กับคำว่า Hacker
และแล้วก็อดเขียนเรื่องนี้ไม่ได้ กับคำว่า “แฮ็กเกอร์” (hacker) ที่ใช้ในความหมายที่ไม่เหมือนกัน บังเอิญว่าพักนี้เจอคำนี้บ่อย ทั้งจากงานแปล บทความของ ESR ว่าด้วยวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ ทั้งจากกรณี LTN ถูกแจ้งว่า “ถูกแฮ็ก” หรือกรณีคมชัดลึกถูก “แฮ็กเกอร์มือดี” เจาะขายทอดตลาด แล้ววันนี้ รายการ IT Genius ก็ถามเรื่องเกี่ยวกับ security พอดีได้ฟังตอนท้ายๆ ได้ยินไม่ถนัดว่าเรียกนักเจาะระบบว่า “แฮ็กเกอร์” หรือ “แคร็กเกอร์” ดีที่ยังมีคำถามสุดท้าย ถามว่า ผู้ที่เจาะทำลายระบบของผู้อื่นโดยสร้างความเสียหาย เรียกว่าอะไร ระหว่าง cracker กับ hacker แล้วก็เฉลยว่า cracker หึๆ ไม่งั้นคงจะคาใจอยู่
ผมเจอปัญหาเรื่องคำนี้กับตัวเองเป็นครั้งแรก ก็ตอนที่ออกรายการวิทยุ อสมท. ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน เรื่องเกี่ยวกับลินุกซ์ โดยพิธีกรมอบให้ผมเล่าปูพื้น เกี่ยวกับประวัติของลินุกซ์และโอเพนซอร์ส ปรากฏว่า ผมใช้คำว่า “แฮ็กเกอร์” ด้วยความเคยชิน ว่าเป็นกลุ่มที่ให้กำเนิดแนวคิดโอเพนซอร์ส และซอฟต์แวร์เสรี ด้วยการแลกเปลี่ยนซอร์สกัน แล้วพัฒนาให้ดีขึ้น ปรากฏว่า พอสรุปลงเว็บ เขาบอกว่า ลินุกซ์เกิดมาจากนักเจาะทำลายระบบ ปลดล็อกซอฟต์แวร์ เล่นเอาเสียหายหลายแสน ภายในวันนั้น ผมเมลไปทักท้วงกับทางผู้จัด ว่าตีความหมายผมผิด ขอให้ช่วยแก้ไข แต่ก็หายเข้ากลีบเมฆ หลังจากครั้งนั้น จึงรู้สึกระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ ถ้าจะต้องพูดอะไรกับสื่อมวลชน เป็นคนกลัวสื่ออยู่แล้ว ยิ่งกลัวเข้าไปหนัก กลัวคุยกันไม่รู้เรื่อง ☹
ก็ทำให้กลับมาคิดอีก เออนะ.. ถ้าเราจะเผยแพร่แนวคิดโอเพนซอร์ส มันคงไม่พ้นที่จะต้องใช้บทความเหล่านี้ โดยที่ใช้คำว่า “แฮ็กเกอร์” ในความหมายดั้งเดิมที่ยกย่องให้เกียรติ ความรู้สึกอาจจะใกล้เคียงกับคำว่า “อัศวิน” ก็ได้ แต่พอสื่อมาอ่าน “อัศวิน” ก็กลายเป็น “โจรสลัด” ไปทันที แล้วงี้จะไปรอดเหรอว้า..
วันนี้แปลเชิงอรรถของ HtN (charset = TIS-620) เสร็จแล้ว ยาวใช่เล่น (เมื่อวานสมองเดี้ยง หลังจาก chat ดึกเกินไป อู้ไปหนึ่งวัน) เหลือบรรณานุกรมกับกิติกรรมประกาศ คิดว่าน่าจะเสร็จได้พรุ่งนี้
0 ความเห็น:
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก