Theppitak's blog

My personal blog.

04 มีนาคม 2550

Mantra

เมื่อคืนไปเวียนเทียนมาฆบูชากับแม่ เมื่อตอนเป็นเด็กนั้น นานๆ จะได้ไปเวียนเทียนสักครั้ง เพราะที่บ้านค่อนข้างเป็นคนไกลวัด แม้ตามทะเบียนบ้านจะนับถือพุทธ แต่ดูเหมือนในทางปฏิบัติจะเป็นลัทธิขงจื๊อตามแบบคนจีนโพ้นทะเลมากกว่า คือเน้นการเคารพบูชาบรรพบุรุษ นิยมยกย่องการศึกษา ส่วนที่โรงเรียน ก็เป็นโรงเรียนคริสต์ ไม่เคยพาสวดมนต์ไหว้พระ จะมีก็แต่การสรรเสริญพระเจ้าก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน

ก็เลยเป็นคนสวดมนต์ไม่ค่อยเป็น ตอนย้ายเข้าเรียนโรงเรียนมัธยม การปรับตัวให้เข้ากับธรรมเนียมพุทธ เช่น การสวดมนต์หน้าเสาธง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเริ่มฝึกหัดใหม่ จากนั้น ก็ได้เรียนวิชาพุทธศาสนาตามหลักสูตร แต่ก็เหมือนเรียนตามหน้าที่เท่านั้น ไม่ได้รู้สึกสนใจเป็นพิเศษเหมือนวิชาอื่นบางวิชาที่ดู "cool" กว่า

แต่เมื่อเติบโตขึ้น ผ่านการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในชีวิต จนได้มาสัมผัสพุทธศาสนาจริงๆ จังๆ จึงได้เกิดมุมมองที่ต่างไปจากตอนเป็นเด็ก รู้สึกประทับใจในแนวคิดแบบพุทธที่มีหลักการ เป็นเหตุเป็นผล สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ ทั้งยังเปิดกว้าง ให้อิสระทางความคิดที่จะศึกษาและให้เหตุผลกับแนวทางของศาสนาอื่น

การตั้งคำถามต่อพิธีกรรมต่างๆ ของชาวพุทธเอง ก็เป็นแนวทางหนึ่งของการศึกษาพุทธธรรมด้วย ซึ่งการให้คำตอบต่อเรื่องต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นขาวกับดำ แต่ขอให้พิจารณาเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง

หนึ่งในคำถามหลายๆ ข้อก็คือ การสวดมนต์และพิธีกรรมต่างๆ นั้น สำคัญแค่ไหน? งมงายหรือเปล่า?

ตามที่เคยอ่านประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ดูเหมือนการเน้นพิธีกรรมจะเกิดในยุคท้ายๆ และยังทำให้พุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย แต่ก็ปรากฏว่า พุทธศาสนาที่ไปเผยแผ่ในที่อื่นๆ ก็ยังมีพุทธนิกายตันตรยานแบบนี้ปนไปอยู่ด้วย โดยเฉพาะในจีนและญี่ปุ่น ที่ซึ่งมหายานเฟื่องฟู และพุทธศาสนาดูจะมีความหลากหลายของนิกายสูงมาก

พุทธที่เผยแผ่มายังดินแดนสุวรรณภูมินี้ เป็นนิกายเถรวาท ซึ่งยึดถือตามมติของพระเถระในการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพาน ที่จะรักษาพระวินัยทุกข้อที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งแม้จะฟังดูเคร่งครัด แต่ผลก็คือ เถรวาทกลายเป็นนิกายที่สามารถรักษาแนวคำสอนไว้ได้โดยไม่ผิดเพี้ยนจากกันมากอย่างที่เกิดกับมหายาน จนพระธรรมปิฎก (ป. ปยุตฺโต) เคยกล่าวไว้ว่า คำสอนของนิกายมหายานต่างๆ นั้น ขัดแย้งกันเองมากกว่าที่ขัดแย้งกับเถรวาทเสียอีก ลักษณะเช่นนี้เอง ที่ทำให้เถรวาทกลายเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญสำหรับการศึกษาพุทธศาสนาของโลก

นั่นคือสิ่งที่เรามี แต่เราก็เอามาผสมผสานกับลัทธิพราหมณ์และความเชื่อภูติผีพื้นบ้าน จนออกจะกลายเป็นการสร้างนิกายตันตรยานขึ้นมาใหม่ โดยไปให้ความสำคัญกับพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์มากเกินไป

การสวดมนต์ภาษาบาลีนั้น ไม่ใช่ไม่มีข้อดี ความจริงแล้ว การสวดมนต์มีหน้าที่ของมันอยู่ เช่น:

  • เป็นวิธีหลักในการถ่ายทอดหลักธรรมในแบบมุขปาฐะมาตั้งแต่การสังคายนาครั้งแรก ก่อนที่จะเริ่มมีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรในการสังคายนาครั้งที่ 3
  • เป็นวิธีหนึ่งในการอ่านคำสอนให้ถึงชาวบ้าน เพราะคงมีชาวบ้านน้อยคนที่จะได้อ่านพระไตรปิฎกจริงๆ
  • เป็นภาษาสากลของชาวพุทธทั่วโลก ถ้าใครได้ดูสารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า คงจะได้ฟังเสียงสวดมนต์ของชาวพุทธที่อินเดีย เนปาล และศรีลังกา จะพบว่า ไม่ได้ต่างจากที่เราสวดกันอยู่เลย

นั่นคือหน้าที่ของพิธีกรรมการสวดมนต์ แต่หน้าที่ที่เหลือของผู้สวดมนต์ก็ยังมี คือต้องระลึกถึงความหมายของบทสวดตามไปด้วย จึงจะมีผลน้อมนำความคิดจิตใจให้เกิดความสงบ และมั่นคงในการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้ บทสวดมนต์แปลจะช่วยได้มาก ขณะเวียนเทียนเมื่อคืนนี้ ผมนึกอยากให้พระสงฆ์นำสวดรำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยเป็นทำนองสรภัญญะ ต่อจากบทบาลีปกติด้วย เพื่อจะให้ชาวพุทธได้เข้าถึง และได้ประโยชน์จากพิธีกรรมมากยิ่งขึ้น ก่อนที่เราจะลืมนึกถึงความหมาย จนกลายเป็นพิธีกรรมงมงายในที่สุด

อาจจะมีคำถามอื่นๆ ที่สมควรขบคิดกันอีก เช่น เรากราบพระพุทธรูปที่เป็นอิฐปูนทองเหลืองเพื่ออะไร? การรดน้ำมนต์ทำเพื่ออะไร? คำถามเหล่านี้ ดูเผินๆ อาจเหมือนการท้าทายศาสนาด้วยความคิดวิทยาศาสตร์ "สมัยใหม่" แต่ทัศนคติใดๆ ที่จะปฏิเสธหรือยอมรับอย่างสิ้นเชิงแบบขาวกับดำ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่าเป็นเรื่องงมงาย หรือจะเป็นการเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์โดยไม่คิดอะไร ก็คงไม่ใช่การใช้เหตุผลแบบ "วิทยาศาสตร์" ที่แท้จริง

อย่างมงายในศาสนา อย่างมงายในวิทยาศาสตร์ และอย่างมงายในคำพูดประโยคนี้ด้วย

8 ความเห็น:

  • 4 มีนาคม 2550 เวลา 19:00 , Blogger wd แถลง…

    เล่าสู่กันฟังนะครับ
    มีเพื่อนคนนึง ผละจากวิธีปฏิบัติแบบเดิมคือการสวดมนต์ทุกวัน ไปสู่การพยายามนั่งภาวนาอย่างจริงจัง เมื่อเวลาผ่านไปสองเดือน ปรากฎว่าสภาพจิตเครืยดง่ายขึ้น ทุกข์เกิดง่ายขึ้น เลยจำเป็นต้องกลับไปปฏิบัติแบบเดิม คือสวดมนต์ให้มากกว่านั่งสมาธิ แล้วก็ได้สภาพจิตแบบที่เคยเป็นคือเป็นธรรมชาตินุ่มนวลควรแก่การงาน

    ผมเลยคิดว่าการปฏิบัติทางพุทธ คงจะไม่มีสูตรสำเร็จรูป มีแต่ทางเดินที่จะต้องลับสมองประลองปัญญาไปตลอดเส้นทาง
    ถ้าจะมีสูตรการปฏิบัติที่เป็นแก่นจริง ๆ สูตรนั้นคงจะเป็นมหาสติปัฏฐานสูตร
    แต่เปลือกและกระพี้อื่น ๆ ก็คงจำเป็นต้องมี เพื่อเป็นน้ำเลี้ยงให้แก่นสามารถคงทนอยู่ได้
    ตัวแก่นเองก็จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว เพื่อเป็นพยานพิสูจน์ความจริงที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้
    ระบบที่มีทั้งของดีของเสียคลุกเคล้ากันคล้ายกับตลาดสดแบบนี้ เป็นอยู่อย่างนี้มานานแล้ว และน่าจะเป็นอยู่ต่อไป เพื่อรักษาองก์รวมเอาไว้ให้ครบห้าพันปีครับ

     
  • 4 มีนาคม 2550 เวลา 19:49 , Blogger Unknown แถลง…

    ในความคิดผม หัวใจของศาสนาพุทธมีความเป็น abstract อยู่ในระดับหนึ่ง เช่นการครองสติ การละเว้นชั่วทำดีทำใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่เริ่มขึ้นจากภายในเป็นหลักและด้วยความเป็น abstract ตรงจุดนี้เอง ทำให้ยากต่อผู้ชาวพุทธที่จะปฏิบัติตามวิถีพุทธแท้ร้อยเปอร์เซ็น

    นอกจากนี้แล้วด้วยที่มนุษย์มีสัญชาตญาณลึกๆ ว่ามีพระเจ้าอยู่ โดยผมสังเกตุจาก ตั้งแต่อดีตสมัยยังอยู่ในถ้ำกัน มนุษย์ก็มีแนวคิดนี้แล้ว โดยที่พวกเขาก็มีแบบฉบับในการสักการะพระเจ้าตามแบบฉบับที่พวกเขาคิดว่ามันควรจะเป็น และการกระทำนี้จะนำโชคดีมาให้กับพวกเขา

    ผมเชื่อว่าพิธีกรรมของพุทธเช่นการสวดมนต์การกราบไหว้พระรูปของชาวพุทธส่วนใหญ่นั้นก็คงเป็นไปตามสัญชาตญาณนี้ แม้จะมีคำอธิบายและเหตุผลที่งดงามว่าเป็นการสร้างสมาธิ หรือ เป็นการน้อมจิตใจสู่ตัวศาสนา แต่ลึกๆ แล้ว ก็คงเป็นไปตามสัญชาตญาณนี้

    อีกมุมหนึ่งคือการกระทำดังกล่าว ก็เป็นสัญลักษณ์ในการทำความดีที่สังคมพุทธยอมรับอย่างกว้างขวาง อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่าแก่นแท้ของพุทธเป็น abstract ดังนั้นการสวดมนต์หรือไหว้พระรูปจึงเป็น กลไกที่ชัดเจนกว่าการยกระดับจิตใจ ดังนั้นด้วยความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัดของผู้คนส่วนใหญ่ การนับถือพุทธโดยใช้วิธีสวดมนต์การบริจาคให้กับศาสนสถานรวมถึงการเคารพพระรูป จะเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจน และดูดีทางสังคมยิ่งกว่าการที่มานั่งยกระดับจิตใจหรือความรู้ครับ

     
  • 4 มีนาคม 2550 เวลา 20:28 , Blogger NOI แถลง…

    ที่คุณเทพพูดเรื่องรดน้ำมนต์ ผมเข้าใจจากประสบการณ์ตรงคือ ตอนที่เราถูกน้ำมนต์เราจะรู้สึกเย็น สบาย คลายกังวล เกิดความมั่นใจ และอาจจะเป็นกุศโลบายของพระที่จะบอกญาติโยมว่า เสร็จพิธีแล้ว :)

    เรื่องเพื่อนของคุณ widhaya (อาจารย์ wd หรือเปล่านี่) ผมว่าอาจจะไม่ถูกจริต หรือไม่ก็ปฏิบัติแล้วเกิดอัตตา หรือมัวแต่เล็งผลเลิศจนไม่อยากให้มีอะไรมากระทบแม้แต่น้อย และอาจจะบวกกับความรู้สึกที่เคยได้เมื่อสวดมนตร์ ได้ดีกว่ามานั่งปฏิบัติ เกิดการเปรียบเทียบ ทำให้เครียด คิดว่าหากปฏิบัติแบบ สติปัฏฐาน ๔ น่าจะช่วยได้เยอะ เพราะไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบ ก็เอาสติไปจับ เป็นขณิกสมาธิ ;) เห็นการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เกิดการปล่อยวาง หากปฏิบัติถึงขั้นจะสามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้ เพราะสติตามรู้ทุกกระบวนการ กลายเป็นสมาธิลืมตา (แต่ว่าทำได้ยากจริงๆ นะนี่) :)

    ส่วนที่คุณ Tunyawat กล่าวเกี่ยวกับสัญชาตญาณความเชื่อเรื่องมีพระเจ้า ไม่ใช่กับคนที่ปฏิบัติวิธีพุทธขั้นสูงแน่ๆ ครับ :) การสวดมนตร์นั้นจะเป็นไปเพื่อรำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณมากกว่า ;)

     
  • 5 มีนาคม 2550 เวลา 01:59 , Blogger Thep แถลง…

    ลืมเท้าความว่า ตอนที่ไปวัดเพื่อเวียนเทียน บรรยากาศในวัดเป็นการแจกวัตถุมงคล และประกาศรับเงินบริจาคเพื่อซ่อมแซมพระธาตุอย่างเอาเป็นเอาตาย จนแทบไม่ได้พูดถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา หรือหลักธรรมคำสอนใดๆ เลย จึงเป็นเหตุให้ตั้งข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้

    ผมเห็นด้วยกับคุณ widhaya นะครับ เกี่ยวกับธรรมที่มีหลายระดับ แม้จะไม่พูดถึงส่วนผสมต่างๆ เพื่อความพอเหมาะ แต่ธรรมที่มีหลายระดับ ก็เป็นการเปิดประตูสำหรับคนระดับต่างๆ การตั้งคำถามเหล่านี้ ก็เป็นการเชื่อมโยงระหว่างระดับพิธีกรรมกับระดับธรรม

    ความเป็น abstract ที่คุณ tunyawat พูดถึง คงตั้งใจจะหมายถึงว่า พิธีกรรมเป็นสัญลักษณ์ของแนวคิด ตรงนั้นเห็นด้วยครับ แต่ที่เลยไปถึงสัญชาตญาณความมีอยู่ของพระเจ้า คงจะไม่ใช่แล้วละ เพราะการที่ใครจะเรียกตัวเองแบบรู้ตัวว่าเป็นพุทธ ก็หมายถึงว่าโดยเนื้อแท้ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าไปแล้ว หากจะหลงเหลืออยู่ ก็ในความหมายที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น หมายถึงธรรม หรือในระดับปกรณัมประกอบพุทธประวัติเท่านั้น แต่ถ้าหมายถึงพุทธแบบผสมพราหมณ์และภูติผีที่ชาวบ้านส่วนมากทำกัน ก็คงใช่ครับ

    เรื่องการกราบพระพุทธรูป คุณ noi ได้พูดไปแล้ว ว่าเป็นการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ซึ่งผมมองว่า พระพุทธรูปปางต่างๆ เป็นเครื่องระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติ ซึ่งหากเราศึกษา ก็จะได้ซึมซับอุดมการณ์ของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะทำความเข้าใจในพระธรรมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

    การกราบพระประกอบด้วยการกราบด้วยกายและด้วยใจ ขณะที่กายแสดงสาธุการด้วยเบญจางคประดิษฐ์นั้น ใจก็น้อมสู่พระรัตนตรัย เตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป ซึ่งต้องกล่าวถึงการบูชาว่าปฏิบัติบูชานั้น ประเสริฐกว่าอามิสบูชา

     
  • 5 มีนาคม 2550 เวลา 04:31 , Blogger Unknown แถลง…

    อ่า ผมเขียนไม่ดีเอง สื่อสารยากไปหน่อย ถ้าอ่านเร็วๆ มันจะหลงประเด็นน่ะครับ ขอเขียนเพิ่มเติมไว้ตรงนี้แล้วกันนะครับ เผื่อใครเข้ามาอ่านต่อจะได้งงน้อยลง (มั้ง)

    ความเป็น abstract ของศาสนาพุทธนี้ ผมต้องการสื่อว่า ศาสนาพุทธนั้น แท้จริงแล้วเน้นในเรื่องของการพัฒนาจิตเป็นหลัก และเพราะเน้นเรื่องของจิตเป็นหลักนี้เอง ศาสนาพุทธจึงมีความเป็น abstract สูง ซึ่งถ้าเทียบกับศาสนาอิสลามที่จะมีกฎควบคุมการดำรงชีวิตอย่างเป็นขั้นตอนแน่นอน ผมจึงเห็นว่าศาสนาอิสลามนั้นโดยรวมมีความเป็น concrete มากกว่าถ้าเทียบกับศาสนาพุทธ

    และด้วยความเป็น abstract นี้เอง มันจึงถ่ายทอดออกมาได้ยาก จึงทำให้เกิดมีพิธีกรรมขึ้นมา ซึ่งพิธีกรรมก็จะเป็นขั้นตอนที่ผู้ที่ศรัทธานั้นปฏิบัติตามเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ฉันเป็นชาวพุทธที่ดีนะ เพราะมันเป็นอะไรที่เห็นหรือสัมผัสได้

    ทีนี้มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมในพิธีกรรม และเชื่อในใจลึกๆ ว่าเมื่อปฏิบัติแล้วจะนำมาซึ่งโชคลาภ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดของศาสนาที่มีพระเจ้า ซึ่งผมเชื่อว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นในชาวพุทธได้ก็เพราะมันเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งมนุึษย์ที่มีมาตั้งแต่อดีต แต่พระเจ้าที่ผมหมายถึงนี้ไม่ใช่พระเจ้าผู้สร้างโลกตามศาสนาคริสต์ อิสลาม หรือฮินดูนะครับ แต่หมายถึงพระเจ้าต่างๆ ที่อยู่บนสวรรค์ เช่นชาวถ้ำในอดีตจะมีทั้งพระเจ้าที่ดูแลแม่น้ำ พระเจ้าที่ดูแลฝน พระเจ้าที่ให้แสงสว่าง หรือในยุคกรีก มีทั้งพระเจ้าที่ดูแลทางด้าน sex อีกต่างหาก ซึ่งถ้าพวกเขาเชื่อว่า ถ้าทำพิธีกรรมบางอย่าง ก็จะนำมาซึ่งโชคดีหรือความอุดมสมบูรณ์น่ะครับ

    ยิ่งเมื่อคุณเทพกล่าวถึงการสักการะวัตถุมงคล ก็ยิ่งเป็นไปตามแนวคิดดังกล่าว คืออย่างที่คุณเทพบอกว่าวัตถุมงคลจริงๆ แล้วมีอยู่เพื่อให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย แต่ผมเชื่อว่าคนที่บูชานั้นส่วนใหญ่ต้องการโชคลาภมากกว่า (ตรงนี้ต้องขออภัยคุณน้อย ที่ผมเขียนไม่ชัดเจนในตอนแรก ผมต้องการหมายถึงคนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจศาสนาพุทธดีน่ะครับ ถึงจะมีแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้ตั้งใจจะ offense พุทธบริษัทน่ะครับ)

    ทีนี้สรุปความคิดของผมที่มีต่อเรื่องที่คุณเทพเล่ามาตั้งแต่แรก ผมเชื่อว่าการผันแปรตัวนี้มันเกิดจากสัญชาตญาณของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่อดีต ประกอบกับเพราะว่าศาสนาพุทธมีความเป็น abstract ค่อนข้างสูง จึงทำให้สถานการณ์ในวันเวียนเทียนออกมาเป็นอย่างนั้นน่ะครับ

    ฮ่ะๆ ผมไม่แน่ใจว่าผมจะสามารถที่จะถ่ายทอดความคิดของผมออกมาได้ชัดเจนหรือเปล่า สุดท้ายแล้วอาจจะงงไปกันใหญ่ก็ได้ แต่โดยรวมแล้วผมก็รู้สึกดีมากครับ ที่มีคนเก่งๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์หลายคนไม่ทิ้งจุดนี้ไปน่ะครับ

     
  • 5 มีนาคม 2550 เวลา 09:41 , Blogger Noi แถลง…

    เฮ้ย ผมเปล่าเคือง หรือรู้สึกไม่ดีอะไรเลยจริงๆ นะ :)

    แต่ผมก็ยังคิดว่าคุณเข้าใจเรื่องศาสนพิธีของชาวพุทธผิดอยู่ดี (ชาวพุทธอีกมากมายก็ยังคงเข้าใจผิดเหมือนกันแหละ)

    การสอนให้ปฏิบัติตนเป็นพุทธบริษัทมีหลายระดับ แต่ไม่ใช่การบังคับ เป็นทางเลือกให้ตัดสินใจเดินเอาเอง หากอยากไปเกิดบนสวรรค์ให้ปฏิบัติตนอย่างไร หากอยากกลับมาอยู่บนโลกมนุษย์ให้ปฏิบัติตนเช่นไร หากอยากไปสู่อบายภูมิต่างๆ ให้ปฏิบัติตนอย่างไร มีบอกไว้หมดครับ :)

    เช่นเดียวกับการให้ปัจเจกแต่ละคนปฏิบัติธรรม ก็มีหลายระดับ บางคนสอนเขาได้แค่ทาน ก็ต้องสอนเขาแค่นั้น บางคนปัญญาดีมาก สอนเรื่องการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันเขาก็ไม่เอา ก็ต้องสอนเรื่องจิต เรื่องอภิธรรมนู่นเลย

    ส่วนการบูชาวัตถุมงคลต่างๆ ก็เป็นเรื่องของการสอนให้คนในระดับนั้นแหละครับ ผมจะยังไม่รู้สึกแปลกอะไรหากมีการสร้างพระเครื่อง เพราะเป็นรูปเสมือนของพระพุทธเจ้า สามารถมาใช้ในการระลึกพระพุทธคุณได้ หรือการสร้างเป็นรูปพระเกจิ ก็นำมาใช้ระลึกถึงพระสังฆคุณได้ แต่การสร้างรูปวัตถุมงคลอื่นๆ ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะอย่างแรกเลยคือ มันไม่ใช่กิจของสงฆ์ :)

    พอก่อนดีกว่า ปวดหัว เจ็บคอ แหะๆ :D

     
  • 5 มีนาคม 2550 เวลา 11:05 , Blogger Thep แถลง…

    ครับ ก็คือว่า คุณ tunyawat พูดถึงพุทธที่ผิดเพี้ยน อันมีสาเหตุมาจากความต้องการที่พึ่งภายนอกที่สามารถอ้อนวอนได้นั่นเอง

    อันที่จริง ก็อยากจะพูดถึงเรื่องเทพเจ้าในธรรมชาติที่คุณ tunyawat กล่าวถึงเหมือนกัน

    ในแง่หนึ่ง ผมก็รู้สึกว่าความเชื่อเรื่องเทพเจ้าตกเป็นจำเลยของความคิดสมัยใหม่มากเกินไป การเคารพธรรมชาติของคนโบราณนั้น เป็นอุบายที่แยบยลในการรักษาสมดุลธรรมชาติ ทำหน้าที่คล้ายกฎหมายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เมื่อคนเคารพบูชาธรรมชาติ ก็จะมีความบันยะบันยังในการรุกล้ำทำลาย หรือใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ รวมทั้งช่วยกันดูแลรักษาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

    แนวคิดทุนนิยมการตลาดสมัยใหม่เสียอีก ที่ทำลายกฎเกณฑ์ต่างๆ จากเดิมที่มีแนวคิดว่า ทรัพยากรธรรมชาติคือสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัด ทุนนิยมคือระบบบริหารจัดการเพื่อใช้ทรัพยากรนั้นอย่างคุ้มค่า แต่พอมาผสมกับแนวคิดการตลาด ก็กลายเป็นการ abuse ทุนนิยม เช่น หลัก demand-supply ก็ถูกเอามาใช้แบบหกคะเมน เกิดการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งก็ย้อนกลับไปกระตุ้นการผลิต กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ถลุงทรัพยากรธรรมชาติอย่างขาดสมดุล ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าป่าเจ้าเขาที่ถูกมองว่างมงาย ก็ไม่สามารถช่วยยับยั้งการทำลายธรรมชาติได้อีกต่อไป

    ในทางตรงกันข้าม ท่าทีที่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบหวังโชคลาภ หรือนอบน้อมเอาใจอย่างเกรงกลัว ก็ไม่เป็นผลดีต่อระดับจิตใจและปัญญาของผู้คนเช่นกัน

    ทางสายกลางที่กอปรด้วยความเข้าใจสภาพความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น การมองให้ทะลุปรุโปร่งตามวิถีพุทธนั่นแหละ ที่จะช่วยรักษาสมดุลได้อย่างแท้จริง ทั้งธรรมชาติและจิตใจ

    ปล. ผมเคยเขียนถึงทัศนะของกรีกต่อเทพเจ้าไว้ในบทความเรื่อง Troy นะครับ (ในหัวข้อ "บางส่วนของเนื้อเรื่องที่ถูกตัดทอน") คือทัศนะของชาวกรีกจริงๆ นั้นเป็นมนุษยนิยม การสร้างเทพเจ้าขึ้นมาก็เป็นภาษาสัญลักษณ์ไว้แทนนามธรรมมากกว่า

     
  • 7 มีนาคม 2550 เวลา 18:42 , Blogger Unknown แถลง…

    ความเห็นผมนะ "ทางสายกลางที่กอปรด้วยความเข้าใจสภาพความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น" เท่ากับทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าสอน
    -การเข้าสมาธิเป็นเพียงเครื่องมือที่จะเข้าถึง "สภาพรับรู้ความเป็นจริงได้ตลอดเวลา "
    -กฎเกณฑ์ที่ท่านวาง ท่านให้ปฎิบัติตามนั้นเป็นเพียงวางกรอบเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างบัวไม่ชำ่..นำ้ไม่ขุน..อย่างการโกนผม คิ้ว การต้องขออาหารจากผู้อื่น...ปราม อารมณ์การยึดติด..ลดความเป็นกังวลในสิ่งต่างๆซึ่งมีผมกับจิต
    -พิธีกรรมต่างๆ..น่าจะเป็นสีสันที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆหลังท่านจากไป..และวิถีที่ท่านสอนกลุ่มบุคคลที่ยังไม่มีความสามารถแยกแยะ..ท่านสอนคนหลายระดับความสามารถแต่ตอนที่อ่านบันทึกเอามาเป็นท่อนๆไม่ได้เอาสภาพแวดล้อมที่ท่านสอนมาบอกด้วย..จนบ้างครั้งรู้สึกว่าคำสอนขัดแย้งกันเอง..ทั้งที่ไม่ใช่
    -ท่านเข้าใจธรรมชาติของธรรมชาติจนมองได้ว่าวิทยาศาสตร์เป็นเพียง sub set ของพุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ที่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ของตัวเอง อะไรมาขัดผิดหมด
    แค่ความเห็นนะ

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem