Theppitak's blog

My personal blog.

02 พฤษภาคม 2549

Intro to Debian Process (2)

ตอนก่อน:

ว่ากันด้วยเรื่อง debian process ต่อ มาดูเรื่องการเป็นเจ้าของแพกเกจกันบ้าง

ความเป็นเจ้าของในแพกเกจ

ความเป็นเจ้าของในแพกเกจ หมายถึงสิทธิ์ในการอัปโหลดแพกเกจนั้นๆ โดยเป็นผู้ดูแล bug ต่างๆ ในแพกเกจด้วย (คือมีสิทธิ์ปิด bug และได้รับรายงาน bug ทางเมล)

การเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของแพกเกจเกิดได้หลายแบบ โดยส่วนใหญ่จะทำผ่าน bug ใน wnpp (Work-Needing and Prospective Packages) ดังนี้:

  • request for package หรือ RFP เป็น bug wnpp ที่ผู้ใช้เสนอแพกเกจใหม่ที่ยังไม่มีใน debian รอคอย maintainer ที่สนใจมาทำให้
  • new package เป็นการเปิด bug wnpp ชนิด ITP (Intent To Package) หรือเปลี่ยนสถานะ bug ชนิด RFP เป็น ITP และปิด bug ด้วยการอัปโหลดแพกเกจตัวแรก
  • orphan เมื่อผู้ดูแลไม่สามารถดูแลแพกเกจต่อ ก็อาจสละแพกเกจโดยเปิด bug wnpp ชนิด O (Orphaned) รอจนกระทั่งมีผู้สนใจมารับช่วงต่อ มิฉะนั้น Debian QA Team จะรับดูแลให้ชั่วคราว แพกเกจไหนที่ orphan นานๆ อาจถูกตัดออกจาก debian ในที่สุด
  • adopt คือการรับช่วงดูแลแพกเกจกำพร้าต่อ โดยเปลี่ยนสถานะ bug wnpp ชนิด O เป็น ITA (Intent To Adopt) แล้วปิด bug ด้วยการอัปโหลดแพกเกจรุ่นใหม่ โดยเขียน changelog ว่า * New Maintainer (Closes: #xxxxx)

สำหรับผู้ดูแลแพกเกจที่เริ่มไม่มีเวลา อาจประกาศหาผู้ดูแลต่อแทนการ orphan ได้ โดยเปิด bug wnpp ชนิด RFA (Request For Adoption) หรือ RFH (Request For Help) แทนก็ได้ โดย RFH จะอ่อนกว่า เป็นการขอความช่วยเหลือโดยยังเจตนาจะดูแลแพกเกจต่อไป ส่วน RFA เป็นการประกาศหาผู้ดูแลต่อ โดยในระหว่างนี้ จะยังคงดูแลบ้างถ้ามีโอกาส และ O เป็นการประกาศชัดว่าจะไม่ดูแลต่ออีกเลย

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นเจ้าของร่วมแบบไม่ใช่ maintainer คือเป็น uploader โดยมีสิทธิ์เทียบเท่า maintainer ในแง่การอัปโหลดและการดูแล bug อีกด้วย มีหลายแพกเกจที่ช่วยกันดูแลหลายคน ก็อาศัย uploader หลายๆ คนช่วยกันทำผ่าน alioth svn

แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะ maintainer และ uploader เท่านั้นที่สามารถอัปโหลดได้ ในบางครั้ง maintainer อาจยื่นมือช่วยแก้แพกเกจอื่นได้ อาจจะเพราะ bug มันเกี่ยวเนื่องกับแพกเกจของตัวเอง หรือเป็นการแก้ไขในเชิงนโยบายภาพรวม หรือด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ การอัปโหลดดังกล่าวเรียกว่า Non-Maintainer Upload (NMU) โดยในกรณีเช่นนี้ เลข debian release จะใช้จุดทศนิยม เช่น จาก 0.3.3-4 เป็น 0.3.3-4.1 และ bug ต่างๆ ที่ NMU แก้ จะยังไม่ปิด จนกว่า maintainer จะอัปโหลดแพกเกจตัวใหม่เป็น 0.3.3-5 โดย Acknowledge NMU และปิด bug ที่ NMU แก้ ถ้าพิจารณาแล้วว่ายอมรับการแก้นั้น หรืออาจจะใช้วิธีอื่นก็อธิบายใน changelog

ดังนั้น สำหรับผู้มาใหม่ และสนใจจะช่วยทำแพกเกจ อาจจะมองหา bug wnpp ชนิด O, RFA หรือ RFP โดยถ้าเจอแพกเกจที่สนใจ และแน่ใจในวรยุทธ์การ build package ของตนแล้ว ก็อาจจะอาสาโดยเปลี่ยนสถานะ bug ชนิด O หรือ RFA เป็น ITA หรือ bug ชนิด RFP เป็น ITP แล้วเตรียมอัปโหลดแพกเกจ

คราวหน้ามาต่อเรื่องประเด็นปลีกย่อยที่จะพบขณะทำแพกเกจ

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem