Theppitak's blog

My personal blog.

19 พฤษภาคม 2547

ขนส่งมวลชน

หลังจากที่ได้บทสรุปค่อนข้างชัดเจนเรื่อง OpenType font กับ fontforge แล้ว ก็เริ่มทำใน thaifonts-scalable CVS แต่ก่อนจะเริ่มทำก็มีประเด็นให้คิด ว่าจะเก็บฟอนต์แบบเก่าไว้สำหรับระบบที่ไม่สนับสนุน OpenType ด้วยดีหรือเปล่า หรือจะเพิ่ม OpenType table ลงไปเลยโดยไม่ต้องตัดอะไรออก (เพราะ OpenType table ทำให้สามารถลด alternate glyph กลุ่มหนึ่งออกไปได้) ว่าแล้วก็เลยเขียนสรุปและ post ถามความเห็น จากกลุ่มก่อน

ระหว่างพักช่วงบ่าย เอาหนังสือ ไฮเทคาถาปาฏิหาริย์ ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งรวมบทความวิพากษ์สภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทยมาอ่านต่อ อ่านถึงบทที่เกี่ยวกับปัญหาจราจรแล้ว ก็สะท้อนความคิดที่เคยคิดเมื่อตอนเข้าไปเรียนกรุงเทพฯ ใหม่ๆ ว่ารถมันช่างแออัด นี่ถ้าทุกคนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนกันมากๆ มันคงเหลือที่ว่างในถนนมากกว่านี้ แต่พอพูดแบบนี้กับเพื่อน ก็ได้รับความเห็นกลับมาว่า จุดมุ่งหมายของการทำงานของทุกคนก็เพื่อความสบาย เพื่อสร้างฐานะ ซื้อรถ ซื้อบ้าน ความคิดแบบผมมันคอมมิวนิสต์ อ้าว แล้วกันสิ ผมก็ยืนยันความคิดผม แต่หลังจากอยู่ไปนานๆ ก็ค่อยๆ ลืมมันไป เพราะความเป็นจริงตรงหน้ามันคอยย้ำอยู่เรื่อย ว่าที่ผมคิดมันไม่มีทางเป็นจริงได้ อากาศร้อนตับแลบ ใครจะใส่สูทโหนรถเมล์ไปประชุม (นี่ก็อีกเรื่อง เมืองร้อนจะใส่สูทผูกไทกันไปทำไม) แต่อย่างไรก็ดี ผมก็เป็นลูกค้าที่ดีของ ขสมก. เรื่อยมา

อ.นิธิ ก็มาย้ำอีก ว่าถ้าจะแก้ปัญหาจราจร ต้องไม่ใช่แก้ด้วยเทคโนโลยี เช่น ตัดถนน ทำสะพานข้ามแยก เจาะอุโมงค์ ฯลฯ แต่ควรแก้ที่ต้นเหตุ คือวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งตรงนี้ ปล่อยให้แต่ละคนคิดอ่านกันเองไม่ได้ เพราะมันเป็นงูกินหาง รถเมล์น้อย คนก็ซื้อรถ เพิ่มรถเมล์ ถนนก็ยิ่งแน่น คนก็ซื้อรถ ทำยังไงก็จะซื้อรถว่างั้นเหอะ แต่ต้องมีมาตรการลงมาเลย ว่าห้ามให้รถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาในกรุงเทพฯ ในช่วง ๐๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. แล้วถนนก็จะโล่งขึ้น พอให้รถเมล์ได้รับส่งคนอย่างมีประสิทธิภาพ รถแท็กซี่ก็บริการผู้โดยสารที่ไม่อยากขึ้นรถเมล์ได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องติดแยกไฟแดงนานๆ ให้มิเตอร์วิ่งเล่น อากาศดีขึ้น คนที่เดินได้ก็อยากเดินมากขึ้น ทุกคนแฮปปี้ (ผมนึกภาพถึงถนนในกรุงเทพฯ ช่วงวันสงกรานต์ออกเลยอะ)

อื้มม์.. มีรถไฟใต้ดินมาเสริมอีกเนี่ย คนกรุงเทพฯ น่าจะหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้นเนาะ ได้แต่หวังว่า รถเก๋งในกรุงจะกลายเป็นภาพเก่าลงไป เหมือนที่บุหรี่ค่อยๆ หายไปจากคนรุ่นใหม่ (กลายเป็นยาอีแทน เอ้ย ไม่ใช่) เหลือไว้สำหรับเดินทางระหว่างเมือง ผู้คนเดินทางไปมาสะดวก กรุงเทพฯ น่าอยู่ยิ่งขึ้น ฝันมากไปรึเปล่าหว่า..

8 ความเห็น:

  • 19 พฤษภาคม 2547 เวลา 23:29 , Blogger Beamer User แถลง…

    จริง ๆ ผมก็คิดว่าการที่รถติดในกรุงเทพฯ มันน่าจะมาจากจำนวนรถยนต์ (อ. นิธิ ไม่มีรถยนต์? เห็นใส่รองเท้าแตะคู่ละหลายพันบาท ) แต่ถ้ามาอยู่ยุโรปตามเมืองใหญ่ ๆ ผมสรุปได้เลยว่าไม่ใช่ อย่างผมอยู่ Hamburg เวลาจะไปซื้อของจากที่ไกล ๆ เช่น IKEA แน่นอนมีรถไฟฟ้าใต้ดินไปได้ (เฉพาะสาขานี้ สาขาอื่นก็ต้องนั่งรถเมล์ไป) แต่ถ้าจะซื้อตู้ราคาสองร้อยยูโร และต้องจ่ายค่าส่งยี่สิบยูโร มันไม่ค่อยจะมีใครทำหรอก เท่าที่เห็นก็ไปรถส่วนตัวกันทั้งนั้น หรือไม่ก็ต้องหอบขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินไป

    เท่าที่สังเกตุคนที่นี้ขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์น้อยมากครับ มันว่างทุกที ไม่เคยต้องยืนเลย
    และแทบทุกบ้านมีรถยนต์ ที่จอดก็หายาก ก็จอดมันข้างถนนหรือตรงหน้าบ้าน ปัญหาหลายอย่างที่บ้านเราต้องรีบแก้ก็คือการเชื่อมต่อกันของซอยเล็กซอยน้อย หรือเพิ่มพื้นที่ถนนขนาดเล็ก และพยายามไม่ให้มีซอยตัน อันนี้สำคัญมาก ถามภรรยาว่าที่หมู่บ้านทำไมเป็นซอยตัน กทม. เคยมาขอแล้ว แต่มติชาวบ้านบอกว่า
    ต้องเป็นซอยตัน ไม่งั้นรำคาญรถที่ผ่านเข้าออก ซอยจะไม่สงบ

    ขอเสียของซอยตันคือ รถเข้าออกได้ทางเดียว ออกมาทางเดียวไปรวมกันที่ถนนใหญ่ รถมันจะไม่ติดได้อย่างไร อย่างคนอยู่บางนาจะไปเซ็นทรัลบางนา ลองคิดดูก็ได้ว่าไปได้กี่ทาง ในขณะที่ยุโรปเมืองใหญ่ ๆ ไปทางไหนก็ได้ มันทะลุถึงกันหมด ถนนก็เล็ก ๆ น่ะ
    รถก็เยอะมาก ถ้าเทียบกรุงเทพฯ คงต้องเทียบกับลอนดอนหรือนิวยอร์ก ซึ่งรถติด
    เหมือนกัน ค่าที่จอดรถแพงมหาศาล นี่ต่างหากเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไม่พยายามใช้รถส่วนตัว
    เวลาเข้าไปลอนดอน

    ระบบขนส่งที่บอก ๆ กันว่ายุโรปดีนั้น ก็เป็นภาพลวง ผมกับภรรยาไปซื้อของที่ห้างที่
    ขายของราคาถูก ผมต้องรอรถครึ่งชั่วโมง (มีสายเดียว) ขากลับอีกครึ่งชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่ระยะทางประมาณ 1 กิโลจากตัวเมือง ค่ารถ 70 บาท สุด ๆ

    ต่อไปถ้าระบบขนส่งเมืองไทยมีรถไฟฟ้าใต้ดินทางไกล ขนคนจากชานเมืองมายังตัวเมืองได้ คนส่วนใหญ่ (คนส่วนใหญ่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวน่ะครับ) ก็จะเดินทางสะดวกขึ้น วันไหนไม่ต้องการขนของใหญ่ หรือแค่ไปเดินเล่นก็ไปรถไฟฟ้า (บ้านเราห้องน้ำสาธารณะสะดวกที่สุดในโลกแล้วมั้ง นี่หมายรวมถึงตามห้าง ปั๊มน้ำมัน และอื่น ๆ ด้วยน่ะ มีใครชมบ้าง) สะดวกสบาย เหมือนกับที่หลาย ๆ คนขึ้นรถไฟฟ้าเป็นปกติ แต่ต้องไปซื้อของชิ้นใหญ่หนักเกิน 2 กิโล ไปกันเป็นกลุ่มสี่คน ผมว่าอ. นิธิ ไปรถส่วนตัว เอาหัวแม่เท้าเป็นประกันเลย

    ดังนั้นแนวทางที่บอกว่าให้คนซื้อรถน้อยลง (ลองถามจารย์กิติ สิ ว่าดีเปล่า) มันเป็น
    โฆษณาชวนเชื่อ ว่าวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แท้จริงแล้วมันปลายเหตุชัด ๆ
    คนที่ซื้อรถ โดยทั่วไปที่ไตร่ตรองแล้ว คงมิได้ซื้อรถไว้เพื่อเหตุผลง่าย ๆ หรอกมั้งครับ

    เรื่องโหนรถเมล์ ผมยังเคยใส่ชุดปกติขาวโหนรถเมล์เลยครับ ผมว่าคนในประเทศที่
    ร้อนกว่าเราแล้วเจริญกว่าเราก็ใส่สูทผูกไทน่ะครับ

    สุดท้าย จริง ๆ เราขาดแคลนโรงพยาบาล โรงเรียน ระดับมาตรฐาน ซึ่งมันไม่กระจายเพียงพอ
    มันทำให้คนต้องเข้ามากระจุกันอยู่ในใจกลางเมือง

     
  • 20 พฤษภาคม 2547 เวลา 09:24 , Blogger ziddik::zdk แถลง…

    ที่ว่าเราขาดแคลนโรงพยาบาล โรงเรียน ระดับมาตรฐาน ซึ่งมันไม่กระจายเพียงพอ มันทำให้คนต้องเข้ามากระจุกันอยู่ในใจกลางเมือง มันก็เกือบใช่นะฮะ
    แต่ประเด็นสำคัญที่คนไปกระจุกในเมือง เพราะแหล่งงานกระจายไม่ทั่วถึงมากกว่า ที่งานบางอย่างเมืองใหญ่ๆในภาคต่างๆยังรองรับไม่เพียงพอ อย่างเช่น งานด้าน IT บริษัทในต่างจังหวัดยังมีค่อนข้างน้อย เมื่อคนไปอยู่กันเยอะๆในกรุงเทพฯ ก็ทำให้พ่อค้าแม่ค้าก็หันไปหาที่ทำกินที่ที่มีคนซื้อของๆเขา ทำให้ยิ่งกระจุกตัวกันไปใหญ่
    เรื่องโรงพยาบาล โรงเรียน ในเมืองใหญ่ๆต่างจังหวัดก็มาตรฐานในระดับที่น่าพอใจ และปริมาณก็เพียงพอ

     
  • 20 พฤษภาคม 2547 เวลา 10:05 , Blogger Thep แถลง…

    ความเห็นผมคือว่า ส่วนหนึ่งของเหตุที่มีรถในกรุงเทพฯ มาก ก็มาจากค่านิยมด้วยครับ บางครั้งคนก็ซื้อรถเพราะเป็นเครื่องหมายแสดงฐานะ ไม่ใช่เพราะความจำเป็น จุดนี้มากกว่า ที่ อ.นิธิ แทง โดยใช้คำว่า "วัฒนธรรมการใช้รถส่วนบุคคล" ส่วนถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ผมว่าก็น่าจะยอมได้นะ (ไม่รู้ อ. ว่าไงเหมือนกัน) อย่างกรณีขนของหนักที่พี่จอยว่า หรือมีคนเจ็บมาด้วย

    ความเห็นผมคือ ไม่จำเป็นต้องกำจัดรถเก๋งไปให้หมด แต่ถ้าแต่ละคนยอมเสียสละความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ ก็จะได้ความสะดวกที่มากกว่าคืนมา คือการจราจรที่สะดวกคล่องตัว ทั้งนี้ รัฐก็กำลังทำถูกทาง โดยพยายามพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้น่าใช้ยิ่งขึ้น เพื่อดึงคนออกมาจากรถเก๋ง

    เรื่องใส่สูทผูกไท.. ไม่รู้สิ ผมว่ามันก็ไม่ค่อยจำเป็นอะไร ถ้าไม่ได้ไปเข้าสังคมระดับนานาชาติ แต่นี่เราเอาสูทกับไทมาสร้างภาพให้กับตัวเอง ว่าดูอินเตอร์ ทั้งๆ ที่งานหลายงานมันก็แค่ในประเทศ ผมไม่ปฏิเสธนะ ว่าเขาใส่สูทแล้วเขาดูดีขึ้นจริงๆ แต่ผมไม่ค่อยชอบคุยกับคนใส่สูทน่ะ ถ้าไม่คอขาดบาดตายจริงๆ ผมอยากเห็นชุดที่ดูสบายๆ เหมาะกับบ้านกับเมืองอย่างเรามากกว่า ผมไปลาว เห็นสาวลาวยังนุ่งผ้าซิ่นไปทำงานอยู่เลย ดูเท่มากๆ ลายซิ่นเขาจะเลือกลายสดใสแต่ไม่ฉูดฉาด ดูสุภาพดี คือเขาไม่จำเป็นต้องเอาวัฒนธรรมต่างชาติมาทำให้ตัวเองดูดีขึ้น ยิ่งชาติมุสลิมแล้ว เขาไม่ยอมเด็ดขาด

     
  • 21 พฤษภาคม 2547 เวลา 18:21 , Blogger Beamer User แถลง…

    คืออย่างนี้ ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ว่า เวลาคนเราซื้อบ้านซึ่งเป็นปัจจัยสี่นั้น
    เราส่วนใหญ่ก็จะเลือกที่สงบ ๆ แน่นอนที่เหล่านั้นมันอยู่ไกลตัวเมือง ส่วนใหญ่ไกล
    จนไม่มีรถเมล์ผ่าน แท๊กซี่นาน ๆ จะผ่านมาคันหนึ่ง เช่นหมู่บ้านแห่งหนึ่งแถวปากเกร็ด

    ถ้าไม่ตัดถนนที่ใหญ่พอให้รถเมล์สาธารณะผ่าน อาจจะมีรถตู้ รถมอเตอร์ไซด์ ซึ่ง
    ลำบาก ถ้ามองไปข้างหน้าถ้าฉันมีภรรยา (เรื่องปกติ) ทำอย่างไรเวลาภรรยาท้องให้
    เธอโทรเรียกแท๊กซี่เอา หรือนั่งมอเตอร์ไซด์ไปหาหมอ (คนที่มีเงินพอแค่กินข้าวเรา
    ไม่พูดถึง ไงก็ต้องรถเมล์ ก็เลยต้องเช่าบ้านเล็ก ๆ แออัดในเมืองเพื่อแก้ปัญหานี้)
    ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้ ไม่มีใครรับได้ เราก็ต้องขวนขวายหารถยนต์ นี่เป็นตัวอย่าง
    ของความจำเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องมีรถ ถ้าเราทำงานแถววิภาวดีรังสิต ตรงบริเวณที่
    รถเมล์จอดไม่ได้ ต้องเดินประมาณ 2 กิโลถึงจะถึง (หาได้เยอะแยะในถนนสายนั้น) โอเคนั่งแท๊กซี่ก็ได้ แต่เงินไม่พอจ่ายน่ะ ก็ควรจะซื้อรถน่ะ

    คนประเภทนี้มีเยอะไหม ผมว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ขับรถในกรุงเทพฯเลยหล่ะ
    อีก 50 เปอร์เซ็นต์หล่ะ 10 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงน่ะ พวกนี้เบียดขึ้นรถเมล์ไม่ได้
    ไม่ไหว อาจจะแก่ หรือมีความรู้สึกที่ดีกับการโหนรถเมล์ โอเคถ้าไปเมาส์กันในตัวเมือง
    นั่งรถไฟฟ้าไปกันได้ 10 เปอร์เซ็นต์ก็พวกที่ทำงานแล้วต้องขนของเยอะ อาจารย์เป็นต้น
    ให้อาจารย์หอบข้อสอบ หนังสือ หลายสิบกิโลขึ้นรถเมล์มันก็ลำบากน่ะ พวกสถาปนิกที่
    ต้องหอบกระดาษเยอะ ๆ ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์ มันจะเป็นอะไรก็ช่าง เค้าอาจจะ
    มีความจำเป็นเช่น เป็นผู้หญิงต้องกับบ้านดึก เป็นพวกที่ต้องกลับต่างจังหวัดทุกอาทิตย์
    เป็นผู้ชายบ้านมีรถเมล์ผ่าน แต่อยู่ไกลมาก หรือทำงานในนิคมอุตสาหกรรมที่
    อยู่ไกลมาก พวกเศรษฐีอาจจะมีรถเป็นสิบคัน แต่อย่าลืมนะครับว่ามีสองเท้า ขับได้ทีละคัน

    ส่วนน้อยน่ะครับที่จะซื้อรถมาขับโดยไม่มีความจำเป็น ทุกคนมีความจำเป็นหมด
    แต่ถ้ามีคนที่มีครอบครัวแล้วบ้านอยู่แถวคลองหก แล้วมาทำงานที่จุฬาฯ มีลูกชาย
    ลูกสาวอยู่ในวัยเรียนมหาวิทยาลัยปี 2-4 บ้านมีฐานะพอที่จะมีรถส่วนตัวได้สองคันสบายๆ
    แต่ไม่ซื้อ นั่งรถสาธารณะเอาตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน ถ้าคน ๆ นี้ออกมาพูดว่าในเมื่อ
    มีรถสาธารณะสบาย ๆ แล้วไยฉันต้องซื้อรถ พวกซื้อรถเป็นพวกที่ทำให้รถติด มัน
    ก็อีกเรื่องน่ะ แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นคนพูดคือคนที่ฉันมีรถเพราะฉันจำเป็น คนอื่นมัน
    ไม่จำเป็นหรอก

    ไม่รู้สิผมอาจจะไม่ชอบคนประเภทพูดจาดูดี มีหลักการ มีพื้นฐานบนศีลธรรมอันดี
    อ. นิธิ ก็ชอบอยู่ในวงเหล้าไม่ใช่เหรอ

     
  • 21 พฤษภาคม 2547 เวลา 18:33 , Blogger Beamer User แถลง…

    แหมเห็นงานลีนุกซ์มีคนใส่สูทอยู่คนหนึ่ง ไม่ชอบคุยกับเค้าเหรอ
    คืนการใส่สูทเนี่ย ผมว่าส่วนหนึ่งคือการให้เกียรติ อย่างคนที่ขึ้นไปพูดบนเวทีแล้วใส่เสื้อยืด
    รองเท้าแตะ ก็โอเคน่ะ (เหมาะกับบ้านเมืองเราดี?) ผมว่าเค้าต้องการนำเสนอบ้างอย่างให้สังคม

    เดี๋ยวนี้คนที่ใส่สูทเค้าก็แค่คิดว่างานนี้มันใส่สูทได้ ก็อยากใส่ ใส่แล้วมันเท่ห์ดี สวยดี
    เสื้อไม่ยับ ผมเองก็ยังไม่เห็นว่าประธานในพิธีคนไหนจะออกมาบอกว่า ทำไมพวกคุณไม่ใส่ สูท ต้องใส่น่ะ

    อันนี้ผมเห็นว่าพวกใส่สูท อาจจะไม่เคยบังคับคนอื่นเลยน่ะว่าต้องใส่ตาม (คนละเรื่องกับ
    เครื่องแบบน่ะ) กูใส่เพราะอยากโชว์ว่ามีตังค์ มันก็เรื่องของเค้าน่ะ แต่ที่ผมเห็นบ่อย ๆ
    ก็คือคนที่ไม่ชอบใส่สูทผูกไท ชอบไปค่อนแคะคนใส่สูทผูกไทกันซะเหลือเกิน จริง ๆ น่ะ ซึ่งคุณจะไปงานแต่งงานโดยไม่ใส่สูทก็ได้ ไม่ผูกไทก็ได้นี่นา

     
  • 22 พฤษภาคม 2547 เวลา 00:23 , Blogger Thep แถลง…

    เอ่อ.. อ.นิธิ ก็ อ.นิธิ ผมก็ส่วนผมนะ ไม่รู้สิ อ. แกเป็นยังไงผมไม่รู้ แต่ผมแค่เอาความคิดแกมาประกอบความคิดผมแค่นั้นเอง (อย่างที่เขียน) คือผมมองจากมุมมองของคนที่พยายามใช้ขนส่งมวลชนเต็มที่นะ ไม่ใช่จากมุมมองคนมีรถ ผมมองว่า ปัญหาต่างๆ ที่ยกมา บางส่วนมันเกิดจากความอ่อนแอของระบบขนส่งมวลชนเอง เช่น รถเมล์ขับไม่สุภาพ บริการไม่ดี (ปัญหาของผู้หญิงที่ไม่อยากโหนรถเมล์) ซึ่งมันน่าจะแก้ได้ ด้วยการปรับปรุงบริการ อาจจะขึ้นราคาหน่อยไม่เป็นไร (อย่างที่ ขสมก. ได้ทำไปบ้างแล้ว) แต่ปัญหารถเมล์แน่น ก็อาจจะติดที่จำนวนรถเมล์ ซึ่งมันเพิ่มไม่ค่อยได้เพราะถนนมันแออัด จะเพิ่มได้ต้องลดจำนวนรถในถนน แต่จะลดจำนวนรถได้ ก็ต้องปรับปรุงขนส่งมวลชนให้ได้ เลยกลายเป็นงูกินหาง แต่ปัญหาประเภทนี้ มันมักจะมีทางออกประเภท bootstrap อยู่ อยู่ที่ว่าจะคิดกันออกไหม
    ////
    ปัญหาเรื่องการขนของหนัก ถ้าคนเชื่อถือในขนส่งมวลชนมากขึ้น ผมก็มองว่า ถ้าถนนโล่งขึ้นจริง ค่าบริการแท็กซี่ก็น่าจะถูกลงได้ เพราะติดไฟแดงน้อยลง หรือไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วน แต่ที่สำคัญ ไม่มีใครหอบของหนักไปมาทุกวันหรอก อาจารย์หอบข้อสอบ หอบตำรา ก็เฉพาะบางช่วง สถาปนิกออกไปกินข้าวก็ไม่ต้องหอบกระดาษมัง ซึ่งตรงนี้ ผมมองว่า ถ้าใช้ระบบขนส่งมวลชนกันเป็นหลัก คนก็จะมีการปรับตัวเองแหละ จะมีการ optimize การขนสัมภาระ เช่น ทิ้งงานไว้ออฟฟิศมั่ง ไม่ใช่ขนไปขนมาทุกวัน (อันนี้พูดจากมุมมองคนนั่งรถเมล์เป็นหลักนะ มันเป็นอย่างนั้น)
    ////
    เรื่องการเดินทางจากบ้านมายังจุดที่มีรถประจำทาง บางส่วนก็ใช้วิธี park and ride ได้ อาจจะปั่นจักรยานมาผูกไว้ปากซอยตามที่ที่จัดไว้ให้ แล้วก็ต่อรถเมล์ หรือถ้าไกลจริงๆ ก็ขับรถมาจอดไว้ที่สถานีรถไฟฟ้า รถจะได้ไม่เข้ามาแออัดในเมือง อะไรทำนองนี้ (แต่จะให้เหมาะ ผมว่ารถไฟฟ้าต้องออกไปรับถึงชานเมืองเลย)

     
  • 22 พฤษภาคม 2547 เวลา 00:48 , Blogger Beamer User แถลง…

    ผมเคยน่ะ บ้านอยู่ในซอยลึกประมาณ 2 กิโล ปกติต้องนั่นรถมอเตอร์ไซด์ออกมาปาก
    ซอย (ไม่ปั่นจักรยานเพราะพี่คนหนึ่งบอกว่าหายมาสามคันแล้ว) ช่วงหน้าฝนต้องลางาน
    รวมแล้วประมาณ 2 อาทิตย์เลยหล่ะ อืมไว้กลับเืมืองไทยจะซื้อเสื้อกันฝน โตป่านนี้แล้ว
    ยังขับรถไม่เป็นเลย ไม่คิดจะซื้อด้วย (แต่ต้องซื้อแล้วหล่ะเพราะเวลาเมียท้องแก่ เราจะ
    ได้มีทางเลือกมากขึ้น)

    ก็คือนั่นแหละ รัฐบาลมาถูกทางแล้วไง (น่าจะทำตั้งนานแล้ว) ซึ่งก็คือคาถาไฮเทคที่ว่า


    เอเรามาเสือก blog เค้าทำไมเนี่ย

     
  • 22 พฤษภาคม 2547 เวลา 10:01 , Blogger Thep แถลง…

    แจมได้ครับ ไม่ใช่เสือกหรอก //// เรื่องจักรยานเนี่ย ผมเห็นซอยที่ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ใช้จักรยานกันพอสมควรนะ กทม. เขาทำที่จอดไว้ที่ปากซอย คล้องโซ่ได้ (แต่จะให้ดี น่าจะมีโรงเรือนช่วยกันแดดกันฝนดีๆ หน่อย อาจเป็นเพราะยังไม่มั่นใจว่าจะมีคนใช้จักรยานมั้ง เลยยังไม่ทำ) //// เรื่องหน้าฝน ก็น่าเห็นใจครับ ถ้ามันมาตกหนักตอนเช้าพอดี แต่ที่ผ่านมาผมก็ใช้ร่มอย่างเดียวนะ ขากางเกงเปียกนิดหน่อยไม่เป็นไร เดินระวังๆ แล้วก็เดินห่างๆ ถนน ไม่งั้นโดนรถบนถนนรีดน้ำใส่บ่อยๆ ความจริงผมเชื่อด้วยว่า แรงกดดันเรื่องการกุลีกุจอไปทำงานให้ทันน่าจะลดลงด้วย ถ้าระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพพอ อย่างรถไฟฟ้าเนี่ย ฝนตกก็ไม่ติดแหง็กเหมือนบนถนน //// เรื่องการแก้ปัญหาของรัฐ ก็ลุ้นกันต่อไป ว่าโครงการขนส่งมวลชนทั้งหลายจะขยายตัวจนถึงจุดที่พอเพียงแค่ไหน แต่อีกด้านหนึ่งก็อยู่ที่คนกรุงแล้วแหละ ว่าจะเปลี่ยนไหม หรือเด็กจบใหม่ก็จะมุ่งเก็บตังค์ซื้อรถเหมือนเดิม

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem