Theppitak's blog

My personal blog.

28 สิงหาคม 2547

รถโฆษณา (3) - Micro-globalization

ความจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงแบบรวมศูนย์แล้วกระจายกลับ (ที่พูดถึงใน blog ก่อน) มันได้สิ่งที่ต่างจากเดิม ซึ่งอันที่จริง มันก็เป็นภาคย่อยๆ ของกระแสโลกาภิวัตน์ แต่อยู่ในขนาดที่เล็กลง

ในระดับโลก การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดทุนนิยม (หรือกลับกันหว่า?) ในช่วงแรก ทุนนิยมทำให้เกิดการแข่งขัน แต่พอทุนนิยมเติบโตจนอิ่มตัว ก็เกิด self-organization ในลักษณะที่ทุนไปกระจุกเป็นหย่อมๆ ใครทุนหนาอยู่รอด ใครทุนน้อยก็ถูกกลืนกิน จนสุดท้าย คนอยู่รอดก็โตจนเป็นธุรกิจข้ามชาติ บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องเริ่มคิดในแนวครอบจักรวาลมากขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ใครบางคนก็พูดถึงการปฏิวัติครั้งที่สาม คือการปฏิวัติ ICT ทำให้โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคใหม่ ที่สามารถกระจายการบริการไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องกระจุกรวมอยู่แต่ในตัวเมืองเหมือนยุคอุตสาหกรรม

ผมชอบเปรียบเทียบเรื่องนี้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ที่ก็ผ่านยุคทั้งสามนี้มาเหมือนกัน ยุคแรกๆ มีซอฟต์แวร์ท้องถิ่นเกิดขึ้นมากมาย แฮกเกอร์ผลิตงานออกมาเป็นงานอดิเรก วารสารคอมพิวเตอร์นำเสนอเรื่องเทคนิคในระดับลึกกันอย่างสนุกสนาน แต่ภาพรวมของทั้งโลกก็คือ แต่ละท้องถิ่นต่างคนต่างทำซอฟต์แวร์ป้อนท้องถิ่นตัวเอง เหมือนยุคเกษตรกรรม ต่อมาบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มครองตลาด การผลิตซอฟต์แวร์เริ่มรวมศูนย์เป็นจุดๆ แฮกเกอร์ที่เคยเขียนโปรแกรมอย่าง CU Writer, ราชวิถีเวิร์ด ฯลฯ หมดแรงแข่ง ต้องปรับเปลี่ยนเป็นช่วยพัฒนาแอพพลิเคชันบนนั้น โดยต้องรวมตัวกันเป็นบริษัท แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้มาก อาจจะเทียบเคียงได้กับยุคอุตสาหกรรม ที่ผู้คนในภูมิภาคที่เคยทำไร่ทำนาก็เริ่มสู้ไม่ไหว ต้องเลิกทำแล้วอพยพเข้าโรงงาน รอจนบริษัทเหล่านั้นเริ่มเกิดพุทธิปัญญาเกี่ยวกับคำว่า “internationalization” จึงเริ่มผนวกแนวคิดเรื่องท้องถิ่นเข้ากับอุตสาหกรรม แล้วเอามารับใช้กระแสโลกาภิวัตน์ นั่นแหละ ถึงเริ่มมีการกระจายความสนใจกลับมาที่ภูมิภาคต่างๆ ด้วยการศึกษาภาษาเขียนต่างๆ ในโลกอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ก็ด้วยมาตรฐานของศูนย์กลาง ไม่ใช่ของภูมิภาคอีกต่อไป

หรือถ้ามองสังคมระดับประเทศก็ไม่ต่างกันมาก การพัฒนาต่างๆ ได้ระดมคนจากส่วนภูมิภาคเข้าไปทำงานให้กับส่วนกลาง โดยความสำคัญของท้องถิ่นถูกลดลงไป จนถึงจุดเปลี่ยนล่าสุด ที่ส่วนกลางเริ่มมองมาที่ท้องถิ่นอีกครั้ง แต่ก็ด้วยการผสมผสานกับมาตรฐานกลางที่กำหนดขึ้นแล้ว ก็ไม่แน่ ว่าต่อไป รายการทีวีอาจจะมีการ “localize” ตามภูมิภาคในรูปแบบต่างๆ ซึ่งความจริงก็มีไปเยอะแล้ว อย่าง มาสเตอร์คีย์ 4 ภาค หรือ DVD 4 ภาค หรือเห็นชัดๆ เลยก็ “แฟนจ๋า” ของป้าเบิร์ด แต่อาจจะมีมากกว่านั้น เช่น มีการแบ่งช่วงรายการที่เป็นของท้องถิ่นโดยเฉพาะ เป็นช่วงที่ทั้ง 4 ภาคจะรับสัญญาณต่างกัน ซึ่งอาจจะทำได้โดยตั้งสถานีท้องถิ่นไปเลย (เหมือนของกรมประชาสัมพันธ์สมัยก่อน) แล้วส่วนกลางก็ผลิตรายการป้อนให้เป็นแพกเกจ สถานีท้องถิ่นก็เลือกรับสัญญาณมาถ่ายทอดโดยตรง สลับกับรายการที่จัดขึ้นเอง ฯลฯ ผมว่า การกระจายความเจริญกลับ มันน่าจะเป็นแบบนี้แหละ คือสนับสนุนให้ท้องถิ่นทำเอง เหมือนยุคก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นบริโภคนิยมอย่างทุกวันนี้

1 ความเห็น:

  • 29 สิงหาคม 2547 เวลา 09:59 , Blogger jane แถลง…

    คล้ายๆ กับการคือสู่เย้า เลย
    ไม่ว่าจะไปอยู่นะแห่งหนใด
    ลึกๆ สักวันก็ต้องกลับมาที่เดิมจนได้

    แต่คงไม่ใช่สูงสุดคืนสู่สามัญ เพราะไม่เห็นมันจะสูงตรงไหนเลย

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem