Theppitak's blog

My personal blog.

31 พฤษภาคม 2548

เดเบียน ๑๐๑

เขียนบทความเกี่ยวกับเดเบียนไว้นานแล้ว ว่าจะเอาลงวารสารสักแห่ง แต่ก็ทิ้งไว้นาน ไม่ได้ดำเนินการต่อ จนข้อมูลบางอย่างเริ่มจะล้าสมัยแล้ว อย่ากระนั้นเลย เอาลงเว็บไว้ดีกว่า ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ใช้เลย และไหนๆ ตอนแรกก็เป็นตอนเรียกน้ำย่อย ถ้าติดต่อวารสารได้ เขียนตอนต่อไปลงรายละเอียด ก็ไม่เสียหายอะไร

ตั้งชื่อไว้ว่า เดเบียน ๑๐๑ กะว่าไว้ค่อยเปลี่ยนชื่อทีหลัง แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้เปลี่ยน :-P

ปล. สำหรับผู้อ่าน blog บางคนที่เคยได้เห็นบทความนี้แล้ว ฉบับนี้เป็นฉบับปรับปรุงครับ เพิ่งอัปเดตเมื่อเช้านี้ ;-P

30 พฤษภาคม 2548

OTF Workaround

ธุระครอบครัวยังไม่หมด ศุกร์-เสาร์ที่ผ่านมามีอีกงาน แต่อาศัยจังหวะนั่งคอยต่างๆ คว้าเอางานขึ้นมาทำบ้าง

มี known bug ใน thaifonts-scalable อยู่อย่างหนึ่ง คือเรื่องนิคหิต ที่สามารถเป็นได้ทั้งสระรองรับวรรณยุกต์ (เช่นใน "ป่ำ") และเป็นตัวอังในภาษาบาลี ซึ่งสามารถเป็นตัวสะกดของสระบนได้ (เช่นใน "กิสมิํ") ทำให้นิคหิตต้องทำหน้าที่ทั้งสองอย่างใน anchor class เดียวกัน (เคยบันทึกไว้ใน blog เก่า และ อีก blog) แต่ยังค้างคาไว้ไม่ได้แก้ เพราะยังคิดว่าอาจเป็นปัญหาของ fontforge ก็ได้ เนื่องจาก view anchor pairs แล้ว มันก็แสดงถูกต้อง แต่ในฟอนต์ที่สร้างออกมา กลับไม่ครบ

แต่หลังจากเวลาผ่านไป คิดว่ารอความชัดเจนเรื่องนี้อาจยังอีกนาน สู้สร้าง glyph แยกเป็นสองชุดเสียเลย ก็แก้ได้ทันที ก็เลยจัดการแก้ซะ โดยเริ่มจาก Garuda ก่อน เมื่อทดสอบกับ pango ดู ปัญหาเรื่อง anchor หายก็หมดไป

กลับถึงบ้าน เลยตรวจความเรียบร้อยแล้ว commit เข้า CVS และหลังจากนั้นก็ไล่แก้ฟอนต์ทุกตัวตามมาจนครบ

ก่อน:
Nikhahit problem
หลัง:
Nikhahit problem fixed

พร้อมกันนี้ ก็ update เอกสาร Thai OTF ที่เคยเขียนไว้ด้วย

25 พฤษภาคม 2548

Howstuffworks

เคยรู้จักเว็บ howstuffworks มานาน เป็นแหล่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสิ่งต่างๆ รอบตัว มักจะถูกหยิบยกมาอธิบายใน forum วิชาการเสมอๆ แต่ไม่คิดว่าจะมีเรื่องอย่างนี้ด้วย:

  • How Firefox Works เอาไว้แนะนำให้มือใหม่ firefox อ่าน
  • How Lightsabers Work สำหรับแฟน Star Wars อ่านขำๆ ว่าหลักการทำงานเป็นยังไง ทำไมฝ่ายด้านมืดต้องเป็นสีแดง ในขณะที่ฝ่าย Jedi เป็นสีอื่น และนอกจากเอาไว้เป็นอาวุธแล้ว ยังใช้ lightsaber ทำอะไรได้อีก
  • The Sith Explained อันนี้เด็ด อธิบายว่า Revenge of the Sith นั้น เป็นการชำระแค้นเรื่องอะไร พวก Sith คือพวกไหน มี "เทวาสุรสงคราม" เกิดขึ้นในแกแล็กซียังไงบ้าง กว่าจะมาเกิดเรื่องใน Episode I

อ่านเอามัน ^_^

23 พฤษภาคม 2548

สวัสดี พ.ศ. ๒๕๔๘

เมื่อวานยังเหนื่อย ยังไม่อยากเริ่มทำงาน กะจะชวนแม่ไปดู Episode III ก็คงไม่เวิร์ก อย่ากระนั้นเลย ชวนกันเข้าวัดฟังธรรมดีกว่า ก็ไปเวียนเทียนที่วัดหนองแวง พระอารามหลวง

อันว่านิยามวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมนั้น มักจะถูกแทนที่ด้วย ปฏิทิน Gregorian เสมอๆ เช่น เราสวัสดีปีระกากันตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ ทั้งที่จริงแล้ว ยังเป็นปีวอกอยู่ จะเข้าปีระกาก็ต่อเมื่อถึงวันตรุษจีน (ถ้าเป็นธรรมเนียมจีน) โดยถือเอาชิวอิก หรือวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร หรือถ้าเป็นธรรมเนียมไทย ก็ถือเอาวันมหาสงกรานต์ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ และวันมหาสงกรานต์ยังเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชอีกด้วย

และถ้าจะว่าไป ชาวพุทธเรานับการเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นจุดเริ่มต้นพุทธศักราช ก็เท่ากับว่า ถ้าจะนับแบบเคร่งธรรมเนียมจริงๆ วันวิสาขบูชานี่แหละ ที่เป็นวันสิ้นปีตามนิยามของพุทธศักราช และวันนี้ คือแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ถือเป็นวันขึ้นพุทธศักราชใหม่ อันพุทธศาสนิกชนควรรำลึกถึงพระพุทธคุณในวาระขึ้นศักราชใหม่นี้

ทั้งหมดนี้ เกิดแว้บขึ้นมาระหว่างกล่าวบูชาวันวิสาขบูชา

สวัสดี พ.ศ. ๒๕๔๘ ครับ ;-)

22 พฤษภาคม 2548

Exhausted

อาทิตย์ที่แล้ว มีงานมาคอยสลับให้วุ่นวายได้ทั้งอาทิตย์ นอกจากงานที่โรงเรียนแล้ว ก็เป็นการเตรียมงานแต่งงานน้องชาย

เรื่องเชิญญาติผู้ใหญ่ที่ขอนแก่นนั้น แม่รับไปเต็มๆ ผมติดงานโน่นนี่อยู่ ก็ได้ช่วยแค่เรื่องซื้อของขันหมาก เตรียมไต่กิก (ส้มติดซังฮี่) ซื้อเสบียงไว้สำหรับญาติๆ ขณะเดินทาง แล้วก็ช่วยจัดบ้านนิดๆ หน่อยๆ เตรียมรับแขก สรุปว่าทำให้วุ่นได้ทั้งอาทิตย์ ถ้าคิดจะทำฟอนต์หรือ remote admin ระบบ ก็มีแต่ตอนกลางคืนก่อนนอนเท่านั้น

ไปถึงสถานที่จัดงาน ได้พบ staff ชุดใหญ่ ทำงานกันขันแข็ง ทั้งฝ่ายเจ้าสาวซึ่งเป็นเจ้าบ้าน และทีมงานเพื่อนๆ ของน้อง เราพิจารณาแล้ว ว่าถ้าเข้าไปช่วยทีหลัง หลังจากเขาเซ็ตระบบงานลงตัวหมดแล้ว อาจกลายเป็นตัวถ่วงได้ ก็เลยทำหน้าที่เดิม คือ take care ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวให้เต็มที่

งานจัดได้ค่อนข้างครบเครื่องแบบไทยๆ มีของมงคลแบบจีนที่เตรียมไปแซมขบวนขันหมากเล็กน้อย คือไต่กิก ขนมขันหมาก และน้ำตาล ตอนเช้าตรู่เป็นพิธีหมั้น ต่อด้วยพิธีเจริญพุทธมนต์ รดน้ำสังข์ แล้วก็แห่ขบวนขันหมาก ฝ่าประตูเงินประตูทองตามประเพณี ส่วนฤกษ์ส่งตัวเข้าหอเป็นตอนบ่าย แล้วก็กินเลี้ยงกันตอนค่ำ เสร็จแล้วก็เดินทางกลับในคืนนั้นเลย

ตลอดงาน ทั้ง 2-3 วันตั้งแต่ออกเดินทางจนกลับ แทบไม่ได้นอนเลย คืนก่อนออกเดินทางก็เตรียมของและจัดบ้าน คืนแรกที่ไปถึงก็นอนไม่หลับ อาจเป็นเพราะไม่คุ้นสถานที่ ส่วนคืนสุดท้ายนอนในรถ หลับยากอยู่แล้ว กลับถึงบ้าน สลบกันทั้งบ้าน แต่พอดีได้รับ SMS ว่าเน็ตโรงเรียนเดี้ยง เลย remote เข้าไปดูนิดหนึ่งก่อน (ทำไมไม่แก้กันเองหว่า แค่โมเด็มตัด)

แต่แค่นี้ยังไม่เท่าฝ่ายเจ้าสาวและทีมงานของน้องหรอก พวกนั้นเหนื่อยกว่าเยอะ

เฮ่อ.. ผ่านไปแล้ว ปิดเทอมอันแสนเหนื่อย จากซ่อมบ้านจนถึงงานแต่งงาน นึกว่าจะได้แฮ็กโปรแกรมซะหน่อย เปิดเทอมแล้วมีงานอะไรรออีกเนี่ย เหอๆ :-P

17 พฤษภาคม 2548

Tlwg Typist

ฟอนต์พิมพ์ดีดเสร็จแล้ว หลังการปรับแต่ง ก็ปรากฏว่าบุคลิกเปลี่ยนไปเล็กน้อย โดยเน้นให้เป็น monoweight หัวกลมใหญ่ ตั้งชื่อเล่นๆ ก่อนว่า Tlwg Typist

TlwgTypist font version 1

เมื่อวานว่าจะปรับละเอียดขั้นสุดท้าย แต่ต้องไปซื้อของเตรียมงานกับแม่ เลยมาทำตอนกลางคืนเอา

ส่วน bold face นั้น ไว้หาเวลาว่างทำดู เท่าที่ใช้เครื่องมือ meta font ของ fontforge ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ยังต้องมาปรับละเอียดเอาเองอีกที แต่คิดดูอีกที ไว้รอปรับละเอียด normal face ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยสร้าง bold face ทีเดียวเลยก็ไม่เลว

import เข้า thaifonts-scalable CVS ไปแล้ว แต่ยังไม่รวมใน package distribution จนกว่าจะ release รุ่น stable รุ่นหน้า

ปล. ขอเวลาทำใจให้นิ่งสักหน่อย กับเรื่องฝันร้าย Windows ผมเคยบอกผู้คนไปว่า ผมไม่ต่อต้าน Windows แต่สนับสนุนลินุกซ์ แต่เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสองวันนั้น มันทำให้อารมณ์กระเพื่อม โดยเฉพาะคำสั่งลบลินุกซ์ด้วยเหตุผลที่รับไม่ได้ ทั้งที่เคยชี้แจงไปแล้วหลายรอบ

ขอเวลาสักหน่อย แล้วผมจะกลับไปทำงานช่วยท่านเหมือนเดิม ยังไงเสีย อาทิตย์นี้ทั้งอาทิตย์ ผมก็มีธุระต้องทำ ซึ่งทำให้ต้องห่างๆ จากคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว คงเป็นโอกาสอันดีที่จะสงบจิตใจ

อย่างไรก็ดี ผมไม่ลืมว่า ท่านเป็นผู้ให้โอกาสให้ลินุกซ์ได้แทรกตัวเข้าไปในโรงเรียนของท่าน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่น่านับถือ ที่ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ OS ทางเลือกใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกนี้

15 พฤษภาคม 2548

Nightmare

ฟอนต์ทำ normal face เสร็จแล้ว แต่มีงานต้องเคลียร์ที่โรงเรียน เลยต้องพักไว้ก่อน ก่อนจะทำ bold face ต่อ แต่งานที่ว่า ทำแค่สองวันก็สะสมความหงุดหงิดได้มาก

เริ่มจาก ติดตั้ง debian ใน PC ประมาณ 30 เครื่องแบบ dual boot โดยต้องเข้า Windows ไปจัดการเรื่องพาร์ทิชันก่อน ก็ปรากฏว่า เหมือนเพิ่งได้เจอสิ่งที่เคยเป็นแค่ "เสียงลือเสียงเล่าอ้าง" ที่เคยได้ยินมาเกี่ยวกับ Windows เช่น เริ่มจากเปิดเครื่องมาใหม่ๆ ก็จะมี balloon ขึ้นมาบอกข้อความ ว่ามี update มั่ง มีไอคอนไม่ได้ใช้งานมั่ง ซึ่งต้องคอยตามคลิกปิดทั้งหมดก่อนจะได้ใช้งาน ถ้าไม่ปิด เสียบ handy drive ก็ใช้ไม่ได้ด้วย ต่อจากนั้น ก็มีข้อความแปลกๆ มาที่ MSN อยู่เรื่อยๆ ตามมาด้วย pop-up โฆษณาในบางเครื่อง ไล่ปิดจนหงุดหงิด กว่าจะจัดการพาร์ทิชันสำเร็จ.. โห.. คน Windows เขาทนใช้อยู่ได้ยังไงเนี่ย คนนั่งข้างๆ ยังว่าผมแปลกเสียอีกที่บ่น เออนะ แปลกดี

ติดตั้งจนเสร็จ ต่อไปเด็กๆ ก็คงได้เปรียบเทียบกับลินุกซ์มั่งละ ว่ามันราบรื่นต่างกันแค่ไหน

เท่าที่ลงในเครื่องจำนวนมากแบบนี้ พบว่า auto partitioning ของ debian installer ช่วยประหยัดเวลาได้มากเลย (ใครบ่นว่า debian install ยาก ต้องคิดใหม่แล้วละ) แต่อยากให้ resize partition ได้ด้วยจัง ยากไปไหมเนี่ย :-/

งานต่อมา เป็นการตั้ง server ตัวใหม่ ก็ใช้ debian เหมือนเดิมน่ะแหละ (ใช้ local sub-mirror ให้คุ้ม) ตัวงานเองไม่มีอะไรน่าหงุดหงิด แต่ระหว่างที่นั่งทำ ก็จะมีสิ่งรอบด้านเข้ามา เช่น ได้ยินคำสั่ง ผอ. ให้ลบลินุกซ์ในโน้ตบุคที่ลงแบบ dual boot ทิ้ง ด้วยเหตุผลว่า มันทำให้ Windows ช้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเคยชี้แจงไปหลายรอบแล้ว ว่ามันไม่เกี่ยวกันเลย ลินุกซ์กับ Windows มันไม่ได้ทำงานพร้อมกันเสียหน่อย การโทษลินุกซ์ก็เหมือนโทษว่า การแบ่งฮาร์ดดิสก์เป็น drive C: กับ drive D: (โดยไม่ได้ใช้ drive D:) ทำให้ Windows ช้าลง ซึ่งไม่มีเหตุผลเลย เหมือนคนเป็นไข้แล้วโทษว่าผีเข้า แทนที่จะไปดู config ของ Windows หรือแม้แต่ตัวฮาร์ดแวร์เอง ซึ่งอาจจะมี RAM ไม่เพียงพอให้ Win XP ผลาญเล่น เลยโวยไปหนึ่งดอก แต่ไม่รู้ว่าเก็ตกันขนาดไหน เพราะถ้าเก็ต ก็คงไม่มีคำสั่งระลอกใหม่มาเรื่อยๆ อย่างนี้ (ที่โวยไม่ใช่อะไร ผมเองก็เดือดร้อนด้วย ที่เด็กชุมนุมลินุกซ์ไปเบิกโน้ตบุคมาใช้แล้วเครื่อง hang ขณะบูตเข้าลินุกซ์ เพราะคนที่ลบ เขาแค่ format partition ใหม่ ไม่ได้จัดการ bootloader ด้วย —แต่ช่างเหอะ เทอมหน้าผมก็เลิกสอนแล้ว เพราะจะมีคนรับช่วงแทน อิๆ)

โวยจบไป ตอนเย็นมี request ขอเพิ่มข้อมูลในเว็บ โดยส่งเอกสารมาเป็น .doc อีก ผมไม่ไหวแล้ว เลยไล่กลับไป convert เป็น plain text มาก่อน ถ้าอยากได้เร็ว

สองวันเต็มกับ Windows culture ที่อัดเข้ามาพร้อมๆ กัน ฝันร้ายจริงๆ

ปล. พยายามจะบ่นให้น้อยที่สุดน่ะนะ เพราะบ่นยังไง มันก็ฟังเหมือนการบ่นตามแบบฉบับ แต่นี่เป็นประสบการณ์ตรง ที่ไม่ได้นึกเอาเองแต่อย่างใด

10 พฤษภาคม 2548

Font Fiddling

ได้หนังสือ Lettering Design มาจากงานสัปดาห์หนังสือเมื่อปีก่อน อ่านๆ หยุดๆ ไม่ได้เรื่อง คราวนี้ ได้โอกาสหยิบมาอ่าน เพื่อเอามาใช้แก้ฟอนต์ไปด้วย

ที่หยิบเล่มนี้ ก็เพราะอยากศึกษาด้านที่เป็นศิลป์ของฟอนต์ นอกเหนือจากเรื่องทางเทคนิคอย่างเดียว พลิกๆ ผ่านๆ ก็ปรากฏมีเรื่องคุ้นหูคุ้นตามาบ้าง เพราะเคยเรียนเรื่องอักษรประดิษฐ์จากพ่อเมื่อตอนเด็กๆ แต่ก็มีรายละเอียดเพิ่มเติมบ้าง

ทฤษฎีเกี่ยวกับการออกแบบฟอนต์ที่สำคัญคือเรื่องภาพลวงตา เช่น เรามักรับรู้ระยะแนวดิ่งมากกว่าแนวนอน จึงเห็นเส้นตั้งยาวกว่าเส้นนอน (อาจเป็นเพราะเราใช้ตาสองข้างที่วางในแนวระดับรับภาพและตีความแบบ stereoscopic ออกมาเป็นภาพสามมิติ ตาสองข้างที่มองคนละมุม เมื่อตีความรวมกันจึงเสียระยะตามแนวนอนไป —อันนี้ผมสันนิษฐานเอง) การออกแบบฟอนต์ที่แม้จะเป็น monoweight (ความหนาของเส้นสม่ำเสมอ) ก็ควรให้เส้นตั้งหนากว่าเส้นนอน เพื่อให้ตารับรู้ว่าหนาเท่ากัน เป็นต้น

หลักการออกแบบฟอนต์โดยทั่วไป คือ

  1. ความเป็นเอกภาพ (Unity): องค์ประกอบของตัวอักษรที่คล้ายกันควรมีรูปร่างสอดคล้องกัน เช่น ตัว ก ถ ฤ ฌ ญ ณ ภ ฦ ฎ ฏ ควรมีรูปร่างกลมกลืนกัน
  2. ดุลยภาพ (Balance): อักษรที่สมดุลซ้าย-ขวา เช่น ตัว พ ผ ควรจัดองค์ประกอบให้ได้ดุลย์กัน รวมทั้งคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วงของอักษรบางตัว เช่น ง จ ว ให้ดูมั่นคง ไม่ล้มด้วย
  3. ความกลมกลืน (Harmony): ลักษณะของเส้นตวัด และรูปทรงของตัวอักษรทั้งหลาย ควรกลมกลืนเป็นชุดเดียวกัน
  4. สัดส่วนตัวอักษร (Proportion): ควรคำนึงว่า อักษรแต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ควรออกแบบให้สมส่วน ตามแบบฉบับของตัวอักษรนั้นๆ
  5. การสร้างจังหวะและลีลา (Rhythm): กำหนดตำแหน่งการวางหัวตัวอักษร และลีลาของการสะบัดเส้นต่างๆ โดยพิจารณาการใช้พื้นที่ว่างทั้งนอกและในตัวอักษร
  6. การสร้างจุดเด่น (Emphasis): เป็นการสร้างบุคลิกของฟอนต์จากสิ่งดลใจบางอย่าง เรื่องนี้สำคัญสำหรับฟอนต์ศิลปะ

นอกจากนี้ ก็ยังมีขั้นตอนการออกแบบฟอนต์ ตั้งแต่การร่างแบบ จัดช่องไฟ และเขียน artwork เป็นเนื้อหาสำหรับนักออกแบบนิเทศศิลป์นั่นแล

อืมม์.. มือสมัครเล่นอย่างผม คงเริ่มจากง่ายๆ ก่อนละ ด้วยความที่อยากได้ฟอนต์พิมพ์ดีดไว้ใช้ และได้เก็บตัวอย่างเอกสารพิมพ์ดีดแบบต่างๆ เตรียมไว้อยู่ ก็จัดการทำฟอนต์พิมพ์ดีดใหม่ โดยใช้ฟอนต์ Tlwg Typewriter ของคุณพูลลาภเป็นฐาน นั่งทำสามวัน ได้พยัญชนะครบทุกตัว ยังเหลือสระและเครื่องหมายอื่นๆ ครับผม

TlwgTypist font design

/me ซ้อมไว้ๆ เผื่อทำฟอนต์ทดแทนฟอนต์แห่งชาติ ดูซิว่าฟอนต์ใหม่กับการตกลงเรื่อง license อย่างไหนจะเสร็จก่อนกัน :-P

08 พฤษภาคม 2548

Sid คืนชีพ

หลังจากประกาศ Freeze Sarge ไปเมื่อวันก่อน (กำหนดการออกคือสิ้นเดือนนี้) โดยเปิดไดเรกทอรี sarge-proposed-updates ไว้รับ update ที่สำคัญๆ และอาศัย release team พิจารณาการ update เป็นกรณีไป ก็ปรากฏว่า Debian package maintainer ทั้งหลายต่างเฮโลกัน upload package เข้า unstable (sid) กันเป็นแถว (นัยว่า unstable pool ว่างแล้ว) มีคนตั้งชื่อ release ทำนอง "back to my digital life after the freeze" release ด้วย สองสามวันที่ผ่านมา sid มีการ upgrade package วันละเป็นสิบเม็กเลย

ในฐานะของผู้ใช้ unstable บอกได้แต่ว่า "sid คืนชีพแล้ว!" เย้ๆ ^_^

ปล. อยากให้ sid upgrade package ภาษาไทยมั่งอะ ติดคอขวดเรื่องฟอนต์แห่งชาตินี่แหละ

05 พฤษภาคม 2548

Educational FOSS

กำลังคัดเลือกโปรแกรมการศึกษาสำหรับโรงเรียนประถมถึงมัธยม เอาไว้ใช้ในโรงเรียน คัดมาจาก:

ศิลปะ

Tux Paint
โปรแกรมวาดรูป ให้เด็กหัดใช้เมาส์ [มีใน debian]

ฝึกพิมพ์ดีด

Tux Typing
เกมพิมพ์ดีดใช้ SDL มีหลายแบบ มีแบบฝึกหัดด้วย [มีใน debian]
GNU Typist
บทเรียนพิมพ์ดีดบน text console [มีใน debian]
Typespeed
เกมพิมพ์ดีดเก็บคำบน text console [มีใน debian] มีฉบับภาษาไทยที่ LTN APT ด้วย (upload ไปเมื่อวาน)

คณิตศาสตร์

Tux of Math Command
เกมคิดเลขเร็ว ใช้ SDL คล้ายๆ Tux Typing [มีใน debian]
Dr. Geo
โปรแกรมสร้างรูปเรขาคณิต มี บทความ แนะนำ บอกว่าเหมาะกับครูฟิสิกส์ด้วยเช่นกัน [มีใน debian]
Tux Math Scrabble
เกมอักษรไขว้ แต่เรียงเป็นสมการเลขคณิต

วิทยาศาสตร์

Celestia
โปรแกรมสำรวจอวกาศที่สมบูรณ์ที่สุด ใช้ Qt และ KDE [มีใน debian] เสียดายที่ใน sid broken อยู่
Stellarium
โปรแกรมท้องฟ้าจำลอง แสดงกลุ่มดาวที่ปรากฏบนท้องฟ้าตามกำหนดเวลา [มีใน debian]
Planets
โปรแกรมจำลองระบบดาวเคราะห์ ตามหลักสนามโน้มถ่วง สำหรับให้เด็กๆ ดู [มีใน debian]
GPeriodic
โปรแกรมตารางธาตุ [มีใน debian]
Atomix
เกมต่อโมเลกุลในเขาวงกต [มีใน debian]

ภาษา

TickleTux Hangman
เกมแขวนคอสุดคลาสสิก
Anagramarama
เกมค้นหาคำจากตัวอักษรที่กำหนดให้

โปรแกรมส่วนใหญ่ มีใน debian pool สามารถดูดมาลงได้ทันที ที่เหลือก็ต้องคอมไพล์เอา :-)

04 พฤษภาคม 2548

Free your Documents

ระหว่างหาโปรแกรมส่งเสริมการศึกษาที่เป็น Free/Open Source เพื่อเอามาใช้ในโรงเรียน ก็ไปสะดุด banner หนึ่งเข้า:

我不用 .doc 檔

คลิกเข้าไปเจอภาษาจีนอ่านไม่ออก แต่เห็นรูปภาพประกอบ และจับใจความจาก ฉบับแปลด้วย babelfish ก็พอจับใจความได้ ดูเขาอธิบายละเอียดดี ว่าทำไมเราจึงควร หยุดยั้งการแนบไฟล์เวิร์ด (ฉบับแปลไทย)

หุๆ เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เก็บลิงก์ไว้ซะ

ขณะเดียวกัน วันนี้ slashdot มี ข่าว ว่า OASIS ได้ รับรอง ร่างฉบับที่ 3 ของข้อกำหนด Open Document Format for Office Applications (OpenDocument) 1.0 แล้ว

02 พฤษภาคม 2548

Nerd?

เห็น ตาวีร์ กับ bact' เขาเทสต์กัน เลยอยากลองเล่นมั่ง

I am nerdier than 91% of all people. Are you nerdier? Click here to find out!

แฮะๆ ตูเป็นหนักขนาดนั้นเชียวรึ มั่วอ๊ะเปล่าวะ -_-'

hacker emblem