลังการสัประยุทธ์กัน พระเจ้าฟ้ารั่วจับตัว Tarabya ได้ แต่ปล่อยตัวไปหลังจากพระรูปหนึ่งได้ขอชีวิตไว้ แต่ต่อมา Tarabya ก็ยังวางแผนลอบสังหารพระเจ้าฟ้ารั่วซ้ำอีก แต่ชายาซึ่งเป็นธิดาพระเจ้าฟ้ารั่วได้เตือนบิดาเสียก่อน Tayabya จึงถูกประหารชีวิต พระเจ้าฟ้ารั่วจึงปกครองเมืองมอญแต่ผู้เดียวตั้งแต่นั้นมา

พระเจ้าฟ้ารั่ว ถูกลอบสังหารในที่สุด โดยลูก ๆ ของ Tarabya โดยหลังจากลอบสังหารเสร็จก็พากันหนีออกบวช แต่ก็ถูกเหล่าขุนนางจับสึกเพื่อสำเร็จโทษ แล้วถวายราชบัลลังก์ให้อนุชาของพระเจ้าฟ้ารั่วสืบต่อ โดยในช่วงนี้ อาณาจักรมอญได้ปกครองลงไปถึงทวาย (Tavoy)

แผ่นดินมอญช่วงนี้มีเหตุไม่สงบอยู่ตลอดเวลา มีการผลัดแผ่นดินบ่อย ถ้าหักลบปีที่พินยาอูขึ้นครองราชย์ กับปีที่พระเจ้าฟ้ารั่วสิ้นพระชนม์ ก็ห่างกัน 57 ปี และในผู้ชนะสิบทิศอ้างว่าช่วงนี้มีกษัตริย์สืบทอดถึงหกชั่วกษัตริย์ เฉลี่ยตกแผ่นดินละไม่เกินสิบปี ก็นับว่าวุ่นวายเอาการอยู่

พินยาอู (Binnya U) ขับไล่พวกกบฏออกไปพ้นจากแผ่นดินได้ แต่ต่อมาอีก 10 ปี ก็เกิดกบฏขึ้นอีกโดยคนในราชสำนักร่วมกับเจ้าเชียงใหม่ พินยาอูซื้อใจเจ้าเชียงใหม่ด้วยการอภิเษกธิดาให้ แต่ก็ยังไม่สามารถกู้เมืองเมาะตะมะคืนมาจากกบฏได้ ทำให้ต้องไปอยู่ที่ Donwun (ตองหวุ่น?) เป็นเวลา 6 ปี ก่อนที่จะถูกพวกกบฏรุกเข้ามาอีก พินยาอูต้องหนีไปที่พะโค แล้วซ่อมกำแพงเมือง ตั้งมั่นอยู่ที่นั่น ก่อนที่จะเจรจาสงบศึกกับพวกกบฏได้ และไปนำตัวธิดากลับจากเชียงใหม่ เนื่องจากไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร ดังนั้น หงสาวดีหรือพะโคซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของสุธรรมวดี จึงกลับมาเป็นเมืองหลวงของมอญอีกครั้งนับตั้งแต่บัดนั้น

พอก่อน เอาลง blog เลยละกัน ถ้ารอให้เขียนเสร็จจริง ๆ คงจะยาวเกินไป และอาจไม่มีโอกาสได้ลง blog เลยเหมือนร่างฉบับก่อน ไว้โอกาสหน้านึกอยากเขียนค่อยเขียนต่อที่เรื่องของมังสุระมณีจักร พระเจ้าราชาธิราช

อ้างอิง:

G. E. Harvey. History of Burma. Frank Cass & Co. Ltd., 1967.

ป้ายกำกับ: , ,

3 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem