Theppitak's blog

My personal blog.

04 สิงหาคม 2554

DebConf11 Last Days

เขียน blog เกี่ยวกับ DebConf 11 มาได้ ๔ ตอน (ตอนที่ ๐, ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๒, ตอนที่ ๓) ก็มีอันต้องหยุดเขียน เพราะต้องง่วนแก้ปัญหา debianclub.org หนึ่ง (ซึ่งเป็น SSH session ที่ทรมานมาก ด้วยระยะทางที่ไกล) และพยายามเข้า hacklab ทำงานอีกหนึ่ง ก็ขอมาสรุปทีเดียวละกัน

เกี่ยวกับบอสเนีย

  • บอสเนียผ่านศึกสงครามมาหลายครั้ง ถูกยึดครองโดยจักรวรรดิโรมัน, จักรวรรดิออตโตมาน, จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ถูกโครเอเชียและชาวเซิร์บถล่มในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และยังมีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดอีกด้วย
  • ผลของสงคราม ทำให้เมือง Banja Luka มีประชากรผู้หญิงมากเป็น ๗ เท่าของชาย เพราะผู้ชายต้องไปรบและตายในสนามรบเสียเยอะ
  • สมัยโรมัน โรมันยึดครอง Banja Luka โดยไม่ได้บริหารอะไรเลย เพราะชัยภูมิเป็นหุบเขา เข้าถึงลำบาก มีเพียงการตัดถนนเลียบแม่น้ำที่เป็นพรมแดนธรรมชาติกับโครเอเชียเท่านั้น
  • เมื่อคริสตศาสนาเข้าสู่ยุโรป พื้นที่ยุโรปตะวันออกนับถือนิกายออร์โทดอกซ์เป็นหลัก ในขณะที่ทางยุโรปตะวันตกจะนับถือนิกายแคทอลิก แต่บอสเนียมีนิกายของตนเองต่างหาก นิกายนี้เชื่อว่าพระเยซูคือมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ไม่ได้เป็นบุตรพระเจ้า และจะมีนักบวชอาวุโสคอยสืบทอดคำสอนของพระเยซู เป็นหลักของบ้านเมือง ส่วนกษัตริย์นั้น เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางขั้วอำนาจต่าง ๆ บางครั้งต้องประกาศพระองค์เป็นแคทอลิกบ้าง ออร์โทดอกซ์บ้าง แล้วแต่รัชสมัย แม้ที่จริงแล้วจะนับถือนิกายของบอสเนียเอง
  • การถูกจักรวรรดิออตโตมานซึ่งเป็นชาวเติร์กยึดครอง ทำให้ประชาชนถูกบังคับให้เข้ารีตเป็นมุสลิมมากมาย และมีการสร้างมัสยิด เกิดชุมชนมุสลิมกระจายเป็นแห่ง ๆ ปะปนกับคริสต์ทั้งแคทอลิกและออร์โทดอกซ์
  • อักษรหลัก ๆ ที่ใช้มีสองชนิด คืออักษรละติน (จากรากฐานด้านแคทอลิก) และอักษรซีริลลิก (จากรากฐานด้านออร์โทดอกซ์) และยังมีบ้างที่ใช้อักษรกรีกด้วย ส่วนภาษาพูดก็เป็นภาษาเซิร์บ
  • Banja Luka เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของบอสเนีย เป็นเมืองหลักของเขตการปกครองที่เรียกว่า Republika Srpska ซึ่งแยกเป็นคนละส่วนกับส่วนที่เหลือของประเทศ มีธงชาติแยกต่างหากเป็นของตนเอง แต่เมืองหลวงยังถือว่าอยู่ที่ Sarajevo ที่เป็นเมืองหลวงของทั้งประเทศ
  • ที่ Sarajevo มีสะพานแห่งหนึ่งชื่อ Latin Bridge เป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์โลก คือเป็นจุดที่ Archduke Franz Ferdinand รัชทายาทแห่งออสเตรียถูกลอบปลงพระชนม์ และเป็นชนวนไปสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ในเวลาต่อมา
  • สภาพบ้านเมืองของบอสเนีย ถือว่ามีการพัฒนาพอประมาณ แต่ไม่มากเท่าประเทศในยุโรปตะวันตก ก็คงเป็นมาตรฐานของยุโรปตะวันออกทั่วไป ยังมีถนนปุปะ ทางลูกรังให้เห็นประปราย แต่ที่น่าสังเกตมากคือมีการปลูกข้าวโพดกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ในไร่ แม้กระทั่งในบริเวณบ้านก็จะมีแปลงข้าวโพดให้เห็นในบ้านทั่วไป หรืออย่างน้อยก็ปลูกเป็นแนวกั้นอาณาเขต แล้วจึงมีการปลูกไม้ดอกไม้ผลอย่างอื่นแซมเหมือนบ้านทั่วไป

เนื้อหา DebConf

ถัดจาก blog ก่อน ๆ ก็มีเนื้อหาที่น่าสนใจที่ผมได้เข้าฟังดังนี้:

  • AppRecommender เป็นโครงการสร้างระบบแนะนำซอฟต์แวร์โดยผู้ใช้ด้วยกันเอง (ในลักษณะ ผู้ใช้ที่โหลดโปรแกรมนี้ มักจะโหลดโปรแกรมนั้นด้วย) โดยได้สร้างเว็บ survey เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และสร้าง เว็บทดสอบการแนะนำซอฟต์แวร์
  • AltosUI เป็นการเล่าประสบการณ์ของ Bdale Garbee และ Keith Packard เกี่ยวกับการทำ UI สำหรับติดตามและควบคุมการปล่อยจรวด โดยทั้งสองเป็นนักพัฒนาที่คร่ำหวอดด้านซอฟต์แวร์ระบบ แต่ไม่มีประสบการณ์เรื่องซอฟต์แวร์ UI สักเท่าไร แต่ก็ได้ทดลองทำ โดยเริ่มจากใช้ภาษาซีและ GTK+ ซึ่งปรากฏว่าพบปัญหามากมาย เช่น เขียนยากกว่าที่คิด, ระบบ GObject ที่ไม่ใช่การรองรับในระดับ syntax และจะพบ warning เกี่ยวกับ type error เมื่อ run-time เท่านั้น, ต้องอาศัยความรู้ในระดับโครงสร้างทั้งหมดเพียงเพื่อเขียนโปรแกรมง่าย ๆ ฯลฯ สุดท้าย เมื่อโครงการมีผู้สนใจมากจนต้องเปิดบริการเชิงพาณิชย์ และต้องรองรับผู้ใช้ Windows และ Mac ด้วย จึงเลือกใช้ภาษา Java แทน ซึ่งปรากฏว่าง่ายกว่ากันมาก ไม่มีปัญหาต่าง ๆ ที่ว่า ตัวโครงการอยู่ที่ gag.com/rockets
  • ระบบ Autobuilder ของ Debian ซึ่งใช้ build แพกเกจสำหรับสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ Debian รองรับโดยอัตโนมัติ แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ wanna-build เป็นระบบประสานงานการขอ build และจัดคิวผ่านฐานข้อมูล, buildd เป็น daemon สำหรับ build, และ sbuild เป็นระบบ chroot ที่ใช้ build (คล้าย pbuilder)
  • รายงานผลการปรับระบบใน debian-mentors เมื่อปลายปีที่แล้ว มีการปรับระบบใน debian-mentors เพื่อให้ RFS ต่าง ๆ ได้รับการตอบสนองดีขึ้น โดยกำหนดให้แต่ละ RFS ต้องได้รับการตอบสนองภายใน ๔ วัน มิฉะนั้นจะเริ่มมีการรายงาน เพื่อให้ DD ที่สนใจจะช่วยได้มองเห็นทันที นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้ sponsoree มีการรีวิวกันเองด้วย ซึ่งผลที่ได้คือเหลือ RFS ตกค้างน้อยลง แต่ก็มีบางเดือนที่ตัวเลขตกค้างเพิ่มขึ้นบ้าง นอกจากนี้ ก็ได้เริ่มพัฒนา expo.debian.net ขึ้นใช้แทน mentors.debian.net ซึ่งนอกจากหน้าตาที่สวยขึ้นแล้ว ยังอาจมีความสามารถอื่น ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการรีวิว เช่น การแตกแฟ้มบางแฟ้มที่สำคัญขึ้นมาแสดงบนเว็บ มีข้อเสนอแนะว่าอาจจะกระจายงานบางส่วนออกไปยัง mailing list ของทีมเฉพาะด้านด้วย (ซึ่งผมคิดว่าก็มีการทำเป็นปกติอยู่แล้ว)
  • FreedomBox เป็นโครงการสร้างกล่องอุปกรณ์เล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวเพื่อการใช้เครือข่ายแบบรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ โดยทำงานผ่าน mesh network มีการก่อตั้ง FreedomBox Foundation ใช้ DreamPlug เป็น reference implementation เริ่มแรก และใน DebConf 11 ก็พยายามแฮ็กกันเพื่อสร้าง user-space tools สำหรับสั่งงาน
  • Language Skill Exchange ไหน ๆ ก็มีคนหลายชาติมารวมกัน ก็เลยมีการเสนอทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านภาษา โดยมีภาษาอิตาลี, สเปน, ไทย, จีน (แมนดาริน, หมิ่นหนาน), อาหรับ, รัสเซีย, เซิร์บ, โครเอเชีย, บอสเนีย, เยอรมัน, ฝรั่งเศส ก็พอสรุปคร่าว ๆ ว่า มีภาษาไทย, จีน และอาหรับที่ไม่มีกริยาช่วย และภาษาส่วนใหญ่ใช้คำขยายต่อท้ายคำหลัก (ไม่ใช่ใช้ข้างหน้าแบบภาษาอังกฤษและจีน)
  • เสนอตัวเจ้าภาพ DebConf 13 ถัดจาก DebConf 12 ที่นิคารากัว ก็มีผู้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ DebConf 13 หลายประเทศ ได้แก่ เวียนนา/ออสเตรีย, ลัตเวีย, สวิตเซอร์แลนด์, อิสตันบูล, กรีซ, สหราชอาณาจักร, WestLafayette/US (เมืองที่ Ian Murdock อยู่ขณะที่ประกาศตั้งโครงการ Debian และในปีที่จัด DebConf 13 นั้น Debian จะมีอายุครบ ๒๐ ปีพอดี), เบอร์ลิน/เยอรมนี ปิดท้ายด้วยไอเดียขำ ๆ จาก H01ger ว่า DebConf 14 อาจจะจัดที่ Martinique ซึ่งเป็นเกาะของฝรั่งเศสในอเมริกาใต้ ซึ่งก็ถือว่ายังอยู่ใน EU คนยุโรปไม่ต้องขอวีซ่า, และ DebConf 18 อาจจะจัดบนเรือเลยดีไหม? โดยล่องเรือไปรับ DD ตามท่าต่าง ๆ แล้วก็ประชุมและแฮ็กกันบนเรือนั่นแหละ แต่ปัญหาหลักคืออินเทอร์เน็ต แต่กว่าจะถึงปีนั้น อาจจะมีเทคโนโลยีรองรับแล้วก็ได้! (ทุกคนชี้ไปที่ Bdale!)

บรรยากาศทั่วไปของ DebConf

  • ผมได้พบกับ DD หลายคนที่เคยติดต่อกันแบบออนไลน์มาก่อน เช่น Martin Würtele (maxx) ซึ่งเป็น AM (application manager) ที่สอบผมตอนสมัครเข้าเป็น DD, Martin Michlmayr (tmb) อดีต DPL ที่เคยมางาน AOSS ที่จีน (แต่ผมไม่ได้ไป) และสนใจกิจกรรมโอเพนซอร์สในไทย, Raphaël Hertzog ผู้สร้าง facebook page ของ Debian และดึงผมเข้าร่วมเป็น admin และยังได้พบกับคนอื่น ๆ ที่ยังไม่เคยติดต่อกันมาก่อนอีกหลายคน
  • ผมได้สัมผัสกับบรรยากาศของ gift culture ที่ทุกคนล้วนตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วม แม้แต่การดำเนินการประชุมยังมาจากอาสาสมัครผู้ฟังในห้องนั่นแหละ ไม่ต้องมีเจ้าภาพใด ๆ การอภิปรายแบบสร้างสรรค์ที่คึกคัก การรับอาสาทำงานอย่างเต็มใจ ซึ่งบรรยากาศระดับนี้ค่อนข้างหายากที่เมืองไทย จนผมเองก็รู้สึกไม่พร้อมที่จะมีส่วนร่วมเท่าไร ได้แต่ตั้งใจว่าต้องกลับไปเตรียมตัว ไปฝึกฝนให้มากกว่านี้
  • ได้พบว่าบางครั้งไม่ใช่แค่เราที่กลัวฝรั่ง ฝรั่งบางคนก็กลัวที่จะนั่งคุยกับคนเอเชียเหมือนกัน เพราะคนเอเชียมักมีบุคลิกขรึม ๆ เขาก็ไม่รู้จะเปิดปากพูดด้วยเรื่องอะไร หรือชวนคุยแล้วเขาจะต้องรับภาระพูดเป็นต่อยหอยฝ่ายเดียวหรือเปล่า บางครั้งจึงต้องมีการ break the ice ด้วยการเป็นฝ่ายชวนเขาคุยเสียหน่อย ซึ่งถ้าคิดประเด็นแรกได้แล้ว ก็จะสามารถสนทนาลื่นไหลต่อไปได้
  • ได้พบว่าข่าวการเมืองไทยค่อนข้างฉาวโฉ่ คนทั่วโลกเขารู้รายละเอียดพอสมควรว่าเหลือง-แดงคิดอะไร ทำอะไร เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นพูดคุยบนโต๊ะอาหารได้เลย (ซึ่งผมเองไม่ยอมเป็นฝ่ายเปิดประเด็นแน่)
  • OpenStreetMap ที่บอสเนียข้อมูลค่อนข้างหนาแน่น แค่พื้นที่แคบ ๆ ข้อมูลก็เกินขนาดที่ API รองรับได้แล้ว

ป้ายกำกับ: , ,

hacker emblem