Theppitak's blog

My personal blog.

25 กุมภาพันธ์ 2548

GDM Easter Egg

ใครว่าโปรแกรมโอเพนซอร์สจะไม่มี easter egg เพิ่งเจอตัวอย่างหนึ่งใน gdm มาหมาดๆ ระหว่างแปล ซึ่งใช้ได้เฉพาะกับ standard greeter เท่านั้น (graphical greeter ที่มี theme สวยๆ นั้น อด) คือถ้าล็อกอินด้วยชื่อพิเศษต่อไปนี้ gdm จะมีพฤติกรรมน่าสนใจ:

  • "Start Dancing" เดิมเราเคยเห็นจอ gdm ส่ายหน้าตอนป้อนรหัสผ่านผิด แต่คราวนี้จะเห็น gdm เต้นรำบ้าง
  • "Stop Dancing" เพื่อให้ gdm หยุดเต้นรำ
  • "Gimme Random Cursor" เปลี่ยนเคอร์เซอร์ของเมาส์เป็นรูปแปลกๆ
  • "Require Quater" หรือ "Require Quarter" อันนี้ค่อนข้างยาก เข้าใจว่าใช้กับ gdm ใน Xnest? ประมาณว่าให้หยอดเหรียญเพื่อเข้า gdm ใหม่

มี easter egg ไว้ล่อให้คนอ่านซอร์สแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน หึๆ

คุ้นๆ ว่า TLE 5.x รุ่นไหนไม่รู้ เคยบอกว่ามี easter egg ไม่รู้อันไหน เพราะพอดีตอนนั้นไม่ได้ใช้ทะเลแล้ว เหอๆ

อีกเรื่องหนึ่งคือปลา wanda ที่เคยออกมาแหวกว่ายบนเดสก์ทอปสมัย GNOME 1.4 ไม่รู้ตอนนี้ easter egg นั้นยังอยู่หรือเปล่า

16 กุมภาพันธ์ 2548

นิทานปลาโลมา

จากการตอบ bact's blog ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงช่วงที่ทำงานกับ Linux-TLE และด้วยความที่รู้ตัวว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ในมุมที่อาจจะไม่มีใครมาเห็นด้วยอยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้ประวัติของลินุกซ์ทะเลอาจไม่สมบูรณ์ เพราะจากหน้าของ LTN และของ Open-TLE จะมีข้อมูลบางช่วงขาดหายไป วันนี้อ๊อทมาเตือนให้เขียน จึงรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่ควรต้องเขียน โดยจะเริ่มจากช่วงที่หน้า LTN อ้างต่อไปที่ OpenTLE จนกระทั่งเกิดเว็บ OpenTLE (ขอทดลง blog ไว้ก่อน แล้วค่อยหาจุดที่จะแทรกในเว็บสักแห่งอีกทีนะครับอ๊อท)

ก่อนอื่น ขอเรียงลำดับเหตุการณ์ก่อน เรื่องราวในหน้าของ OpenTLE นั้น เป็นช่วงแรกของการเกิด MaTEL ในมุมมองของ ดร. วิรัช ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักในระดับบริหาร ทั้งที่ญี่ปุ่นและที่เมืองไทย จนโครงการ Linux distribution สำหรับเดสก์ทอปเกิดขึ้นได้ โดยเกิด MaTEL ที่รวบรวมโดยคุณภัทระ เกียรติเสวี (อ๊อท) นำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมโอเพนซอร์ส/ลินุกซ์ครั้งที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนของเนคเทค, ETL และ CICC

ในระดับการดำเนินการ ก็เป็นไปตามที่เล่าในหน้าของ LTN คือคุณอ๊อทเป็นผู้รวบรวม โดยได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลใน TLWG โดยเฉพาะ Thai Extension ที่รวบรวมโดยคุณพูลลาภ วีระธนาบุตร และฟอนต์จากคุณไพศาล เตชะจารุวงศ์ จากโครงการ ZzzThai ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดต่อจาก Thai Project ของคุณวุฒิชัย อัมพรอร่ามเวทย์ อีกทีหนึ่ง (และถ้าจะเท้าความไปตั้งแต่เริ่ม ก็คงต้องไปจนถึงงานของ อ. มานพ วงศ์สายสุวรรณ เจ้าของ ttex และฟอนต์มานพโน่นเลย) กล่าวคือ MaTEL เป็นการรวบรวมงานของคนไทยจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากงานของกลุ่มนักเรียนไทยในญี่ปุ่น จากโครงการของเนคเทค จากการทำงานของนักวิจัยที่เกิดขึ้นที่ ETL ประเทศญี่ปุ่น (ตามที่เล่าในหน้า OpenTLE) และจากงานของนักพัฒนาในประเทศบางส่วนที่มารวมตัวกันในโครงการ linux-sis (เช่น ]d, อ.พฤษภ์, คุณสัมพันธ์)

และเรื่องราวของ Linux-TLE รุ่น 6.01 และ 6.1 ก็เป็นไปตามที่เล่าในหน้าของ LTN และที่ผมจะเล่าเพิ่ม ก็เป็นตอนต่อจากนี้ ซึ่งผมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย:

ภายใต้การดูแลของเนคเทค Linux-TLE ได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ลินุกซ์ทะเล" และใช้สัญลักษณ์รูปปลาโลมาตั้งแต่เวอร์ชัน 3.0 เป็นต้นมา โดยมาจากแนวคิดของ ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช นอกจากนี้ ยังได้กำหนดชื่อรหัสประจำรุ่นเป็นชื่อทะเลของไทยอีกด้วย

ลินุกซ์ทะเล 3.0 ชื่อรหัส "ตะรุเตา" ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในงานนิทรรศการของเนคเทค เมื่อ 14 มิถุนายน 2543 (2000) ใช้ RedHat 6.2 เป็นฐาน ซึ่งรุ่นนี้ เริ่มมีการแพตช์ไฟล์บางไฟล์ของ XFree86 จึงเป็นรุ่นแรกที่งานของ Linux-TLE ไม่ได้มีแต่การเพิ่มแพกเกจภาษาไทยเท่านั้น

ในระหว่างนี้ ในหมู่ TLWG ได้มีการพบโค้ด XIM (ระบบการป้อนอักขระ) ภาษาไทยในซอร์สของ XFree86 (พบโดย อ. พฤษภ์ บุญมา) ซึ่งยังทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เริ่มเห็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเพิ่มใน XFree86 แต่ใน Linux-TLE 3.0 ได้ใช้วิธีขัดตาทัพ เลี่ยงปัญหาไปก่อน

ลินุกซ์ทะเล 4.0 ชื่อรหัส "สิมิลัน" เปิดตัวเมื่อ 13 ตุลาคม 2544 (2001) ดูแลโดยทีมงานของคุณโดม เจริญยศ ตามที่เนคเทคว่าจ้าง โดยคุณโดมได้เปลี่ยนไปใช้ Redmond Linux (ปัจจุบันคือ Lycoris) รุ่น beta เป็นฐาน และได้เผยแพร่ไปกับหนังสือ "ลินุกซ์ทะเล" ซึ่งเขียนโดยคุณกริช นาสิงห์ขันธุ์ จัดพิมพ์โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชัน จำกัด นับเป็นลินุกซ์ทะเลรุ่นแรก ที่แพร่กระจายไปสู่ผู้ใช้ทั่วประเทศอย่างทั่วถึง และในรุ่นนี้ ได้รวบรวมงานที่นักพัฒนาใน TLWG ได้ทำงานร่วมกับโครงการต้นน้ำอย่าง XFree86 ไว้ด้วย คือการแก้ไขปัญหาการป้อนอักขระภาษาไทยด้วย XIM โดยใช้ key symbol ของไทยแท้ๆ จากเดิมที่ใช้การ hack ผ่าน symbol ของภาษาละติน รวมทั้งการแก้ไขชื่อรหัสภาษาไทยใน X จาก TACTIS เป็น TIS-620 ด้วย

สำหรับการแก้ไข XIM นี้ ความจริงมองเห็นกันมานานแล้ว แต่ถูกเร่งโดยปัญหาที่เกิดจากการแก้ผังแป้นพิมพ์ไทยของนักพัฒนา Mandrake ทำให้เราใช้ Latin hack ต่อไปไม่ได้ แต่ผลดีที่ได้ ก็คือการป้อนข้อมูลภาษาไทยที่มีการตรวจลำดับตามข้อกำหนด วทท (รายละเอียดทางเทคนิคเพิ่มเติม) นับเป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดของการทำงานเรื่องภาษาไทยบนระบบเดสก์ทอปขนานใหญ่ในเวลาต่อมา

ลินุกซ์ทะเล 4.1 ชื่อรหัส "พีพี" เปิดตัวเมื่อ 14 มีนาคม 2545 (2002) ในงานประชุม TLUG ที่ Software Park ลินุกซ์ทะเล 4.1 ออกตามรุ่น 4.0 มาติดๆ ด้วยปัญหาเรื่องการตอบคำถามผู้ใช้ เนื่องจากทีมงานไม่คุ้นเคยกับ Redmond Linux และการทำลินุกซ์แผ่นเดียวทำให้ขาดแคลนเครื่องมือหลายอย่าง ลินุกซ์ทะเล 4.1 ได้ย้อนกลับมาใช้ RedHat เป็นฐานอีกครั้ง โดยทำเพิ่มจาก RedHat 7.2 ในรุ่นนี้ เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความช่วยเหลือมากมายจากบุคคลในชุมชน TLWG ทั้งผ่านเมลส่วนบุคคล และผ่าน mailing list เช่น gswitchit applet, การปรับปรุง ThaiLaTeX ฯลฯ ดังรายนามที่ปรากฏในปกซีดี ทำให้ระบบภาษาไทยสมบูรณ์ขึ้นมาก และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่าง คือการใช้ระบบ apt เป็นครั้งแรก

ลินุกซ์ทะเล 4.1 เป็นรุ่นแรกที่มีกระแสตอบรับผ่านสื่อต่างๆ มากมาย เพราะเป็นช่วงที่มีการตื่นตัวเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศ อันเนื่องมาจากการตรวจจับของ BSA ซึ่งเสียงตอบรับก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะความไม่คุ้นเคยของผู้ใช้ และความไม่พร้อมต่อความคาดหวังของมหาชนในการใช้งานเดสก์ทอปของลินุกซ์นั่นเอง

ในกระแสลินุกซ์และโอเพนซอร์สในประเทศที่ทะลักเข้ามา ชุมชน TLWG ไม่สามารถรองรับผู้ใช้ได้เพียงพอ จึงได้เกิดเว็บ OpenTLE ขึ้นมารองรับโครงการโอเพนซอร์สของเนคเทคโดยเฉพาะ โดยเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่ลินุกซ์ทะเล 5.0 เป็นต้นมา

...และเรื่องเล่าในส่วนของผมเกี่ยวกับลินุกซ์ทะเลก็จบลงเพียงเท่านี้ ที่เหลือก็ขอแตะมือกับ OpenTLE ละครับ :-) ใครมีข้อเสนอแนะตรงไหนก็ขอเชิญได้

ภาษาประจำหน้าต่าง

ระหว่างแปล GNOME ไปก็เรียนรู้ความสามารถของส่วนต่างๆ ไปด้วย (ต้องเรียกว่าเรียนรู้จริงๆ เพราะที่ผ่านมา โปรแกรมบนเดสก์ทอปที่ใช้บ่อยที่สุดคือ xterm) ตัวอย่างหนึ่งก็คือ เพิ่งรู้ว่า GNOME จำภาษาแป้นพิมพ์ของแต่ละหน้าต่างไว้ด้วย (ผ่าน libxklavier ซึ่งมีมาตั้งแต่ GNOME 2.8) มิน่าเล่า.. ถึงได้รู้สึกว่าภาษาแป้นพิมพ์มันดื้อๆ ไม่เป็นไปตามที่คิดบ่อยๆ ทีแรกนึกว่าปุ่มแป้นพิมพ์เรามีปัญหาซะอีก

GNOME keyboard preferences

สำหรับคนเปิดหน้าต่างเยอะ สลับหน้าต่างบ่อยอย่างผม ความสามารถนี้คงไม่ได้ใช้ เพราะกลับมาที่แต่ละหน้าต่าง ก็จำไม่ได้แล้ว ว่าเดิมใช้ภาษาอะไรอยู่ ส่วนมากจะคิดถึงภาษาล่าสุดค่าเดียวมากกว่า อีกทั้งแอ็พเพล็ตบอกภาษาก็ไม่ค่อยได้ใช้เสียด้วย

คิดไปคิดมา.. ถ้าจะให้จำภาษาของหน้าต่าง แบบที่แสดง ท/E ที่หัวหน้าต่างเหมือน Win 3.x หรือ WindowMaker น่าจะเวิร์กที่สุด แบบแอ็พเพล็ตนี่ ถึงจะใช้ก็คิดว่าต้องเหลือบมองไกลไปนิด แถมต้องโฟกัสก่อนถึงจะรู้ด้วย

15 กุมภาพันธ์ 2548

งานแปล GNOME (อีกที)

อย่างที่เคยเขียนใน blog ก่อนๆ ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ตารางเวลายุ่งเหยิงมากๆ ก็เลยไม่สามารถตั้งสมาธิทำงานเขียนโปรแกรมได้ แต่ก็เสียดายช่วงเวลาที่ว่างเป็นพักๆ ก็เลยมานั่งแปล GNOME 2.10 โดยตามแปลใน CVS head ไปเลย แรกๆ ก็แปลเล่นๆ หรอก แต่แปลไปชักจะเป็นล่ำเป็นสัน

เดิมเคยพยายามลุ้นให้ภาษาไทยหลุดพ้นสถานะ unsupported language โดยต้องแปลให้ได้เกิน 50% ซึ่งก็เข้าไปเฉียดๆ หลายที (ดูเหมือนเคยเข้าไปใกล้ที่สุด 47% กว่าๆ) แต่แล้วก็มีอันร่วงผลอยลงมา เพราะตาม message ใหม่ไม่ทัน อีกทั้งตัวเลขเก่านั้น ปรากฏว่าโปรแกรมนับสถิติไม่ได้นับรวมโปรแกรมใหญ่ๆ อย่าง evolution ที่เราไม่ได้แปล (ก็มันยังใช้ภาษาไทยไม่ได้เลยนิ patch ที่ส่งไปก็นอนรออยู่เป็นชาติ ยังไม่มีใครเหลียวแล) พอนับรวมมาปุ๊บ ก็ร่วงกราวลงมา แปลเพิ่มเข้าไปก็ยังอยู่ที่ 43% แบบนี้สงกะสัยจะไปไม่ถึงดวงดาวเสียแล้ว

จาก สถิติล่าสุด ภาษาไทยยังอยู่อันดับ 52 อยู่หัวแถวในบรรดา unsupported language ส่วนภาษาเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลย์ อินโด ร่วงจาก supported ใน 2.8 ลงมาเป็น partially supported ใน 2.10 และคิดว่าคงไล่แปลจนได้สถานะ supported เหมือนเดิมในไม่ช้า

message ใหม่ที่นักแปลบ่นกันอุบก็คือ gnome-applets/po-locations ที่รวมชื่อสถานที่ต่างๆ ในโลกร่วม 6 พันกว่าชื่อ ที่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้จะได้ใช้ชื่อเหล่านี้แค่ครั้งเดียว คือตอนเปิดแอพเพล็ตครั้งแรกเพื่อกำหนดสถานที่ แต่มี message มาก็ต้องแปลไปให้ครบ

นอกจากเรื่องปริมาณแล้ว งานแปลแต่ละรุ่นก็จะเน้นเรื่องคุณภาพด้วย โดยต้องพยายามเกลาสำนวนแปลบางแห่งที่เข้าใจยาก หรือใช้คำไม่เหมาะสม ไม่สม่ำเสมอกับแห่งอื่น ทั้งหมดนี้ เพื่อให้โปรแกรมเข้าถึงผู้ใช้ให้มากที่สุด

ใครสนใจร่วมแปล มีแหล่งติดตามที่น่าสนใจต่อไปนี้:

  • สถานะการแปล สำหรับภาษาไทยใน GNOME 2.10
  • เว็บทีมแปล GNOME ไทย มีเอกสารแนะนำที่น่าสนใจ
  • ThaiL10N โดยคุณสุปราณี (พี่ปลา) ที่เนคเทค สรุปประเด็นต่างๆ ที่เคยพูดคุยกันในทีมแปล
  • OSS Glossary อภิธานศัพท์และคำแปล (โปรแกรมโดย audy)
  • mailing list ของทีมแปลไทย

ช่วงนี้ GNOME 2.10 string freeze แล้ว นักแปลระดมแปลได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมี message ใหม่มาทับอีก เวลาแปลที่เหลือก็ประมาณครึ่งเดือน ก่อนที่ GNOME 2.10 ตัวจริงจะออกต้นมีนานี้

Update (2005-03-07): แก้ข้อมูลผู้ดูแล OSS Glossary ขอบคุณพี่ปลาที่ช่วยติง

11 กุมภาพันธ์ 2548

คลองกระ - คลองไทย

ตอนช่วงตามข่าวสึนามิ จะมีข่าวการนำเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ออกมาช่วยลำเลียงเสบียง และพาผู้คนตามเกาะต่างๆ กลับแผ่นดินใหญ่ แต่ต้องรออยู่วันสองวัน เพื่อให้นำเรือออกจากอ่าวไทย ไปผ่านช่องแคบมะละกา เพื่อไปช่วยคนทางฝั่งอันดามัน ฟังแล้วก็สะดุด ว่าน่านน้ำทั้งสองของไทยนี้ มันแยกจากกันจริงๆ แฮะ แล้วก็ไพล่นึกไปถึงการขุดคอคอดกระแว้บหนึ่ง ก่อนจะลืมแล้วก็กลับไปลุ้นข่าวต่อ

การขุดคลองที่คอคอดกระ ดูจะเป็นเรื่องเก่ามากๆ เพราะได้ยินมาตั้งแต่เรียนสังคมศึกษา แต่ก็ยังมีความพยายามรื้อฟื้นอยู่เรื่อยๆ เพราะผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้จากคลองนี้ มันก็คุ้มพอดูอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ยกขึ้นมาทีไร ก็จะถูกโต้เรื่องความเสี่ยงต่อการแบ่งแยกดินแดนเสมอ

Kra Canal

เมื่อวานเลยเกิดแรงบันดาลใจ ไปรื้อหนังสือเกี่ยวกับคลองกระมานั่งอ่าน พบว่าอุปสรรคไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงของชาติ แต่ยังเป็นเรื่องความไม่มั่นคงของรัฐบาล ทำให้โครงการหยุดชะงักมาตลอด ถ้าไม่นับทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับชาติที่ 3 ที่จะเสียประโยชน์จากการขุดคลองกระอย่างแน่นอน ที่ว่าเข้ามาล็อบบี้นักการเมืองไทยไม่ให้โครงการผ่าน

พอมานึกถึงรัฐบาลใหม่ที่มีความมั่นคงอย่างสุดๆ ประกอบกับสไตล์การบริหารที่ทำให้โครงการหลายอย่างผ่านมาได้อย่างรวดเร็ว เช่น โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน แล้ว ทำให้อยากลุ้นว่า ถ้ามีการเสนอเรื่องการขุดคลองกระอีกครั้ง จะสำเร็จหรือไม่

รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาที่ผ่านมาของ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาการขุดคอคอดกระ ของกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ก็ดูเหมือนเพิ่งผ่านมาไม่นาน แต่ข้อมูลที่ละเอียดกว่า อยู่ที่ www.thai-canal.com ซึ่งการสัมมนาเพื่อฟังความเห็นประชาชนครั้งล่าสุด คือปลายปี 2546 นี่เอง ก่อนการเผาโรงเรียนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่กี่วัน และหลังจากนั้น เรื่องนี้ก็เงียบหายไป

แต่ก็ใช่ว่าปัญหา 3 จังหวัด จะทำให้เรื่องคลองกระตกไป แต่ยังมีบทความเรื่อง คลองไทยดับไฟใต้ โดย รศ. ดร. สถาพร เขียววิมล ออกมา บอกว่าการขุดคลองกระ จะช่วยกระจายความเจริญเข้าไปในพื้นที่ ช่วยแก้ปัญหาทางจิตวิทยาของชาวบ้านได้ นอกเหนือจากผลประโยชน์ของชาติโดยรวม ที่จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแทนสิงคโปร์ได้ (แต่ก็อย่างว่า ไม่เคยมั่นใจเลยว่าอะไรถูกอะไรผิดเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ ดูมันจะซับซ้อนเกินเข้าใจ)

เหมือนเป็นจังหวะที่เหมาะสม ไหนๆ สภาวะเศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้นมาแล้ว รัฐบาลก็เสถียรขนาดนี้ เป็นนักธุรกิจขนาดนี้ (อาจจะติดเรื่องการฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิก่อน) แต่ก็ต้องระวังเรื่องการว่าจ้างต่างชาติด้วยเหมือนกัน ไม่งั้นอาจเสียอธิปไตยเหนือคลอง เหมือนอย่างคลองปานามาได้

สำหรับแนวที่เหมาะจะขุด อ่าน บทวิเคราะห์ (หนึ่งในหลายๆ บท) แล้ว ท่าทางจะเลื่อนจากคอคอดกระ ลงมาแถวๆ ทะเลสาบสงขลาแทน

Kra Canal Alternatives

Update: (2005-02-11) ไปเจอรวมข่าวเก่าที่ 2bangkok.com ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะทำโครงการ Land Bridge (ถนนเชื่อมสองฝั่งทะเล) แทนแล้วแฮะ มิน่า ถึงได้มี บทความเปรียบเทียบ ระหว่าง Land Bridge กับขุดคลอง

08 กุมภาพันธ์ 2548

เลือกตั้ง '48

เลือกตั้งครั้งนี้ มีแต่สถิติใหม่ ตั้งแต่การที่รัฐบาลอยู่ครบเทอมเป็นครั้งแรก การเลือกตั้งที่คนไทยตื่นตัวไปใช้สิทธิ์มากเป็นประวัติการณ์ และที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ คือการที่พรรคการเมืองหนึ่ง ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

เลือกตั้งผ่านมาแล้ว นับคะแนนเสร็จแล้ว เขียนถึงคะแนนที่ตัวเองให้คงไม่เป็นไร

ตอนที่กาบัตรนั้น คิดว่าคงมีหลายคนที่เป็นเหมือนกัน คือเลือกด้วยความคิดแบบแบ่งขั้วไว้ในใจ เพราะมองเห็นล่วงหน้าอยู่แล้ว ว่าพรรคแกนนำรัฐบาลคงได้เป็นต่ออีกสมัยแน่นอน แต่ campaign 350 เสียง และการตอบรับของคนรอบข้างนั้น น่ากลัวเกินไป แม้จะทั้งชอบและไม่ชอบนโยบายของพรรคนี้ ก็ต้องเลือกสกัดกั้นการครอบงำรัฐสภา ด้วยการเลือกพรรคขั้วตรงข้าม

แน่นอนว่าพอตัดสินใจอย่างนี้ พรรคที่ไม่มีขั้วแน่ชัด ก็ต้องตัดออกจากการพิจารณาก่อน ไปมองสองพรรคที่เหลือ ซึ่งสองพรรคนี้ บัตรสองใบต้องคิดสองอย่างเลย เพราะพื้นที่ที่เลือกตั้ง ดูจะไม่ใช่เป้าหมายของพรรคที่จะกาปาร์ตีลิสต์ให้ เพราะส่งผู้สมัครที่ไม่มีลุ้นเท่าไร ถ้าคิดจะกาให้ ก็ดูจะไม่มีผลสกัดกั้นมากนัก สู้เอาคะแนนไปช่วยถมให้อีกเบอร์น่าจะมีลุ้นกว่า (ซึ่งก็เป็นคู่แข่งเก่าที่เคยลงสมัคร สอบจ. แข่งกับผู้สมัครจากพรรครัฐบาลในครั้งนี้นั่นเอง แต่ตอนนั้นเขาลงพรรคเดียวกันแข่งกันเอง --เป็นการเลือกตั้งที่น่าเบื่อมาก ไม่ว่าจะเลือกใครก็คือพรรคเดียวกันนั่นแหละ ไม่เหมือนครั้งนี้ที่อยู่กันคนละขั้วชัดเจน) ส่วนปาร์ตีลิสต์นั้น ไม่เกี่ยวกับพื้นที่อยู่แล้ว กาอย่างที่คิดไปรวมกับคนที่คิดคล้ายกันทั่วประเทศได้

สรุปว่า สำหรับตัวผม เลือกตั้งครั้งนี้ด้วยความรู้สึกว่ารู้ผลก่อนแล้ว แต่พยายามใช้สิทธิ์สกัดกั้นไม่ให้เสียสมดุลมากเกินไปเท่านั้นเอง และเป็นครั้งแรกที่รู้สึกถึงความแตกต่าง ของการเมืองระดับประเทศกับระดับท้องถิ่นอย่างชัดเจน จนแอบคาดหวังจะเห็นการรวมตัวของขั้วฝ่ายค้าน เพื่อที่จะได้ไม่มาตัดคะแนนกันเองจนแพ้พรรครัฐบาลหลุดลุ่ยอย่างที่ออกมา (ทั้งที่ถึงจะรวมกัน ก็เหมือนจะแพ้ขาดลอยอยู่แล้ว) เพราะคนที่จะเลือกพรรครัฐบาล ยังไงก็กาเบอร์เดียวกัน แต่คนที่จะเลือกขั้วตรงข้าม ต่างคนก็ต่างความคิด ทำให้คะแนนกระจาย

4 ปีข้างหน้า กับรัฐบาลที่ super-stable ขนาดนี้ ได้แต่หวังว่า รัฐบาลจะใช้อำนาจไปในทางที่ดี ฟังเสียงทักท้วง นำการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว อย่าให้เกิดการยึดติดกับตัวบุคคลจนกลายเป็นฟิลิปปินส์ยุคเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ก็แล้วกัน

02 กุมภาพันธ์ 2548

โลกมันกลม

เห็นรายการลิงก์ใน blog รวมก๊วน gentoo ของคุณพูลลาภเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เห็นชื่อพันตรีภูวดลแล้วคุ้นมาก ว่าจะเป็นเพื่อนเก่าสมัยมัธยมปลาย ก็เลยคลิกตามไปอ่านที่ blog แล้วก็คุยทักทายกันจนได้ความ ว่าเป็นเพื่อนเก่าจริงๆ ความจริง พ.ต. ภูวดล เคยติดต่อเข้ามาที่ TLWG เมื่อหลายปีมาแล้ว เสนอตัวเป็นอาสาสมัครด้วย แต่เข้าใจว่าติดภารกิจ เลยไม่ได้ติดต่อกันอีก คราวนี้ได้เจอกันอีก ดีใจจริงๆ ต้องขอบคุณคุณพูลลาภที่เป็นสื่อกลาง :-)

hacker emblem