Theppitak's blog

My personal blog.

18 กุมภาพันธ์ 2550

Debian vs Ubuntu?

เห็นบ่อยละ เกี่ยวกับที่มีคนเขียนแหย่ Debian vs Ubuntu บ่อยๆ พักหลังเจอหลายคนก็ชอบยุให้เลิกทำงานกับ debian แล้วมาทำงานกับ ubuntu แทน เลยทำให้อยากเขียนถึงเรื่องนี้ในมุมมองของผมบ้าง

ศึกระหว่าง debian กับ ubuntu ในความเห็นผม เป็นศึกระหว่าง user เป็นหลักครับ แต่ในส่วนของนักพัฒนา หลายต่อหลายส่วนมีการพึ่งพากันไปมาแบบวงศาคณาญาติ

ผู้ใช้บางคนชอบกัด debian บ่อยๆ ว่าซอฟต์แวร์เก่ากว่า ubuntu แต่ความจริงก็คือ แพกเกจใน ubuntu หลายตัวที่ว่าใหม่ๆ ก็มา sync เอาไปจาก debian นั่นแหละ บางครั้งเป็น experimental ซึ่งยังไม่เข้า unstable สรุปว่า "ความใหม่สด" ส่วนหนึ่งของ ubuntu ก็มาจากความ "ใหม่สด" ของ debian ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังนั่นเอง ใครอยากรู้ความเป็นไป นั่งอ่าน changelog ของ ubuntu ผ่าน apt-listchanges สักพักจะพอเห็นภาพ

ในทางกลับกัน ubuntu developer หลายคนก็พยายาม merge การเปลี่ยนแปลงต่างๆ จาก ubuntu กลับเข้าใน debian เพื่อลดภาระในการ sync เหมือนกัน ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของ "contribution" ที่ ubuntu มีต่อ debian ในฐานะที่ debian เป็น "ต้นน้ำ"

ว่ากันตาม logic แล้ว การจับ ubuntu กับ debian มาแข่งกัน ก็เหมือนกับเอา Red Hat มาแข่งกับ GNOME ที่เป็นต้นน้ำ ซึ่งจะดูแปลกๆ อยู่

แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีประเด็นให้เปรียบเทียบในฐานะของความเป็น distro ของทั้งสอง

debian นั้น ไม่ได้เน้นการ release สักเท่าไร ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะ install ครั้งเดียว แล้ว upgrade แบบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ได้ซอฟต์แวร์ใหม่ใช้อยู่ตลอดเวลา แต่ช่วงเวลาแห่งความทรมานจะเริ่มเมื่อจะเริ่มมีการ release ต่างหาก เพราะ debian ไม่ได้มีนโยบาย release ตามกำหนดเวลา แต่จะ release โดยใช้จำนวน release critical bug (RC bug) เป็นเกณฑ์ ว่าจะต้องต่ำกว่าที่กำหนด จึงจะ release ได้ ซึ่งในระหว่างนั้นจะมีการ freeze ไม่ให้ update อะไรโดยไม่ใช่ bug fix เพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของ RC bug แต่เนื่องจาก debian มีขนาดใหญ่มหึมา การลด RC bug ให้ต่ำกว่าเกณฑ์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และมักทำให้ช่วงเวลาของการ freeze ยาวนาน จนกระทั่งเมื่อ release ออกมา แพกเกจต่างๆ ก็ล้าสมัยไปแล้ว (แต่ไม่นับ experimental ซึ่งจะถูกใช้ update แทน unstable อย่างหนักหน่วงในช่วง freeze นี้)

สรุปก็คือ ในฐานะผู้ใช้ debian ผมไม่อยากให้ debian มีการ release เลยด้วยซ้ำ เพื่อที่ผมจะได้ใช้ของใหม่สดก่อนชาวบ้านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีช่วงเวลาที่เป็น "ข้อยกเว้น" มาคั่น ใครที่คิดจะเร่งให้ debian ออกถี่ขึ้น อาจจะไม่เข้าใจธรรมชาติของ debian ดีพอ

แต่ความไม่เข้าใจธรรมชาติที่ว่านี้ของคนส่วนใหญ่นี่แหละ ที่กลายเป็นจุดอ่อนของ debian เพราะผู้ใช้ทั่วไปนั้น ชอบมองที่ความเปลี่ยนแปลงแบบกระโดด คล้ายๆ กับการเปลี่ยนจาก Windows 98 เป็น XP เป็น Vista ดูมันมีความตื่นเต้นน่าจับตา แม้จะรอนานก็ดูจะไม่เป็นปัญหาอะไร การเปลี่ยนแปลงแบบต่อเนื่องแบบ debian นั้น แม้จะทำให้ได้ใช้ของใหม่ทุกวันแบบทันทีทันใด แต่ก็ไม่สร้างความตื่นเต้นอะไรมากสำหรับผู้ใช้ (แต่ถ้าใครได้อ่าน The Cathedral and the Bazaar [ฉบับแปล] จะเข้าใจ ว่าในมุมมองของชุมชนผู้ใช้-ผู้พัฒนาแบบโอเพนซอร์สแล้ว การ "release early, release often" มันให้อารมณ์ต่างจากวิธี release แบบอั้นไว้นานๆ แบบ proprietary software มากนัก) ในเมื่อสิ่งที่ผู้ใช้เพ่งเล็งคือ stable release และ debian เลือกวิธี release เมื่อพร้อมสุดๆ ถึงขนาดมีคนบอกว่า ต้องทำลายได้ด้วยวิธียิงจรวดถล่มเท่านั้น debian ถึงจะ release ได้ ก็เลยทำให้ภาพของ debian ที่ปรากฏต่อสาธารณะออกมาเป็นอย่างที่เห็น

ubuntu รู้ดีในจุดแข็งและจุดอ่อนของ debian รวมทั้งจับทางผู้ใช้ได้ ว่าจริงๆ ก็ไม่ได้อินังขังขอบกับแนวคิดโอเพนซอร์สในระดับลึกกันเท่าไรหรอก จึงกำหนดนโยบาย release ตามเวลา แทนการ release ตามความพร้อม และเมื่อติดปีกด้วยเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งของ debian ที่เหล่า geek เพียรสั่งสมด้วยความเป็น perfectionist มาเป็นเวลานาน ubuntu ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

ทว่า ubuntu และ debian ยังต้องพึ่งพิงอาศัยกันเหมือนน้ำกับป่า การที่จะมองจากมุมมองผู้ใช้ล้วนๆ แล้วเปิด "ศึก" ระหว่าง ubuntu-debian ขึ้นมา มันมีแต่จะสร้างภาพที่บิดเบี้ยวไปทุกที "เสียงกระแนะกระแหน" จาก debian ที่ Mk พูดถึง น่าจะเริ่มจากการตีความในมุมมองผู้ใช้หรือนักวิจารณ์ทั้งหลาย ที่ตีความคำพูดของบุคคลต่างๆ ที่พยายามออกมาอธิบายจุดยืนของ debian ในช่วงแรกๆ ไปในทาง "อิจฉา" โดยไม่มองถึงเป้าหมายที่ต่างกันของ distro ทั้งสองตามความเป็นจริง ความจริงตามหลักการแล้ว debian ซึ่งเป็นต้นน้ำให้กับ ubuntu ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะ "ดิ้นสุดชีวิต" เพื่อรักษาอะไรอยู่แล้ว เพราะความสำเร็จของ ubuntu ก็ควรจะถือเป็นความสำเร็จของ debian อยู่แล้ว แต่การตอกลิ่มของฝ่ายต่างๆ นั่นแหละ ที่จะเป็นชนวนให้ค่อยๆ เกิด "ศึก" ขึ้นจริงๆ

"ศึก" ที่ว่านั่น ก็ขยายผลมากขึ้น เมื่อมันกลายมาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ การที่นักพัฒนา debian คนสำคัญๆ (เช่น apt maintainer, GNOME team ฯลฯ) ถูกดึงตัวไปทำ ubuntu ในส่วนหลักแทน จนมีเวลาน้อยลงที่จะ sync ไปมาระหว่าง 2 distro ก็ทำให้งานหลายส่วนใน debian ต้องชะงักงัน ลักษณะการ "release early, release often" (ในแบบของการ upgrade ต่อเนื่อง) ที่เคยลื่นไหลก็เริ่มฝืด (แต่ฝืดแค่ไหน ubuntu ก็ยังได้อาศัยในการ sync อยู่ เรียกว่ารีดไปแบบเต็มพิกัด) ประกอบกับเมื่อ debian มีปัญหาภายใน บางคนก็ walk out ไปร่วมกับ ubuntu เสียดื้อๆ จึงทำให้เกิดความขุ่นเคืองต่อ ubuntu สะสม แต่หลายคนก็รักษาตบะไว้ได้ แล้วทำงานให้หนักขึ้นด้วยสปิริต โดยยังมอง ubuntu เป็นมิตร และเมินเสียงยุแยงจากส่วนต่างๆ เสีย ขณะเดียวกันก็มีคนเลือดใหม่เข้ามาทดแทนในส่วนที่ซบเซา

ความรู้สึกผมโดยรวมต่อเรื่องนี้ ก็ไม่ได้ต่างจากสมัยที่ทำ TLE ในแบบที่มอง TLE เป็น buffer แต่เน้นการ check-in เข้าที่ต้นน้ำเท่าไร พองานของตัวเองที่ต้นน้ำเริ่มมีผลใน distro อื่น เช่น Mandrake แล้วมีคนมาด่า ว่าภาษาไทยใน TLE สู้ Mandrake ไม่ได้ ก็ทั้งขบขันที่งานของตัวเองต้องย้อนมาแข่งกับตัวเอง ปนกับอึดอัดที่ไม่รู้จะพูดยังไงไม่ให้ user และนักวิจารณ์มองว่า "อิจฉา" ก็คงทำนองเดียวกันน่ะแหละ สิ่งนั้นก็มีส่วนทำให้ผมต้องมาเน้นความสำคัญของ "ต้นน้ำ" มากขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ ให้ผู้คนคลายความยึดมั่นถือมั่นกับหีบห่อที่ตีตราต่างยี่ห้อลงเสีย

ผมชอบโฆษณาชายี่ห้อหนึ่งนะ ที่มีฝาแฝดที่พิถีพิถันกับการดื่มน้ำ ชวนเพื่อนขึ้นไปดื่มน้ำที่ "ต้นน้ำ" ที่นั่น น้ำสะอาดน่ากินกว่าเยอะ ตราบใดที่ debian ยังคงเป็นต้นน้ำให้กับ ubuntu อยู่ ผมก็ย่อมเลือกทำงานกับ debian เป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลไปถึง ubuntu ด้วย แต่ถึงอย่างไร ก็ยังมี "ต้นน้ำ" จริงๆ ที่เป็นแหล่งให้กับทุก distro ซึ่งสำคัญกว่า และยังคงเป็นเป้าหมายหลัก

ป้ายกำกับ: ,

5 ความเห็น:

  • 18 มีนาคม 2550 เวลา 14:06 , Blogger GMz แถลง…

    ผมชอบ debian มากกว่าตรงที่มันติดกับ notebook ได้ โดยไม่ยึดติดที่ cpu แต่ปัญหาช่วงหลังนี้ ผมก็ว่าทำไมมันไม่ค่อย update เลยนะ แล้วที่บอกว่าเวอร์ชั่น 4 จะ release เดือน ธันวา ปี 49 ก็ไม่เห็นจริงเลย เลื่อนแบบไม่มีกำหนดไปอีก

     
  • 18 มีนาคม 2550 เวลา 16:30 , Blogger Thep แถลง…

    อย่างที่เขียนไว้ข้างบนนะครับ debian ไม่ได้ออกตามกำหนดเวลา แต่ออกเมื่อพร้อมจริงๆ เท่านั้น กำหนดการเป็นการบอกให้ทุกคนเตรียมพร้อมสำหรับการ release คือพอถึงกำหนด ก็จะเริ่มประกาศ freeze ทีละส่วน และแก้ RC bug จนถึงเกณฑ์ที่กำหนดค่อยออก อย่างที่บอกไปแล้ว

    ช่วง freeze แบบนี้แหละ เป็นช่วงที่ผมเรียกว่า "ข้อยกเว้น" ที่ไม่อยากให้มี คือถ้า debian ไม่มีการ release เลย ซอฟต์แวร์ก็จะใหม่ไปตลอด โดยคุณภาพอาจจะไม่ดีเท่าตัวที่ release ตามเกณฑ์ debian แต่ก็ถือว่ากระบวนการโอเพนซอร์สจะทำให้ bug ถูกแก้อย่างรวดเร็วอยู่แล้ว

    ทีนี้ ช่วง freeze ของ etch (4.0) ที่กำลังรอกันอยู่เนี่ย มันมีปัญหาภายในอีกอย่างที่ทำให้มัน freeze นานขึ้นไปอีก คือเรื่องความไม่พอใจต่อนโยบายของ Debian Project Leader คนปัจจุบัน ที่ตั้งโครงการ dunk-tank ขึ้นมาเพื่อจ่ายค่าจ้างสนับสนุน release manager ให้ทำงานเต็มเวลา ก็เลยทำให้อาสาสมัครบางคนจงใจถอนตัวไปทำงานอื่นที่ตัวเองได้ค่าจ้างบ้าง หนีไปเข้ากับ ubuntu บ้าง เลยเหลือคน fix bug น้อย คิดว่า DPL คนนี้คงไม่มีสิทธิ์กลับมาเป็นอีกสมัยแล้วแหละ

    งานหลายๆ อย่างใน debian ผมก็ต้องชะลอไว้เหมือนกัน ไว้ไปทำหลัง etch โดยตอนนี้ก็เริ่มดู experimental ไปก่อน

     
  • 18 มีนาคม 2550 เวลา 23:40 , Blogger HWattana แถลง…

    ผมอีกคนหนึ่งที่ชอบ Debian ครับ
    แรกๆ นั้นไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่พักหลังค่อยๆ ซึมซับ แล้วสนุกดีครับ

    ตอนนี้ใช้บน colinux อยู่ครับ

     
  • 12 สิงหาคม 2550 เวลา 14:16 , Blogger Unknown แถลง…

    ผมใช้ ubuntu, แต่ว่าเวลา report bug ก็,
    $ reportbug --bts debian

    (หลายครั้งที่ package maintainer มันเจอ เลข version ต่อท้ายด้วย ubuntu, มันก็ close bug ไปเฉยเลย, บอกว่านี่ debian, ไม่ใช่ ubuntu.
    แต่เราก็ check แล้ว, ว่า bug นี้ก็เกิดใน debian version เหมือนกัน นี่หว่า.)

     
  • 24 สิงหาคม 2550 เวลา 13:07 , Blogger Thep แถลง…

    anon.hui, เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วนะ ไป file bug ที่ไหนก็ต้องแยกระหว่าง original version กับ patched version ความจริงถ้าพิสูจน์ได้ว่า debian version ก็มีปัญหา ก็น่าจะ file bug จาก debian จะดีกว่า

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem