Opensource Mindset
ไปเจอวารสาร OpenSource2Day ฉบับที่ 13 บนแผงหนังสือ ลงปกสัมภาษณ์ ดร.ทวีศักดิ์ เกี่ยวกับโอเพนซอร์ส เลยซื้อมาเพื่ออ่านแนวคิดของท่านโดยเฉพาะ อ่านจบแล้วก็อ่านข่าวคราวทั่วไปในวงการโอเพนซอร์สเมืองไทยต่อไป จนกระทั่งไปสะดุดที่บทความเรื่อง การคิดแบบโอเพนซอร์ส (Open Source Thinking) ของ อ.ธวัชชัย เอี่ยมไพโรจน์ แห่ง ม.บูรพา
อาจารย์ได้เปรียบเทียบพฤติกรรมของนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มที่ไม่ค่อยลงแรงอะไรกับวิชาเรียน กับ mindset ของ "ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส" ว่าแตกต่างกันปานใด ซึ่งอาจารย์ได้สาธยาย mindset ดังกล่าวไว้ได้ชัดเจนครบถ้วน เลยขอยกมากล่าวถึงในที่นี้บางส่วน ตัวอย่างเช่น:
- ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส จะใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส แม้จะมีซอฟต์แวร์ที่ดีกว่าให้ใช้ เพราะเขาต้องการซอร์สโค้ด (อันที่จริง อาจจะพูดได้อีกอย่างว่า ต้องการเสรีภาพ สำหรับผม ผมใช้คำว่า "ใช้แล้วสบายใจ" เพราะการมีซอร์สโค้ดก็หมายความว่า ผมจะสามารถดัดแปลงซ่อมแซมอะไรเองได้ ซอฟต์แวร์เป็นของผมอย่างเต็มที่)
- ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส จะมีปฏิกิริยาเชิงรุกเมื่อพบปัญหา โดยจะพยายามค้นหาวิธีแก้จากอินเทอร์เน็ต อ่านเอกสาร ทดลองทำ หรือกระทั่งนั่งดีบั๊ก แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างนี้กับทุกเรื่อง จะทำเฉพาะในโปรแกรมที่สนใจ
- คนโอเพนซอร์สจะเข้าร่วมวงสนทนา เช่น mailing list เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนอื่น และทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างทักษะการแก้ปัญหา
- คนโอเพนซอร์ส จะทั้ง contribute และ donate ให้กับโครงการที่ชอบ แบ่งปันวิธีแก้ปัญหา รับฟังผู้ review ด้วยความขอบคุณ แล้วพยายามปรับแพตช์ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนสำเร็จ
- ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส จะมีความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) ยืนหยัด (tenacity) พยายาม (perseverance) พากเพียร (diligence) ปรารถนาอันแรงกล้า (passion) และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (compassion) โดยจะใช้สิ่งเหล่านี้พัฒนาศักยภาพของตนเองจนมีทักษะในตัว จนสามารถช่วยงาน ช่วยเหลือผู้อื่นได้
- ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส จะกระหายที่จะช่วยเหลือกลับคืนสู่ชุมชนโอเพนซอร์สในทุก ๆ จังหวะเวลาที่มีโอกาส โดยมีพื้นฐานจากจริยธรรม ไม่ใช่ความมั่งคั่ง ซึ่งสวนทางกับความคิดของนักธุรกิจ ในขณะที่ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สก็ถูกนักธุรกิจจำนวนมากใช้เพื่อความมั่งคั่งของตัว
- สังคมนักพัฒนาโอเพนซอร์ส เป็นสังคม meritocracy ใครจะมีฐานะอย่างไร ก็อยู่ที่ผลงานที่ทำ ไม่เกี่ยวกับความร่ำรวย หรืออายุ หรือสิ่งอื่น ๆ
- คนโอเพนซอร์สจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษไว้บ้าง เพราะเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในวงการโอเพนซอร์สสากล
- คนโอเพนซอร์สมีการเคารพเครดิตซึ่งกันและกันเมื่อมีการ copy งานกัน ไม่มีการขโมยผลงานผู้อื่น (plagiarism)
นี่สรุปมาคร่าว ๆ เท่านั้น รายละเอียดอ่านได้ในวารสารครับ อันที่จริง บทความนี้ อาจารย์จะเกริ่นถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะเปรียบเทียบ mindset นี้ซึ่งเกิดในบริบทสังคมตะวันตก กับ mindset พื้นฐานของสังคมไทย
เพิ่มเติม (2009-11-29): เกี่ยวกับการเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมไทยนั้น blog หนึ่งที่ผมเคยเขียนไว้ อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง
ป้ายกำกับ: FOSS
6 ความเห็น:
ณ 29 พฤศจิกายน 2552 เวลา 04:30 , Lancaster แถลง…
อ่านแล้วรู้สึกว่าผมยังห่างไกลมาก ทุกวันนี้ทำได้แค่พยายามไม่ละเมิดลิขสิทธิ software เฉยๆ ไม่ว่าจะเป็น freeware/opensource ก็ใช้ได้เหมือนกัน
ณ 29 พฤศจิกายน 2552 เวลา 12:40 , Unknown แถลง…
ที่กล่าวมาเป็นมุมของคนด้านเทคนิคหรือผู้พัฒนาควรจะเป็น ... ตามความคิดของอาจารย์
แต่อีกมุมหนึ่ง คนด้านเทคนิคหรือผู้พัฒนาเอง ก็ควรมองด้วยว่า ควรจะทำให้ "ผู้ใช้ทั่วไป" มาใช้ ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส มากขึ้นได้อย่างไร "เนื่องจากผู้ใช้ไม่มีมีความสามารถในเชิงเทคนิคได้แบบนั้น แต่เป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่มากทีเดียว ที่ต้องการ ซอฟต์แวร์ที่สามารถนำมาใช้งานช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาในกิจกรรมการทำงานปกติได้ ...
ณ 29 พฤศจิกายน 2552 เวลา 20:50 , Thep แถลง…
karaboon, การมองแยกระหว่างคนเทคนิคกับผู้ใช้ทั่วไปในเรื่องนี้ ออกจะเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ คนที่จะ contribute หรือ donate ไม่จำเป็นต้องเป้นคนเทคนิคเลย คนแปล คนทำเอกสารประกอบ คนที่มาร่วมพูดคุยในเว็บบอร์ด หรือคนหย่อนสตางค์ลงหมวกของนักพัฒนา ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคนิคเลยครับ
keyword ของเรื่องนี้คือคำว่า "ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส" ครับ ความเชื่อในที่นี้ เกิดจากการได้ศึกษาแนวคิด ปรัชญาต่าง ๆ จนเข้าใจที่มาที่ไปของโอเพนซอร์ส มองเห็นศักยภาพของหนทางนี้ และเข้าใจในเหตุผลของแต่ละก้าวย่างบนหนทางนี้ กลายเป็นความเชื่อมั่น มุ่งมั่น เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ
ความเชื่อมั่นนี้ เกิดได้กับคนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นคนเทคนิคหรือไม่ครับ และคนที่มีความเชื่อนี่แหละ ที่ช่วยกันผลักดันโอเพนซอร์สให้ก้าวหน้าต่อไป
การทำให้ "ผู้ใช้ทั่วไป" มาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ก็เป็นเรื่องต่างหากที่ต้องทำครับ แต่การถ่ายทอดปรัชญาโอเพนซอร์สสู่ "ผู้ใช้ทั่วไป" เหล่านั้นควบคู่กันไปด้วย ก็จะทำให้ได้สมาชิกใหม่ที่มีคุณภาพครับ
ณ 30 พฤศจิกายน 2552 เวลา 16:31 , Beamer User แถลง…
เห็นสังคมคนใช้ MATLAB ก็ทุ่มเท รายงานบัก ทำโปรแกรมเสริม ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่ต้องจ่ายเงินแพง ๆ กัน ผมว่ามันไม่เกี่ยวกับ open source มั้ง มันเกี่ยวกับชุมชนผลักดันชุมชนมากกว่า
การสอนก็เป็นการผลักดันชุมชนด้วย คนเราต่างกัน บางคนก็ต้องผลัก บางคนก็ไม่ต้องผลัก
ณ 28 ธันวาคม 2552 เวลา 22:36 , Unknown แถลง…
ชุมชนผลักดันชุมชนเพราะมีคนใช้งาน ไม่ได้หมายความว่ามันเสียตังค์ทุกคน หลายๆ ที่ในปัจจุบันก็ใช้ซอฟท์แวร์ที่ไม่เสียตังค์ (ถึงแม้ว่าควรจะต้องจ่าย) เมื่อมีซอฟท์แวร์ใ้ห้ใช้ ก็ต้องมีคนเข้าไปให้ข้อมูลกัน สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้มีสำหรับคนไทยคือ ต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วเราจะก้าวเดินไปอย่างมั่นใจได้
ณ 18 มกราคม 2553 เวลา 17:51 , Shogun แถลง…
อ่านแล้วเข้าใจยากคัฟ แต่ก็ขอบคุณนะคับ
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก