Yangon
หลังจาก blog ที่แล้ว ได้เล่าถึงการไปเยือนย่างกุ้งเพื่อบรรยายเกี่ยวกับ Debian ว่าจะเขียนต่อเรื่องพม่าโดยทั่วไป แต่ก็ติดเรื่อง แปล GNOME 3.2 ก่อน tarballs due ของ RC อยู่ เพิ่งจะมีเวลาเขียนต่อก็ตอนนี้เอง
พม่าโดยทั่วไป ถ้าไม่นับเรื่องภาษาแล้ว ก็ถือได้ว่ามีอะไรคล้ายกับไทยพอสมควร
ผู้คน
ผู้ชายชาวพม่าส่วนใหญ่ยังคงนุ่งโสร่งกันเป็นธรรมดา แม้ในโอกาสที่เป็นทางการ สิ่งที่เป็นสมัยใหม่คงเป็นเสื้อเชิ้ต แต่ยังไม่พบการผูกเนคไทร่วมกับการนุ่งโสร่งแต่อย่างใด แต่ก็มีผู้ชายบางส่วนที่นุ่งกางเกงตามแบบตะวันตกบ้างเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นคนสมัยใหม่
แต่เมื่อผ่านสวนสาธารณะ คนที่ออกวิ่งจ๊อกกิงทุกคนนุ่งกางเกงกีฬานะครับ ไม่มีใครนุ่งโสร่งวิ่ง ;-)
ส่วนผู้หญิง จะนุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า เป็นภาพที่คล้ายกับที่ลาว แต่ต่างกันที่ลวดลายของซิ่นที่ดูแล้วรู้ทันทีว่าแบบไหนพม่าแบบไหนลาว ผู้หญิงบางคนนุ่งซิ่นที่ถักทอลวดลายสวยงามมาก ดูจะบ่งบอกฐานะของบุคคล
และเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสาวพม่าคือการไว้ผมยาวโดยผูกรวบเป็นหางม้า ความยาวของผมเป็นที่สะดุดตามาก บางคนยาวถึงสะโพก แต่ที่ยาวที่สุดที่ผมเห็นนั้น ยาวถึงครึ่งขาท่อนบนทีเดียว
แต่ถ้าเป็นหญิงสูงอายุ จะเกล้าผมเป็นมวยแล้วปักปิ่น
และที่สะดุดตาอีกอย่าง คือการประแป้งชนิดหนึ่งที่แก้มของผู้หญิงทุกนาง โดยจะเห็นแป้งตั้งแต่เช้าจรดเย็น ลักษณะคล้ายการประดินสอพองของไทย แต่แป้งจะสีออกเขียวอ่อน จากความรู้ที่ได้จากชาวพม่า เป็นแป้งที่ทำจากหัวของพืชชนิดหนึ่ง
ชาวพม่ายังคงเคี้ยวหมากกันโดยทั่วไป เดินไปตามท้องถนนจะเห็นรอยน้ำหมากบนทางเท้าอยู่ทั่วไป และจะได้กลิ่นน้ำหมากจาง ๆ อยู่ตลอด ชวนให้นึกถึงบรรยากาศชนบทไทยสมัยก่อนที่ผมเคยได้สัมผัสตอนเด็ก
บ้านเมือง
ย่านที่ผมพักในย่างกุ้งนั้น อยู่ใกล้ใจกลางเมืองซึ่งเป็นเมืองเก่าตั้งแต่ยุคอาณานิคม ถนนถูกซอยเป็นตารางถี่ยิบ บ้านเรือนเป็นตึกแถวอายุมากแล้ว ไม่ค่อยจะมีไฟถนน กลางคืนอาศัยไฟจากบ้านเรือนเป็นหลัก แต่ในส่วนที่ติดถนนใหญ่จะมีร้านรวงขายของชำ มือถือ หรือ accessory ของไอทีอยู่หนาแน่น
ศาสนสถานของหลากหลายศาสนาก็มีแทรกอยู่ทั่วไป มีมัสยิดมุสลิม ศาลเจ้าแบบพุทธ หิ้งบูชาที่โคนต้นไม้แบบฮินดู โรงพยาบาลฟรีสำหรับผู้อนาถาของมุสลิม ส่วนโบสถ์คริสต์ที่เห็นจะไปตั้งบนถนนใหญ่
บนถนน ที่พม่าจะขับรถเลนขวา แต่น่าแปลกใจว่ารถเกือบทั้งหมดมีที่นั่งคนขับอยู่ทางขวา เวลานั่งไปในรถแล้วยิ่งเพิ่มความหวาดเสียวเป็นสองเท่า จากเดิมที่เราไม่คุ้นเลนขวาอยู่แล้ว ยังเห็นคนขับอยู่ด้านชิดริมถนน บางครั้งเวลาจะเลี้ยวแอบเห็นคนขับต้องชะโงกหน้าดูรถจากทางแยกก่อนเลี้ยว และเวลาจะขึ้นรถต้องไปเปิดประตูทางฝั่งกลางถนน
รถยนต์ส่วนใหญ่ที่พม่ามีสภาพเก่ามาก เข้าไปนั่งจะได้กลิ่นอับของรถเก่าแทบทุกคัน แท็กซี่บางคันไม่มีที่ไขกระจก เวลาฝนตกคนขับจะหยิบมือหมุนอันหนึ่งมาสวมเพื่อหมุน แล้วเวียนต่อให้ผู้โดยสารไขทีละประตูจนครบ ฟังแล้วอาจจะแปลกใจเล็กน้อย เพราะปกติแท็กซี่ที่เมืองไทยไม่ค่อยมีการเปิดปิดกระจก ก็เพราะแท็กซี่เมืองไทยติดแอร์ แต่แท็กซี่พม่าไม่มีแอร์ อยู่ย่างกุ้งมาอาทิตย์หนึ่ง เพิ่งจะเห็นแท็กซี่ติดแอร์แค่คันเดียวเท่านั้น ขับรถไปพอคนขับเกิดอยากจะคายหมาก ก็ต้องรอจังหวะติดไฟแดง เปิดประตูออกไปบ้วนลงพื้นถนน บ้วนทางหน้าต่างไม่ได้เพราะปิดกระจกอยู่
อ้อ แต่เห็นอย่างนี้ ไฟจราจรที่พม่าเป็น LED มีการนับถอยหลังทุกสี่แยกนะครับ และเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ผมเคยไปเยือน ขณะนั้นสี่แยกในเมืองไทยยังไม่มีที่ไหนมีเลย
เมื่อเข้าสู่ถนนเล็ก จะพบสามล้อถีบให้บริการ ลักษณะไม่เหมือนสามล้อถีบบ้านเรา คือคนขับจะอยู่ทางซ้าย ที่นั่งผู้โดยสารจะพ่วงอยู่ทางขวา (นี่สิถึงจะถูกหลัก) โดยเป็นที่นั่งเล็ก ๆ แคบ ๆ สองที่หันไปด้านหน้ากับด้านหลัง เอาพนักชนกัน ก็จะนั่งได้สองคนแบบห้อยเท้า ไม่มีประทุนบังแดดบังฝน ถ้าอยากมีร่มก็กางร่มถือเอาเอง
อาหารการกิน
อาหารของพม่านับว่าคุ้นลิ้นคนไทยพอสมควร โดยมีอาหารคล้ายไทย บางจานคล้ายที่อีสาน เช่น แกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง นอกจากนี้ก็มีอาหารสไตล์จีนและอินเดียบ้าง ร้านอาหารที่มีให้เห็นทั่วไปจะเป็นอาหารไทย (ข้าวผัด ผัดกะเพรา ผัดคะน้า ต้มยำกุ้ง ฯลฯ) อาหารไทใหญ่ (ก๋วยเตี๋ยวฉาน) แล้วก็อาหารมุสลิม (ข้าวหมกไก่) มีร้านอาหารจีนที่ขึ้นชื่อคือ Golden Duck (เป็ดย่าง อาหารโต๊ะจีน)
รสชาติอาหาร มีอาหารรสจัดบ้าง แต่เท่าที่ได้ชิมมายังไม่มีจานไหนเผ็ดเกินลิ้นผม (ผมเป็นคนกินเผ็ดได้น้อยมากตามมาตรฐานคนไทย) อาจจะยังไม่เจอของจริงก็เป็นได้ ที่ร้านอาหารพม่า จะเสิร์ฟซุปให้ซดคล่องคอฟรี น้ำดื่มฟรี และถ้าครบเครื่องจริง ๆ จะมีน้ำตาลปึก (ภาษาพม่าเรียก ชากรี
) เป็นชิ้น ๆ ให้กินฟรีหลังอาหารด้วย
ของหวาน ที่ได้ชิมสองอย่างรสชาติคล้ายของไทยมาก อย่างแรกคล้ายซ่าหริ่ม แต่จะมีเครื่องเป็นขนุนและไอศกรีมหนึ่งก้อนด้วย ใส่กะทิน้ำเชื่อม เสิร์ฟมาในแก้วทรงสูง ผมจำชื่อเรียกไม่ได้เสียแล้ว ส่วนอย่างที่สอง เรียกว่า "มอนต์เลซอง" (Montlasoung - မုန့်လေသင်း) รสชาตินึกถึงปลากริมไข่เต่าที่ไม่มีไข่เต่าเลย แล้วเติมมะพร้าวขูดลงไปลอยปนอยู่กับชิ้นปลากริมยาว ๆ รสชาติคล้ายกันมาก
ขนมที่พม่าหลายชิ้นที่ได้ชิม จะหนักหวานแต่ไม่หวานจัด หลายอย่างมีกลิ่นนมข้น ไม่ทราบเหมือนกันว่าใส่นมข้นตรง ๆ เลย หรือเป็นส่วนผสมที่คล้ายนมข้น แล้วก็จะมีรสหวานแบบน้ำตาลปึกปนอยู่ด้วยเสมอ ๆ อ้อ.. ที่พม่ามีขนมครกขายตามข้างทาง เหมือนขนมครกทรงเครื่องของไทยมาก ๆ
และที่พม่า ขนมเช้าที่คนไทยเรียกติดปากแบบผิดเพี้ยนว่า ปาท่องโก๋
นั้น ที่พม่าเรียกว่า E Kya Kway
(အီကြာကွေး - อีจาเกฺว) หรือตามภาษาแต้จิ๋วว่า อิ่วจาก้วย
(油炸粿) นั่นเอง
อีกคำที่มีประโยชน์เวลาไปเห็นเมนูอาหาร คือ Kailan หมายถึงผักคะน้า
ภาษา
ภาษาพม่าอยู่ในตระกูลจีน-ทิเบต ซึ่งไม่มีความใกล้เคียงกับไทยเลย แต่ก็มีคำหลายคำที่อาจจะฟังกันรู้เรื่อง โดยเฉพาะคำบาลี-สันสกฤต แต่ต้องทำความเข้าใจเรื่องวิธีออกเสียงสักหน่อย
เสียงที่แปลกที่สุดคือเสียง ร หรือ r ภาษาพม่าจะออกเป็น ย ยกเว้นในคำยืมจากภาษาอื่นจึงจะออกเสียงเป็น ร ดังนั้น ชื่อเมือง Rangoon จึงออกเสียงว่า ย่างกุ้ง
ไม่ใช่ ร่างกุ้ง
ตรงนี้ คุยกับ น้องชาย ซึ่งชอบค้นคว้าเรื่องภาษาเหมือนกันก็ได้ข้อสังเกตว่า เสียง ร น่าจะเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับภูมิภาคนี้ เพราะภาษาลาวแท้ก็ไม่มีเสียง ร แต่จะออกเสียงเป็น ฮ เช่น เรือน
(ເຮືອນ) ออกเสียงเป็น เฮือน
จนกระทั่งมีการยืมคำจากภาษาต่างประเทศ จึงได้มีอักษร ร ระคัง
(ຣ ຣະຄັງ) ขึ้นมาแทนเสียง ร หรือถ้าไปดูภาษาจีนก็ไม่มีเสียง ร เช่นกัน ไม่ว่าจะจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง หรือกระทั่งจีนกลาง เสียง r ในพินอินก็จะออกเสียงเป็น ย เหมือนพม่า (ที่มีบางตำราออกเสียงเป็น ร ห่อลิ้นนั้น น่าจะเป็นเสียงเพี้ยนมากกว่า) จะมีก็แต่ภาษาเขมรเท่านั้น ที่รัวลิ้นเสียง ร ชัดถ้อยชัดคำ เมื่อภาษาไทยกลางรับภาษาเขมรเข้ามาปนกับภาษาไทยดั้งเดิม จึงได้เกิดการรัวลิ้นของเสียง ร ตามเขมร แต่ถ้าเป็นภาษาไทยถิ่นอื่นโดยทั่วไป จะไม่มีเสียง ร รัวลิ้นนี้
เสียงถัดมาที่เจอบ่อย คือ กฺร (ကြ) หรือ กฺย (ကျ) ซึ่งจะ romanize เป็น ky ทั้งคู่ แต่ออกเสียงเป็น จ เช่น ชื่อ Aung San Suu Kyi (အောင်ဆန်းစုကြည် - อองฉันจุกฺรี) จะออกเสียงเป็น อองชันสุจี (ฉ ออกเสียงเป็น sh, จ ออกเสียงเป็น ซ) ตรงนี้น่าจะเป็นหลักการเดียวกับอักษรควบไม่แท้ ทฺร = ซ ที่เรารับมาจากภาษาเขมร
เสียงถัดมาคือเสียง ส (သ) พม่าจะออกเป็น th กัดลิ้นแบบในคำว่า three ในภาษาอังกฤษ และจะ romanize เป็น th เช่น ชื่อในภาษาบาลี สุระ
พม่าจะเขียนเป็น Thura ออกเสียงว่า ธุ่ยะ
อักษรพม่า มาจากอักษรมอญซึ่งเป็นต้นแบบของอักษรธรรมล้านนาและธรรมอีสานเช่นกัน ดังนั้นจึงพอจะเห็นเค้าโครงของตัวอักษรที่คล้ายกันได้ แต่เนื่องจากภาษาพม่าเป็นคนละตระกูลกับภาษาตระกูลไท จึงมีหน่วยเสียงที่แตกต่างกัน และไม่สามารถอ่านสระพม่าได้ง่าย ๆ ด้วยการเทียบกับอักขรวิธีไทยแม้จะแกะอักษรออก แต่ถ้าเป็นการเขียนภาษาบาลี-สันสกฤตล่ะก็ น่าจะพออ่านได้
ไอทีทั่วไป
ที่พม่า การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตค่อนข้างทุลักทุเล ปัญหาที่พบ เช่น:
- ไฟตกบ่อย แม้แต่ในโรงแรมชั้นนำ บ้านเรือนทั่วไปจะมีไดนาโมสำหรับปั่นไฟเวลาไฟดับเสมอ วันหนึ่ง ๆ ดับวันละหลายครั้ง ถ้าเป็นสำนักงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ล่ะก็ UPS ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้เลย
- อินเทอร์เน็ตไม่ได้มีทั่วไป จะมีเฉพาะในร้านอินเทอร์เน็ตหรือตามสำนักงานเท่านั้น และแม้จะมี hotspot ในบางที่ แต่การเข้าใช้จะซับซ้อนมาก ต้องผ่านพร็อกซีแล้วไปเจอ captive portal อีกชั้น หลังจากต่อเน็ตได้แล้ว ผมแทบไม่กล้าปิดเครื่องเลย
- มี ISP เพียงสองเจ้า ของรัฐเจ้าหนึ่ง และ subsidise จากรัฐอีกเจ้าหนึ่ง สรุปแล้วก็เสมือนมีเจ้าเดียวนั่นเอง
- แบนด์วิดท์สูงสุดคือ 2 Mbps แต่โดยปกติจะช้ากว่านี้
- โดยปกติ พอร์ตที่จะเปิดให้ใช้มีเพียง http และ https นอกนั้นบล็อคหมด ทำให้ไม่สามารถใช้ ssh ในการ commit กับ VCS ได้เลย นับว่าโหดพอ ๆ กับ สวทช. บ้านเราทีเดียว!
- แม้เมื่อไปตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่ศูนย์ข้อมูล ก็สามารถขอให้เปิด ssh ได้แค่ในประเทศเท่านั้น กล่าวคือ ไม่สามารถ remote เข้าไปดูแลเครื่องจากต่างประเทศได้เลย ต้องให้คนในประเทศทำล้วน ๆ และคนในประเทศก็ ssh ออกนอกประเทศไม่ได้ด้วย
- อินเทอร์เน็ตมีการ filter อย่างเข้มงวด เว็บหนังสือพิมพ์ต่างประเทศจะถูกบล็อคหมด รวมถึงหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทยอย่าง Bangkok Post หรือ Nation ด้วย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ารักของพม่าก็คือ มีเต้าเสียบไฟที่เกือบจะเป็น universal อยู่ทั่วไป เพราะมาตรฐานเต้าเสียบของพม่าจะใช้ปลั๊กสามขาอันเบ้อเริ่มแบบอังกฤษ แต่เนื่องจากมีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านหลายแหล่ง ทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ จึงจำเป็นต้องทำเต้าเสียบให้รองรับปลั๊กแบบต่าง ๆ จึงสามารถพบเต้าเสียบที่เกือบจะ universal ได้ตามผนังทั่วไป
ที่พม่า โทรศัพท์แอนดรอยด์ที่แพร่หลายที่สุด คือ Huawei เจ้าภาพใจดีให้ผมยืมใช้สำหรับติดต่อระหว่างที่อยู่พม่า ใช้การได้ดีทีเดียว อย่างน้อย แอนดรอยด์ก็รุ่นใหม่กว่า HTC ของผมเยอะ ^_^'
เก็บภาพที่ย่างกุ้งมานิดหน่อยครับ เชิญชมได้
สุดท้าย ต้องขอขอบคุณคุณหง่วยตุน (Ngwe Tun) เจ้าภาพผู้แสนอารี ที่คอยดูแลผมอย่างดีระหว่างอยู่ที่พม่า รวมทั้งคอยตอบข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับพม่าให้กับผมอย่างไม่รู้เบื่อ