Sarabun Plan
หลังจากที่ได้ ตั้งใจไว้ ว่าจะผลักดันฟอนต์สารบรรณเข้า Debian ให้ทัน Jessie แต่ก็ติดภารกิจอื่นจนตอนนี้เพิ่งมีเวลามานั่งคิดต่อ
ความต้องการ
พูดถึง requirement เกี่ยวกับฟอนต์สารบรรณ มีเงื่อนไขสองเรื่องหลักที่ต้องพิจารณา คือ
- License จะต้องเสรี ไม่เป็น postcardware license
- การใช้งานกับ LaTeX ซึ่งมีผู้ใช้สอบถามเข้ามาหลายครั้ง หลังจากที่หน่วยงานต่าง ๆ ถูกบังคับให้ต้องใช้ฟอนต์สารบรรณในหนังสือราชการต่างๆ ผู้ที่ใช้ LaTeX เตรียมเอกสารจึงต้องสามารถใช้ฟอนต์นี้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการดัดแปลงฟอนต์จำเป็นต้องผ่านเงื่อนไขความเสรีของ license มาก่อน
ทรัพยากรที่มีอยู่
ฟอนต์สารบรรณมีการออกรุ่นอย่างเป็นทางการจากต้นน้ำสองรุ่น และแตกแขนงไปอีกอย่างน้อยสองรุ่น กล่าวคือ:
- TH Sarabun PSK ซึ่งอยู่ในชุดเริ่มแรกของ ฟอนต์มาตรฐานราชการไทย ที่เผยแพร่โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับ SIPA ซึ่งเป็น postcardware
- TH Sarabun New ซึ่งปรับปรุงใหม่โดย SIPA ร่วมกับคุณศุภกิจ เฉลิมลาภ ผู้พัฒนา TH Sarabun PSK โดยออกรุ่นภายใต้สัญญาอนุญาต GPL 2 + Font Exception เผยแพร่อยู่ที่ f0nt.com
- SP Laksaman ซึ่งผมดัดแปลงจาก TH Sarabun PSK ในชุด ThaiFonts-Siampradesh ภายใต้การว่าจ้างของ SIPA ผ่านบริษัทเมตามีเดีย เทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนว่ายังใช้สัญญาอนุญาตแบบ postcardware ตาม TH Sarabun PSK การดัดแปลงที่สำคัญได้แก่การขยายขนาดตัวอักษรทั้งหมด โดยใช้อัตราส่วนที่ทำให้ตัวโรมันมีขนาดเท่า ๆ กับฟอนต์ตะวันตกที่ point size เดียวกัน และการแปลงเส้นโค้งจาก quadratic เป็น cubic พร้อมทำความสะอาดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ไขดัดแปลงต่อไป
- Sarabun ภายใต้โครงการ googlefontdirectory ซึ่งได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ให้เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาต OFL
อย่างไรก็ดี มีอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาประกอบ คือ การอนุญาตให้ relicense ฟอนต์ชุดมาตรฐานราชการไทย ซึ่งยังคงค้างอยู่ที่การรอการเผยแพร่ฟอนต์ภายใต้ license ใหม่จากต้นน้ำอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากดำเนินการเสร็จ เราจะได้ฟอนต์ที่เสรีอย่างแท้จริงถึง 10 หรือ 13 ฟอนต์ (ขึ้นอยู่กับ 3 ฟอนต์ที่ผู้สร้างยังประกาศถือครองลิขสิทธิ์อยู่ในตัวฟอนต์ ไม่ได้ยกให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและ SIPA) ซึ่งเรื่องได้ค้างอยู่ตรงนี้มาเกือบ 3 ปีแล้ว
ทางเลือกที่เป็นไปได้
จากความต้องการและสิ่งที่มีอยู่ พอจะคิดทางเลือกออกมาได้ดังนี้:
- ใช้ SP Laksaman เป็นฐาน ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายเสียก่อน พร้อม ๆ กับอีก 9 ฟอนต์ที่เหลือ ข้อดีคือฟอนต์พร้อมแก้ไขแล้ว และจะได้ฟอนต์โพสต์สคริปต์ที่ทำความสะอาดแล้วด้วย เหมาะกับการดัดแปลงใช้กับ LaTeX อย่างเต็มที่ แต่ข้อเสียคือยังขาดความชัดเจนในข้อกฎหมาย ซึ่งถ้าชัดเจนแล้วก็อาจจะได้ฟอนต์ Siampradesh ทั้ง 10 ฟอนต์มาพร้อมกันเลย
- ใช้ TH Sarabun New เป็นฐาน ไม่มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย โดยอาจมีการดัดแปลงเพื่อใช้กับ LaTeX หรือมิฉะนั้นก็พยายามใช้ฟอนต์ TrueType กับ LaTeX โดยตรง ทางเลือกนี้มีข้อดีคือฟอนต์จะเหมือนกับสารบรรณที่ใช้โดยราชการไทยทุกประการ ข้อเสียคืออาจไม่คล่องตัวนักในการแก้ไขดัดแปลงเพราะผูกติดกับชื่อฟอนต์อยู่
- ใช้ Google Sarabun เป็นฐาน ไม่มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายเช่นกัน ข้อดีข้อเสียคล้ายกับการใช้ TH Sarabun New สิ่งที่แตกต่างอาจเป็นผู้ดูแลต้นน้ำเท่านั้น และทางเลือกนี้ดูจะมีช่องทางติดตั้งโดยตรงใน Debian อยู่แล้ว (ผ่านแพกเกจ typecacher แต่ขณะนี้ยังไม่มี Sarabun ในรายชื่อ) แต่จะขาดการรองรับการใช้งานใน LaTeX (pdfTeX) เท่านั้น
- ใช้ Fonts-TLWG เป็นฐาน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ เนื่องจาก Fonts-TLWG จะรวบรวมฟอนต์เสรีมาปรับต่ออยู่แล้ว ทำไมจะเพิ่มฟอนต์อีกสักตัวไม่ได้? แนวทางนี้อาจหยิบฟอนต์สารบรรณหรือลักษมัณมาปรับตามมาตรฐานฟอนต์ TLWG โดยใช้ฟีเจอร์ OpenType (GPOS, GSUB) เต็มรูปแบบ ตัด hack ทิ้ง พร้อมปรับใช้กับ LaTeX (pdfTeX) ด้วยโครงสร้างที่พัฒนาใน TLWG มาอยู่แล้ว
หลังจากพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ทางเลือกที่เป็นอุดมคติสำหรับผมคือการพัฒนาต่อจากฟอนต์ชุด Siampradesh (ทางเลือกที่ 1) เพราะได้เตรียมการไว้พร้อมหมดแล้วทั้ง 10 ฟอนต์ แต่ความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมายทำให้ยังไม่กล้าลงมือทำ หนังสือราชการที่เวียนเป็นการภายในของ SIPA และกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเพียงพอหรือไม่ที่ผมจะ relicense ฟอนต์ Siampradesh เอง? ทางเลือกที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่อยากได้ที่สุดน่าจะเป็น 2 หรือ 3 คือผลักดันเข้าไปตรง ๆ โดยไม่ต้องไปแตะต้องอะไรมันเลย แต่การปรับใช้กับ LaTeX จะเป็นเรื่องไม่สะดวกเอามาก ๆ รวมถึงการปรับปรุงทางเทคนิคให้เข้ากับข้อกำหนดต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ดูแลต้นน้ำเป็นหลัก ซึ่งพิจารณาดูแล้ว แม้แต่ Google เองซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ typography มาดูแล ก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับรายละเอียดทางเทคนิคในตัวฟอนต์เลย
ดังนั้น ทางเลือกที่ 4 (ใช้ Fonts-TLWG เป็นฐาน) จึงเป็นทางเลือกที่ผมคิดว่าดีที่สุด และเมื่อได้ลองหยั่งเสียงสมาชิก KKLUG ในการประชุม โสเหล่ 57.04 ที่ผ่านมา ก็ดูจะเห็นตรงกัน จึงคิดว่าจะเริ่มดำเนินการตามนี้เร็ว ๆ นี้ครับ
ป้ายกำกับ: debian, typography