Theppitak's blog

My personal blog.

31 ธันวาคม 2549

Happy New Year

นั่งไม่ติดเครื่องเสียนาน ก็ไปช่วยน้องดูแลเรื่องซ่อมบ้าน ทำให้ห่างจากโลกไซเบอร์ระยะหนึ่ง แล้วก็เป็นอีกครั้งที่ต้องฝืนสังขารทำงานแบกหามจนปวดเมื่อยเนื้อตัวไปหมด ก็คนเคยแต่ทำงานนั่งโต๊ะน่ะนะ ถือเป็นการเหนื่อยส่งท้ายปีเก่าละกัน

แต่พอได้โอกาสพัก (ส่วนใหญ่เป็นช่วงเช้าก่อนเริ่มงาน กับตอนค่ำหลังเลิกงาน) ก็พยายามแว้บมาทำงานของเราต่อ..

  • งานแปล GNOME 2.18 ยังดำเนินต่อไป แต่ตอนนี้ต้องหยุดก่อน เพราะ GNOME กำลัง ย้ายจาก CVS ไป Subversion ต้องรอเขาทยอยย้ายให้เสร็จก่อน
  • งานแปล cathedral-bazaar ยังคงได้รับความช่วยเหลือเรื่องการตรวจแก้จากคุณวิษณุอยู่เรื่อยๆ ก็รับมาแล้ว merge เข้าไป ขอบคุณมากครับ
  • งาน debian หลังจากที่ คุย กับเขาเรื่องการ drop pango-libthai แล้วได้ความว่าควร back port fix มา etch แล้วค่อย drop หลัง etch ก็ build ตามที่ตกลงกันแล้วอัปโหลดไป แต่ติดที่ etch ยัง freeze อยู่ ก็ request ขอ unblock ซึ่งตอนนี้ก็ได้รับอนุญาตให้เข้า etch แล้ว อีกทางหนึ่ง ที่ debianclub ก็มีการพูดคุยถึง การแก้ฟอนต์กระโดด ที่คาราคาซังกันมานาน ผมเองก็เคยเสนอแก้ใน ubuntu dapper ตอนไป sprint แต่ต่อมากลับหายไปเสีย เข้าใจว่าถูกแทนที่ด้วยวิธีใหม่ใน debian แต่เนื่องจากในเครื่องตัวเองได้แก้ปัญหาไว้นานจนลืมไปแล้วว่ายังมีปัญหาอยู่ ก็เลยนอนใจมานาน เจอกระทู้นี้กระทุ้งเข้า ก็เลยกลับไปคุยอีกที แล้วก็ตัดสินใจแก้โดยเตรียม fontconfig file ในแพกเกจ ttf-thai-tlwg เสียเลย แล้วก็ upload รุ่น 0.4.5-2 เข้า sid เสีย แต่ต้องรอให้อายุครบก่อน ค่อย request ขอเข้า etch อีกที

etch ตอนนี้ freeze แบบจริงจังแล้ว โดย release manager ประกาศแล้วว่า แพกเกจไหนที่ไม่ได้กะให้เข้า etch ห้าม upload เข้า sid แต่ให้เข้า experimental แทน พร้อมกับกระตุ้นให้นักพัฒนาช่วยกันแก้ RC bug เพื่อให้ออก etch ได้ในเร็ววัน

เขาว่ากันว่า โครงการ dunc-tank (ที่สนับสนุนโดย dunc-bank) ของเดเบียน ที่มีจุดมุ่งหมายให้ etch ออกทันกำหนด โดยระดมกำลังทดสอบ debian แบบโหดๆ แล้ว file RC bug ให้เต็มที่ แล้วก็กระตุ้นให้มี bug squad party เพื่อแก้ RC bug ซึ่งดูเป็นแนวคิดที่ดีที่จะเร่งให้ etch ออกได้เร็วขึ้นตามเกณฑ์ของเดเบียนนั้น กลับไม่ช่วยให้ etch ออกทันกำหนดเดิม เพราะมีกระบวนการหนึ่งที่ทำให้หลายคนเจตนางดทำงาน ก็คือการจ่ายค่าจ้างให้กับ release manager เพื่อให้ทำงานประสานงานออกรุ่นแบบเต็มเวลา ซึ่งโดยหลักการก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่กลับทำให้หลายคนที่เป็นอาสาสมัครรู้สึกขาดแรงจูงใจในการทำงานขึ้นมาทันที โดยหลายคนพูดในทำนองว่า ถ้ามีการพูดถึงเรื่องเงินตอบแทนขึ้นมาแล้ว เขาเองก็มีงานประจำที่มีเงินตอบแทนเช่นกัน ก็ต้องกลับไปดูแลให้เต็มที่ แล้วก็ลดความสำคัญของช่วงเวลาที่เคยแบ่งให้เดเบียนลง บางคนถึงกับลาออกจากเดเบียน ไปทำงานรับค่าจ้างจากอูบุนตูแทนก็มี

ครั้งนี้คงเป็นบทเรียนสำหรับ Debian Project Leader ถ้าจะคิดอัดฉีดเงินให้กับเดเบียนในทำนองนี้อีก แต่คนที่เห็นด้วยกับเขาก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ก็เป็นธรรมดาของโลกเสรีของอาสาสมัครน่ะนะ ที่จะมีแรงจูงใจในการทำงานต่างกันไป โดยเฉพาะกับเดเบียนที่เคยขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ขององค์กรไม่แสวงกำไรมาก่อน

ท้ายนี้ ปีใหม่แล้ว ขอให้ทุกท่านได้เติมพลัง เพื่อเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสด และพลังที่เต็มเปี่ยม พร้อมที่จะต่อสู้กับอุปสรรคทุกรูปแบบ โชคดีปีใหม่ครับ :-)

22 ธันวาคม 2549

Translations, libthai, jhbuild, Ubuntu

หายไปนาน พอดีช่วงนี้มีธุระครอบครัวนิดหน่อย เลยอยู่ไม่ค่อยติดเครื่อง แต่ก็แว้บมาทำงานได้พอประมาณ

งานแปล GNOME ยังดำเนินต่อไป มีข้อความใหม่ เพียบ ในซอฟต์แวร์หลายๆ ตัว ก็ไล่แปลตามไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ก็ได้คำแปลซอฟต์แวร์ใน HEAD มาจาก Mk หลายตัว เช่น bookmark-applet, gnome-torrent, NetworkManager, GParted

คุณวิษณุ ช่วยตรวจแก้คำแปลของ cathedral-bazaar มาให้เพิ่มอีกตอนหนึ่ง merge ไปเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณมากครับ

อีกด้านหนึ่ง ก็พยายามแก้ libthai deb เพิ่ม โดยอาศัยคอมเมนต์ต่างๆ ที่ได้จาก sponsor ขณะทำ datrie เอามาปรับใช้ แล้วก็ติดต่อ sponsor อีกครั้ง รวมทั้งแจ้งทีม Ubuntu ด้วย ถึงการ build pango เพื่อให้ใช้ Thai lang engine จาก upstream (แต่หลายวันแล้ว ยังไม่มีคำตอบ.. สงสัยจะร้างลามานานไปหน่อย)

ที่เครื่องใหม่.. จัดการปรับ config ของ jhbuild จนเข้า GNOME session ได้ โดยแก้ปัญหา dbus, hal, avahi โดยให้ใช้ library และ daemon ของระบบซะ ซึ่งก็ต้องแก้ dbus config นิดหน่อย ให้ไปอ่าน service dir ที่ jhbuild GNOME ด้วย (ที่เครื่องเก่าใช้วิธีเปลี่ยนเส้นทาง service มาใช้ของ jhbuild แทนของระบบ แต่ที่เครื่องใหม่ เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับเสถียรของระบบมากกว่านี้ เลยข้ามบางมอดูลที่เป็นของระบบไป) รวมไปถึงการใช้ python, autotools ของระบบด้วย แทนที่จะอาศัย jhbuild bootstrap อย่างในเครื่องเดิม นอกจากนี้ ก็จัดระบบ user แยกจากกัน เพื่อให้ติดตามความเปลี่ยนแปลงได้ทั้ง Debian และ GNOME แยกจากกันง่ายๆ หน่อย

ส่วน Ubuntu partition ด้วยความขี้เกียจบูตเครื่องบ่อยๆ ก็จัดการจากใน Debian ด้วยการ chroot ซะ พร้อมกับลง apt-listchanges เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของ Ubuntu ด้วย

ดูเหมือนช่วงนี้ หลังจากที่ etch freeze แล้ว sid จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งก็มีทั้งที่แก้บั๊กของ etch และที่เป็นการอัปเดตรุ่นใหม่ (คงเป็นเพราะการย้ายไป etch อัตโนมัติถูกปิดลงแล้ว ก็เลยไม่ต้องกลัวว่าจะทำ etch เจ๊งมั้ง อันไหนที่ต้องเข้า etch, release team ก็เลือกย้ายเองอยู่แล้ว)

ส่วน Ubuntu ก็กำลัง merge จาก Debian ขนานใหญ่ ทั้งจาก unstable และจาก experimental เอาไปลง feisty บวกกับที่ build เพิ่มเองด้วย ตอนนี้ก็กลายเป็น GNOME 2.17 ไปเกือบหมดละ

ตามสามแหล่งไปเรื่อยๆ คอยดูโฟลว์ของงานที่ไหลไปไหลมา สนุกดีนะ นี่ถ้าตาม fedora หรือ gentoo ได้ด้วย คงสนุกพิลึก แต่ถ้าไม่มีเวลามากพอ ก็ไม่สนุกเท่าไร :P

16 ธันวาคม 2549

New Machine

ถอยเครื่องใหม่มาเมื่อวันอังคาร หลังจากที่ไปเดินสำรวจแล้วเจอรุ่นที่ถูกใจ แล้วก็มีโปรโมชันเพิ่มแรม เป็นครั้งแรกที่ซื้อเครื่องมาแบบปลอด Windows OEM เพราะโรงงานลง FreeDOS มาให้ แล้วก็สั่งร้านเขาว่า ไม่ต้องลงโปรแกรมอะไรทั้งสิ้น เดี๋ยวผมลงเอง

ได้เครื่องมา ก็จัดการประเดิมลง debian amd64 แล้วก็แบ่งพาร์ทิชันเล็กๆ ไว้สำหรับ ubuntu feisty fawn herd 1 ด้วย (แต่ตั้งแต่ใช้มา เพิ่งไปแตะต้อง ubuntu แค่สองครั้ง)

พอเซ็ต OS เสร็จ ก็เริ่มถ่ายโอนงานจากเครื่องเก่ามาเครื่องใหม่ ประเดิมใช้งานเครื่องใหม่ด้วยการ build xulrunner-libthai deb สำหรับ amd64 โดยเริ่มจาก libdatrie, libthai แล้วก็มา xulrunner

ความจริง libthai ก็มี amd64 ใน official debian อยู่แล้ว แต่เป็นรุ่นเก่า รุ่นที่อัปโหลดเข้า LTN APT นี้ เป็นรุ่นใหม่ที่ใช้ external libdatrie สำหรับการตัดคำ (ซึ่ง libdatrie เพิ่งได้ sponsor และผ่าน NEW queue เข้า sid เมื่อวานนี้ อีกสักพักคงลงจาก official ได้เลยสำหรับ amd64 และ arch อื่นๆ ที่ไม่ใช่ i386) ดังนั้น ใครใช้ epiphany ใน debian amd64 ก็สามารถติดตั้ง xulrunner-libthai ได้จาก LTN APT แล้วนะครับ

ถัดจาก build xulrunner-libthai ก็ต่อด้วยการ checkout GNOME CVS มา build ด้วย jhbuild แต่ยังเพี้ยนๆ อยู่ เดี๋ยวต้อง build ใหม่ :P

ระหว่างที่เครื่องใหม่ทำงาน ที่เครื่องเก่าก็เริ่มทำงานแปล GNOME 2.18 ไปด้วย (หน้า status เริ่มแสดงสถานะ gnome-2.18 แล้ว) เลยได้ sync งานแปลไปที่เครื่องใหม่ผ่าน GNOME CVS ด้วย หุๆ ใครสนใจร่วมแปล ตอนนี้เริ่มแล้วนะครับ เชิญได้

ส่วนงานแปล debian installer ระหว่างลงเครื่องใหม่ เจอที่ผิดในคำแปล ก็ commit แก้ไปนิดหน่อย.. อ้อ ฝากสำหรับคนที่จะลอง debian installer ฉบับไทยนะครับ ต้องบูตโดยพิมพ์ว่า "installgui" ที่ boot prompt นะครับ พอดีว่าใน text console ภาษาไทยจะแสดงสระบนบรรทัด ทำให้กล่องเบี้ยว เลยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษาที่แสดงใน graphics mode เท่านั้น

09 ธันวาคม 2549

Linux @ Vcharkarn.com

เคยพูดกันบ่อยๆ ใช่ไหม ว่าน่าจะให้โอกาสเด็กๆ ได้รู้จักซอฟต์แวร์ทางเลือกแบบอื่นๆ นอกจากเจ้าตลาดที่ผูกขาดอยู่ ผมเลยเคยเปรยกับบางคน ว่าน่าจะไปดูที่ วิชาการ.คอม เว็บของเด็กเรียนที่มีคุณภาพบ้างนะ ปรากฏว่า เมื่อวานได้รับ message จากพี่ปลาที่เนคเทค ว่ามี บทความลินุกซ์ ที่นั่นเรียบร้อยแล้ว เป็นบทความแปล เนื้อหาค่อนข้างเก่า (ตั้งกะสมัย SCO ปาหี่โน่นเลย)

บทความปิดท้ายได้สวย:

ในอีกแง่หนึ่ง Torvalds ดูจะเป็นนักการทูตมากกว่าเป็นนักปกครอง เป็นผู้มีอิทธิพลในการต่อต้านสงครามทางเทคโนโลยี มีกลุ่มคนที่พยายามยุยงให้เขาพยายามเอาชนะไมโครซอฟท์ให้ได้ แต่ Torvalds กล่าวว่า “นั่นคือสิ่งที่ บริษัท Oracle และ บริษัท ซัน พยายามทำ และเมื่อไหร่ที่คุณคิดวาดภาพความสำเร็จของคุณมากกว่าการคิดสร้างผลิตภัณฑ์ ที่ดี เมื่อนั้นคุณแย่แน่”

ไปดูบทความเก่าๆ เขาก็เคยเขียนถึง Firefox ไว้เหมือนกัน

ผมชอบเว็บ วิชาการ.คอม นี้อยู่แล้ว เมื่อก่อนก็เข้าบ่อยๆ คุณครูก็คงชวนเด็กๆ เข้าเว็บนี้กันอยู่แล้ว ก็น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งนะ ที่จะให้ความรู้กับเด็กๆ เกี่ยวกับ FOSS ได้ (แต่เนื้อหาอาจต้องปรับ ไม่ให้ hard core เกินไป ถ้าจะคุยอะไรที่นั่น)

08 ธันวาคม 2549

Longdo in official gnome-dictionary

หลังจากที่ Longdo เปิดบริการ DICT เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้มีความคืบหน้าเล็กๆ อีกขั้น คือ gnome-utils ได้รับแพตช์ให้รวม Longdo เข้าในรายการพจนานุกรมของ gnome-dictionary อย่างเป็นทางการแล้ว (GNOME Bug #372386) กลายเป็นภาษาที่สาม ถัดจากอังกฤษ, สเปน เท่ซะไม่มีอะ :-)

gdict with longdo source

แพตช์นี้ เริ่มมีผลใน GNOME 2.17.1 แต่คำแปลข้อความ เพิ่ง commit หลังจากนั้น

ความคืบหน้าอีกอย่างหนึ่ง Pango 1.14.9 ออกแล้วเมื่อเช้านี้ พร้อม "Thai language engine" ซึ่งหมายความว่า pango-libthai ชะตาขาดอย่างเป็นทางการแล้ว ต่อไปก็เจรจากับ Debian/Ubuntu ถึงการ enable Thai language engine ใน pango แล้วตัด pango-libthai ออกเสีย

03 ธันวาคม 2549

Thailand FOSS Retrospects

แปลบทความ ESR ตอน The Cathedral and the Bazaar จบแล้ว รอตรวจทานอีกรอบ (ขอบคุณคุณวิษณุที่ช่วยเกลาสำนวน ช่วยให้อ่านง่ายกว่าเดิมเยอะ)

ทำให้สามารถมานั่งนึกคิดต่อ ตามที่เคยพูดไว้ใน TLUG ว่าน่าจะหันมาสนใจบทความคลาสสิกชุดนี้ แล้ววิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ก่อนจะเริ่มคิดใหม่ ผมเคยเขียนเอาไว้บ้างแล้วตั้งแต่ตอนที่แปล Homesteading:

  • FOSS in Thailand สรุปประเด็นของโอเพนซอร์ส และเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดในบ้านเรา
  • FOSS and Governments เรื่อง FOSS กับท่าทีของรัฐ

สำหรับผู้อ่าน blog ที่ยังไม่เคยอ่านบทความของ ESR และเรื่องเกี่ยวกับซอฟต์แวร์เสรี ขอเท้าความนิดหนึ่ง ผมมองปรัชญา ซอฟต์แวร์เสรี ว่าเป็นหลักการ อุดมการณ์ ที่เป็นรากฐานสำคัญ ผู้มาใหม่สมควรศึกษา ส่วน โอเพนซอร์ส (ซึ่งบทความของ ESR บัญญัติขึ้น) ผมมองว่าเป็นภาคปฏิบัติที่มาช่วยเสริมอุดมการณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในที่นี้ ผมขอละเรื่องอุดมการณ์ไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะจุดประสงค์คือตั้งข้อสังเกตต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติในบ้านเรา

เงื่อนไขที่สำคัญของเราก็คือ เรา รับ เอาวัฒนธรรมใหม่นี้เข้ามา เราไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับการก่อเกิดของแนวคิด การที่จะเข้าใจและใช้ประโยชน์จากแนวคิดได้จริงๆ อาจต้องปรับพื้นก่อน ดังนี้:

  • วัฒนธรรมยูนิกซ์ เรื่องของระบบเปิด การอาศัยโพรโทคอลและมาตรฐานเป็นเครื่องมือทำงานร่วมกัน การแบ่งปันซอร์สโค้ด ต่างๆ เหล่านี้ เคยเกิดมาก่อนในโลกยูนิกซ์จนเป็นธรรมดา และวัฒนธรรมนี้ ก็ได้สร้างอินเทอร์เน็ตขึ้นมาให้โลกใช้ ในประเทศเรา น้อยคนนักที่จะตระหนักในพลังของวัฒนธรรมนี้ เพราะเราไม่ค่อยได้คลุกคลีกับยูนิกซ์ แม้แต่เรื่องอินเทอร์เน็ต คนทั่วไปก็เข้าใจว่าเป็นประดิษฐกรรมของไมโครซอฟท์ แล้วโอเพนซอร์สเป็นผู้มาทีหลัง ทั้งที่ความจริง น่าจะเป็นเหมือนการทวงสิ่งที่ถูกฉกฉวยไปคืนมามากกว่า เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะวัฒนธรรมยูนิกซ์จะเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่จะทำให้เราประจักษ์ในสิ่งที่โอเพนซอร์สทำได้มาแล้ว แทนที่จะมองเพียงการแข่งขันบนตลาดเดสก์ท็อป ที่โอเพนซอร์สเป็นผู้มาทีหลังเพียงอย่างเดียว (ซึ่งอันที่จริง ก็ควรมองเช่นกัน ว่าแม้แต่แนวคิดเรื่อง word processor หรือ desktop publishing ทั้งหลาย ก็ยังอ้างอิง TeX ของ Knuth ซึ่งใช้กันบนยูนิกซ์มาก่อนอยู่หลายเรื่อง หรือแม้แต่ XML ก็มาจาก SGML ที่เกิดบนยูนิกซ์เช่นกัน) จนบางคน คิดเลยเถิดไปถึงตลาดเซิร์ฟเวอร์ด้วย เร็วๆ นี้ ผมได้อ่านข่าวกรุงเทพธุรกิจฉบับหนึ่ง บอกว่าโอเพนซอร์สกำลังกินส่วนแบ่งตลาดจากไมโครซอฟท์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเซิร์ฟเวอร์เว็บในอินเทอร์เน็ตขณะนี้ ใช้โอเพนซอร์สถึง 7% อ่านแล้วตาเหลือกเลย จะว่าตกเลขศูนย์อย่างเผอเรอ แต่เนื้อข่าวก่อนหน้าก็ขัดแย้งกับความเป็นจริงไปแล้ว
  • วัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ ซึ่งก็เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมยูนิกซ์อย่างแยกไม่ออก เป็นวัฒนธรรมของคนขี้เล่น ที่ชอบเขียนโน่น ปรับนี่ แล้วแบ่งปันให้กับผู้อื่น โดยหวังเพียงความพึงพอใจส่วนตัว หรือการเป็นที่ยอมรับในหมู่แฮ็กเกอร์ด้วยกัน (แต่เดี๋ยวนี้ แฮ็กเกอร์ ถูกใช้เรียกแต่พวกเจาะทำลายระบบเป็นส่วนใหญ่ เวลาจะใช้คำนี้กับคนทั่วไปจึงต้องระมัดระวัง) ซึ่งวัฒนธรรมนี้มีมาคู่กับยูนิกซ์ และมีในระบบอื่นด้วย ผลงานของวัฒนธรรมนี้ ก็คือซอฟต์แวร์ดีๆ หลายตัว ที่เป็นส่วนประกอบหลักของอินเทอร์เน็ต เช่น apache, sendmail จนกระทั่งคนชื่อ บิลล์ เกตส์ ได้เริ่มเผยแพร่แนวคิดซอฟต์แวร์ปิด จนเป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง และปัจจุบัน บริษัทที่เขาตั้งก็ยังคงพยายามเผยแพร่ความคิดนั้นต่อไป ไม่ว่าจะด้วยการโจมตีโอเพนซอร์สด้วยการโน้มน้าวต่างๆ ประเทศของเรา มีคนคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอื่นนอกเหนือจากไมโครซอฟท์น้อยมาก การเข้ามาของวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์จึงเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ยังดี ที่คนที่เคยอยู่ในยุครุ่งเรืองของแฮ็กเกอร์เมืองไทย ยังหวนรำลึกถึงโปรแกรมอย่าง CU-Writer, ราชวิถีเวิร์ด ฯลฯ หรือความเข้มข้นของวารสารและตำราคอมพิวเตอร์ยุคนั้น ก่อนที่ไมโครซอฟท์จะเข้ามากลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง เปลี่ยนคนไทยให้กลายเป็นผู้ใช้ที่ขึ้นตรงต่อจักรวรรดิอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ลืมยุครุ่งโรจน์ของตัวเองเสียหมด
  • วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต ลักษณะความเป็นอนาธิปัตย์โดยธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต ออกจะเป็นของใหม่สำหรับคนไทย มีทั้งคนที่รับไม่ได้ และคนที่สุดโต่งแบบไร้ความสุภาพไปเลย แต่ไม่ว่าอย่างไร ส่วนที่เกี่ยวข้องกับโอเพนซอร์สก็คือ โอเพนซอร์สเติบโตมาได้ ก็ด้วยความไม่มีลำดับชั้นการบังคับบัญชา โลกจึงแบนเท่าที่จะแบนได้ และสังคมโอเพนซอร์สได้ใช้ธรรมชาติที่ให้อิสระทางความคิดตรงนี้ให้เกิดผลงานได้อย่างสร้างสรรค์ ลักษณะการด่าทอกันในฟอรั่มต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่เกิดในเหตุการณ์พิเศษช่วงเกิด flamewar เท่านั้น ไม่ใช่เกิดจนแทบเป็นปกติอย่างหลายๆ ฟอรั่มในเมืองไทย รวมถึงการคุยข่มทับกันอย่างไร้สัมมาคารวะด้วย ในขณะเดียวกัน นอกอินเทอร์เน็ต การปกครองแบบเป็นลำดับชั้นก็ยังสร้างแรงกดดันต่อคนทำงาน ทั้งที่คนเหล่านี้ ควรมีโลกที่เป็นอิสระทางความคิดที่จะได้ทำงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้รูปแบบ bazaar ได้ทำงานอย่างเต็มที่
  • วัฒนธรรมการผลิต การถาโถมเข้ามาของโลกาภิวัตน์ ทำให้คนไทยจำนวนมากมึนชาไปพักใหญ่ สร้างค่านิยมบริโภคให้กับตัวเอง จนอาจจะขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองที่จะเป็นผู้ผลิต หรือถึงมีความมั่นใจในการผลิต ก็ไม่มั่นใจเรื่องการแข่งขัน ค่านิยมบริโภค ทำให้ขาดความกระตือรือร้นที่จะพึ่งตนเอง หรือขาดแนวคิดจากมุมมองของการผลิต เช่น ของใช้ทั่วไปบางอย่างที่ทำเองได้ก็จะชอบซื้อมากกว่า หรือที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ก็มองไม่เห็นความไม่ยั่งยืนของการลักลอบใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ไม่พยายามหาทางพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ส่วนการขาดความเชื่อมั่นในตัวเองของผู้มีศักยภาพในการผลิต ก็ทำให้คนที่มีความสามารถต้องตัดสินใจทางธุรกิจในแนวที่ตัวเองไม่เจ็บตัว เรื่องวัฒนธรรมการผลิตนี้ มีผลต่อเรื่องความเข้าใจในโอเพนซอร์สก็คือ ความตระหนักในเรื่องนี้จะทำให้เห็นประโยชน์ของแนวทางพึ่งตนเอง แล้วหันมาสนใจอย่างจริงจัง

เหล่านั้นคือประเด็นพื้นฐาน ที่คิดว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการยอมรับเชื่อถือ และการทำความเข้าใจกับแนวคิดโอเพนซอร์สของคนทั่วไป ทีนี้ เกิดอะไรขึ้นกับโอเพนซอร์สบ้านเราในช่วงที่ผ่านมา? เท่าที่นึกออกก็คือ:

  • ประเมินศักยภาพของโอเพนซอร์สต่ำ โดยส่วนมากมองว่า โอเพนซอร์สคือการเลียนแบบไล่ตามวินโดวส์ จึงทำให้วินโดวส์กลายเป็นมาตรฐานที่โอเพนซอร์สต้องไปให้ถึง เป็นการลดเกรดซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สลงอย่างมาก
  • ลืมข้อดีของ bazaar กัน ความจริงแล้ว ในช่วงแรกๆ นั้น ใครที่ได้อ่านบทความของ ESR ต่างก็พยายามหาทางเปิดซอร์สของตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางแข่งขันทั้งนั้น และมันก็เคยมี bazaar เกิดขึ้นในบ้านเราจริงๆ ผ่านชุมชนอย่าง softwate.thai.net, linux-sis, และ linux.thai.net ยุคแรกๆ แต่หลังจากนั้น ก็ได้มีประเด็นอื่นเข้ามากลบเสียหมด เช่น:
    • การขยายฐานผู้ใช้ของ Linux TLE แบบผิดธรรมชาติ จากการตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของ BSA ในขณะที่ชุมชนลินุกซ์ยังไม่พร้อม แนวคิดโอเพนซอร์สยังไม่แพร่หลาย ทำให้ผู้ใช้เข้าใจว่าลินุกซ์เป็นเหมือน freeware ทั่วไป ทั้งยังสามารถกดดันให้ใครทำอะไรได้แบบซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ โดยลืมไปว่าทุกคนเป็นอาสาสมัคร เนคเทคซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่ทำงานแบบมีรายได้จากค่าจ้าง จึงกลายเป็นเป้าของความคาดหวังทุกเรื่อง ภาพของ bazaar ละลายหายไปในพริบตา ถูกแทนที่ด้วยภาพของ corporate กลายๆ สงครามน้ำลายกลายเป็นเรื่องปกติประจำถิ่น
    • กรณีพิพาทปลาดาว-ออฟฟิศทะเล กลายเป็นสงครามระหว่างองค์กร โดยฟอรั่มในอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสนามรบไปด้วย บางคนก็เข้าร่วมด้วย บางคนเบื่อหน่าย แตกกระเจิง
    ประเด็นเหล่านี้ ได้มากลบแนวคิด bazaar ไปเสียหมด กรณีทั้งสองข้างต้น อาจจะมองว่าเกิดจากปัจจัยของความไม่พร้อม แต่ทั้งสองเรื่อง ก็มีการแทรกแซงจากอำนาจบริหารแบบเดิมไม่มากก็น้อย ซึ่งขัดกับลักษณะอนาธิปัตย์ของ bazaar แม้ภายหลังเรื่องต่างๆ จะจบลงด้วยดี แต่ก็จบด้วยการสลายตัวของทุกฝ่าย รวมทั้งชุมชนด้วย จนถึงบัดนี้ bazaar ที่แตกกระเจิงไปแล้ว ก็ยังฟื้นตัวได้น้อยมาก แนวคิดปรัชญาต่างๆ ก็พลอยเลือนหายไปกับกาลเวลาด้วย ได้แต่ฝากความหวังไว้กับหน่อต่างๆ ที่ไปงอกงามที่อื่น เช่น blognone หรือ club ต่างๆ หรือแม้กระทั่ง LTN เอง ที่ดูเหมือนส่วนที่ยังคึกคักอยู่จะเป็น planet กับห้องแช็ต #tlwg
  • โมเดลธุรกิจไม่ชัดเจน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ:
    • งานพัฒนาที่สนใจกัน เป็นเรื่อง localization ซึ่งโดยนิยามแล้ว เป็นงานที่ทำธุรกิจได้ยาก แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักและต่อเนื่อง แต่ถ้ามองธุรกิจด้านอื่น ความเป็นไปได้ย่อมมีมากกว่า การพิจารณาเรื่องนี้ จึงต้องแยกประเด็น ระหว่างการช่วยเหลือนักพัฒนา localization กับการทำธุรกิจทั่วไป
    • ตลาดยังไม่โต โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ การสร้างธุรกิจ จึงควรรุกในส่วนที่พร้อมก่อน เช่นฝั่งเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ฝังตัว
    • ความสนใจส่วนตัวของแฮ็กเกอร์เอง ส่วนมากจะชอบทำเอามัน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งผมก็ว่าทำให้ชีวิตมีความสุขดี แต่ถ้าพูดในแง่การสร้าง critical mass ก็อาจจำเป็นต้องมีใครสนใจเปิดตลาดบ้าง (แต่ผมเองไม่ถนัด เหอๆ)
  • เห็นความสำคัญของโอเพนซอร์สน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งก็มีหลายแบบ:
    • เมื่อเทียบกับตลาดที่เล็กกว่า เช่น กัมพูชา ภูฏาน ลาว เขามีความจำเป็นโดยพื้นฐานมากกว่าไทย เนื่องจากการสนับสนุนภาษาเหล่านั้นในวินโดวส์ยังไม่พร้อม บางประเทศยังอยู่ในขั้นกำหนดมาตรฐานอยู่ โอเพนซอร์สจึงกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากสำหรับเขา
    • เมื่อเทียบกับตลาดที่ใหญ่กว่า เช่น อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ เขาเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และมีศักยภาพในการผลิต จึงมองเห็นคุณค่าของโอเพนซอร์สได้ไม่ยาก
    • เมื่อเทียบกับตลาดที่ใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา บังกลาเทศ เหล่านี้ เขาดูเอาจริงเอาจังกว่า ซึ่งหากเป็นยุค bazaar ยุคแรกๆ เราสามารถมั่นใจได้พอสมควร ว่าเราเป็นผู้นำได้โดยไม่ลำบาก แต่ในยุคที่คนสละเรือไปมากแล้ว เราก็ต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

แล้วเราจะสร้างจากไหน? ผมว่า bazaar รุ่นก่อนของเรา เกิดมารอบๆ แนวคิดของ ESR และปรัชญาซอฟต์แวร์เสรี มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากทีเดียว ที่ได้เห็นยอดฝีมือสละเวลามาร่วมกันทำงานอย่างสนุกสนาน ได้เห็นพัฒนาการของส่วนต่างๆ ในอัตราที่สูง ถ้าเราจะมาตั้งต้นกันใหม่กับคนรุ่นใหม่ ก็สมเหตุสมผลไม่ใช่หรือ ที่จะมาเริ่มจากการเผยแผ่แนวคิดปรัชญากันอย่างจริงจังอีกครั้ง?

hacker emblem