Theppitak's blog

My personal blog.

28 สิงหาคม 2547

รถโฆษณา (2)

รถโฆษณา คงเป็นช่องทางกระจายข่าวช่องทางเดียวที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด สำหรับต่างจังหวัด ถัดจากนั้นก็คงเป็นการแจกใบปลิว และติดป้ายตามเสาไฟฟ้า บางทีก็มีโฆษณาจากจังหวัดข้างเคียงมาด้วย

อีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือวิทยุ ผมเองไม่ค่อยได้ฟังวิทยุ แต่พบว่า ตามออฟฟิศต่างๆ มักจะเปิดวิทยุให้คนทำงานฟังไปด้วย แต่ถ้าเป็นที่ที่คนพลุกพล่าน หรือเป็นร้านอาหาร ก็จะเปิดทีวีแทน

แต่ทีวีที่เป็นสื่อที่เข้าถึงแทบทุกครัวเรือน กลับไม่สามารถรองรับการประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นได้เหมือนในกรุงเทพฯ เพราะทุกอย่างถูกควบคุมจากส่วนกลางเบ็ดเสร็จ เรียกได้ว่า คนท้องถิ่นรู้ข่าวคราวความเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ดีกว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นตัวเองเสียอีก

คิดถึงเงื่อนไขนี้ ก็เลยทำให้ปฏิเสธไม่ได้ ว่ารถโฆษณาคงต้องอยู่คู่บ้านคู่เมืองไปอีกนาน ไม่ว่ามันจะก่อมลภาวะทางเสียงปานใดก็ตาม ถ้าเป็นเมื่อก่อน จะมีทีวีท้องถิ่นของกรมประชาสัมพันธ์อยู่ ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้ผลมากๆ ผมรู้สึกว่า ผมรู้จักบ้านเมืองตัวเองดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทั้งยังมีรายการให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่าง “ภาษาไทยอีสานวันละคำ” หรือรายการข่าวภาคภาษาท้องถิ่นอย่าง “อีสานมื้อนี้” (อีสานวันนี้) ซึ่งทำให้ผมเกิดคำถามเรื่องศัพท์ภาษาถิ่นแปลกๆ ที่ใช้ในรายการไปถามผู้หลักผู้ใหญ่อยู่เนืองๆ หรือว่าจะเป็นเวลาที่มีการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ก็ยังมีโอกาสติดตามข่าวคราว ว่าผู้สมัครคนไหนไปทำอะไรมั่ง ใครมีนโยบายอย่างไร แต่อย่างทุกวันนี้ แม้แต่เลือกนายกเทศมนตรี นายก อบจ. จะหาข่าวยังยาก ต้องฟลุกเปิดเจอจากช่อง 11 เท่านั้น หรือไม่ ถ้าไม่มีโอกาสได้ใบปลิวโดยตรง ก็ไปรู้ชื่อผู้สมัครกันที่หน้าคูหาเลย ในขณะที่ข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงนี้ รู้กันละเอียดถี่ยิบทุกฝีก้าว ไม่มีช่องไหนไม่พูดถึง

อาจเรียกได้ว่า การรวมศูนย์ทีวีส่วนภูมิภาคทั้งหมด เข้าเป็นช่อง 11 ช่องเดียวของกรมประชาสัมพันธ์ ได้ทำให้ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ สลายตัวไป ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างอย่างแท้จริง สิ่งที่จะกลายเป็น “กระแส” เป็น “talk of the town” ของท้องถิ่นเอง ถูกกำหนดจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว บวกกับความเปราะบางของคนอีสาน ที่มักถูกกีดกันออกจากคนส่วนอื่นๆ ของประเทศในหลายๆ เรื่องอยู่แล้ว (โดยเฉพาะวัฒนธรรม ภาษาพูด) เมื่อทีวีที่เป็นศูนย์กลางข่าวสารและความเคลื่อนไหวสูญหายไป คนอีสานก็ยิ่งกระจัดพลัดพราย โดยแหล่งที่จะมุ่งสู่ ก็ไม่ใช่ที่ไหน นอกจากกรุงเทพฯ ถ้าไม่นับคนที่ข้ามช็อต ไปต่างประเทศไปเลย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผลลัพธ์ก็คือ ค่านิยมละทิ้งถิ่นฐาน ไปแสวงหา “ความสำเร็จ” ในที่อื่น ความเคลื่อนไหวที่คงอยู่ในท้องถิ่น ก็กลับไปอาศัยวิธีโบราณ เช่นการพูดคุยปากต่อปาก การแจกใบปลิว หรือใช้รถโฆษณา เทศกาลท้องถิ่นอย่างงานไหม งานตลาด หรือลอยกระทงออกพรรษา จากเดิมที่เป็นงานยิ่งใหญ่ ทุกวันนี้จัดแบบตามมีตามเกิด จำได้ว่ามีปีหนึ่งระหว่างอยู่กรุงเทพฯ เกิดคิดถึงบ้าน อยากกลับมาเที่ยวงานไหม พอมาเห็นสภาพคนโหรงเหรงแล้ว มันเศร้าๆ บอกไม่ถูก (เศร้าด้วย ที่ตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง)

มันเป็นผลของการรวมศูนย์ ทำให้ความเจริญในส่วนกลางถูกเติมเต็ม โดยสูบทรัพยากรจากส่วนภูมิภาค (คงปฏิเสธไม่ได้ ว่าถ้าเอาคนอีสานออกจากกรุงเทพฯ ให้หมด กรุงเทพฯ คงไม่เหลืออะไรมาก) ขณะเดียวกัน ก็ไปสร้างปัญหาความแออัด อาชญากรรมในเมืองหลวง

การกระจายความเจริญ ดูจะเป็นคำตอบที่ชัดเจน และรัฐก็ดูจะยึดเป็นนโยบายหลัก สำหรับผม อย่างน้อยก็ชอบแนวคิด OTOP ละ ถึงมันจะเน้นขายของ แต่มันก็ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นได้รับการเหลียวแลมากขึ้น แต่ในเรื่องอื่นๆ ของการกระจายความเจริญ ก็มีความแหลมคมให้ระมัดระวังอยู่เหมือนกัน เพราะต่อไปนี้ กลุ่มทุนต่างๆ จะหันมามองภาคอีสานมากขึ้น อย่างห้างใหญ่ๆ ที่มาลง ก็กระทบธุรกิจท้องถิ่นไม่น้อย (ล่าสุดคือตึกคอม รับ ICT City) สำหรับบางคน มันกลายเป็นว่า คนที่ตั้งหลักสู้ในท้องถิ่นในช่วงที่ผ่านมา จะต้องถูกเกลี่ยทับด้วยธุรกิจจากส่วนกลาง กลายเป็นว่า ส่วนกลางมีอิทธิพลต่อท้องถิ่นอย่างเบ็ดเสร็จกว่าเดิม ต่อไป จังหวัดหัวเมืองอย่างขอนแก่น ก็คงเป็นแค่สาขาหนึ่งของกรุงเทพฯ ไม่ใช่ขอนแก่นที่เป็นขอนแก่นเองอีกต่อไป

ผมไปช่วยโครงการอย่าง Laonux ผมไม่เคยกล่าวอ้างว่าไป “ทำ” ระบบภาษาลาวให้เขา และผมไม่พยายามจะทำอย่างนั้นด้วย ผมแค่ไป “ช่วยแนะ” ให้เขาทำเองได้ (และร่วมรับผิดชอบนิดๆ หน่อยๆ) เท่านั้น พอเขาเดินไปได้ ผมก็ถอยออกมาช่วยอยู่ห่างๆ ให้เขามีความภาคภูมิกับสิ่งที่เขาทำได้เอง ..ผมอยากให้ “การกระจายความเจริญ” สู่ท้องถิ่นผม เป็นแบบนั้นบ้างจัง อย่างน้อยก็ขอทีวีท้องถิ่นคืนมาบ้าง :-/

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem