Theppitak's blog

My personal blog.

29 เมษายน 2550

ควันหลง ก เอ๋ย ก ไก่

มีความเห็นเพิ่มเติมจาก blog ก เอ๋ย ก ไก่ ที่ถ้าเขียนเป็นความเห็นต่อท้ายก็ชักจะยาวเกินไป เลยขอเขียนเป็น blog ใหม่ละกันครับ

ผมชอบความมีระเบียบของ alphabet บาลี-สันสกฤต (แต่ไม่รู้ไวยากรณ์อะไรมาก) เพราะดูมีหลักการในการเรียงลำดับอักษรกว่าภาษาอื่น ๆ และเมื่อได้รู้จักแล้ว ทำให้เข้าใจอักษรไทยได้ง่าย เหมือนได้ขึ้นมาดู bird-eye view หลังจากที่เรียนแบบ sequential access, random access มา

นอกจากนี้ ยังช่วยให้เปรียบเทียบกับภาษาเพื่อนบ้านที่มาจากรากเดียวกันได้ง่ายด้วย

หลังจากที่ได้รู้จักระบบการเขียนของภาษาต่าง ๆ แบบคร่าว ๆ แล้ว ขอยืนยันว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ง่ายมากแล้วครับ ใครที่คิดว่าภาษาไทยยากและซับซ้อน คุณจะเปลี่ยนความคิดทันทีที่ได้รู้จักภาษาเขมร ภาษาไทยเราเขียนพยัญชนะในบรรทัดเดียว ที่อยู่บน-ล่างก็มีแต่สระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายประกอบเท่านั้น แต่ภาษาเขมรเขาเขียนพยัญชนะใต้บรรทัดด้วยครับ โดยมีการลดรูปลงมา เรียกว่า "เชิง" เวลาอ่านจึงต้องแยกให้ดีว่าต้องออกเสียงพยัญชนะไหน ภาษาล้านนาก็มีลักษณะคล้ายกัน "เชิง" ที่ว่านี้ เข้ามามีอิทธิพลกับตัวเขียนไทยในสมัยหลัง และเหลือร่องรอยอยู่ในอักษรสองตัว คือ ฐ ฐาน และ ญ หญิง ในปัจจุบัน

ลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น ถือเป็นนวัตกรรมของภูมิภาคนี้ในขณะนั้นได้เลย และได้รับความนิยมกระจายไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย อักษรไทน้อยของลาวก็ได้รับอิทธิพลจากลายสือไทยเหมือนกัน เพราะเขียนง่ายกว่าอักษรธรรมที่เขาเคยใช้ จนตอนนี้ อักษรธรรมคงเหลืออยู่แต่ในคัมภีร์ทางศาสนาเท่านั้น

นวัตกรรมของพ่อขุนรามฯ ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ทำให้ภาษาไทย (รวมทั้งลาวที่ประยุกต์ใช้ลายสือไทย) กลายเป็นภาษาที่ทำในคอมพิวเตอร์ได้ง่ายที่สุดในบรรดาภาษาตระกูล Indic (เขาเรียกรวมกับภาษาอารบิกที่เขียนจากขวามาซ้าย และมีการเปลี่ยนรูปอักขระตามตำแหน่งที่อยู่ในพยางค์ รวมเรียกว่า "Complex Text Layout" (CTL))

แต่การที่ภาษาไทยที่ง่าย ถูกจัดกลุ่มให้อยู่ใน Complex Text Layout ทำให้เราถูกเหมารวมว่าต้องจัดการซับซ้อนเหมือนกับภาษาต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย เช่น ต้อง encode สระหลังอักษรนำเสมอ เช่น คำว่า "โดย" ก็ต้อง encode เป็น "ดโย" คำว่า "เขา" ก็ต้อง encode เป็น "ข{เา}" โดย "{เา}" เป็นอักขระใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อแทนสระเอา สระผสมอื่น ๆ เช่น สระเอือ สระเอีย ฯลฯ ก็ต้องกำหนดอักขระใหม่ให้ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการใช้ virama ซึ่งได้แก่ตัวพินทุในภาษาบาลี-สันสกฤต ในการ mark cluster ต่าง ๆ มีเครื่องหมายเปลี่ยนรูปพยัญชนะ ฯลฯ

เรื่องพวกนี้ คนไทยเข้าใจได้ยาก เพราะภาษาเราไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่อง conjunct หรือการเปลี่ยนรูปอักขระเมื่อมาผสมกัน ลายสือไทยของพ่อขุนรามฯ ได้แก้ปัญหาความซับซ้อนต่าง ๆ เหล่านี้ไปตั้งแต่ 700 กว่าปีมาแล้ว ภาษาไทยพร้อมสำหรับ computerization โดยไม่ต้องรอ OpenType technology มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

นอกจากนี้ พ่อขุนรามฯ ยังได้ทรงออกแบบภาษาไทยไว้ให้เขียนเว้นช่องไฟระหว่างคำด้วย (สังเกตจากศิลาจารึก ช่องไฟนี้แคบกว่าช่องไฟระหว่างประโยค) เรียกได้ว่า ถ้าสมัยนั้นมีคอมพิวเตอร์ ภาษาไทยน่าจะเป็นภาษาแรกในภูมิภาคนี้ที่ implement เสร็จก่อนใครได้เลยทีเดียว โดยแค่ทำฟอนต์ก็ใช้ลายสือไทยใน desktop ได้แล้ว ไม่ต้องไป hack pango ให้วุ่นวาย ช่องไฟระหว่างบรรทัดก็แคบกว่าปัจจุบันด้วย เพราะลายสือไทยเขียนสระทุกตัวในบรรทัดหมด มีเพียงวรรณยุกต์เท่านั้นที่เขียนด้านบน

ความซับซ้อนต่าง ๆ ของภาษาไทยที่เพิ่มมาในยุคหลัง เป็นผลมาจากอิทธิพลของภาษาเขมรที่เป็นภาษาครูภาษาหนึ่งของเรา พยัญชนะที่เคยเขียนได้ใน stroke เดียว ก็เริ่มมีหลาย stroke ในบางตัว เช่น ฐ ญ เพราะความนิยมเขียนเชิงของพยัญชนะ การย้ายสระไปเขียนบนและล่างบรรทัด การเขียนติดกันไม่เว้นช่องไฟ แต่โชคดีที่เรารับมาแค่นั้น ความง่ายของลายสือไทยที่ยังอยู่ ยังส่งผลให้ภาษาไทยสามารถใช้ได้ในคอมพิวเตอร์ก่อนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มใช้ได้มาตั้งแต่ยุคของ DOS โดยไม่ต้องรอเทคโนโลยี complex text layout

หลังจากเข้าใจอะไรมากขึ้น ผมเปลี่ยนมา บอก ชาวต่างชาติ ว่าภาษาไทยง่ายมาก ๆ ครับ ความเข้าใจผิดของเขาจากการโอดครวญของคนไทย จะทำให้ภาษาไทยต้องไปพบกับ solution ที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น คนไทยเองก็เช่นกัน ขอให้ภูมิใจเถอะครับ ว่าบรรพบุรุษของเรา ได้สร้างระบบการเขียนที่ง่ายที่สุดระบบหนึ่งสำหรับภาษาในตระกูลเดียวกันไว้ให้เราใช้

ป้ายกำกับ:

7 ความเห็น:

  • 29 เมษายน 2550 เวลา 11:46 , Blogger GMz แถลง…

    ผมสงสัยเรื่องการตัดคำครับ ทำไมมันถึงเป็นปัญหาตลอดเลย เพราะเราไม่เว้นช่องไฟหรือเปล่าถึงได้มีปัญหา ผมอยากรู้เทคนิคว่าปัจจุบันตัดคำกันยังไงครับ (อ่านข้างบนแล้วค่อยรู้สึกว่า ไทยฉลาดกว่าเขมร แต่อนาคตดูจะแย่กว่าเขมร เพราะเขมรกำลังจะมีน้ำมัน มีท่าเรือน้ำลึก เราจะสู้ยังไง รัฐบาลอ่อนแอแบบนี้)

     
  • 29 เมษายน 2550 เวลา 12:48 , Blogger Thep แถลง…

    กลายเป็นเรื่องการเมืองไปซะงั้น ^_^' ผมไม่ได้หมายความว่าใครฉลาดกว่าใครนะครับ แค่จะบอกว่าภาษาไทยไม่ได้ซับซ้อนมากอย่างที่คิดเท่านั้น

    เรื่องตัดคำ เป็นเพราะเราเขียนติดกันไม่เว้นวรรคน่ะแหละครับ ก็เลยต้องให้ซอฟต์แวร์ตัดคำด้วยพจนานุกรมได้ ถ้าย้อนกลับไปแบ่งคำด้วยช่องว่างแคบ ๆ เหมือนสมัยพ่อขุนรามฯ ก็คงจะหมดปัญหาไปเยอะ

     
  • 29 เมษายน 2550 เวลา 14:18 , Blogger NOI แถลง…

    คุณเทพหมายความว่าเรามีช่องว่างระหว่างคำ เหมือนกับที่คุณ ans ทำอยู่ใช่ไหมครับ และก็มีช่องว่างระหว่างประโยคด้วย เช่น

    คุณเทพ หมายความ ว่า เรา มี ช่อง ว่าง ระหว่าง คำ เหมือน กับ ที่ คุณ ans ทำ อยู่ ใช่ ไหม ครับ และ ก็ มี ช่อง ว่าง ระหว่าง ประโยค ด้วย

     
  • 29 เมษายน 2550 เวลา 14:19 , Blogger NOI แถลง…

    (ทำไมช่องว่างก่อนคำว่า และ มันหายไปเหลืออยู่แค่นั้นล่ะ อุตส่าห์เคาะตั้งหลายที)

     
  • 29 เมษายน 2550 เวลา 15:33 , Blogger Thep แถลง…

    ไม่เหมือนครับ เป็นช่องว่างแคบ ๆ ที่น่าจะเรียกว่า half-space หรือ quad-space ตอนที่อ่านศิลาจารึกครั้งแรก ผมแทบสังเกตไม่เห็น จนกระทั่งได้อ่านบทความของ อ.ประเสริฐ ณ นคร ท่านบอกว่ามี

    เป็นช่องว่างที่แคบจนไม่รู้สึกสะดุดในการอ่าน ไม่เหมือนการเว้นวรรคแบบภาษาอังกฤษครับ แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นคำแยกเป็นคำ ๆ อยู่

    ความจริง ถ้ามีแต่สังเกตยาก ก็อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีมังครับ แต่ประเด็นคือ เคยมีแนวคิดเรื่องช่องว่างระหว่างคำมาก่อนแล้ว

     
  • 30 เมษายน 2550 เวลา 11:14 , Blogger Taniya แถลง…

    อืม กลายเป็นว่าบรรพบุรุษทำไว้ดีแล้ว แต่ลูกหลานเอามาทำให้ป่วนซะ

     
  • 14 พฤศจิกายน 2550 เวลา 22:26 , Blogger Appsgoods แถลง…

    ทำไมไม่มีใครทำ font ลายสือไทยมาใช้กันครับ ภาษาล้านนายังมีเลย

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem