Theppitak's blog

My personal blog.

22 พฤษภาคม 2549

"Upstream"

ตั้งแต่กลับมาอยู่ขอนแก่น รู้สึกว่าได้พบผู้คนหลากหลายมากขึ้น คนอ่าน blog ของผมก็หลากหลายตามไปด้วย เรื่องบางเรื่อง เขียนแล้วคนกลุ่มหนึ่งเข้าใจตรงกัน แต่อีกกลุ่มอาจจะเข้าใจไปอีกอย่างก็มี เลยคิดว่า นานๆ เอาประเด็นเก่ามาพูดซ้ำบ้าง ก็คงจะดี

อย่างวันนี้ นึกถึงประเด็นของคำว่า ต้นน้ำ (upstream) เช่น การทำงานกับ GNOME ของผม อาจจะไม่เป็นที่ฮือฮาเมื่อเทียบกับการได้ไป Ubuntu Localisation Sprint ซึ่งใน blog วันนั้น คุณ donga ก็ถามในเชิงว่านี่เป็นการทำงานที่ต้นน้ำ จนต้องตั้งคำถามว่า จะเหลืออะไรให้ Linux TLE ทำ กับอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้ ตอบสัมภาษณ์ Blognone โดยพูดถึงคำว่า ต้นน้ำ ก็มีคนมาทักเมื่อเจอกัน โดยพูดถึงการทำงานกับ Ubuntu หรือ Debian ของผมในทำนองว่าเป็นการทำงานที่ ต้นน้ำ อย่างที่ตอบสัมภาษณ์ ทั้งที่ความจริงแล้ว ทั้งสองงานนั้น ยังไม่ใช่ ต้นน้ำ ที่มุ่งจะพูดถึง

อันที่จริง สำหรับคุณ donga นั้น พอเข้าใจความหมายของแกอยู่ ว่าพูดเทียบกับ Linux TLE ซึ่งถ้าเทียบแล้ว Ubuntu ก็ถือเป็นต้นน้ำ แต่ Ubuntu ก็ยังใช้ Debian เป็นแหล่ง และ Debian เองก็ยังเอาซอร์สโค้ดต่างๆ มาจากโครงการที่เป็นต้นน้ำจริงๆ อีกที และ ต้นน้ำ ที่ผมมุ่งสู่ ก็คือต้นน้ำเหล่านั้น มากกว่าที่จะเป็น Ubuntu หรือ Debian เอง

อันที่จริง หลายคนคงเข้าใจความหมายผมอยู่ แต่คนอื่นๆ ที่ยังไม่คุ้นกับคำเหล่านี้ อาจจะต้องอธิบายเพิ่ม

คิดว่าความเข้าใจเรื่องนี้ ค่อนข้างสำคัญต่อการเกิดของชุมชนโอเพนซอร์สในเมืองไทย เพราะในภาพที่ปรากฏต่อสาธารณชนในขณะนี้ คำว่า คนทำงานลินุกซ์ คงจะหมายถึงทีมงาน Linux TLE เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น โดยเร็วๆ นี้ ก็มีทีม SIPA เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนั้น ก็มุ่งไปที่การสร้าง distro ทั้งนั้น ยังมีภาพของ ต้นน้ำ จริงๆ ที่ซึ่งเป็นหัวใจของโอเพนซอร์ส น้อยมากๆ

มองในแง่หนึ่ง ความเข้าใจตรงนี้ อาจเป็นการกลั่นกรองบุคลากรก็ได้ โดยคนที่เข้าใจเรื่อง ต้นน้ำ จริงๆ ก็ต้องได้ศึกษากลไกต่างๆ ของห่วงโซ่อาหารในลินุกซ์มาพอสมควร แต่ถ้าความตระหนักเรื่องนี้ ไม่ขยายตัวออกไป ก็คงไม่สามารถปลดล็อคปัญหา ใครให้ใครรับ ในวงการโอเพนซอร์สได้

ไหนๆ ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้แล้ว โยงไปถึงประเด็นอย่าง OS แห่งชาติ หน่อยก็ดี คือรู้สึกว่า การที่ยังมีการยกประเด็นนี้ขึ้นในที่ต่างๆ ทั้งๆ ที่นานาประเทศเขาได้ก้าวข้ามความเข้าใจขั้นนี้ไปแล้ว ดังจะเห็นในการประชุมต่างๆ หรือในแหล่งต้นน้ำ จะเริ่มเห็นเพื่อนบ้านของเราให้ความสำคัญกับต้นน้ำมากกว่า distro แห่งชาติกันแล้ว อาจสะท้อนให้เห็นการย่ำอยู่กับที่ของเรา บางที แนวคิดเรื่อง "TLE must die" ที่ผมเคยบรรยายด้วยคำพูดว่า "ที่สุดแห่งกระบี่ คือไร้กระบี่ ที่สุดแห่งทะเล คือไร้ทะเล" น่าจะยังต้องพูดย้ำกันต่อไป

9 ความเห็น:

  • 22 พฤษภาคม 2549 เวลา 18:43 , Blogger veer แถลง…

    มาทำ textbreak ด้วยกันเถอะครับ ;-)
    n languages 1 engine (with some plug-ins :-P)

     
  • 23 พฤษภาคม 2549 เวลา 13:44 , Blogger Isriya แถลง…

    เรื่อง TLE เห็นด้วยเรื่อง upstream แต่ไม่เห็นด้วยว่า TLE must die

    TLE ไม่ค่อยมีประโยชน์ในทางเทคนิค แต่มีผลอย่างมากในเรื่อง marketing

     
  • 23 พฤษภาคม 2549 เวลา 14:01 , Blogger Neutron แถลง…

    "ที่สุด ของที่สุด คือ ไม่มีที่สิ้นสุด"
    You'll never walk alone.

     
  • 23 พฤษภาคม 2549 เวลา 17:18 , Blogger Thep แถลง…

    mk, ผลในเรื่อง marketing ของ TLE ยังไม่ครอบคลุมทุกด้าน แต่มีผลข้างเคียงเรื่องการบดบังกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินต่อไป เรื่องการบัง upstream ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคนะครับ แต่เป็นเรื่องทางสังคม ซึ่งเป็นผลของ marketing โดยตรง

    "TLE must die" ไม่ใช่ต้องการฆ่า TLE แต่หมายความว่า การดำเนินการของ TLE ควรจะมุ่งไปในทางที่ลดความจำเป็นของ TLE ลงเรื่อยๆ จนเมื่อไม่มีความจำเป็นต้องมี TLE อีกต่อไป (คือเพลงกระบี่ได้รุดหน้ามาจนถึงขั้นที่ไม่ต้องอาศัยกระบี่อีกต่อไป) ก็เท่ากับ TLE ประสบความสำเร็จแล้ว

    การจะไปทางนั้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางการโปรโมทของ TLE เอง ถ้าจะพยายามสร้างแบรนด์ให้คงอยู่ในตลาดอย่างถาวร ก็คงไม่ต่างกับผลิตภัณฑ์หนึ่งทั่วไป แต่ถ้าโปรโมทไปพร้อมกับการเผยแพร่แนวคิดโอเพนซอร์ส กระตุ้นกิจกรรมต่างๆ ที่จะไปรวมกับ upstream นั่นถึงจะไปสู่เป้าหมายที่ว่า

    และเมื่อถึงเวลานั้น ใครจะใช้ distro ไหน ก็จะมีแต่ผลงานจาก TLE อยู่ในนั้น (อย่างที่เด่นสินบอก ว่าที่สุดของกระบี่ คือทุกอย่างก็เป็นกระบี่) ส่วนตัว TLE เอง จะรับใช้สังคมต่อไป หรือจะสลายตัวไป ก็จะคงเหลือผลงานที่ได้ฝากไว้ในพิภพโอเพนซอร์สอยู่ดี

     
  • 23 พฤษภาคม 2549 เวลา 17:55 , Blogger bact' แถลง…

    จริง ๆ แล้วเรื่องการตลาดนี่ ก็เห็นด้วยว่ามันคงต้องมีอะไรที่ "ง่าย ๆ" หน่อย ในการสื่อสาร

    แล้วถ้า โปรโมทให้ TLE เป็น กระบวนการ (หรือ "สถาบัน" ?) มากกว่า ผลิตภัณฑ์ ล่ะ ?

    อาจจะทำนองเดียวกับ GNU, FSF, Creative Commons, Debian
    พวกนี้ ที่มันไม่ใช่ ผลิตภัณฑ์
    แต่เป็นเหมือนกระบวนการมากกว่า (ซึ่งเมื่อกระบวนการมันแข็งแรงมาก มีคนทำตาม/ปกป้องกระบวนการนั้นมาก จนถึงจุดหนึ่ง มันก็เหมือนเป็น สถาบัน)

    TLE นั้นคงยังอยู่ (ผมมองว่า มันถือเป็นสินทรัพย์ อันนึงของวงการโอเพนซอร์สไทย ที่ยังใช้ประโยชน์ได้ จะทิ้งไปง่าย ๆ นี่คงเสียดาย)
    แต่คงไม่ใช่ในลักษณะ ผลิตภัณฑ์
    (จริง ๆ ตอนนี้ TLE ก็ไม่ใช่ตัวผลิตภัณฑ์ตรง ๆ เท่าไหร่ เหมือนเป็น umbrella brand มากกว่า .. อย่างไรก็ตาม ก็เป็นยี่ห้อของผลิตภัณฑ์อยู่ดี ไม่ใช่ยี่ห้อของกระบวนการ)

     
  • 23 พฤษภาคม 2549 เวลา 18:43 , Blogger veer แถลง…

    การมีหลายยี่ห้อ การมีหน้าตาหลายแบบ และมีหลายโปรแกรมให้เลือก อาจเป็นปัญหาสำคัญในการส่งเสริมการใช้งานกนูลินุกซ์

    แต่ก็เห็นด้วยกับ mk นะ อาจจะทำสติกเกอร์ ทะเลโกอินเตอร์ มาแปะแผ่น Ubuntu หรือจะทำสถาบันแบบ bact' ว่าก็ดี (เผื่อจะมีเสื้อยืดขาย)

     
  • 23 พฤษภาคม 2549 เวลา 19:45 , Blogger veer แถลง…

    อาจจะมีป้าย "พูดไทยได้" - รับประกันโดยทีม TLE
    อะไรแบบนี้ก็ไม่เลวนะ พี่น้องที่ nectec ก็ทำงานตรงๆ
    กับต้นน้ำ? ก็น่าจะดีหรือเปล่า?

     
  • 24 พฤษภาคม 2549 เวลา 09:35 , Blogger Thep แถลง…

    vee, ไม่ได้คาดหวังว่า TLE จะต้องเปลี่ยนแนวทางขนาดนั้น อาจจะ maintain distro ต่อไปเรื่อยๆ อย่าง bact' ว่าก็ได้ แต่ควรจะเน้นเป้าหมายที่ upstream มากขึ้น โดยพยายามลดจำนวน patch ลงอยู่ตลอดเวลา (ด้วยการ merge กับ upstream)

    อย่างน้อยๆ ให้คนที่เอา patch ไปฝากกับ TLE ได้มีความหวัง ว่า TLE จะรับภาระ merge ให้ถึง upstream ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ก็สามารถใช้ TLE เป็นช่องทางกระตุ้นกิจกรรมพัฒนาได้ต่อไป (เป็นเป้าหมายเรื่อง "เครื่องมือโปรโมท" ของ TLE)

    อีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ marketing ของ TLE ได้ทำให้เกิดภาพของ "ความพร้อม" ของระบบภาษาไทยในลินุกซ์ ทำให้คนกลุ่มใหญ่บางกลุ่มยังไม่เข้าใจ ว่ายังมีงานที่ต้องทำต่อไปอีก ดังนั้น TLE จึงมีภาระต้องรับผิดชอบส่วนที่ต่างกับความเป็นจริงนี้ด้วย

    ในอีกด้านหนึ่ง ความคาดหวังที่หลายคนยังรอ TLE 8/9/10 ที่จะออกมา โดยอาจจะไม่ตระหนักว่า distro สากลทั่วไปก็เริ่มสนับสนุนภาษาไทยแล้ว ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้ TLE ยังห่างจากเป้าหมายเรื่อง upstream อยู่

     
  • 24 พฤษภาคม 2549 เวลา 15:26 , Blogger veer แถลง…

    thep, พอจะมองเห็นภาพได้ครับ :-)

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem