Theppitak's blog

My personal blog.

25 กรกฎาคม 2554

DebConf11 Day 1: Debian Day

DebConf11 วันแรก เป็นกิจกรรม Debian Day เน้นการเผยแพร่ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ Debian ให้คนทั่วไปฟัง

คนแรกที่ขึ้นพูดคือ Bdale Garbee ซึ่งนับเป็นนักพัฒนา Debian ที่ร่วมทำงานกับ Debian มายาวนานที่สุดในบรรดานักพัฒนาที่ยัง active อยู่ในปัจจุบัน (ดู บทสัมภาษณ์โดย Raphaël Hertzog) ปัจจุบันทำงานกับ HP งานอดิเรกของเขาคือสร้างจรวด!

Bdale เล่าประวัติศาสตร์ของ Debian ว่าเริ่มออกรุ่น 0.01 ในปี 1993 (เขาเข้าร่วมในปี 1994 ซึ่งเป็นปีที่ออกรุ่น 0.91) และรุ่น 0.93 ในปี 1995 ก็เริ่มใช้ dpkg จัดการแพกเกจ ถือเป็น distro แรกที่มีระบบจัดการแพกเกจแบบมี dependency

นอกจากนี้ Debian ยังเป็น distro แรกที่มีการพัฒนาแบบเปิดโดยอาศัยชุมชนล้วน ๆ โดยเป็น distro แรกที่ทำ Social Contract พร้อมกับร่าง Debian Free Software Guidelines (DFSG) เพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติ นอกเหนือจากหลักการ Software Freedom ของ Free Software Foundation ด้วย ซึ่งต่อมา เมื่อมีการบัญญัติคำว่า Open Source ในภายหลัง ก็ได้นำ DFSG นี้ไปใช้เป็น Open Source Definition แทบจะทั้งดุ้น มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำนิดหน่อยไม่ให้เจาะจง Debian เท่านั้น

Bug Tracking System (BTS) ของ Debian เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1994 เป็น mail-in/web-out

มีการร่าง Debian Policy เพื่อเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคของการทำงานร่วมกันในชุมชน

มี Debian Constitution (ธรรมนูญเดเบียน) เพื่อเป็นบทบัญญัติในการตัดสินกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ประกอบด้วยกระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นแบบแผน (formal decision making), การแบ่งอำนาจหน้าที่ (Developers, Technical Committee, Project Secretary, Project Leader, Delegates), และกำหนดกระบวนการลงคะแนน (voting process)

สิ่งที่นักพัฒนาอาวุโสท่านนี้บอกว่าได้เรียนรู้มีสองเรื่อง:

  • อย่าประเมินค่าของคุณค่าต่าง ๆ ต่ำเกินไป (Never underestimate value of values)
    • คุณค่า (values) ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ (vision), กุศโลบาย (strategy) และเป้าหมาย (objectives)
    • คุณค่าเป็นเหมือนสมอยึด (anchor) เมื่อเกิดความสับสนวุ่นวายขึ้น
  • สัญญาประชาคมภายใน (internal social contract) มีความสำคัญพอ ๆ กับสัญญาประชาคมภายนอก (external social contract) กล่าวคือ
    • Debian ยังขาด Code of Conduct (ระเบียบชุมชน)
    • ... (ฟังไม่ทัน) ...
    • มักเกิดเผด็จการของคนกลุ่มน้อยที่เสียงดัง (tyranny of vocal-minority) ขึ้นบ่อย ๆ

นอกจากนี้ยังได้พูดถึง facility ทางเทคนิคของ Debian เช่น ระบบแพกเกจ และระบบ auto-build ซึ่งทำให้ Debian รองรับเครื่องหลากหลายสถาปัตยกรรมได้โดยไม่เป็นภาระของนักพัฒนาเลย

คนต่อมาที่ขึ้นพูดคือ Enrico Zini ซึ่งเป็น DD ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวามาก ๆ คนหนึ่ง นำเสนอเรื่องในชุมชน Debian ว่ามีหลากหลายแค่ไหน เช่น:

  • มีคนจากหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่นักเรียน อาจารย์ พนักงานบริษัท เจ้าของกิจการ ไปจนถึงพนักงานดับเพลิง บางคนสร้างจรวดเป็นงานอดิเรก บางคนท่องอวกาศเป็นงานอดิเรก!
  • มีคนหลายวัย ตั้งแต่เด็กไปจนแก่ บางคนมีลูกแล้ว บางคนมีหลานแล้ว บางคนลูกก็ยังมาเป็น DD อีก บางคนพบรักกันใน DebConf บางคนจัดงานแต่งงานใน DebConf บางคนมาฮันนีมูนที่ DebConf!

ดังนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอะไรมากใน Debian ยกเว้นเรื่องสำคัญที่ผูกโยงทุกคนเข้าด้วยกัน ได้แก่ Social Contract, DFSG, DMUP

เวลามีปัญหาเกิดขึ้น Debian ก็มีแนวทางแก้ปัญหาของตัวเอง โดยผ่านโครงสร้างต่าง ๆ ใน Debian Contitution (ธรรมนูญเดเบียน) ซึ่ง Bdale ได้พูดไปแล้ว

ถัดจากนั้น Jesus Climent (ผมเพิ่งทราบว่าชื่อของเขาไม่ได้ออกเสียงว่า จีซัส แต่เป็น เฮซัส) ซึ่งเป็น DD ที่ทำงานที่ Google ก็มาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการใช้ Debian ใน Google ซึ่งระบบต่าง ๆ ใน Debian ทำให้ Google สามารถถอดเปลี่ยน เพิ่ม หรือซ่อมแซม storage ต่าง ๆ ที่มีมากมายมหาศาลได้แบบไม่ต้องปิดระบบ ไม่ต้องรีบูต ไม่ต้องใช้คนสั่ง ทุกอย่างอัตโนมัติหมด รวมถึงการอัปเกรดและทดสอบระบบด้วย

(Jesus เข้ามาคุยกับเราก่อนหน้านั้น เขาบอกว่าเคยมาเที่ยวเมืองไทย ชอบเมืองไทยมาก ถึงขนาดไปทำรอยสักภาษาไทยไว้เป็นที่ระลึก)

ปิดท้ายด้วย Gerfried Fuchs (rhonda) พูดถึงระบบ e-card ของออสเตรีย ซึ่งเป็น smartcard สำหรับจัดการระบบแบบเชื่อมรวมทุกอย่างในบัตรเดียว โดยเริ่มจากบริการสาธารณสุขก่อนในขั้นแรก และจะขยายไปยังระบบอื่น ๆ สำหรับบริการประชาชน รวมไปถึงการขยายไปใช้ทั่วทั้ง EU ในอนาคตด้วย บริษัท SVC ของเขาพัฒนาระบบโดยใช้ Debian เป็นฐาน

ป้ายกำกับ: , ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem