Theppitak's blog

My personal blog.

11 มีนาคม 2556

Esaan Scripts as Learned

ย้อนกลับมาเขียนถึงกิจกรรมใน โครงการอักษรอีสาน สักหน่อย ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็น กิจกรรมกลุ่ม มาระยะหนึ่งแล้ว ทุกคนอาศัยเวลาว่างมาช่วยกันศึกษาจนเริ่มจะเกิดองค์ความรู้ขึ้นบ้างแล้ว

ที่ดูจะคืบหน้ามากกว่าก็จะเป็นอักษรธรรม ซึ่งผิดคาด เดิมนั้นนึกว่าอักษรไทน้อยจะง่ายกว่า เนื่องจากอักขรวิธีใกล้เคียงกับอักษรลาวและไทยปัจจุบันมากกว่า แต่พอลงมือศึกษาจากใบลานจริงกลับพบความแปรปรวนของอักษรสูงมาก รูปร่างตัวอักษรเดียวกันจะมีรูปแบบหลากหลาย รวมทั้งลายมือส่วนใหญ่จะหวัดอ่านยากเมื่อเทียบกับอักษรธรรม

เรื่องความแปรปรวนนั้น อักษรธรรมมีน้อยกว่า อาจเป็นเพราะความเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ และมักจดจารโดยผู้คงแก่เรียน จึงเคร่งครัดกฎระเบียบมากกว่า ทำให้รูปร่างอักษรเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาน้อยกว่าด้วย

ที่ผ่านมา เราได้ทดลองปริวรรตใบลาน ดังนี้:

อักษรธรรม

อักษรไทน้อย

จะเห็นว่าใบลานอักษรไทน้อยมีความคืบหน้าน้อยกว่า เพราะแกะยากกว่า แกะไปต้องพลิกตำราไป ซึ่งบางทีก็ไม่ช่วยอะไร จึงมาเริ่มหาใบลานที่แกะง่ายก่อน ซึ่งก็พบเรื่องปาบู่ทองที่อักขรวิธีคล้ายอักษรลาวปัจจุบันมาก มีการใช้วรรณยุกต์เอก-โทแล้ว และลายมือก็เป็นระเบียบอ่านง่าย

เรื่องขององค์ความรู้ ขณะนี้จึงถือได้ว่าเราได้องค์ความรู้อักษรธรรมมากกว่า กล่าวคือ:

  • เริ่มแกะใบลานได้คล่องแคล่วขึ้น สามารถปริวรรตได้วันละหลายแผ่น สามารถดึงบริบทมาวิเคราะห์คำที่อ่านยากได้
  • ได้พบตัวอย่างอักขรวิธีซึ่งช่วยคลี่คลายข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เคยลิสต์ไว้ ทั้งในบล็อก และในสมุดจด เช่น:
    • ได้พบการใช้สระอาสูงกับอักขระอื่นที่ไม่ใช่ ว ใน โวหารโพธิ
    • ได้พบการใช้ ช เฟื้องที่รูปคล้ายสระออล่างใน โวหารโพธิ ซึ่งเป็นหลักฐานที่สอดคล้องกับ พระยาหลวงมหาเสนา (ผูย) จาก ส.ป.ป. ลาว และตำราของ อ.เพ็ญพักตร์ ลิ้มสัมพันธ์ จาก ม.ศิลปากร แต่ขัดกับตำราอื่นในภาคอีสานของไทย (เช่น จาก อ.วัฒน ศรีสว่าง จาก ร.ร. สว่างวีระวงศ์ อุบลฯ, อ.ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ จาก มรภ. กาฬสินธุ์, โครงการอนุรักษ์ใบลานฯ จาก ม.มหาสารคาม)
    • ได้พบตัวอย่างการใช้ ส เฟื้อง สะกดแม่กด (ไม่ใช่แค่การใช้ ฑ สะกด) ใน บทสูดขวัญ นับเป็นการคลี่คลายประเด็นการใช้ ส เฟื้องสะกดที่พูดถึงในเอกสารของ อ.วัฒน ศรีสว่าง ในหน้า ๑๗ ที่กล่าวถึงวิธีเขียนของ อ.มนัส สุขสาย
    • ได้พบความแตกต่างระหว่างสระแอย่อกับไม้กงในทั้ง บทสูดขวัญ และ โวหารโพธิ ซึ่ง ตารางรหัสยูนิโค้ด ปัจจุบันยังไม่สามารถแยกแยะได้ ถือว่าได้พบหลักฐานที่สามารถใช้อ้างอิงได้
    • ได้พบตัวอย่างของตัวสะกดแม่กกโดยใช้จุดคู่ใต้พยัญชนะใน บทสูดขวัญ ซึ่ง ตารางยูนิโค้ด ปัจจุบันก็ยังไม่รองรับ แต่ตำราต่าง ๆ ในภาคอีสานล้วนกล่าวถึงตัวสะกดรูปนี้ทั้งสิ้น ถึงแม้ในการประชุมครั้งหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญอย่าง อ.ธวัช ปุณโณทก จะไม่ยอมรับว่ามีก็ตาม โดยท่านมองว่าคือ cryptogrammic dot (U+1A7F) แต่จากตัวอย่างการใช้จุดเข้ารหัสคำในใบลานล้านนาที่ผมเคยพบ ก็คิดว่าเป็นคนละเรื่องกัน หลักฐานที่พบนี้น่าจะสามารถใช้อ้างอิงได้
    • ได้พบตัวอย่างการเขียนพยัญชนะไว้เหนือพยัญชนะฐานอีกมากใน บทสูดขวัญ ไม่ใช่แค่ TAI THAM CONSONANT SIGN LOW PA (U+1A5A) ที่กล่าวถึงใน ตารางยูนิโค้ด ปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้คงต้องถกกับผู้เชี่ยวชาญต่อไป

อักษรธรรม ได้มาถึงขั้นนี้แล้ว ก็คงศึกษาเพื่อความกระจ่างเพิ่มขึ้นต่อไป ส่วนอักษรไทน้อย ได้แต่หวังว่าจะตั้งต้นได้สักที

ป้ายกำกับ: ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem