Theppitak's blog

My personal blog.

22 กันยายน 2547

GNOME System Tools

เมื่อวานนี้นั่งแฮ็ก pango-libthai ต่ออีกนิด ให้มันจัดการสร้าง glyph ของชุด tis620-[012] กับอักขระนอกชุดเหล่านี้แยกกันให้ชัดเจน เพื่อประกันว่าจะไม่มี hex box ถ้าฟอนต์มี glyph ของอักขระ Unicode ให้ ทดสอบเสร็จแล้ว commit แต่ระหว่างทดสอบเพิ่มเติมก็พบปัญหาใหม่ในฟอนต์ Garuda และ Garuda-Oblique คือมัน shape วรรณยุกต์มั่วไปหมด เหมือนกับว่า charmap ภายในมันเพี้ยน นั่งเดาแล้วเดาอีก ก็ไม่เจอว่าผิดตรงไหน เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจผิดที่การเซ็ตค่าอะไรใน .sfd หรือไม่ก็ที่ตัว fontforge เอง เพราะกับ Garuda-Bold[Oblique] ไม่มีปัญหา รวมทั้งฟอนต์อื่นๆ ด้วย จึงไม่น่าเกี่ยวกับ pango-libthai

ตรวจสอบหลายอย่างแล้วไม่เจอ ก็เลยเลิก หันไปทำอย่างอื่นก่อน ก็พอดีเจอเมลน้องชาย ที่ทำให้สะดุดคิดเกี่ยวกับวิธี support ผู้ใช้ GNU/Linux

เรื่องของเรื่องคือ ผมลง Debian sid ในเครื่องของน้อง พอเขาเอากลับไปใช้ ก็ปรากฏว่าเข้าเน็ตไม่ได้ เลยเมลมาถาม ผมบอกขั้นตอนไป โดยอิง command line เป็นหลัก ตั้งแต่ ifconfig, route, ping, cat /etc/resolv.conf, ... ปรากฏว่า เขาตอบกลับมาทำนองว่า “ขอบใจว่ะ แต่กูใช้เมนู Networking เซ็ตได้แล้ว” เหอะๆ ทำให้ฉุกคิดถึง ประกาศข่าว ที่ตัวเองเคยเขียนไป เกี่ยวกับ system tools ใน GNOME 2.8 ว่าเราพูดเองว่ามันช่วยผู้ใช้ตอบคำถาม admin ได้ ตอนนี้คงถึงเวลาเอามาใช้จริงแล้วล่ะนะ พอกันทีกับยุคที่แต่ละ distro ต่างมี config tool แยกกัน ทำให้ต้องถามก่อนว่า “คุณใช้ RedHat, Mandrake หรือ Debian?” ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการเซ็ตกันต่อ ซึ่งที่สุดแล้ว command line ก็คือวิธีที่ขึ้นกับ distro น้อยที่สุด แต่ตอนนี้คงไม่ใช่แล้ว ตราบใดที่เป็น GNOME เหมือนกัน ก็ใช้วิธีเดียวกันได้

ความจริงแล้ว ผมจำได้ว่าเคยมีการเสนอโครงการทำอะไรคล้ายๆ linuxconf ใน GNOME เพื่อทำให้ลินุกซ์ใช้งานง่ายสำหรับมือใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า ยูนิกซ์และ GNU/Linux distro ต่างๆ ที่ GNOME จะไปรันนั้นมีความหลากหลายเกินไป วิธีที่ดีที่สุดคือ ให้ distro ต่างๆ นั่นแหละ ทำ config tool ที่เหมาะสำหรับ distro ตัวเองแทน ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะ

แต่สำหรับธุรกิจของ Ximian (ปัจจุบัน รวมกับ Novell) แล้ว คงจำเป็นต้องทำ config tool ขึ้นมารับแรงกดดันจากผู้ใช้ ซึ่งก็ทำให้เกิด system tool ขึ้นมา จนได้รวมใน GNOME ในที่สุด ปัญหาเรื่องความหลากหลายของระบบนั้น gnome-system-tools แบกรับไว้เต็มที่ โดยมันจะรู้จัก config file และคำสั่งของยูนิกซ์ประเภทต่างๆ ทั้งหมดที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น FreeBSD, RedHat, Mandrake, Debian, SuSE, Slackware, Gentoo, PLD, Conectiva, Fedora, VINE ฯลฯ แล้วกระจาย backend เพื่อกระทำคำสั่งที่สั่งผ่าน GUI ชุดเดียว ดูแล้วนับเป็นความพยายามที่น่าทึ่งเหมือนกัน (พอๆ กับ libgda ของ gnome-db ที่พยายามติดต่อ database ที่หลากหลายบนดาวเคราะห์ดวงนี้ด้วย interface เดียว)

อย่างไรก็ดี ทีมผู้เขียน gnome-system-tools หมายเหตุบอกไว้ว่า เครื่องมือนี้ เหมาะสำหรับ desktop user เท่านั้น ความสามารถมันคงไม่มากเท่าใช้ tool ของ distro เอง และไม่เหมาะสำหรับการเซ็ตเซิร์ฟเวอร์ (มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้นแหละ)

1 ความเห็น:

  • 22 กันยายน 2547 เวลา 16:29 , Blogger Tunyalit Karnjanakul แถลง…

    ยังไงก็ตาม user frendly ยังต้องมาอันดับหนึ่ง เพราะว่า computer ทำเพื่อให้คนใช้นะครับ ของ่ายๆคัรบ ^_^ ( เอาใจช่วยอยู่ห่างๆ )

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem