Theppitak's blog

My personal blog.

02 มิถุนายน 2549

Books vs Internet

ได้ยินหลายคนพูดถึงความแตกต่างระหว่างหนังสือกับอินเทอร์เน็ตบ่อยๆ ซึ่งในยุคนี้ คงเกิดคำถามขึ้นเรื่อยๆ ว่าหนังสือจะหมดความจำเป็นลงเรื่อยๆ หรือเปล่า หลายคนให้ข้อคิดเห็นต่างๆ กัน เช่น หนังสือ search ได้ไม่เร็วเท่าอินเทอร์เน็ต หนังสือกินเนื้อที่จัดเก็บทางกายภาพ หนังสือเก่าขาดได้ หนังสือคัดลอกไม่สะดวกเท่าเว็บ หนังสือข้อมูลไม่ฉับไวพอ ฯลฯ ส่วนสำหรับคนรักหนังสือ ก็จะบอกว่า หนังสือสืบค้นได้ และประสบการณ์ในการสืบค้นนั้น มันอาศัยสมองนึกคิดมากกว่า ได้อรรถรสของการแสวงหามากกว่า โดยเฉพาะการได้ดั้นด้นไปห้องสมุดนั้น ทำให้ได้ซึมซับบรรยากาศของสถานศึกษาไปด้วย นอกจากนี้ การอ่านหนังสือยังได้หยิบได้จับ ได้กลิ่นกระดาษ และที่สำคัญ หลายคนอ่านหน้าจอไม่ได้นานเท่าหนังสือ

แต่เช้านี้ เกิดข้อสังเกตอีกอย่าง ที่คิดๆ ดูแล้ว อาจอธิบายไปถึงการใช้ภาษาไทยผิดๆ ของคนยุคนี้ได้ด้วย คือหนังสือผลิตยากกว่า จึงต้องผ่านการกลั่นกรองมากกว่าโดยปกติ ผู้ที่แต่งตำรา จึงมักเป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งคงระมัดระวังเรื่องเนื้อหาอยู่แล้ว แล้วก็ยังมีการพิสูจน์อักษรอีกชั้นของสำนักพิมพ์ ในขณะที่เว็บนั้น โดยส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยผู้จบสาขาวิศวกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งมักเห็นมีข้ออ้างบ่อยๆ เมื่อถูกติงเรื่องการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง ว่า "ผม/ดิฉันไม่ได้จบอักษรศาสตร์นี่ครับ/คะ" เป็นข้ออ้างที่ดูฟังขึ้น ถ้าสมมุติว่า มีนักอักษรศาสตร์ช่วยกลั่นกรองในการเตรียมเนื้อหาต่างๆ ของเขาด้วย

แต่ในการเตรียมเว็บเกือบทั้งหมด มันไม่ใช่ เมื่อสื่อหลักของยุคนี้ ถูกสร้างและดูแลโดยวิศวกร ที่ค่อนข้างปล่อยปละละเลยเรื่องการใช้ภาษา ก็เลยกลายเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ บางทีเว็บมาสเตอร์ถึงกับตอบด้วยความภูมิใจด้วยซ้ำ ที่ได้สะกดผิด โดยประกาศศักดาว่า "ข้าฯ เป็นนักคอมพิวเตอร์นะ (โว้ย) มีสิทธิ์สะกดผิดได้ ตราบใดที่เนื้อหาของข้าฯ แน่นพอ" แต่ปรากฏการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อคูณด้วยจำนวนเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้น และมาแทนที่หนังสือที่เป็นสื่อที่ผ่านการกลั่นกรองมากกว่าโดยเฉลี่ย ก็กลายเป็นการสร้าง "ภาษา" แบบใหม่ขึ้น แล้วเด็กๆ ก็ได้เรียนรู้ภาษาเพี้ยนๆ เหล่านั้น

นี่น่าจะเป็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างหนังสือกับอินเทอร์เน็ต คือเรื่องคุณภาพของเนื้อหาโดยเฉลี่ย และผลข้างเคียงที่อาจนึกไม่ถึง คือการสร้างความแปรปรวนขึ้นในภาษา

ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน ว่าควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ยอมรับมัน? จับวิศวกรมาเรียนภาษา? สอนครูให้สร้างเว็บเอง (อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน)? ให้มีการท้วงติง-พิสูจน์อักษร? สำหรับตัวเองที่เป็นวิศวกร คิดว่าการให้วิศวกรเรียนภาษาเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด :-)

20 ความเห็น:

  • 2 มิถุนายน 2549 เวลา 12:22 , Blogger Oakyman แถลง…

    ผมว่าปัญหาภาษาวิบัตินี่เกิดจากวัยรุ่นไม่เกินม.ปลายเยอะกว่านะครับ

     
  • 2 มิถุนายน 2549 เวลา 12:55 , Blogger Thep แถลง…

    แนวคิดที่ผมคิดก่อนเขียน blog นี้ คิดว่าเรื่องเด็กวัยรุ่น เป็นผลกระทบที่เกิดจากการที่มีผู้ใหญ่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างมากกว่า แล้วก็เลยทำให้เกิดค่านิยมแบบใหม่ ว่าในอินเทอร์เน็ตมีอิสระทุกอย่าง แม้แต่เรื่องการใช้ภาษา

     
  • 2 มิถุนายน 2549 เวลา 16:24 , Blogger Beamer User แถลง…

    สร้างสำนึกในการใช้ภาษาให้ถูกต้อง น่าจะง่ายที่สุด
    แต่ข้อความใน blog มันไม่น่าจะใช้ในการอ้างอิงจริงจัง
    เพราะมันผ่านไปเร็ว ในขณะที่ข้อความเชิงวิชาการบนเว็บ
    ก็ควรจะมีการตรวจตราแก้ไข เป็นระยะ ๆ

    เราคงต้องปลูกฝังค่านิยมเรื่องผิดได้ ผิดแล้วต้องแก้ไข
    บางคนเขียนหนังสือไว้ดีมากเล่มหนึ่ง แต่เขียนแล้วทิ้งเลย
    ทั้งคนเขียนและสำนักพิมพ์ นี่ขนาดหนังสือนะ

     
  • 2 มิถุนายน 2549 เวลา 16:52 , Blogger bact' แถลง…

    มีเรื่องต่อเนื่องคือ
    เห็นหลายคนนิยมตัดสินว่า คนไหนสะกดถูก/ผิด
    ด้วยจำนวน hits บน Google !

    เฮ้อ - -"

     
  • 2 มิถุนายน 2549 เวลา 17:31 , Blogger bact' แถลง…

    เคยตอบไว้ในวิกิพีเดีย

    WP:Cafe/Language

    ----
    popularity vs authority

    แต่การใช้ hits ของเสิร์ชเอนจิ้น ก็เป็นที่กังขาอยู่ดี 1) เสิร์ชเอนจิ้นจำนวนมากยังตัดคำไทยไม่ได้ 2) hits ที่ได้ก็มาจากจำนวนจากหน้าที่เสิร์ชเอนจิ้นนั้นทำดัชนีไว้ (=ไม่ได้หมายถึงเอกสารทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต) 3) ถึงจะทำดัชนีทั้งหมดของเอกสารบนเน็ตได้ แต่ก็ยังมีเอกสารเป็นจำนวนมากกว่า ที่ยังไม่ได้อยู่บนเน็ต (หรือแม้แต่เก็บอยู่ในรูปแบบดิจิทัล) 4) การตีพิมพ์บนอินเทอร์เน็ตนั้นทำได้โดยสะดวกและง่าย ทำให้มีจำนวนเอกสาร ที่ไม่ผ่านการตรวจตัวสะกด/การใช้ภาษา จำนวนมาก (เช่นที่คุณ Jittat ยกตัวอย่างมา "คับ") -- แค่ 4 ข้อนี้ ก็น่าจะทำให้เราเชื่อ hits จากเสิร์ชเอนจิ้นได้น้อยลงนะครับ ... คือเอามาใช้เป็นแนวทางได้ แต่คงไม่ใช่ตัวตัดสินชี้ขาด เช่นถ้ายังไม่มีการบัญญัติ ก็อาจจะยึดตามที่นิยม[ในอินเทอร์เน็ต] แต่ถ้ามีการบัญญัติแล้ว ก็ควรจะยึดตามที่ได้บัญญัติไว้
    ----

     
  • 2 มิถุนายน 2549 เวลา 17:44 , Blogger veer แถลง…

    ผมเห็นว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการใช้ภาษาไม่ตามที่คนส่วนมากเห็นด้วย (มาตรฐาน) อย่างไรก็ตามผมสนับสนุนการใช้ภาษาตามมาตรฐานเพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร ไม่ใช่ประโยชน์การอนุรักษ์สิ่งอันสูงส่งอย่างอื่นใด (อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น)

    อนึ่งผมเห็นว่าคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บัญญัติศัพท์ควรเปิดกว้างและโปร่งใส มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การปฏิบัติอย่างมีรูปธรรมเช่น การทำประชาพิจารณ์ การแจกจ่ายศัพท์บัญญัติอย่างเสรี ฯลฯ

    เราอาจจะแบ่งกลุ่มคนใช้ภาษาผิดไปจากมาตรฐานเป็น 2 กลุ่ม
    1. กลุ่มที่ใช้ภาษาผิดมาตรฐานโดยความไม่รู้
    2. กลุ่มที่จงใจใช้ภาษาผิดมาตรฐาน

    สำหรับกลุ่มแรก(ที่รวมผมด้วย) ผมคิดว่าโปรแกรมตรวจตัวสะกดอัตโนมัติที่ใช้สะดวกก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่าการเรียนในห้องเรียนที่ผมไม่ได้เชื่อถือนัก

    สำหรับกลุ่มที่ 2 ผมคิดว่าการศึกษาสาเหตุของคนที่จงใจใช้ภาษาผิดจากมาตรฐาน ในเชิงปริมาณก็อาจจะน่าสนใจก่อนจะคิดไปถึงทางออก

     
  • 4 มิถุนายน 2549 เวลา 18:49 , Blogger veer แถลง…

    "การใช้ภาษาไทยผิดๆ ของคนยุคนี้"

    ก็อาจจะเป็นได้ว่ายุคก่อนก็มีแต่เราไม่เห็น?
    อาจจะเป็นทำนองว่า การพบการใช้ภาษาไทยผิดๆ ของคนยุคนี้? lol

     
  • 5 มิถุนายน 2549 เวลา 08:28 , Blogger ziddik::zdk แถลง…

    ผมว่านะ..
    ปัญหาในเรื่องการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องนั้นมันเกิดขึ้นมาตั้งแต่
    ภาษาไทยเริ่มเกิดแล้วล่ะ... แล้วการเปลี่ยนแปลงของภาษา นักภาษาศาสตร์ก็คิดว่าเป็นธรรมชาติของภาษาที่จะต้องมีการเปลี่ยนไป
    ตามกาลเวลา ไม่อย่างนั้นภาษาไทยก็อาจจะเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว..ไม่มีการเปลี่ยนแปลง..
    ซึ่งคงจะไม่มีใครมาห้ามได้หรือกำหนดอะไรได้มั้งครับ
    แต่ยุคสมัยปัจจุบันการที่มีมาตรฐานการใช้ภาษาขึ้นมาก็คงจะใช้ได้
    เฉพาะในงานเขียนเชิงวิชาการเท่านั้น (ซึ่งจะเป็นเว็บหรือหนังสือคงจะมีการควบคุมกันได้)
    ส่วนอื่นๆ คงอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนว่าจะพยายามใช้ให้ถูกต้องหรือไม่

    แต่ที่ทำให้มองว่าปัญหานี้เหมือนจะลุกลาม...
    ผมว่าก็คงเหมือนปัญหาอื่นๆในอินเตอร์เน็ต....
    เมื่ออยู่บนอินเตอร์เน็ตมันก็กระจายได้อย่างรวดเร็ว..
    ซึ่งก็นะ... มันก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่แสดงให้เห็นอะไรหลายๆอย่างในสังคมอีกมุมนึง..
    เท่านั้นมั้ง..

     
  • 5 มิถุนายน 2549 เวลา 09:20 , Blogger kong แถลง…

    ' ซึ่งมักเห็นมีข้ออ้างบ่อยๆ เมื่อถูกติงเรื่องการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง ว่า "ผม/ดิฉันไม่ได้จบอักษรศาสตร์นี่ครับ/คะ" เป็นข้ออ้างที่ดูฟังขึ้น" '

    ส่วนตัวคิดว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นครับ เพราะคำศัพท์ส่วนใหญ่ที่ใช้เขียนกันในบล็อก/เว็บ ก็เป็นคำที่เราใช้กันอยู่ทุกๆ วันนี่ล่ะ ถึงไม่ได้เรียนอักษรศาสตร์ ก็ควรจะรู้ว่ามันสะกดยังไงครับ

    อีกข้ออ้างที่เห็นบ่อยๆ คือ "ก็รู้อะว่ามันผิด แต่ขี้เกียจหาคำที่ถูก" -_-a

     
  • 5 มิถุนายน 2549 เวลา 18:26 , Blogger veer แถลง…

    kong: ถ้าเป็นแบบนั้นจริง spelling checker น่าจะช่วยได้มากเลย spelling checker แบบง่ายๆ ด้วย :-)

     
  • 5 มิถุนายน 2549 เวลา 18:39 , Blogger veer แถลง…

    kong: ข้ออ้างอีกข้อหนึ่งคือ "เรื่องของ...ฉัน" ถ้าเป็น blog อะนะ

    ต่อไปอาจจะอ้างแบบนั้นไม่ได้ เพราะอาจจะมีคนแจ้ง ICT Cleannet ให้มา ban และดูเหมือนว่าเขาจะ ban อะไรก็ได้ ;-)

    คนที่พยายามรณรงค์ให้สะกดถูก ก็ควรจะบอกเหตุผลด้วยว่าถ้ามีคนสะกดคำนั้นคำนี้ผิด แล้วมันจะเกิดผลเสียอะไร ที่ไม่ใช่อย่ามาทำภาษาอันศักดิ์สิทธิของฉันด่างพร้อยนะ อาจจะเป็นว่า

    - ช่วยสะกดให้ถูกหน่อยเพราะฉันอ่านไม่ออกนะ
    - ช่วยสะกดให้ถูกหน่อยเดี๋ยวลูกฉันจะสะกดไม่ถูกด้วย เดี๋ยวฉันจะอ่านภาษาของลูกฉันไม่ออกนะ
    - ช่วยสะกดให้ถูกหน่อยเดี๋ยวฉันใช้ search engine หาไม่เจอนะ

    ส่วนเหตุผล "คุณเป็นคนชั้นต่ำเพราะคุณสะกดคำผิดนะคะ" มันฟังดูไม่เข้าท่าเลย สำหรับผมนะครับ :-)

     
  • 5 มิถุนายน 2549 เวลา 18:41 , Blogger veer แถลง…

    เรื่องอ่านไม่ออกนี้เกิดขึ้นจริงๆ นะ หรืออย่างน้อยก็อ่านยาก -_-'

     
  • 6 มิถุนายน 2549 เวลา 18:46 , Blogger Thep แถลง…

    เข้าเน็ตไม่สะดวกไปพักใหญ่ ประเด็นเพิ่มเติมเยอะแยะเลย :-)

    ประเด็นใหญ่คงเป็นเรื่องการอ้าง "ภาษาศาสตร์" ซึ่งเป็นการสังเกตปรากฏการณ์ของภาษา ว่าภาษาต้องเปลี่ยนแปลง ข้อนั้น เห็นว่าเป็นคนละเรื่องกับการเลินเล่อ ปรากฏการณ์ทางภาษาศาสตร์ ต้องใช้เวลาเป็นแรมปี ผ่านชั่วอายุคน หรือเกิดเป็นกรณีๆ ไป ไม่ใช่เกิดกับภาษาเป็นสัดส่วนสูงอย่างที่เป็นอยู่ และที่สำคัญ เมื่อสื่ออ้างอิงเริ่มเปลี่ยน จากหนังสือมาเป็นอินเทอร์เน็ต สื่ออ้างอิงในที่นี้ ก็หมายถึงสื่อที่เป็น "corpus" ที่มนุษย์ใช้ซึมซับเรียนรู้ภาษาจากการอ่าน จากเดิมมีการกลั่นกรอง กลายมาเป็นสื่อที่เตรียมแบบตามอำเภอใจ เด็กรุ่นใหม่ก็จะเริ่มแยกไม่ออก ระหว่างตัวสะกดที่ถูกกับที่ผิด เพราะ synapse ถูกเชื่อมโยงด้วยสถิติการอ่าน

    ความจริง ที่เขียน blog นี้ ไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิใคร แต่ตั้งใจตั้งข้อสังเกต ว่าจริงๆ แล้ว ภาษายุคนี้อยู่ในกำมือของวิศวกร ที่ไม่ค่อยพิถีพิถันเรื่องภาษา อาจเป็นการตั้งทฤษฎีแบบภาษาศาสตร์แบบง่ายๆ มั้ง แต่พอมีแนวคิดแล้ว ก็อยากจะคิดต่อว่าจะทำยังไงได้กับสภาวการณ์นี้

    อย่างที่พ่อหมาอ้วนเสนอ ผมว่าเหมาะดี เป็นการเอาจุดแข็งของสื่ออินเทอร์เน็ตมาใช้ ว่าสร้างง่าย ก็แก้ไขง่ายเหมือนกัน

    ส่วนประเด็นเรื่องเสรีภาพของ vee ผมว่ามันต้องมีขอบเขตน่ะ ความจริง คำว่า "สื่อความหมายได้ก็พอ" มันก็ฟังดูดี แต่ถ้าเอามาใช้จริง เด็กที่เขียนเป็นภาษาคาราโอเกะก็จะอ้างว่ายังสื่อภาษาได้ แล้วมันก็หาขอบเขตไม่ได้ ความจริง การเรียนรู้ภาษาที่ถูกต้อง มันก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการอนุรักษ์สิ่งสูงส่งอะไร และก็ไม่ใช่เครื่องมือเหยียดหยามคนอื่นด้วย บางที การเรียนเรื่องการใช้ภาษา เพื่อตัวภาษาเอง (เหมือนเรียนวิชาเพื่อความรู้) โดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลเรื่องอรรถประโยชน์ ก็น่าจะเพียงพออยู่แล้ว (แต่ถ้ามีก็อาจจะช่วยเสริมนิดหน่อย)

     
  • 7 มิถุนายน 2549 เวลา 20:39 , Blogger veer แถลง…

    ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

     
  • 7 มิถุนายน 2549 เวลา 20:42 , Blogger veer แถลง…

    "สื่อความได้" จะอ้างได้ก่อต่อเมื่อเป็นความเห็น
    พ้องกันของผู้ส่งสารและผู้รับสาร ยกตัวอย่างเช่น
    นาย ก. เขียนภาษาคาราโอเกะให้นาย ค. อ่าน
    แต่นาย ค. อ่านไม่ออกหรืออ่านยาก
    แบบนี้ก็คงอ้างไม่ได้ว่า "สื่อความได้"

    อย่างไรก็ตามคงต้องพิจารณาด้วยว่่าใครเป็นผู้รับสาร
    และผู้ส่งสารบ้าง ยกตัวอย่างเช่น นาย ก.
    ส่งสารให้ นาย ข. นาย ข. อ่านออก
    แต่นาย ค. อ่านไม่ออก และนาย ก.
    ไม่มีเจตนาส่งสารนั้นให้นาย ค. แบบนี้ผมว่า "สื่อความได้"

    การใช้ภาษาเพือภาษาเอง การเรียนวิชาเพื่อความรู้ ใครจะทำก็คงเป็นเรื่องน่าอนุโมทนา
    แต่ใครที่ชักชวนให้คนอื่นทำตามด้วย
    หรือใครที่ตำหนิคนอื่นที่ไม่ทำตามด้วย
    ผมคิดว่าเหตุผลในข้างต้นไม่เพียงพอ

     
  • 7 มิถุนายน 2549 เวลา 21:20 , Blogger Thep แถลง…

    ใช่ไหมล่ะ พอใช้คำว่า "สื่อความได้ก็พอ" เป็นเกณฑ์ มันเลยดิ้นได้ สัมพัทธ์ไปตามเงื่อนไข คนที่อ้าง ก็จะเพียรสรรหาเงื่อนไขมาอ้างไปเรื่อย

    เรียนภาษาที่เป็นแบบแผน น่าจะมั่นใจได้มากที่สุด ในเรื่องการสื่อความ

    การเรียนภาษาเพื่อความรู้ ก็มีด้านดีของมัน ความรู้พวกนี้ อาจทำให้ลดภาระการท่องจำในการสะกดคำ เช่น รู้ว่าคำว่า "จำนง" แผลงมาจาก "จง" ก็จะไม่สะกดผิดเป็น "จำนงค์" หรือรู้หลักพยัญชนะวรรคนิดหน่อย ก็จะสะกด "ทันต์" หรือ "ทัณฑ์" ได้ รู้ว่า "ทศกัณฐ์" คือท้าวสิบคอ ก็จะไม่สะกดเป็น "ทศกรรณ" ที่แปลว่าท้าวสิบหู (ซึ่งอาจจะมีแค่ห้าคอ) ฯลฯ

     
  • 7 มิถุนายน 2549 เวลา 21:23 , Blogger Thep แถลง…

    ปล. ความจริง ในหลายๆ กรณี เหตุผลพวกนี้ใช้เป็นหลักเหตุผลในการแก้คำสะกดได้ดีกว่าแค่คำว่า "สื่อความได้" นะ

     
  • 8 มิถุนายน 2549 เวลา 15:32 , Blogger veer แถลง…

    กฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอและเข้ากันได้กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ก็อาจจะไม่มีการนำไปปฏิบัติ ยกเว้นแต่จะมีอำนาจบังคับใช้?

    เราสามารถทำเกณฑ์ในการสื่อความให้ชัดเจนขึ้นได้โดยระบุถึงการเขียนในกรณีต่างๆ เช่น
    -การเขียนเอกสารทางวิชาการ
    -การเขียนในชั้นเรียน
    -การเขียน blog ส่วนตัว
    -การเขียน blog และ feed เข้า planet (อย่างเป็นทางการ หรือเฉพาะกลุ่ม)
    -การเขียนจดหมายธุรกิจ
    -การเขียนจดหมายลาป่วย
    ฯลฯ

    การแบ่งแยกแบบนี้มีการใช้จริงในหนังสือเรียน "การใช้ภาษา" ระดับประถมฯ มัธยมฯ และอุดมศึกษาบางแห่ง เรื่องนี้แม้แต่นักอนุรักษ์นิยมผู้เคร่งครัดก็คงเห็นด้วยว่าจดหมายรัก และวิทยานิพนธ์ ใช้ภาษาต่างกันได้

    การแก้ต่าง(อ้าง) หรือแม้แต่การอภิปราย ซึ่งเราเห็นได้ทั้งในศาล และสภานิติบัญญัติ ก็ต้องแก้ต่างหรืออภิปรายอ้างเหตุผลกันไป แม้จะต้องใช้วิจารณญาณประกอบก็ตาม อีกทั้งวิธีนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่ก็คงดีกว่าวิธีที่ตัดสินง่ายแต่ไม่มีเหตุผลรองรับเช่น ให้ไปมุดน้ำ ลุยไฟ เป็นต้น ดังนั้นผมจึงสนับสนุนให้มีการทำประชาพิจารณ์ การอภิปรายและแก้ต่างของฝ่ายต่างๆ ในวงกว้าง

    >>เรียนภาษาที่เป็นแบบแผน น่าจะมั่นใจได้มากที่สุด ในเรื่องการสื่อความ
    นี้เป็นเหตุผลที่ผมเห็นด้วย โดยเฉพาะการสื่อความในวงกว้าง เช่น ในกรณีของประเทศไทย คงจะเป็นไปไม่ได้ที่คนไทยมากกว่า 60 ล้านคน (อ่านหนังสือออกกี่คน?) จะเรียนรู้ตัวสะกดแปลกๆ ที่แต่ละคนคิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ได้

    แต่ถ้าหากว่าเป็น planet ของเด็กแนว เด็กคอสเพล ที่มีภาษาเฉพาะของกลุ่ม และอ่านเขียนกันในกลุ่มจำกัด ก็อาจจะอยู่นอกกรณีนี้ เพราะนอกจากการสื่อภาษาในวงกว้างแล้ว ผู้คนแต่ละกลุ่มก็มีเหตุผลในการใช้ภาษาต่างๆ กันออกไป เช่น ความศักสิทธิ์? ความสะดวกในการสื่อสาร(ในกลุ่ม) ความต้องการปกปิดสารจากคนนอกกลุ่ม ฯลฯ มิเช่นนั้นแล้วคนไทยก็คงต้องเปลี่ยนไปพูดภาษาจีนหรืออังกฤษแทน

    อย่าง TLWG Planet ผมคิดว่าควรสะกดตามมาตรฐานในระดับนึงนะ เพราะผู้อ่านหลากหลาย และไม่ได้มีแต่กลุ่มเด็กแนว เด็กเกมส์ออนไลน์ โปรแกรมเมอร์พันทิพที่เขียนคำว่า "ตัว" บ่อยๆ เช่น ตัวออฟฟิศ ตัวเวิร์ด ฯลฯ ซึ่งก็คงรู้เรื่องกันเองในกลุ่มนั้นๆ (ถึงแม้ผมจะสะกดผิดเองบ่อยๆ ก็ตาม :-P )

    ผมคิดว่าเรื่องจบวิศวฯ หรือวิทยาศาสตร์มาแล้วจะสะกดคำผิดได้สำหรับผมฟังไม่ขึ้นนะ เพราะว่าเรียนมาในระดับมัธยมฯ​ แล้ว ทางออกที่คิดได้คือ
    1. ใช้เทคโนโลยี เช่น spelling checker และ grammar checker
    2. บอกกันปากต่อปาก โดยอ้างเหตุผลที่ฟังขึ้น ไม่ใช่ ความศักดิ์สิทธิ์ รสนิยมส่วนตัว ไม่ใช่การแบ่งชนชั้น ฯลฯ แต่เป็นเหตุผลอื่นๆ แบบที่ใช้ในการรณรงค์ในการใช้ TIS-620 เช่น ทำให้โปรแกรมเปิดเว็บเปิดได้ ฯลฯ อย่างไรก็ตามถ้าเป็นเว็บภายในของบริษัทก็อาจจะอยู่นอกขอบเขต

    ( IMO: การเพิ่มหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา ก็อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ )

     
  • 8 มิถุนายน 2549 เวลา 21:43 , Blogger Thep แถลง…

    :-O ยอมรับว่าอ่านประเด็นของ vee ไม่ค่อยเข้าใจครับ ไม่เข้าใจว่าเหตุผลที่มาประกอบการสะกดคำ มันไม่เพียงพอตรงไหน จดหมายรักกับวิทยานิพนธ์จะสะกดคำคำเดียวกันไม่เหมือนกัน? การบอกที่มาของตัวสะกดต่างๆ ได้ คือการสั่งให้มุดน้ำ ลุยไฟ? การพยายามสะกดให้ถูกถือเป็นความศักดิ์สิทธิ์? ถือเป็นรสนิยมส่วนตัว? เป็นการแบ่งชนชั้น?

    เรามองปัญหาเกินจริงไปหรือเปล่า? แค่สะกดคำให้ถูก ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้นเลยนะครับ

     
  • 16 มิถุนายน 2549 เวลา 03:22 , Blogger veer แถลง…

    >> แค่สะกดคำให้ถูก ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่
    >> ขนาดนั้นเลยนะครับ
    ถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่มันก็ไม่น่าสนใจ?

    >> เรามองปัญหาเกินจริงไปหรือเปล่า?
    อาจจะใช่ครับ แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่า มองเล็ก เกินจริง หรือใหญ่เกินจริง

    ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ ส่วนมากแล้วอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ส่วนน้อยเป็นเรื่องใหญ่? แบบ Zipf's law?


    >> จดหมายรักกับวิทยานิพนธ์
    จะสะกดคำคำเดียวกันไม่เหมือนกัน
    เป็นไปได้ครับ :-) สำหรับบางคำ
    (แล้วแต่แนวทางของแต่ละคน แต่ละ
    คู่ด้วย? สำหรับจดหมายรักนะครับ
    ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ lol)

    >> การพยายามสะกดให้ถูก
    *ถูก* ที่คนบางกลุ่มคิดว่าถูก

    คนที่กำหนดขึ้นมา ผมไม่แน่ใจว่าคิด
    อย่างไรบ้าง เพราะว่าเขาไม่ได้บอก

    ในกรณีของคนที่ร่วมขบวนการรณรงค์
    นี่มีตัวอย่างที่ใช้ชนชั้น รสนิยมส่วนตัว
    ความศักดิสิทธิ์ บ่อยๆ

    ถ้ามีคนที่รณรงค์แล้วมีเหตุผลอื่นๆ บ้าง
    หรือคนที่กำหนดพร้อมบอกเหตุผลด้วย
    คนก็อาจจะสะกดเหมือนกันมากกว่านี้

    แต่ก็อาจจะดีขึ้นไม่มากก็ได้?
    เห็นบ่อยว่าหลายงานใช้วิธีที่ดูดีมาก
    แล้วอะไรๆ ก็ดีขึ้นด้วย แต่ว่าน้อย -_-!

    อย่างแรกที่น่าจำทำผมคิดว่าก็ควร
    จะศึกษาก่อนว่าทำไมคนถึงสะกดผิด?
    ต่อไป TDRI อาจจะทำก็ได้ :-P

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem