GNOME 2.20 ออกแล้ว (ข่าวที่ th.gnome.org —มีใครอ่านอยู่ไหมเนี่ย)
การแปล release notes ผมพยายามเริ่มทำแต่เนิ่น ๆ เลย เพื่อให้เหลือเวลาจับ screenshot มากหน่อย และจากที่ผ่านมา มักจะทำให้พบบั๊กของคำแปลหรือของโปรแกรมไประหว่างจับด้วย คราวนี้เป็นของ sabayon (#475434 และยืนยัน #450085 —GNOME Bugzilla มีปัญหา database อยู่แฮะ)
เรื่องคำแปล ได้เพื่อนฝูงที่ thai-l10n mailing list ช่วยกัน ปรับแก้ ช่วยให้เนื้อหาดูดีขึ้น แต่ส่วนที่ยากส่วนหนึ่งคือ screenshot เพราะต้องคอมไพล์และตั้งค่าโปรแกรมต่าง ๆ ทีละตัว เพื่อให้มันแสดงหน้าจอที่กำหนด มีบางหน้าจอที่หาวัตถุดิบลำบาก เช่น การเตือนแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ.. โน้ตบุ๊กเก่าผมก็แบตเสื่อมอยู่นะ แต่ขี้เกียจไปคอมไพล์ GNOME ใหม่.. อีกรายการคือการหมุนรูปตามข้อมูล EXIF ในภาพถ่าย เพราะผมมีแต่กล้องรุ่นที่ไม่มีการ detect แนวตั้ง/แนวนอนของกล้อง ขอใครก็ไม่มี ก็เลย make ข้อมูลนิดหน่อย ด้วยการใช้ exiftool บนเดเบียนแก้ข้อมูล Orientation tag ของ EXIF เอา โดยแกะ EXIF 2.2 Spec ที่ได้จาก Wikipedia
บางรายการอย่าง GTK+ filechooser นั้น เบื้องหลังการถ่ายทำคือการติดตั้ง tracker เพิ่ม (ทั้งที่ไม่เคยคิดจะใช้ desktop search) ก็ปรากฏว่าเกิดผลข้างเคียงตอนที่ trackerd ทำงาน จะทำให้ vim อืดสนิท เพราะ vim จะมีการเขียน swap file สำหรับการ recover อยู่ตลอด แต่ก็ทำให้ได้ความรู้จากการค้นเว็บ (ไม่ได้ bookmark ไว้) ว่าให้สั่ง "set nofsync
" เพื่อลดปริมาณการ sync ฮาร์ดดิสก์ ก็ทำให้ vim อยู่ร่วมกับ trackerd ได้ แต่ก็ยังอืดอยู่ดีแหละ.. ทางที่ดี เดี๋ยวลบ tracker ทิ้งดีกว่า :P
โปรแกรมอื่นบางตัว เช่น tomboy นั้น ผมไม่ได้ลง mono สำหรับคอมไพล์ไว้เลย และไม่เคย build tomboy ด้วย ตรงนี้คงเอาไว้ท้าย ๆ อาจจะรอจับหน้าจอจาก debian sid เอา เพราะเห็นแพกเกจ GNOME 2.20 ทยอยเข้า sid แล้ว แต่หน้าจออย่าง totem ที่เน้น Ubuntu โดยเฉพาะนี่.. สงสัยต้องรอผู้ใช้ gutsy ทำให้ หรือไม่ก็รอผมรีบูตเครื่องครั้งหน้าเพื่อเข้าไปใน Ubuntu partition.. สรุปว่าไว้ทีหลังเช่นกัน
นอกนั้นก็เป็นการปรับคำแปลเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามที่ตรวจพบขณะจับ screenshot ครับ เช่น accerciser นี่ ทำให้พบข้อความแปลก ๆ ของ atk เป็นต้น
นี่ถ้าทำกันหลายคนคงสนุกดีนะ จะได้ช่วยกันตรวจคำแปลก่อน release ไปด้วย
พูดถึงงานแปล.. น่ายินดีที่ GNOME 2.20 นี้ มีนักแปลหน้าใหม่เข้ามาร่วม คือคุณที่ใช้ชื่อว่า aka.ape ซึ่งได้เริ่มจากแปลแพกเกจใหม่ แล้วก็หันมาช่วยอัปเดตคำแปลของแพกเกจเก่า ซึ่งการมีผู้มาร่วมแปลนี้ ถือเป็นเรื่องดี ขอบคุณมาก ๆ ครับ ถ้าคำแปลของคุณถูกตรวจแก้มาก ๆ ก็อย่าได้คิดว่าคุณมาสร้างภาระอะไรให้ผม ข้อแรก การตรวจคำแปลนั้น ใช้เวลาน้อยกว่าการแปลมาก ข้อสอง หลายหัวดีกว่าหัวเดียว ถ้าผมแปลเองรีวิวเอง มันก็คงหาที่ผิดได้ยากกว่าการผ่านตาหลายคน ข้อสาม การตรวจแก้โดยส่วนใหญ่ จะเข้มข้นมากเฉพาะครั้งแรก ๆ เพื่อปรับสไตล์คำแปลให้ตรงกันกับของเก่าเท่านั้น ถ้าคุณคุ้นเคยกับสไตล์แล้ว ครั้งต่อ ๆ ไปจะมีแนวโน้มลดลงเอง (อันนี้ฝากถึงผู้ที่จะเข้าร่วมแปลในอนาคตด้วยนะครับ)
มาที่ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่เคยพูดหลายครั้ง หลายแห่งแล้ว แต่ก็ดูจะหาทางออกยากเหลือเกิน ก็คือการแปลผ่าน launchpad ของทีม Ubuntu ซึ่งเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับ upstream
โดยปกติ Ubuntu จะ import คำแปลใหม่ที่มากับ upstream เข้า launchpad อยู่แล้ว ดังนั้น คำแปลที่ทีม GNOME/KDE/Debian ทำกันที่ thai-l10n จะเข้าสู่ Ubuntu โดยอัตโนมัติ แต่สิ่งที่ทีม Ubuntu แปลที่ launchpad นั้น จะทับคำแปลจาก upstream อีกที โดยที่ไม่เคยมีการ contribute กลับมาที่ upstream เลย คนทำงานที่ต้นน้ำจะรีวิวคำแปลกันพิถีพิถันขนาดไหน ถ้าโดน launchpad แปลทับเสียก็จบกัน และในทางกลับกัน งานแปลที่ launchpad ก็ถูกกักเก็บไว้ใช้แต่เฉพาะ Ubuntu เท่านั้น ไม่เคย contribute ให้คนอื่น
ในทางกลับกัน ทีม upstream ก็ไม่ต้องการการ contribute แบบผลักเข้ามาโดยตรงโดยไม่ผ่านการรีวิวเช่นกัน อย่างเช่นกรณีหนึ่งเร็ว ๆ นี้ ที่มีนักพัฒนา Novell commit คำแปลจาก OpenSUSE เข้า svn โดยตรงเป็นชุดใหญ่ ปรากฏว่าเป็นคำแปลที่ขาดการกลั่นกรอง และเขียนทับข้อมูลลิขสิทธิ์ทุกอย่างให้เป็นของ Novell หมด สร้างความไม่พอใจแก่ทีมแปลต้นน้ำเป็นอันมาก จนมีการร้องเรียนให้ถอนคืน พร้อมทั้งตำหนินักพัฒนาคนนั้นกันเสียงขรม โชคดีที่ภาษาไทยไม่โดนทับไปด้วยในครั้งนั้น ไม่งั้นคงต้องเหนื่อยขอ revert กัน
สิ่งที่เราต้องการ จึงไม่ใช่ระบบอัตโนมัติอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการพูดคุยกันระหว่างมนุษย์ ระหว่างทีมงานที่ทำงานต้นน้ำ กับทีมงาน distro โดยมีทางเลือกที่เป็นไปได้สองอย่างคือ:
- มาทำงานที่ต้นน้ำด้วยกัน เลี่ยงการทำงานที่ปลายน้ำ — เป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด ผมได้เคยเขียนคำเตือนเรื่องนี้ไว้ที่ thai-l10n wiki (เจ๊งอีกไซต์หนึ่ง.. วันนี้มันวันอะไรหว่า) และที่ ubuntuclub แต่ก็ดูเหมือนไม่เป็นผลเท่าไร
- ประสานงานกันระหว่างทีมแปล โดยส่งคำแปลจาก distro เข้ามาที่ต้นน้ำเพื่อ merge — น่าจะเป็นวิธีที่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย ถ้าเราหลีกเลี่ยงการแยกกันทำงานไม่ได้ ทีมต้นน้ำก็จะได้ผู้ช่วย ทีม distro ก็จะได้รับการกลั่นกรองคุณภาพ
ไม่รู้สินะ ทุกคนต้องการอะไรที่ง่าย ๆ แต่ก็น่าจะมีการวางแผนอะไรกันบ้าง จริงไหม
ป้ายกำกับ: gnome