Theppitak's blog

My personal blog.

15 มิถุนายน 2554

The Case of Sarabun IT9

เป็นเรื่อง.. เมื่อมติ ครม. สองอย่าง คือให้ใช้ฟอนต์สารบรรณและเลขไทยในเอกสารราชการ ได้ผสมกันทำให้เกิดกรณี ฟอนต์ Sarabun IT9 ที่ดัดแปลงฟอนต์สารบรรณในชุด 13 ฟอนต์โพสต์การ์ดแวร์ของ DIP-SIPA ให้ป้อนเลขไทยด้วยแป้นตัวเลข (numpad) ได้ แต่เป็นวิธีที่ไม่ถูกหลักการ คือไปเปลี่ยนรูปร่างของตัวเลขอารบิกให้เป็นเลขไทย ทำให้ข้อมูลที่เก็บลงในแฟ้มแตกต่างจากสิ่งที่แสดงบนหน้าจอ

เรื่องนี้ต้องแยกพูดเป็นสองประเด็น คือประเด็นเรื่องกฎหมาย กับประเด็นเรื่องเทคนิค

ประเด็นเรื่องกฎหมายนั้น ข้อมูลที่ผมได้รับจากการพูดคุยกับเพื่อนใน Facebook ก็คือ ผู้ดัดแปลงฟอนต์ Sarabun IT9 ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดัดแปลง (กรมทรัพย์สินทางปัญญาอนุญาต แต่ SIPA ไม่อนุญาต) จึงได้ลบฟอนต์ออกจากเว็บดาวน์โหลด แต่นั่นก็สายไปแล้ว เพราะฟอนต์ได้เผยแพร่ออกไปในเน็ตเรียบร้อยแล้ว

นี่ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เงื่อนไขข้อ (2) ในสัญญาอนุญาตของฟอนต์โพสต์การ์ดแวร์ที่ให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนแก้นั้น ได้ทำให้ตัวฟอนต์ไม่ใช่ซอฟต์แวร์เสรีหรือโอเพนซอร์สตามที่กล่าวอ้างจริง เพราะต้องผ่านการอนุญาตเสียก่อนจึงจะแก้ไขได้ ไม่ต่างอะไรกับซอฟต์แวร์ proprietary เลย

ส่วนประเด็นทางเทคนิคนั้น นักคอมพิวเตอร์ทั่วไปย่อมเข้าใจได้ไม่ยากว่าวิธีการนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะการเก็บข้อมูลไม่ได้มีความประสงค์จะให้คนอ่านเพียงอย่างเดียว แต่มีการประมวลผลโดยโปรแกรมด้วย เช่น การสืบค้นข้อมูล การคำนวณตัวเลข การแปลงค่าตัวเลข การตัดบรรทัด ฯลฯ การที่ข้อมูลที่เก็บไม่ตรงกับสิ่งที่แสดงผล โดยเฉพาะเมื่อมีข้อมูลสองชุดที่ต่างกันแต่แสดงผลเหมือนกัน จึงทำให้เกิดความสับสนภายในกระบวนการทำงาน แม้เปลือกนอกจะให้ผลลัพธ์ที่ดูถูกต้องในตอนแรก แต่จะเจอปัญหาต่อไปในระยะยาว ถ้าเทียบกับการทำงานของคนก็อาจจะเรียกว่าผักชีโรยหน้าได้

ผมพอเข้าใจแนวคิดของ SIPA ได้ ที่ไม่ยอมอนุญาตให้ดัดแปลงแบบนี้ น่าจะเป็นเหตุผลทางเทคนิคเป็นหลัก แต่ในทางกฎหมายแล้ว นี่กลับเป็นการแสดงให้เห็นจริงว่าฟอนต์ชุดนี้ไม่ได้ "ส่งเสริมการร่วมมือในการสร้างสรรค์ฟอนต์ในวงกว้าง" อย่างที่โปรยไว้ที่ต้นสัญญาอนุญาต

ปัญหาก็คือ ถ้า SIPA ตอบอนุญาต ก็จะเป็นการรับรองความถูกต้องทางเทคนิคของฟอนต์ที่ดัดแปลง ซึ่ง SIPA คงยอมไม่ได้ แต่ถามว่าเอาเข้าจริง SIPA จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ดัดแปลงโดยไม่ขออนุญาตผู้นี้หรือไม่? ผมไม่สามารถตอบแทนได้ ทราบแต่ว่า แค่มีการตอบไม่อนุญาตไปครั้งเดียวก็ได้ทำลายเจตนารมณ์ของโครงการไปแล้วส่วนหนึ่ง ถ้ายังดำเนินการฟ้องร้องต่ออีก คงไม่มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์เสรีที่ไหนอยากช่วยปรับปรุงฟอนต์ชุดนี้อีกเป็นแน่ ลำพังไม่ต้องมีการปฏิเสธให้เห็น เขาก็ยังลังเลกันอยู่แล้ว

นี่เป็นปัญหาอีกอย่างของเงื่อนไขข้อ (2) ของสัญญาอนุญาต คือกลายเป็นว่า DIP และ SIPA จะต้องร่วมรับผิดชอบกับความถูกต้องทางเทคนิคของผู้ดัดแปลงด้วย ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็ไม่สามารถปล่อยให้ทำได้ แม้จะเปลี่ยนชื่อหลบแล้วก็ตาม แต่ถ้าไม่มีเงื่อนไขข้อนี้ แล้วปล่อยให้มันเป็นซอฟต์แวร์เสรีตามที่ควรจะเป็น DIP และ SIPA ก็ไม่ต้องมารับภาระที่เสี่ยงต่อการทำลายบรรยากาศความเปิดกว้างตรงนี้ แต่สามารถใช้วิธีรณรงค์ชี้แจงผู้ใช้ (อย่างที่ท้ายที่สุดก็ต้องมาทำอยู่ดีแบบตอนนี้) แทนได้

ปัจจุบันมีผู้ใช้หลายคนบ่นว่าฟอนต์สารบรรณเส้นบางเกินไป อยากให้ผู้จัดทำฟอนต์ปรับแก้ ก็น่าสนใจว่าฟอนต์ที่ประกาศเจตนารมณ์ว่าเปิดกว้างต่อการร่วมกันพัฒนา กลับไม่มีใครกล้าแตะต้อง ผมจึงยังยืนยัน ว่าสัญญาอนุญาตของฟอนต์โพสต์การ์ดแวร์ของ DIP และ SIPA ควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้เป็นซอฟต์แวร์เสรีตามที่กล่าวอ้างอย่างแท้จริง

ส่วนประเด็นทางเทคนิคของฟอนต์ Sarabun IT9 ที่ได้ระบาดไปทั่วแล้วนั้น ขอสนับสนุนการรณรงค์ให้เลิกใช้เช่นกันครับ รวมถึง ฟอนต์ของไมโครซอฟท์ที่ผู้พัฒนาคนเดียวกันได้ลักลอบดัดแปลง ด้วย

สำหรับทางแก้ หากต้องการป้อนภาษาไทยด้วยแป้นตัวเลข ก็ควรแก้ที่ input method โดยดัดแปลงผังแป้นพิมพ์เล็กน้อย ซึ่งผมจะได้เขียนถึงในโอกาสต่อไป

ป้ายกำกับ: ,

5 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem