Theppitak's blog

My personal blog.

25 ตุลาคม 2560

LibThai 0.1.27 & Word Suggestion Channel

LibThai 0.1.27 ออกแล้ว โดยห่างจาก รุ่นที่แล้ว ถึง 10 เดือน ก็สมควรแก่เวลาปล่อยข้อมูลพจนานุกรมที่แก้ไขสะสมไว้ในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงแก้ปัญหา reproducibility ที่ถูกจับโดยโครงการ Reproducible Builds ของ Debian

พูดถึงประเด็นหลังก่อน ปัญหา reproducibility ที่ตรวจพบก็คือ มีการ capture build path ลงใน document ที่สร้างด้วย doxygen ทำให้เนื้อหาที่ได้มีความแตกต่างเกิดขึ้นในกรณีที่ build path ต่างกัน ก็แก้ไขด้วยการ strip path prefix ออกเสีย

เกี่ยวกับเรื่องพจนานุกรมตัดคำ รุ่นนี้เพิ่มคำเข้ามา 175 รายการ ทำให้จำนวนคำเพิ่มจาก 24,294 คำในรุ่นที่แล้ว เป็น 24,469 คำในรุ่นนี้ โดยคำที่เพิ่ม แบ่งเป็น:

  • หมวดคำทั่วไป (เช่น เกษตราธิการ, ฉันทามติ, หายนภัย, อุบัติการณ์, นครา, เท่าไหร่, โซฟา, โซตัส, คอมเมิร์ซ, คีโม, ไตเติล/ไตเติ้ล, จากัวร์, ไซบีเรียน, พิตบูล, ฮัสกี้, เทอริยากิ, ยากิโซบะ, บิงซู, บูมเมอแรง ฯลฯ)
  • ชื่อเมือง (เช่น โกเบ, บาร์เซโลนา, เมียวดี ฯลฯ)
  • ชื่อเขตท้องถิ่น (เช่น ตะรุเตา, สุทธิสาร ฯลฯ)
  • ชื่อภูมิศาสตร์ (เช่น คอเคซัส, คิลิมันจาโร, ตังเกี๋ย ฯลฯ)
  • ชื่อในประวัติศาสตร์ (ได้แก่ โมกุล, ลาลูแบร์)
  • ชื่อชนชาติ/ภาษา (เช่น แซกซอน, บาสก์ ฯลฯ)
  • ชื่อคน/ชื่อเฉพาะ (เช่น โกโบริ, จูปิเตอร์, เจียไต๋, ญาญ่า, เมลาเนีย, โมโนไทป์, ไอเฟล ฯลฯ)
  • ศัพท์ไอที (เช่น คิวบิต, อิมเมจ, อีโมจิ, อูเบอร์, แฮชแท็ก ฯลฯ)
  • ศัพท์วิทยาศาสตร์ (เช่น ไซแนปส์, แทนซาไนต์/แทนซาไนท์, เมตาโบลิซึม/เมตาบอลิซึม ฯลฯ)
  • หมวดคำที่มักสะกดต่างจากพจนานุกรม (เช่น ลิฟท์, สันตปาปา ฯลฯ)

คำเหล่านี้ก็ได้มาจากข่าวสารและบทความต่าง ๆ เท่าที่ผมอ่านและทดสอบพบ จะเห็นว่ามีคำใหม่ ๆ (ที่หลายคำก็ไม่น่าจะใหม่) เพิ่มมาในทุก ๆ รุ่น อันที่จริงก็อยากจะสร้างช่องทางสำหรับให้ผู้ใช้แนะนำคำใหม่มานานแล้ว และไหน ๆ ก็มี โครงการที่ GitHub แล้ว ก็เลยเปิด Issue #2 ไว้รับคำแนะนำเสียเลย และกะว่าจะเปิด issue นี้ค้างไว้รับคำแนะนำไปตลอดโดยไม่ปิด หากคุณมีคำที่จะแนะนำก็ขอเชิญคอมเมนต์ได้ครับ หรือหากมีไอเดียสำหรับการสร้างช่องทางแบบอื่นก็ยินดีรับคำเสนอแนะครับ

ในส่วนของ Debian upload นอกเหนือจากการปรับรุ่นของต้นน้ำแล้ว ก็ได้เพิ่ม test suite สำหรับ autopkgtest เพื่อรองรับ CI (Continuous Integration) Test ของ Debian โดยในการอัปโหลดแพกเกจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น libdatrie ก็จะเพิ่มการรองรับนี้ต่อไปในอนาคตเช่นกัน

ป้ายกำกับ:

20 ตุลาคม 2560

Fonts-SIPA-Arundina 0.2.2

Fonts-SIPA-Arundina 0.2.2 ออกแล้ว รุ่นนี้ปรับปรุงความสามารถของ LaTeX package โดยดึงมาจาก Fonts-TLWG 0.6.4 สองเรื่อง คือ

  • ตัวเลือก sans เพื่อกำหนดให้ใช้ฟอนต์ sans-serif เป็นฟอนต์ปริยายของเอกสาร
  • ตัวเลือก scale=value เพื่อกำหนดอัตราย่อ-ขยายของตัวอักษร

นอกจากนี้ ยังมีรายการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเกี่ยวกับ CTAN คือผมพยายามจะเปลี่ยนชื่อแพกเกจจาก fonts-sipa-arundina ให้เป็น fonts-arundina เพื่อความกระชับในการเรียก โดยได้ทำไปแล้วสองส่วน คือ ชื่อโครงการที่ GitHub และในชื่อแพกเกจ LaTeX ซึ่งผู้ใช้สามารถเรียกใช้ด้วยคำสั่ง \usepackage{fonts-arundina} ได้

ส่วนที่ทำเพิ่มในรุ่นนี้ก็คือ การเปลี่ยนชื่อไดเรกทอรีที่ CTAN จาก /fonts/thai/fonts-sipa-arundina ให้เป็น /fonts/thai/fonts-arundina เฉย ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อแพกเกจจริง รวมทั้งเปลี่ยนชื่อ source directory ใน CTAN ZIP file ด้วย

ส่วนที่ยังเหลือ คือ ชื่อ Debian package และ ชื่อ FTP directory ที่ LTN ซึ่งทั้งสองส่วนยังเกี่ยวพันกันอยู่ และการเปลี่ยนชื่อแพกเกจใน Debian จะมีรายละเอียดให้ทำพอสมควร เช่น การรอคิว NEW, การทำ package transition, การ clean config file เก่า ฯลฯ จึงยังคงชะลอไว้ก่อน จนกว่าจะมีเวลาเป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้

เนื่องจาก LaTeX package ของฟอนต์ Arundina ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ TeXLive เหมือนกับชุด fonts-tlwg และเสิร์ฟให้ผู้ใช้ Debian ผ่านแพกเกจ latex-fonts-sipa-arundina โดยตรง ผู้ใช้ LaTeX ผ่าน Debian unstable จึงสามารถอัปเกรดและทดลองใช้ได้ทันที

ป้ายกำกับ: ,

06 ตุลาคม 2560

Fonts-TLWG 0.6.4

Fonts-TLWG 0.6.4 ออกแล้วเมื่อวันก่อน โดยรุ่นนี้เป็นผลงานของคุณ Abhabongse Janthong ที่ได้รายงานบั๊ก 1 รายการ และขอเพิ่มฟีเจอร์อีก 1 รายการ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ LaTeX ทั้งสองรายการ

Issue #1 เป็นปัญหาความไม่สมบูรณ์ของการกำหนดตระกูลฟอนต์เมื่อสลับภาษาใน Babel ทำให้คำสั่ง \normalfont ทำงานผิดพลาดเมื่อใช้ร่วมกับตัวเลือก sans ของแพกเกจ ซึ่งคุณ Abhabongse ก็ได้เสนอ Pull Request #2 เพื่อแก้ปัญหานี้

กล่าวคือ รุ่นนี้จะแก้ปัญหากรณีเช่นนี้:

\usepackage[sans]{fonts-tlwg}

...

ข้อความก่อน \normalfont ข้อความหลัง

ทั้ง ข้อความก่อน และ ข้อความหลัง ควรเป็นฟอนต์ sans-serif ทั้งคู่ ซึ่งรุ่นก่อนหน้านี้จะจัด ข้อความหลัง ด้วยฟอนต์ serif ซึ่งไม่ถูกต้อง

ส่วนอีกรายการหนึ่งคือ Pull Request #3 เพื่อเพิ่มตัวเลือก scale สำหรับกำหนดอัตราย่อ-ขยายของตัวอักษรตามต้องการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในกรณีที่ใช้ฟอนต์ชุดนี้ร่วมกับภาษาอื่นที่ฟอนต์ขนาดไม่สมส่วนกัน กล่าวคือ ในรุ่นนี้ ผู้ใช้จะสามารถใช้ตัวเลือกเช่นนี้เพื่อขยายขนาดตัวอักษรขึ้น 30% :

\usepackage[scale=1.3]{fonts-tlwg}

เนื่องจากในรุ่นนี้ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาส่วนอื่นอีกนอกจากการรองรับ LaTeX ผู้ใช้จะได้พบสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ก็จากแพกเกจ fonts-tlwg บน CTAN เท่านั้น ส่วน Debian upload นั้น ก็เป็นไปตามภาคบังคับเพื่ออัปเดตรุ่นและซอร์สโค้ด ผู้ใช้ Debian สามารถติดตามได้จากแพกเกจ texlive-lang-other ว่าจะดึง fonts-tlwg ตัวใหม่จาก CTAN มาเสิร์ฟเมื่อไร

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณคุณ Abhabongse Janthong สำหรับความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในรุ่นนี้ครับ

ป้ายกำกับ: ,

hacker emblem