Theppitak's blog

My personal blog.

11 เมษายน 2551

Questions for Thai LUGs

ก่อนอื่น ขอเคลียร์เกี่ยวกับ blog เรื่อง social network เร่ร่อน เสียหน่อยก่อน ใน blog นั้น ผมเขียนไว้ว่า "ดูท่าการล่มสลายของเครือข่ายเดิมใน LTN Forum จะกู่ไม่กลับซะแล้ว" แล้วก็ตามด้วยสาธยายเกี่ยวกับการแยกวงกระจัดกระจายต่าง ๆ คาดไม่ถึงว่า พอไปคุยกับหลาย ๆ คน เขาเข้าใจว่าผมคิดว่าการแยกวงเหล่านั้นเป็นสาเหตุของการล่มสลาย พอกลับไปอ่านที่ผมเขียนอีกรอบ มันก็สามารถตีความได้อย่างนั้นจริง

แต่ความหมายขณะเขียน blog ผมเน้นที่ส่วนหลัง คือการ "กู่ไม่กลับ" ของการล่มสลายนั้น คือเรารู้ว่า TLWG มันพังครืนลงก่อนหน้านั้นแล้ว แต่จะทำยังไงล่ะ กับงานพัฒนาที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป? สิ่งที่ผมขลุกอยู่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็คือทรัพยากรต่าง ๆ ใน LTN CVS ซึ่งในระหว่างที่ไม่มีที่ให้พูดคุย ผมก็ต้องทำไปเท่าที่จะทำได้ โดยพยายามให้กิจกรรมยังอยู่ในสายตาสาธารณชนอยู่ (ไม่ใช่หมกเม็ดทำ) ด้วยการเขียนลง blog และพยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนอื่นผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Planet TLWG, LTN Forum (เชื่อหรือไม่ ว่ายังมี bug report ที่นั่นอยู่!), e-mail ส่วนตัว, instant messenger (ICQ, gtalk), IRC (นาน ๆ ที) ฯลฯ โดยในใจก็ยังหวัง ว่าชุมชนพัฒนามันจะฟื้นกลับมาอีก จะได้มี feedback และกิจกรรมต่าง ๆ คึกคักกว่านี้ เพื่ออัตราการพัฒนาที่สูงเหมือนในอดีต ดังนั้น สิ่งที่อยู่ในหัวขณะที่เขียนประโยค "ดูท่าการล่มสลาย...จะกู่ไม่กลับ" จึงอยู่ที่การ "กู่มันกลับมา" ซึ่งดูท่าจะยากขึ้นทุกที หลังจากที่มีการแยกวงกระจัดพลัดพราย แต่ผมไม่ได้หมายความว่ามันเป็นสาเหตุของการล่มสลายแต่อย่างใด และผมก็ไม่ได้หมายถึงการกู่ LTN Forum กลับมาด้วย ผมหมายถึงกลุ่มคน ดังที่ใช้คำว่า "เครือข่ายเดิมใน LTN Forum" มันจะเป็นที่ไหนก็ได้ ขอให้ไม่กระจัดกระจายเกินไปอย่างที่เป็นอยู่ก็แล้วกัน

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของ blog นี้ เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากบทความเกี่ยวกับ Beijing LUG และ LUG Singapore ที่ ZDNet Asia คือผู้เขียนเขาอยากขยายมาถึงเรื่องของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียด้วย เลยมาตั้งคำถามกับประเทศไทยดังนี้:

  • How was 2007 for your group?
  • What are some changes you foresee in your plans for 2008?
  • How has membership changed in the last few years? More vocal now? More members now?
  • Is the focus of your group discussion changing from a few years

ผมชักรู้สึกว่า ตัวเองไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้เสียแล้ว คำตอบเบื้องต้นที่ผมมีคือ:

How was 2007 for your group?
ปีที่ผ่านไป ก็เหมือนกับหลายปีที่ผ่านไป คือไม่มีกลุ่มก้อนที่แน่นอน มีกลุ่มต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมแยกกัน เช่น:
  • LTN กิจกรรมพัฒนาเป็นไปตามมีตามเกิด ไม่คึกคักเท่าที่ควร ชุมชนถือได้ว่าตายไปแล้ว แต่ยังมีคนกลุ่มเล็ก ๆ พยายามต่อลมหายใจของงานพัฒนาต่อไป ไม่มีชุมชนผู้ใช้ที่นี่อีกต่อไป แต่มีความพยายามล่าสุดที่จะฟื้น กลุ่มนักพัฒนา ขึ้นมาใหม่
  • Ubuntuclub เน้นเจาะกลุ่มผู้ใช้ใหม่ โดยมี Ubuntu เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่าง ๆ และกลุ่มนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่สำหรับกิจกรรมการพัฒนานั้น แม้จะมีการพัฒนา distro ของตัวเอง แต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับต้นน้ำน้อยมาก
  • Debianclub แม้เป้าหมายจะเน้นกลุ่มผู้ใช้ Debian ทุกระดับ แต่ปรากฏว่าเนื้อหาส่วนใหญ่มีแต่ hard core กลุ่มนี้ความเคลื่อนไหวไม่คึกคักมาก และการเติบโตก็ยังน้อย
  • Blognone จุดยืนคือเป็นเว็บข่าวเทคโนโลยี แต่ก็ปรากฏว่ามีสมาชิกระดับคุณภาพจำนวนมาก มีศักยภาพในการสร้างกระแสความเคลื่อนไหว รวมทั้งสามารถสร้างกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อวงการโอเพนซอร์สได้หลากหลาย
  • Codenone แตกสาขากลุ่มนักพัฒนาออกมาจาก Blognone แต่ผมไม่มีข้อมูลมากสำหรับกลุ่มนี้
  • #tlwg กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเอกเทศอีกกลุ่ม มีการสนทนากันภายในกลุ่มเกี่ยวกับเรื่องสัพเพเหระ และอัปเดตข่าวสารกันเอง มีจำนวนสมาชิกไม่แน่นอน และนับลำบาก เพราะบางคนเปลี่ยนชื่อไปเรื่อย ๆ กลุ่มนี้ผมก็ไม่มีข้อมูลมากนักเช่นกัน
  • twitter เป็นกลุ่ม social network ที่โยงใยเป็นเครือข่าย มีการอัปเดตข่าวสารกันเอง ผมยังไม่มีข้อมูลมากนักเช่นกัน
  • OpenTLE เป็นกลุ่มผู้ใช้ของ Linux TLE ซึ่งเป็น distro ท้องถิ่น ผมเองมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับกลุ่มนี้
  • Thai L10N เป็นการรวมกลุ่มนักแปลซอฟต์แวร์เสรีต่าง ๆ ยังคงมีกิจกรรมการแปลอย่างต่อเนื่อง แต่ความมีส่วนร่วมของสมาชิกยังถือว่าต่ำ ทำให้บางครั้งซบเซา ขาดการอัปเดต
What are some changes you foresee in your plans for 2008?
ผมไม่เห็นแผนใด ๆ นอกจากงานในส่วนของตัวเอง การรวมกันอย่างหลวม ๆ ในสภาพปัจจุบัน ทำให้คาดหวังได้เพียงภาพรวมที่จะเกิดขึ้นเองจากกลุ่มย่อยและปัจเจกบุคคล คล้ายกับโครงสร้างของระบบซับซ้อนที่ทำนายลำบาก
How has membership changed in the last few years? More vocal now? More members now?
เช่นกัน.. ผมมองเห็นเพียงกลุ่มที่ผมข้องเกี่ยวด้วยเท่านั้น แต่เห็นได้ชัดว่ามีการรวมกลุ่มเป็นกระจุกตรงนั้นทีตรงนี้ทีตามกระแสที่เกิดขึ้น ในแง่ของภาพรวม ผมไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระดับเสียงของชุมชนเท่าใดนัก
Is the focus of your group discussion changing from a few years
แน่นอนว่าสภาพพลวัตอย่างนี้ หัวข้อที่สนใจย่อมแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามกระแสที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งส่งผลไปถึงการรวมกลุ่มเฉพาะกิจในโอกาสต่าง ๆ ด้วย

หลังจากพยายามตอบแล้ว ผมพบว่าผมไม่เหมาะที่จะเป็นคนให้ข้อมูลจริง ๆ แต่จะมีใครไหมที่จะให้ข้อมูลได้ในสภาพปัจจุบันนี้? หรือแทนที่จะตอบเป็นภาพรวม ก็ใช้วิธีแจกคำถามไปยังกลุ่มต่าง ๆ ดีกว่า?

ป้ายกำกับ:

7 ความเห็น:

  • 11 เมษายน 2551 เวลา 18:02 , Blogger Isriya แถลง…

    ผมมี 2 ประเด็นคือ

    1. ความทับซ้อนกันของคนในชุมชนต่างๆ
    2. เรายังจำเป็นต้องมีชุมชนศูนย์กลางแบบเดิมหรือไม่ การกระจายตัวออกไปตามความสนใจ จะใช้ได้แทนของเก่าได้แค่ไหน

     
  • 12 เมษายน 2551 เวลา 08:45 , Blogger Thep แถลง…

    ทั้งสองประเด็นมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ

    แง่บวกของการทับซ้อนคงไม่มีอะไรมากมาย นอกจากเป็นคำอธิบายว่า ถึงจะแยกวงคุย แต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงผ่านการทับซ้อนอยู่ ที่น่าสนใจคือเรื่องการกระจายตามความสนใจ ซึ่งจะทำให้แต่ละเรื่องมีโอกาสสร้างชุมชนของตัวเอง เป็นการกระจายกำลังกันขยายตัวคนละด้าน ซึ่งเรื่องนี้ผมเองก็เห็นด้วย ดังที่เคยตอบสัมภาษณ์ blognone ไปเมื่อหลายปีก่อน

    แง่ลบคือว่า เหตุผลของแง่บวกนั้น มีสมมุติฐานว่าเรามีกำลังคนเพียงพอที่จะดูแลในแต่ละส่วน และแต่ละส่วนนั้น มีปฏิสัมพันธ์กันตามความเหมาะสม

    แต่ความเป็นจริงก็คือ เรายังขาดกำลังคนในด้านงานพัฒนา การทับซ้อนยังมีสูงเพราะมีแต่คนกลุ่มเดิม ๆ แบ่งภาคตัวเองไปทำงานหลายส่วน ทำให้ขาดโฟกัสและความต่อเนื่อง ทั้งในแต่ละเรื่องก็ทำกันในกลุ่มที่เล็กลงกว่าเดิม เพราะกำลังคนถูกกระจายออกไป ความคืบหน้าจึงเชื่องช้ามาก เหมือนเรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความเป็นโอเพนซอร์สหรือ bazaar ได้เท่าที่ควรจะเป็น

    นอกจากนี้ เรื่องความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มก็เป็นปัญหา ปัญหาเรื่องเดียวกัน ถูกค้นพบซ้ำ ๆ กันในหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็หาทางแก้ของตัวเอง โดยไม่ได้มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน กลายเป็นการ fork กลาย ๆ (ตัวอย่างเช่น เรื่องฟอนต์ที่มี solution หลากหลาย หรือเรื่องปัญหาภาษาไทยที่แยกกันคุย ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีการประชุมกำหนด วทท 3.0 แต่ละกลุ่มก็ต่างคนต่างคิดเอาเอง ว่าเป็นปัญหาของกลุ่มอื่น โดยไม่มีใครเห็นภาพรวม และอีกเรื่องคือ คงจะมีบั๊กอีกหลายบั๊กที่พบในกลุ่ม TLE หรือ Ubuntu ที่ไม่มีการส่งแพตช์เข้าที่ต้นน้ำ ฯลฯ)

    กลับไปที่ประเด็นเรื่องโฟกัสและความต่อเนื่องนิดหนึ่ง ประเด็นนี้นำไปสู่อีกประเด็นหนึ่งคือ เราสนใจจะใช้ opensource model ในการสร้างโครงการที่เป็น upstream ในประเทศเราบ้างไหม? เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะ LTN CVS เองก็ host upstream project หลายโครงการ โครงการเหล่านี้ ถึงจะพัฒนากันมามากแล้ว แต่โลกโอเพนซอร์สมันก็ไม่ได้นิ่ง ยังต้องมีการปรับปรุงตามสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เรื่อย ๆ หรือไม่ ก็มีช่องทางปรับปรุงได้อยู่เสมอ

    ที่ผ่านมาผมรับ bug report จากที่โน่นที ที่นี่ที ก็ถือว่าทำให้มีการปรับปรุง แต่บางบั๊กก็ใช้เวลานานกว่าที่ควรจะเป็น กว่าจะมาถึงผม เช่น บั๊กของ swath เมื่อเร็ว ๆ นี้ มันทำงานไม่ได้อยู่เดือนกว่า ๆ เชียว (แน่นอนว่าผู้ใช้ TLE และ Ubuntu ไม่ได้รับรู้เรื่องนี้ เพราะ release cycle ที่ยาวนาน แถมยัง freeze ไปก่อนหน้าแล้ว ในขณะที่ผู้ใช้ Debian testing/unstable ที่ควรจะรับรู้ bug ได้เร็ว ก็ไม่ค่อยใช้ BTS กัน [เฉพาะคนไทยนะ ส่วนต่างประเทศน่ะ เขา report bug กันในวัน release เลย] เข้าใจว่าคนที่เจอบั๊กและอยากรายงาน คงหาช่องทางกันอยู่นานทีเดียว)

    ผมเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว ประเทศเราก็ควรจะเป็นโมเดลกระจายแหละ เมื่อการพัฒนาต่าง ๆ พร้อม แต่ลักษณะที่เป็นอยู่ มันกระจายเพราะเกิดจากอาการ "วงแตก" ไม่ใช่เพราะมีความพร้อมอย่างแท้จริง กลุ่มต่าง ๆ ควรมีการเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เป็นอยู่

    และมันจะเป็นอย่างนั้นได้ กลุ่มที่เป็น upstream ก็ควรเป็น hub ให้ติดต่อได้ มีคนดูแลมากพอ และกลุ่มที่เป็น downstream ก็ควรมีส่วนช่วยกันดูแล upstream ด้วย

     
  • 12 เมษายน 2551 เวลา 13:43 , Blogger ChaoChao แถลง…

    น่าจะมีการปั้นนักพัฒนาอิสระนะครับ โดยการจัดอบรมตั้งแต่พื้นฐานการพัฒนาไปจนถึง advance นะครับ จะมีคนสนใจมาก เพราะว่า ubuntuclub ก็ได้มีการจัดแต่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นฐาน ผมคิดว่าน่าจะมีการจัดอบรมของ debianclub ตั้งแต่การใช้งานพื้นฐานของ debian และถ้าใครสนใจในเรื่องการพัฒนา ก็ให้ตกลงรวบรวมคน และเงินบางส่วนในการอบรมเรื่องการพัฒนาตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึง advance แบบต่อเนื่องสำหรับคนที่สนใจจะช่วยในการพัฒนานะครับ


    โดยส่วนตัวผมสนใจครับ แ่ต่ไม่มีเงินพอที่จะอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีน่ะครับ เพราะแพงมาก

     
  • 12 เมษายน 2551 เวลา 15:22 , Blogger Beamer User แถลง…

    ถามเรื่อง SWATH นะครับ

    กรณี SWATH ผมไม่แน่ใจว่ามีคนไทยใช้กันแค่ไหน แต่
    บน Windows นั้นค่อนข้างมีพอสมควรตามสถาบันต่าง ๆ

    ในกรณีผู้ใช้อย่างผม สำหรับ SWATH ถ้าผมเจอบักผมควรจะรายงานไปที่
    ไหน ถ้าบนมีบน sourceforge ด้วยก็น่าจะสะดวก
    สำหรับผม

     
  • 14 เมษายน 2551 เวลา 09:10 , Blogger Thep แถลง…

    ChaoChao,

    เรื่องปั้นนั้นอยากปั้นเหมือนกันครับ แต่ต้องยอมรับว่า debianclub กำลังคนยังน้อย และที่มีอยู่ แต่ละคนก็มีงานล้นมือกันอยู่แล้ว ลำพังจะหาเวลาเขียนบทความกันยังยาก.. ตอนนี้ก็ช่วยติวกันในหมู่คนที่มีศักยภาพก่อน เพราะ Debian ก็มี mentoring process ที่สามารถช่วยได้ เพียงแต่หาคนที่อยากจะเข้าร่วมจริง ๆ ไม่ค่อยได้เท่านั้น และการเชิญชวนก็ลำบาก

    แต่เห็นด้วยครับ ว่าการขยับจาก ubuntuclub มาที่ debianclub อาจเป็นขั้นตอนที่จะสร้างคนที่อยู่ใกล้ upstream ได้มากขึ้น

    fat dog father,

    ช่องทางที่มีตอนนี้คือ LTN forum หรือ mailing list ครับ แต่มันก็เงียบ ๆ อยู่ คนที่รายงานบั๊กเข้ามานั้น เขาเมลตรงถึงผมเลย ซึ่งก็เหมือนกับงานอื่น ๆ ส่วนมาก มีส่วนน้อยที่จะผ่าน LTN เป็นงั้นไป

    ว่าจะหาเวลาลง bug tracking system ที่ LTN เหมือนกันครับ แต่เห็น forum เงียบขนาดนี้ ก็ไม่รู้จะมีใครใช้หรือเปล่าเหมือนกัน

    ที่สำคัญ ถ้ามีใครรายงานบั๊ก swath บน Windows มาตอนนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาให้ได้ ต้องหาคนช่วยดูแลก่อนเหมือนกัน

     
  • 21 เมษายน 2551 เวลา 05:26 , Blogger the ancient แถลง…

    ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

     
  • 15 พฤษภาคม 2551 เวลา 16:14 , Blogger Unknown แถลง…

    หลังจากที่มีการแยกวงกระจัดพลัดพราย แต่ผมไม่ได้หมายความว่ามันเป็นสาเหตุของการล่มสลายแต่อย่างใด
    ^^^ แต่เป็นสาเหตุของการ กู่กลับได้"ยากขึ้น"?

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem