Romance of the Three (Software) Kingdoms
ตามที่มีประกาศโครงการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ปีที่ 2 ที่ stop.in.th พร้อม จดหมายแจ้ง ถึงหน่วยงานต่าง ๆ ก็คิดว่าใกล้เวลาที่จะได้เห็นการ debate เรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ตามที่ต่าง ๆ อีกครั้ง ทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ต แล้วก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพาดพิงถึง ซอฟต์แวร์เสรี และ โอเพนซอร์ส ด้วย
หลายคนคิดว่านี่เป็นหนึ่งในกลวิธีโปรโมทโอเพนซอร์สทางอ้อม ในขณะที่อีกหลายคนยังคงคิดว่าการพูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นเรื่องของคนมีกะตังค์ทั้งหมด แต่ถ้าพิจารณาหลักการเสียหน่อย ก็จะเห็นว่านี่เป็นลักษณะของสามก๊กเสียมากกว่า
ผู้ใช้ซอฟต์แวร์อาจแบ่งแบบหยาบ ๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม:
- ผู้ใช้ซอฟต์แวร์สงวนสิทธิ์แบบมีใบอนุญาต (Proprietary Licensed)
- ผู้ใช้ซอฟต์แวร์แบบไม่มีใบอนุญาต (Unlicensed)
- ผู้ใช้ซอฟต์แวร์เสรี/โอเพนซอร์ส (Free/Open Source Licensed)
แต่ละกลุ่มมีทัศนคติเกี่ยวกับซอฟต์แวร์เกาะเกี่ยวกันอยู่:
- สิ่งที่ทุกกลุ่มสนใจร่วมกัน คือการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อทำงานให้ลุล่วง
- สิ่งที่กลุ่ม Proprietary Licensed กับ Unlicensed สนใจร่วมกัน มักเป็นเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ยอดนิยมที่ "ใคร ๆ ก็ใช้กัน" ซึ่งโดยมากไม่ใช่ซอฟต์แวร์เสรี/โอเพนซอร์ส
- สิ่งที่กลุ่ม Proprietary Licensed กับกลุ่ม Free/Open Source Licensed สนใจร่วมกัน คือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ อาศัยกฎหมายลิขสิทธิ์ในการควบคุมการใช้งานซอฟต์แวร์ในลักษณะต่าง ๆ
- สิ่งที่กลุ่ม Unlicensed กับ Free/Open Source Licensed สนใจร่วมกัน คือเรื่องความประหยัด เนื่องจากซอฟต์แวร์เถื่อนมีราคาถูก แม้จะผิดกฎหมาย ในขณะที่ซอฟต์แวร์เสรี/โอเพนซอร์สโดยทั่วไปก็ราคาถูกเช่นกัน แต่ถูกกฎหมายด้วย
ในขณะเดียวกัน แต่ละกลุ่มก็มีความสนใจในส่วนที่ไม่ร่วมกับกลุ่มอื่นด้วย:
- กลุ่ม Proprietary Licensed จะสนใจในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มที่ ซอร์สโค้ดของซอฟต์แวร์ยังคงเป็นความลับสุดยอดที่ต้องเก็บรักษาไม่ให้รั่วไหล สิทธิ์ในการใช้งานของผู้ใช้ต้องถูกตีกรอบชัดเจนเพื่อไม่ให้ล่วงละเมิดผู้ผลิต ผู้ใช้จะต้องซื้อสิทธิ์ที่จะได้ใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง
- กลุ่ม Unlicensed จะสนใจในความสะดวกสบายในการจัดหาซอฟต์แวร์มาใช้ ความสบายกระเป๋า โดยไม่สนใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานัก แม้ในที่สุดจะต้องอยู่อย่างพลเมืองชั้นสองบ้าง เช่น ไม่สามารถ update ซอฟต์แวร์ได้ หรือต้องคอยหลบเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ แต่ทุกอย่างยังถือว่าอยู่ในจุดคุ้มเสี่ยง
- กลุ่ม Free/Open Source Licensed จะสนใจในเสรีภาพและความเปิดกว้างของซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์ที่จัดหามานั้น ผู้ใช้ควรมีสิทธิ์ที่จะใช้ แก้ไข แจกจ่ายต่อได้อย่างเสรี ผู้ผลิตควรเปิดรับการแก้ไขปรับปรุงต่าง ๆ ทำให้ซอฟต์แวร์กลายเป็นของชุมชน ไม่ใช่ของเอกชนรายใดรายหนึ่ง แต่เรื่องเสรีภาพนี้ คงไม่ได้อยู่ในความสนใจของทั้งกลุ่ม Proprietary Licensed และ Unlicensed
ว่ากันโดยหลักการแล้ว กลุ่ม FOSS ไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการของกลุ่ม Proprietary ในเรื่องการจำกัดสิทธิ์ของผู้ใช้ เช่น การตั้งกำแพงค่า license ก่อนใช้ แถมได้ license มาแล้ว ยังไม่สามารถซ่อมแซมอะไรเองได้ ดังนั้น หลักการที่อยู่เบื้องหลังการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับกลุ่ม Proprietary ครั้งนี้ จึงไม่ได้อยู่ในความเห็นชอบของกลุ่ม FOSS แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่ม FOSS ก็อาศัยกลไกของกฎหมายลิขสิทธิ์ในการย้อนรอยกลุ่ม Proprietary โดยใช้กฎหมายบังคับการใช้ซอฟต์แวร์ในลักษณะต่าง ๆ ที่ปกป้องสิทธิ์ของผู้ใช้ เช่น ห้ามปิดกั้นการเข้าถึงซอร์สโค้ดเมื่อผู้ใช้ร้องขอ ดังนั้น กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับกลุ่ม FOSS ในทางปฏิบัติ การป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ยังถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับกลุ่ม FOSS ในแง่ของการพิทักษ์กฎหมาย แต่ถ้าถามว่าควรไหมที่ซอฟต์แวร์ต้องแพงขนาดนี้ แล้วยังจำกัดสิทธิ์ผู้ใช้อีก กลุ่ม FOSS จะตอบว่าไม่ควร ซึ่งคงเป็นคำตอบเดียวกันกับกลุ่ม Unlicensed
แต่แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีการถกกันในเรื่องนี้ ก็จะมีประเด็นเรื่องความคุ้นเคยกับซอฟต์แวร์ยอดนิยมที่เป็น Proprietary เสมอ ๆ โดยทั้งกลุ่ม Proprietary Licensed และ Unlicensed จะร่วมมือกันถล่มกลุ่ม FOSS ในประเด็นนี้
ในขณะเดียวกัน ถ้าพูดถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อไร กลุ่ม Unlicensed ก็มักโดนถล่มจากทั้งกลุ่ม Proprietary Licensed และ FOSS เช่นกัน พร้อม ๆ กับมีความร่วมมือระหว่างกลุ่ม Unlicensed และกลุ่ม FOSS บ้างในการต่อสู้เรื่องราคากับกลุ่ม Proprietary Licensed
ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ใช้ซอฟต์แวร์จึงเป็นสามก๊กสามเส้า ฉะนี้
ต่อไปเป็นความเห็นของผมสำหรับการป้องปรามครั้งนี้:
- กลุ่ม FOSS คงไม่ร่วมสังฆกรรมกับกลุ่ม Proprietary ในการซ้ำเติมกลุ่ม Unlicensed ในครั้งนี้ (ความจริง ไม่ว่าครั้งไหน ๆ ก็ไม่ควรเข้าร่วม) แต่ควรเข้าช่วยเหลือเสนอทางเลือกที่คุ้มทุน
- กลุ่ม FOSS คงไม่หลงใหลได้ปลื้มกับการย้ายมาใช้ FOSS ของกลุ่ม Unlicensed บางส่วนนัก ด้วยสาเหตุ:
- ต้องเหนื่อยออกแรงซัพพอร์ต รวมทั้งรับมือกับเสียงต่อต้านจากผู้ใช้ในองค์กรที่อาจถูกบังคับให้เปลี่ยน โดยอาจถูกเหมารวมว่าเป็นพวกเดียวกับกลุ่ม Proprietary หรืออย่างน้อยก็ถูกมองว่ารอเสียบมานาน
- การปราบปรามอาจไม่ยั่งยืนอะไร การเปลี่ยนอาจเป็นแค่การเปลี่ยนเพื่อบังหน้าเท่านั้น พอเรื่องซาลงก็อาจกลับไปใช้ของเถื่อนกันใหม่
- แต่ไม่ว่าอย่างไร กลุ่ม FOSS ก็ควรทำงานให้เต็มที่ตามปกติ
ป้ายกำกับ: FOSS
4 ความเห็น:
ณ 25 ตุลาคม 2552 เวลา 12:11 , akedemo แถลง…
ตอนแรกอ่านชื่อหัวข้อคิดว่าคุณ thep จะเขียนถึง Flame wars ประเภท Windows vs Mac vs Linux ซะอีก แต่กลับเป็นว่าเดาผิดเลยแฮะ
คุณ thep ยังคงเขียนได้ดีเหมือนเดิมเลยครับ เห็นชัดเลยว่าทั้งสามฝ่าย (ก๊ก) มีจุดเหมือน-จุดต่างกันอย่างไร
ผมเห็นด้วยสุดๆ เลยครับว่า ผู้ใช้ทุกคนสนใจว่า "จะใช้ซอฟท์แวร์ทำงานได้หรือไม่" เป็นหลัก ส่วนรายละเอียดและหนทางนั้นเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ ช่วงแรกที่ผมเปลี่ยนคอมทุกเครื่องที่บ้านมาใช้ Opensource ก็โดนน้องโวยเหมือนกัน แต่ตอนนี้ไม่มีใครในบ้านสนแล้วว่าจะเป็นซอฟท์แวร์อะไร เพราะงานส่วนใหญ่ทำในซอฟ์แวร์ Opensource ได้หมด บางอย่างก็ทำได้ดีกว่าต้องไปซื้อโปรแกรมแพงๆ หรือ แอบขโมยใช้ด้วย
อีกเรื่องที่ผมเห็นด้วย คือ การแสดงออกของชุมชน FOSS ที่ไม่ควรไปซ้ำเติมกลุ่มผู้ใช้ที่เป็น Unlicensed ในช่วงนี้ที่มีการตรวจจับการละเมืดลิขสิทธิ์ (ผมรู้สึกสงสัยเหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นช่วงนี้ของทุกปี โดยเฉพาะสองปีหลังมานี้) ถ้าอยากให้คนหันมาเห็นคุณค่าของ FOSS ควรจะให้เขารู้ถึงข้อดี-ข้อเสียของการใช้ซอฟท์แวร์แต่ละประเภท ไม่ใช่สนับสนุนให้เขาเหล่านั้นหลบมาใช้เพียงเพราะหนีเทศกาลล่าจับของ BSA
ณ 25 ตุลาคม 2552 เวลา 12:34 , Unknown แถลง…
ขอบคุณครับ มีบทความดีๆ ให้อ่านอย่างนี้
ผมเป็นคนหนึ่งครับ ที่อยู่ตรงกลางเลย คือใช้หมด มั่วมาก
แต่จะหนักไปทางเอียงขวา (พวก Unlicensed) มากหน่อย
ตอนนี้ กำลังสนใจพวก Open Source ครับ เพิ่งจะเริ่มๆ ว่าจะลองใช้ openSUSE แทน Windows แล้วครับ
มีข้อสงสัยอยู่ 2 ข้อครับ คือ
1. พวก Software ในระบบ OpenSource ตัวไหนบ้างครับ ที่สามารถใช้ทดแทนกับระบบใน Windows ในทางด้านการออกแบบเว็บไซต์ และงานกราฟฟิค น่ะครับ มันใช้ได้จริงหรือเปล่า แล้วตัวไหนน่าสนใจบ้างครับ เพราะผมลองใช้ GIMP บน Windows อยู่เลย
และยังไม่ทราบตัวอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เช่นงานออกแบบ Vector
2. มีเว็บไซต์ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเริ่มต้นกับการเป็น OpenSource User รึเปล่าครับ เพราะบทความ และซอฟท์แวร์ ให้เลือกใช้เยอะมาก จนตาลาย (แค่จะเลือก OS มาใช้ ยังต้องลองตั้งหลายตัวเลยครับ)
ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ แบบนี้
สวัสดีครับ
ณ 28 ตุลาคม 2552 เวลา 16:04 , Thep แถลง…
แผนภาพใน blog ผมวาดเป็นแบบเวกเตอร์ด้วย inkscape แล้ว generate เป็นบิตแมปอีกทีครับ
งานออกแบบเว็บไซต์.. เดี๋ยวนี้ก็มี CMS สำเร็จรูปเยอะแยะนะครับ เช่นพวก drupal, joomla เอามาปรับแก้เอาได้
เครื่องมือทำเว็บ bluefish ก็โอเคนะครับ
เว็บแนะนำโอเพนซอร์ส ตอนนี้มีชุมชนเกิดขึ้นหลายที่เหมือนกัน เช่น
http://www.thaiopensource.org
http://www.opentle.org
http://ubuntuclub.com
http://debianclub.org
ลองติดตามข่าว อ่านบทความแถว ๆ นั้นดูนะครับ
ณ 9 พฤศจิกายน 2552 เวลา 15:21 , Blogger แถลง…
โปรแกรมทำเวบ
Amaya ก็ดีครับ - www.w3.org/Amaya
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก