Opensource Mindset
ไปเจอวารสาร OpenSource2Day ฉบับที่ 13 บนแผงหนังสือ ลงปกสัมภาษณ์ ดร.ทวีศักดิ์ เกี่ยวกับโอเพนซอร์ส เลยซื้อมาเพื่ออ่านแนวคิดของท่านโดยเฉพาะ อ่านจบแล้วก็อ่านข่าวคราวทั่วไปในวงการโอเพนซอร์สเมืองไทยต่อไป จนกระทั่งไปสะดุดที่บทความเรื่อง การคิดแบบโอเพนซอร์ส (Open Source Thinking) ของ อ.ธวัชชัย เอี่ยมไพโรจน์ แห่ง ม.บูรพา
อาจารย์ได้เปรียบเทียบพฤติกรรมของนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มที่ไม่ค่อยลงแรงอะไรกับวิชาเรียน กับ mindset ของ "ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส" ว่าแตกต่างกันปานใด ซึ่งอาจารย์ได้สาธยาย mindset ดังกล่าวไว้ได้ชัดเจนครบถ้วน เลยขอยกมากล่าวถึงในที่นี้บางส่วน ตัวอย่างเช่น:
- ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส จะใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส แม้จะมีซอฟต์แวร์ที่ดีกว่าให้ใช้ เพราะเขาต้องการซอร์สโค้ด (อันที่จริง อาจจะพูดได้อีกอย่างว่า ต้องการเสรีภาพ สำหรับผม ผมใช้คำว่า "ใช้แล้วสบายใจ" เพราะการมีซอร์สโค้ดก็หมายความว่า ผมจะสามารถดัดแปลงซ่อมแซมอะไรเองได้ ซอฟต์แวร์เป็นของผมอย่างเต็มที่)
- ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส จะมีปฏิกิริยาเชิงรุกเมื่อพบปัญหา โดยจะพยายามค้นหาวิธีแก้จากอินเทอร์เน็ต อ่านเอกสาร ทดลองทำ หรือกระทั่งนั่งดีบั๊ก แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างนี้กับทุกเรื่อง จะทำเฉพาะในโปรแกรมที่สนใจ
- คนโอเพนซอร์สจะเข้าร่วมวงสนทนา เช่น mailing list เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนอื่น และทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างทักษะการแก้ปัญหา
- คนโอเพนซอร์ส จะทั้ง contribute และ donate ให้กับโครงการที่ชอบ แบ่งปันวิธีแก้ปัญหา รับฟังผู้ review ด้วยความขอบคุณ แล้วพยายามปรับแพตช์ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนสำเร็จ
- ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส จะมีความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) ยืนหยัด (tenacity) พยายาม (perseverance) พากเพียร (diligence) ปรารถนาอันแรงกล้า (passion) และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (compassion) โดยจะใช้สิ่งเหล่านี้พัฒนาศักยภาพของตนเองจนมีทักษะในตัว จนสามารถช่วยงาน ช่วยเหลือผู้อื่นได้
- ผู้ที่มีความเชื่อในโอเพนซอร์ส จะกระหายที่จะช่วยเหลือกลับคืนสู่ชุมชนโอเพนซอร์สในทุก ๆ จังหวะเวลาที่มีโอกาส โดยมีพื้นฐานจากจริยธรรม ไม่ใช่ความมั่งคั่ง ซึ่งสวนทางกับความคิดของนักธุรกิจ ในขณะที่ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สก็ถูกนักธุรกิจจำนวนมากใช้เพื่อความมั่งคั่งของตัว
- สังคมนักพัฒนาโอเพนซอร์ส เป็นสังคม meritocracy ใครจะมีฐานะอย่างไร ก็อยู่ที่ผลงานที่ทำ ไม่เกี่ยวกับความร่ำรวย หรืออายุ หรือสิ่งอื่น ๆ
- คนโอเพนซอร์สจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษไว้บ้าง เพราะเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในวงการโอเพนซอร์สสากล
- คนโอเพนซอร์สมีการเคารพเครดิตซึ่งกันและกันเมื่อมีการ copy งานกัน ไม่มีการขโมยผลงานผู้อื่น (plagiarism)
นี่สรุปมาคร่าว ๆ เท่านั้น รายละเอียดอ่านได้ในวารสารครับ อันที่จริง บทความนี้ อาจารย์จะเกริ่นถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะเปรียบเทียบ mindset นี้ซึ่งเกิดในบริบทสังคมตะวันตก กับ mindset พื้นฐานของสังคมไทย
เพิ่มเติม (2009-11-29): เกี่ยวกับการเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมไทยนั้น blog หนึ่งที่ผมเคยเขียนไว้ อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง
ป้ายกำกับ: FOSS